ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | สิริกร มณีรินทร์ |
เผยแพร่ |
การที่ฮัน คัง นักเขียนชาวเกาหลีใต้ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปีนี้ ทำให้เธอเป็นนักเขียนหญิงเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัล
พร้อมสื่อความหมายยิ่งใหญ่ว่าโลกยอมรับในคุณค่าของวรรณกรรมเกาหลีใต้ และถือเป็นรางวัลสำหรับรัฐบาลเกาหลีใต้ที่ประสบความสำเร็จในการสร้างวัฒนธรรมการอ่านที่ทำมาร่วม 20 ปี โดยได้วางรากฐานและระบบที่สร้างนักอ่าน นักเขียน นักแปลและธุรกิจการพิมพ์หนังสือที่แข็งแกร่งแก่ประเทศ
งานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่า การอ่านและห้องสมุดในเกาหลีใต้เติบโต แทรกซึมเข้าไปในโครงสร้างของสังคมของประเทศ
เป็นยุทธศาสตร์ที่บุคลากรของกระทรวงวัฒนธรรมเคยอธิบายว่า “เราพยายามหาหลายๆ วิธีที่จะส่งเสริมการอ่าน เพราะว่าการอ่านหนังสือเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ ซึ่งเป็นรากฐานของ ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ และทำให้วัฒนธรรมของเราตื่นตัวมีชีวิตขึ้นมา”
รายงาน OECD ก็ระบุว่าเด็กเกาหลีใต้มีทักษะและประสิทธิภาพในการอ่านโดดเด่นเป็นรองจากเซี่ยงไฮ้เท่านั้น
ดังนั้น นอกจากหนังสือของฮันคังจะขายดีมากกว่า 1 ล้านเล่มในเกาหลีใต้ในเดือนนี้
แล้วมีโพสต์แสดงความยินดีกับฮัน คัง มากมายที่แสดงว่าหนังสือของเธอเป็นแรงบันดาลใจสำหรับคนรุ่นใหม่
รวมถึงวงการ K-pop และวงการบันเทิง เช่น วี นักร้องวง BTS ซึ่งมีผู้ติดตาม 46.7 ล้านคนโพสต์อินสตาแกรมว่าอ่านนวนิยายเรื่อง Human Acts ของฮัน คัง ระหว่างเกณฑ์ทหาร
และ “มีผลกระทบอย่างมากต่อตัวผม”
รัฐบาลเกาหลีใต้วางรากฐานวัฒนธรรมการอ่านเมื่อ 20 ปีมาแล้ว ด้วยการตรากฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน 2549 พ.ร.บ.ส่งเสริมห้องสมุดและส่งเสริมการอ่าน พ.ศ.2549 (ปรับปรุงเป็น พ.ร.บ.ห้องสมุดในปี ค.ศ.2020) และ พ.ร.บ.ส่งเสริมวัฒนธรรมการพิมพ์ 2550
ผู้เขียนประทับใจ พ.ร.บ.ส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ที่ระบุวัตถุประสงค์คมๆ สั้นๆ ว่า
“เพื่อสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้แข็งแกร่งและรับประกันว่าประชาชนมีโอกาสเท่าเทียมกันในการพัฒนาคุณภาพชีวิตจากกิจกรรมวัฒนธรรมการอ่าน”
โดยรัฐจัดหาสิ่งพื้นฐานสำหรับส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน เพื่อพัฒนาพลังปัญญาของพลเมือง สุขภาพทางอารมณ์และเตรียมรากฐานสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต จึงเปรียบเสมือนวางแผนแม่บทวัฒนธรรมการอ่านที่เข้มแข็งของประเทศ เพราะทำให้ทุกๆ ห้าปี กระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวต้องจัดทำและดำเนินแผนส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาลท้องถิ่น จะต้องจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นในการอ่านหนังสือเพื่อให้การอ่านเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวัน พัฒนาเงื่อนไขให้เกิดสภาพแวดล้อมสำหรับวัฒนธรรมการอ่าน ในชุมชน ที่ทำงานและที่โรงเรียน สำหรับคนทุกกลุ่ม รวมทั้งผู้ด้อยโอกาส
และมาตรา 12 ยังเป็นที่มาของการจัดให้เดือนกันยายนทุกปีเป็น “เดือนแห่งการอ่าน” ซึ่งมีกิจกรรมเฉลิมฉลองต่างๆ
เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ประชาชนมีความกระตือรือร้นที่จะ “แพร่ขยายและแบ่งปันคุณค่าการอ่าน”
ส่วน พ.ร.บ.ห้องสมุดนั้นมุ่งการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกและจัดหาสื่อการอ่านเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านในพื้นที่สาธารณะและโรงเรียน
ในขณะที่ พ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรมวัฒนธรรมการพิมพ์ มีส่วนช่วยพัฒนาให้หนังสือเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ในเกาหลีใต้ จนมียอดขายหนังสือมากกว่า 115 ล้านเล่มในประเทศในปีที่ผ่านมา (หนังสือเด็กครองตลาดมากที่สุดถึงประมาณ 30%) มีสำนักพิมพ์ที่จดทะเบียนแล้ว 31,700 แห่ง ห้องสมุดหลากหลายขนาดมากกว่า 20,000 แห่ง
ธุรกิจหนังสือเกาหลีใต้ มีความคึกคักมาก โดยหนังสือเด็กครองส่วนแบ่งเป็นสัดส่วนมากที่สุดประมาณ 30% เมืองหนังสือ Paju Book City มีสำนักพิมพ์และมากกว่า 200 แห่ง
ตัวเลขที่กล่าวมานี้คือประเทศที่มีประชากรประมาณ 52 ล้านคน
แน่นอนว่า วัฒนธรรมการอ่านเกาหลีใต้สร้างนักเขียนคุณภาพมากมาย ฮัน คัง เองเติบโตในครอบครัวนักเขียน แต่การขับเคลื่อนวัฒนธรรมภายในประเทศเท่านั้นย่อมไม่พอ ที่จะสร้างนักเขียนรางวัลโนเบลสำหรับประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาประจำชาติ
เกาหลีใต้มีสถาบันการแปลวรรณกรรมแห่งเกาหลี Literature Translation Institute of Korea (LTI) ซึ่งมีบทบาทสำคัญมาตั้งแต่ พ.ศ.2546 ในการเผยแพร่แนะนำวรรณกรรมเกาหลีไปสู่โลก เพื่อรุกเข้าสู่ตลาดสิ่งพิมพ์ในสหรัฐ ทั้งในสหรัฐอเมริกาและประเทศหลักๆ ในยุโรป ด้วยกลยุทธ์ที่ปรับให้เข้ากับประเทศต่างๆ
Korea Times กล่าวว่า สถาบันมีโครงการสนับสนุนให้นักเขียนเกาหลีใต้ถึง 38 คนได้เป็นตัวแทนประเทศไปเข้า workshop พำนักในมหาวิทยาลัยในฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี สเปน สหรัฐอเมริกา มีแม้กระทั่งโครงการ “ความร่วมมือพบปะกันระหว่างผู้เขียนเกาหลีและนักแปลในท้องถิ่น”
ดังที่ Deborah Smith ผู้แปลหนังสือของ ฮันคัง ได้ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการแปลวรรณกรรมเกาหลี-อังกฤษที่มหาวิทยาลัย East Anglia กับฮัน คัง และนักแปลภาษาเกาหลีหน้าใหม่ 6 คนด้วยการสนับสนุนจากสถาบันนี้
ต่อมาถึงกับมีการก่อตั้งกลุ่มนักแปลวรรณกรรมเกาหลี-อังกฤษชื่อ Smoking Tigers อีกด้วย
Korea Times กล่าวว่าเมื่อมิตรภาพก่อตัวขึ้นในการพบปะกัน “พวกเขาก็เปิดใจรับวรรณกรรมเกาหลีได้…เมื่อกลับบ้าน หลายคนนำผลงานเหล่านั้นมาใช้ในการสอนหรือแนะนำหนังสือ”
ด้วยกลยุทธ์นี้ งานของ Han Kang จึงแปลเป็นภาษาอังกฤษ 6 เรื่อง ฝรั่งเศส 6 เรื่อง สวีดิช 4 เรื่อง เยอรมัน 5 เรื่อง มาหลายปีแล้ว
ทำให้เธอเป็นที่รู้จักและได้รับรางวัลระดับนานาชาติหลายครั้ง
นวนิยายของเธอได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์ 2 เรื่อง
นวนิยายแปลเรื่องแรกของเธอ The Vegetarian ซึ่งตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษในปี พ.ศ.2558 ประสบความสำเร็จทันที ติดอันดับหนังสือขายดีของ Evening Standard ได้รับรางวัล Man Booker ระดับนานาชาติในปีถัดมา
ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน “10 หนังสือดีที่สุดประจำปี ค.ศ.2016” โดย The New York Times Book
และปีที่แล้วนวนิยายเรื่อง I Do Not Bid Farewell ยังได้รับรางวัล Emile Guimet ในฝรั่งเศส
สำหรับรัฐบาลเกาหลีใต้ การสร้างวัฒนธรรมการอ่านเป็นรากฐานของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นเครื่องมือสร้างปัญญาและความสามารถในการแข่งขันของคนเกาหลีใต้ทุกหมู่เหล่า จะกล่าวว่าวัฒนธรรมการอ่านสร้างซอฟต์เพาเวอร์เกาหลีก็คงใช่เลย
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022