จากการค้าทาส ถึงเอกราชของคาตาลัน

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

เมืองสุดท้ายในการท่องเที่ยวสเปนได้แก่เมืองบาร์เซโลนา

คณะเราเดินทางออกจากกรุงแมดริดมุ่งหน้าขึ้นสู่เมืองวาเลนเซีย เมืองหลวงของแคว้นบาเลนเซีย แคว้นปกครองตนเองที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของสเปน อยู่บนฝั่งแม่น้ำตูเรีย มีสโมสรฟุตบอลมีชื่อคือวาเลนเซีย

ย่านใจกลางเมืองเก่าน่าชม มีสนามสู้วัวกระทิง และมหาวิหารวาเลนเซีย

ลักษณะเมืองเก่ามีรูปแบบคล้ายกันคือมีอาคารร้านค้าและโบสถ์ตลอดสองข้างถนน

เมืองเก่าในยุโรปแสดงให้เห็นถึงความคึกคักและการเติบใหญ่ของชีวิตการทำมาหากินของชาวเมืองที่มีอาชีพหลากหลาย ที่สำคัญคือบรรดาช่างฝีมือซึ่งสร้างสรรค์ผลงานและการผลิตทำให้ชาวเมืองชนชั้นต่างๆ มีชีวิตที่ดีและสุขสบายกว่าก่อน พวกนี้คือคนที่จะทำให้สังคมยุโรปก้าวเข้าสู่ระบบทุนนิยมในอนาคต

จากนั้นไปถึงเขตเมืองใหม่ที่ตั้งท่าเรือ ประกอบด้วยโรงภาพยนตร์ โรงศิลปะการแสดง พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และอุทยานสมุทรศาสตร์

จากนั้นเดินทางเลียบชายฝั่งที่มีสวนส้มปลูกเต็มพื้นที่ราบชายฝั่งส่งกลิ่นหอมในฤดูใบไม้ผลิจนเข้าสู่เมืองบาร์เซโลนา นครใหญ่แห่งแคว้นปกครองตนเองคาตาลุญญาและเป็นเมืองสำคัญอันดับสองของสเปน

ความเชื่อมโยงกับสเปนเริ่มขึ้นเมื่อเมืองนี้เข้าอยู่ในแคว้นอารากอน (Aragon) ของกษัตริย์ฟิลลิป ซึ่งต่อมาอภิเษกสมรสการเมืองกับราชินีอิสซาเบลลาแห่งคาสตีลเป็นการรวมดินแดนที่กลายเป็นอาณาจักรสเปนต่อมาในปี 1492 ที่พระนางอิสซาเบลลาตกลงให้ทุนแก่โคลัมบัสเดินเรือไปหาโลกใหม่

ชื่อเสียงของบาร์เซโลนาในระยะไม่กี่เดือนมานี้เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกตั้งแต่เรื่องการจำกัดนักท่องเที่ยวที่แห่มาจนทำให้ชาวเมืองแท้รำคาญใจ

อีกเรื่องที่สร้างความตื่นเต้นแก่คนทั่วโลกคือการลงประชามติแยกดินแดนเรียกร้องเอกราชออกจากสเปน

ผมแปลกใจมากเมื่อได้ยินว่าบาร์เซโลนามีขบวนการแบ่งแยกดินแดน (separatism) ที่ชาวเมืองส่วนใหญ่ให้การสนับสนุน

เป็นไปได้อย่างไรในขณะที่เมืองไทยไม่มีทางได้รับการยอมรับเลย

โบสถ์ซากราดา แฟมิเลีย

พออ่านประวัติศาสตร์ถึงเข้าใจ เมืองนี้อยู่ในภูมิศาสตร์ที่เปิดรับและติดต่อกับโลกการค้าการเดินทางร้อยแปดได้อย่างดีเยี่ยมโดยเฉพาะกับตอนใต้ของยุโรปต่อกับประเทศฝรั่งเศส

ในศตวรรษที่ 17 ฝรั่งเศสเคยรุกเข้ามาทำให้เมืองบาร์เซโลนาต้องการแยกดินแดนออกจากการปกครองภายใต้อาณาจักรสเปน

ต่อมาสมัยสงครามกลางเมืองสเปนระหว่างฝ่ายขวาชาตินิยมภายใต้นายพลฟรังโก กับฝ่ายมหาชนรัฐที่เป็นพวกเอียงซ้ายสังคมนิยมในปี 1936 บาร์เซโลนากลายเป็นเมืองหลวงของฝ่ายมหาชนรัฐในการต่อสู้กับฟาสซิสต์ฟรังโก จนพ่ายแพ้แก่ฝ่ายชาตินิยมในปี 1939

จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมต่อมาฝ่ายการเมืองในบาร์เซโลนาถึงยังมีความคิดในการ “แยกดินแดน” ออกจากสเปนอีกเมื่อการเมืองสเปนไม่อาจก้าวหน้าไปกว่าที่ผ่านมาได้ เพราะบาร์เซโลนามีความก้าวหน้ากว่ามากในหลายด้านทั้งทางการผลิตอุตสาหกรรม เทคโนโลยี การศึกษา การท่องเที่ยวและที่สำคัญทางวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ของเขาเองมาอย่างยาวนาน

ด้วยภูมิหลังที่ไม่ธรรมดาของบาร์เซโลน่า ทำให้สิ่งต่างๆ ที่เราพบเห็นได้ฟังก็ล้วนแต่ไม่ธรรมดาทั้งสิ้น

จุดแรกที่ไปชมคือโบสถ์ขนาดใหญ่ชื่อซากราดา แฟมิเลีย (La Sagrada Familia) เป็นโบสถ์ศักดิ์สิทธิ์สัญลักษณ์ของเมือง โดยฝีมือการออกแบบของอันโตนี เกาดี (Antoni Gaudi, 1852-1926) สถาปนิกชาวคาตาลัน

รูปแบบสถาปัตยกรรมเริ่มด้วยการก่อแบบโกธิกเมื่อเกาดีมาเป็นสถาปนิกเขาทำให้เป็นแบบโมเดิร์นนิสโม เป็นงานศิลปะเฉพาะถิ่นและเป็นอาร์ตนูโวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เริ่มสร้างตั้งแต่ปี 1882

ที่ประหลาดอัศจรรย์ยิ่งคือแม้ถึงปัจจุบันการก่อสร้างโบสถ์ก็ยังไม่แล้วเสร็จ แต่ด้วยความแปลกและทรงคุณค่าของสถาปัตยกรรม “เพื่อชีวิต” แห่งนี้ ทำให้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก

ความยิ่งใหญ่ของโบสถ์นี้ทำให้เมื่อมาถึงด้านหน้าของโบสถ์ต้องแหงนคอเพื่อชมความงามและลวดลายของการก่อสร้าง ที่โดดเด่นจากภายนอกคือยอดแหลมของยอดโบสถ์ที่มีจำนวนรวมถึง 18 ยอด เพราะต้องการสื่อความหมายถึงจำนวนของสาวกรุ่นแรกของพระเยซู 12 คน และนักบุญสำคัญรุ่นแรกหรือ 4 อีแวนเจลิสต์ ได้แก่ มัทธิว, มาระโก, ลูกาและจอห์น ตามมาด้วยพระแม่มาเรียและพระเยซู

เมื่อเข้าไปด้านในก็ตาลายด้วยสถาปัตยกรรมที่เต็มไปด้วยความหมาย ไม่มีอะไรที่ไม่มีความหมาย ทั้งแสงและสีล้วนสื่อถึงความเป็นนิรันดร์ของพระเจ้า

โรงเรียนซากราดา แฟมิเลีย สำหรับลูกคนงาน

ที่แปลกไม่เหมือนโบสถ์คริสต์ที่ไหนคือการสร้างซุ้มประตูใหญ่ (fa?ade) 3 ซุ้มโดยมีฉายาตามเนื้อเรื่องในคัมภีร์ไบเบิลว่า ซุ้มบ้านเกิด (nativity) ในทิศตะวันออก ซุ้มความทุกข์ของพระเยซู (passion) ในทิศตะวันตก และซุ้มพระเกียรติคุณ (glory) ในทิศใต้ ซุ้มแรกสร้างเสร็จเมื่อเกาดียังมีชีวิต อีกสองซุ้มดำเนินการต่อไปหลังจากเขาตายไปแล้ว

ผมเดินออกมาเห็นมีตึกเล็กๆ อยู่ข้างๆ โบสถ์ มีป้ายบอกว่าเป็นโรงเรียนของซากราดา แฟมิเลีย ลองเดินเข้าไปดูปรากฏว่าโรงเรียนนี้อันโตนี เกาดี สร้างขึ้นมาตอนที่เขามาเป็นสถาปนิกให้กับโบสถ์นี้ เพื่อให้เป็นโรงเรียนสำหรับเด็กลูกหลานของกรรมกรก่อสร้าง

มีภาพถ่ายเก่าในยุคแรกด้วย ผมพยายามสังเกตว่าพวกเด็กๆ เหล่านี้หน้าตาเป็นคนเชื้อชาติอะไรบ้าง บอกยาก แต่เห็นได้เลยว่าไม่ใช่ลูกหลานของชาวสเปนคนชั้นกลางและสูงในบาร์เซโลนาอย่างแน่นอน

แสดงว่าเกาดีมีความคิดก้าวหน้าแต่สมัยโน้นเรื่องสวัสดิการของคนยากจน

ผู้นำการท่องเที่ยวคณะเราคุณสุภัทรา (ตู๋) ผู้รู้รอบตัวเล่าให้ฟังอีกว่านอกจากการก่อสร้างล่าช้าไปเพราะเกาดีเพิ่มเติมสัญลักษณ์เข้าไปในการก่อสร้าง โชคเขาไม่ดี เพราะวันหนึ่งขณะเดินทางลงมาจากบ้านพักบนเนินเขาเพื่อมาทำการก่อสร้างในเมือง เกาดีถูกรถรางชนบาดเจ็บ เมื่อไปโรงพยาบาลไม่มีใครสนใจเขา ปล่อยให้อาการทรุดหนักไปเรื่อย จนในที่สุดเขาเสียชีวิตไป

ผมถามทัวร์ไกด์ชาวคาตาลันว่าสมัยที่เกาดียังมีชีวิตอยู่นั้น เขาได้รับการอุดหนุนช่วยเหลือจากทางการและนักการเมืองบ้างไหม

คำตอบที่ผมเดาผิดคือไม่ค่อยมี ฝ่ายการเมืองและผู้มีอำนาจไม่ค่อยสนใจและเห็นในคุณูปการด้านสถาปัตยกรรมของเกาดีมากนัก

โครงการโบสถ์ยิ่งใหญ่จึงเป็นหนามยอกอกของรัฐบาลมากกว่า ยิ่งเห็นความคิดในการสร้างโรงเรียนให้เด็กยากจนในบริเวณก่อสร้างด้วย

ผมเลยไม่สงสัยว่าทำไมเกาดีถึงต้องตายอย่างแทบอนาถาในโรงพยาบาล

 

ผ่านการสัมผัสสถาปัตยกรรมทางศาสนา เราขึ้นไปบนเนินเขาเพื่อชมอีกโครงการของเกาดี คราวนี้เป็นโครงการทางโลกย์ เขาต้องการสร้างที่พักอาศัยที่สวยงามของคนชั้นสูงในเมืองให้เป็นหลักแหล่งและให้คนมาชมได้

โครงการเริ่มจากดำริของมหาเศรษฐีกูเอล (Eusebi Guell) ที่ต้องการสร้างที่พักอาศัยขายแต่ไม่สำเร็จ

เขาให้เกาดีซึ่งเคยรู้จักกันในงานแสดงสินค้าโลกในปารีสเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ทั้งสองเป็นเพื่อนและสนิทสนมกันตลอดมา ให้สร้างสวนสาธารณะมีบ้านพักจำนวน 60 หลังเพื่อเป็นที่พักของคนมีเงิน ที่ต้องการที่พักมีอากาศบริสุทธิ์หายใจ ตอนนั้นเริ่มมีโรงงานในเมืองและส่งควันพิษออกมา มองเห็นทิวทัศนน์ของเมืองได้อย่างงดงาม

แต่ก็ไม่สำเร็จ ก่อสร้างได้ไม่กี่หลัง หลังแรกประกาศขายแต่ไม่มีใครมาซื้อ เจ้าของที่ดินจึงขายให้เกาดีเป็นครอบครัวแรกและสุดท้าย

เมื่อเดินชมทั่วบริเวณปาร์กกูเอลแล้ว คิดว่าคนที่จะซื้อบ้านตามสไตล์และความคิดทางศิลปะของเกาดีต้องเป็นคนหัวก้าวหน้าและรักธรรมชาติแบบโมเดิร์น

เขาใช้หินและคอนกรีตมาก่อสร้างให้เป็นธรรมชาติ เป็นคลื่นเป็นสัตว์ทะเลแบบต่างๆ สามารถเดินเที่ยวชมได้อย่างไม่น่าเบื่อเพราะมันไม่ใช่สวนสาธารณะปกติที่เราเคยพบเห็นทั่วไป

อันแรกที่โดดเด่นคือระเบียงกว้างยาวทำด้วยหินและคอนกรีตเป็นรูปของงูทะเลหรือนาค

ส่วนที่คดเคี้ยวของงูทำให้เป็นที่นั่งพิงได้อย่างสบายตามธรรมชาติ นอกจากนั้น เขายังประดับด้วยสัญลักษณ์ของชาตินิยมคาตาลันด้วย

อีกอย่างที่ขาดไม่ได้คือสัญลักษณ์ของศาสนา ความประหลาดของสถาปัตยกรรมแบบเกาดี ทำให้เขาเอ่ยว่าคงไม่มีใครชอบงานนี้นอกจากเขาทั้งสอง

ตรงกันข้ามกูเอลตอบกลับไปว่า “ฉันก็ไม่ชอบงานของนายเหมือนกัน แต่ฉันเคารพงานของนาย”

 

ทั้งอันโตนี เกาดี และกูเอลเป็นคนรุ่นใหม่แห่งต้นศตวรรษที่ 20 รุ่นเดียวกับผู้ก่อการ “คณะราษฎร” ในสยามปี 1932 ที่มีความคิดเอียงข้างทางสังคมนิยม สนับสนุนระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมแต่ไม่ต้องการผลสะเทือนที่ทำลายความเป็นชุมชนและความเป็นตัวของตัวเอง

กูเอลน่าสนใจยิ่งเพราะเขาเป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีสเปนยุคนั้น แต่มีความคิดกระเดียดไปทางสังคมนิยมแบบอังกฤษของโอเวน

เขาออกไปสร้างนิคมให้คนงานโรงงานทอผ้าของเขา เรียกว่า Workers’ Colony เพื่อให้คนงานและครอบครัวพักอาศัยมีชีวิตครอบครัวแบบปกติ เรียกว่าเป็นสวัสดิการก็ได้

นี่เองเขาถึงให้เกาดีมาสร้างสวนและที่พักสำหรับคนชั้นกลางในเนินเขา

แต่ที่คาดไม่ถึงคือประวัติของกูเอลนั้นเต็มไปด้วยความผันผวนทางประวัติศาสตร์

ปรากฏว่าตระกูลกูเอลทั้งพ่อตาและพ่อตัวล้วนทำมาหากินกับการค้าทาสด้วยกันทั้งนั้น

พ่อของกูเอลไปทำการค้าทาสในคิวบาจนได้กำไรจึงกลับมาลงทุนในบาร์เซโลนา เขาแต่งงานกับลูกสาวของคหบดีเศรษฐีชื่ออันโตนิโอ โลเปซ ซึ่งเป็นนักค้าทาสตัวยง

หลังจากแต่งงานกับลูกเศรษฐีทำให้กูเอลกลายเป็นมหาเศรษฐีคนหนึ่งของสเปนไป

เขารับมรดกโรงงานอุตสาหกรรมทอผ้าจากพ่อตา กล่าวได้ว่าทุนในการสร้างอุตสาหกรรมในคาตาโลเนียอันเป็นยุครุ่งเรืองของการก่อสร้าง เป็นเงินทองกำไรจากการค้าทาสในคิวบาและเปอร์โตริโก

กระทั่งถนนคนเดินรายล้อมด้วยตึกใหญ่งดงามสำหรับนักท่องเที่ยวที่โด่งดังคือ ลา รัมบลาส ของบาร์เซโลนาก็สร้างขึ้นมาบนแรงงานของพวกทาสผิวดำ

การค้นพบประวัติการค้าทาสของเศรษฐีชาวคาตาลัน ทำให้ในปี 2018 สี่แยกอันโตนิโอ โลเปซ ก็ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกเรียกว่า Pla?a de Correus อีกส่วนเรียกว่าสี่แยกของ Idrissa Diallo ผู้อพยพชาวกินีซึ่งเสียชีวิตในศูนย์ควบคุมคนต่างด้าวในปี 2012