ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | พื้นที่ระหว่างบรรทัด |
ผู้เขียน | ชาตรี ประกิตนนทการ |
เผยแพร่ |
มีงานศึกษามากมายที่ผ่านมาชี้ให้เห็นอย่างสิ้นสงสัยแล้วนะครับว่า งานเขียนประวัติศาสตร์ศิลปะไทยกระแสหลัก นับตั้งแต่ยุคแรกเริ่มมีงานเขียนประเภทนี้จนมาถึงปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือรับใช้อุดมการณ์ “ชาติไทย” ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว
อย่างไรก็ตาม การนิยาม “ชาติไทย” ว่าคืออะไร กว้างใหญ่แค่ไหน และมีหัวใจสำคัญคืออะไรบ้างนั้น เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเลื่อนไหลอยู่ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับบริบทในแต่ละสถานการณ์ และกลุ่มคนที่ออกมาสร้างคำนิยาม
หากพิจารณาให้ดีเราจะพบว่า นิยามว่าด้วยชาติไทย ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (และก่อนหน้านั้น) กับนิยามชาติไทยในยุคต้นสงครามเย็น เป็นสิ่งที่มีความแตกต่างกันมาก
ประเด็นนี้มีนักวิชาการศึกษาไว้หลายชิ้น ดังนั้น ผมจะไม่ขอลงรายละเอียด แต่ประเด็นที่อยากเน้นมากกว่าก็คือ เมื่อนิยามชาติไทยเปลี่ยน ย่อมจะส่งผลกระทบให้งานเขียนประวัติศาสตร์ศิลปะเปลี่ยนตามไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้น เป้าหมายหลักของบทความชุดนี้ของผมก็คือ อยากลองอธิบายความเปลี่ยนแปลงใน “งานเขียนประวัติศาสตร์ศิลปะยุคต้นสงครามเย็น” โดยมุ่งไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างนิยามว่าด้วย “ชาติไทย” ที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงต้นสงครามเย็น กับเนื้อหางานเขียนประวัติศาสตร์ศิลปะที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองนิยามใหม่ดังกล่าว
กล่าวโดยสังเขป เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขั้วอำนาจทางการเมืองระดับโลกถูกแบ่งออกเป็นสอง ด้านหนึ่งคือ “โลกเสรี” ที่มีสหรัฐเป็นแกนนำ
ส่วนอีกด้านคือโลกคอมมิวนิสต์ที่มีสหภาพโซเวียตเป็นแกนนำ โลกก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ที่เรียกว่ายุคสงครามเย็น
เมื่อมองมาที่สังคมไทย เราก็จะพบความผันผวนเกิดขึ้นมากมาย
ความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ของฝ่ายอักษะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่นที่เป็นพันธมิตรกับไทยในสงครามโลก ได้ทำให้ไทยตกอยู่ในสภาวะที่ซับซ้อน
แม้เราจะสามารถเอาตัวรอดจากการตกเป็นประเทศแพ้สงครามได้ด้วยความช่วยเหลือของสหรัฐและผลงานของ “ขบวนการเสรีไทย” แต่กระนั้นก็ไม่อาจเรียกว่าเป็นประเทศชนะสงครามได้เช่นกัน
ภายใต้บรรยากาศเช่นนี้ ประเทศไทยที่เคยวาดภาพฝันของตนเองเป็นประเทศมหาอำนาจในภูมิภาค หรือแม้กระทั่งของโลก ภายใต้แนวคิด “มหาอาณาจักรไทย” ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้พังทลายลงไปในทันที
การปฏิรูปวัฒนธรรมไทยครั้งใหญ่ในช่วงสงครามที่ต้องการสร้างชาติไทยไปสู่มหาอำนาจล้มเหลว และถูกยกเลิกทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น “รัฐนิยม”, การแต่งกาย, การปฏิวัติภาษาไทยแบบใหม่ ฯลฯ
บริบทใหม่ในยุคสงครามเย็นได้เปลี่ยนชาติไทยจากว่าที่ประเทศมหาอำนาจให้กลายมาเป็นเพียงชาติเล็กๆ ที่ตกอยู่ในวงล้อมของสงครามระหว่างมหาอำนาจโลกเสรีกับโลกคอมมิวนิสต์
อาจกล่าวได้ว่า ประเทศไทยยุคหลังสงครามโลก เต็มไปด้วยความกังวลและความไม่แน่นอน รูปแบบทางศิลปะและวัฒนธรรมหลายอย่างที่เคยถูกนิยามให้เป็นตัวตนของมหาอาณาจักรไทยไม่สามารถนำมาเน้นย้ำในฐานะหัวใจของความเป็นไทยได้อีกต่อไป
ความคิดว่าด้วย “ชาติไทย” และการปลุกฝังอุดมการณ์ “ชาตินิยมไทย” แม้จะคงอยู่ แต่ด้วยบริบททางสังคมการเมืองที่เปลี่ยนไปอย่างมาก ส่งผลให้การนิยาม “ชาติไทย” จำเป็นต้องเปลี่ยนความหมายและจุดเน้นให้แตกต่างไปจากเดิม
เมื่อพูดถึงสงครามเย็น ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพูดถึง “ยุคอเมริกัน” (American era) ที่สหรัฐได้เข้ามามีอิทธิพลอย่างมหาศาลในฐานะที่ประเทศไทยคือประเทศพันธมิตรที่สำคัญในสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐและมีฐานทัพสหรัฐกระจายตัวอยู่ในหลายพื้นที่ของไทย และเมื่อมีการจัดตั้ง “องค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (SEATO) ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2497 กรุงเทพฯ ก็ถูกเลือกให้เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ พร้อมกับการสนับสนุนงบประมาณทางทหารอย่างมหาศาลให้แก่ไทย (ดูเพิ่มในหนังสือ John L.S. Girling เรื่อง Thailand : Society and Politics)
ในทางเศรษฐกิจ ไทยกับสหรัฐก็แนบแน่นไม่แพ้กัน มีการศึกษาพบว่าเพียงในปี พ.ศ.2492 ซึ่งเป็นยุคเริ่มต้นสงครามเย็นก็มีตัวเลขมูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึง 2,000 เปอร์เซ็นต์ และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตลอดทุกปีนับจากนั้น (อ้างถึงในหนังสือของ Matthew Phillips เรื่อง Thailand in the Cold War)
ในทาง “การเมืองวัฒนธรรม” ภายใต้ความสัมพันธ์ข้างต้นได้ทำให้สิ่งที่เรียกว่า “วิถีอเมริกัน” ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อคนไทยทุกด้าน ทั้งการแต่งกาย เพลง ภาพยนตร์ อาหาร ฯลฯ เฉพาะแค่ในส่วนภาพยนตร์มีผู้ศึกษาไว้ว่า 95 เปอร์เซ็นต์ของภาพยนตร์ที่ฉายในไทยในช่วงทศวรรษที่ 2490 ล้วนเป็นการนำเข้าจากสหรัฐ (อ้างถึงในบทความของ Boonrak Boonyaketmala เรื่อง The Rise and Fall of the Film Industry in Thailand, 1897-1992)
แม้แต่ในวงการศาสนา สหรัฐก็เข้ามามีบทบาทสัมพันธ์กับองค์กรคณะสงฆ์ไทยและก่อให้เกิดนโยบายหลายอย่างในวงการศาสนาที่เข้าไปสนับสนุนการเมืองในยุคสงครามเย็น
อย่างไรก็ตาม การเน้นบทบาทสหรัฐในฐานะตัวละครหลักที่กำหนดทิศทางทุกอย่างในการนิยามความเป็นไทยใหม่ในยุคสงครามเย็นก็เป็นมุมมองที่ละเลยเงื่อนไขการเมืองภายในมากจนเกินไปเช่นกัน
ผมเองคิดว่า การพิจารณาปฏิสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อนระหว่างบทบาทสหรัฐกับปัจจัยภายในของแต่ละสังคมที่เต็มไปด้วยเงื่อนไขและปัญหาเฉพาะของตนเอง คือวิธีการที่จะนำไปสู่ความเข้าใจบริบทของสงครามเย็นที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ได้อย่างแท้จริง
Karl Hack, Geoff Wade และ Tony Day เคยเสนอไว้น่าสนใจว่า หน้าตาของสงครามเย็นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปริมณฑลทางการเมืองวัฒนธรรรมนั้นมิได้เกิดขึ้นจากการเข้ามามีบทบาทโดยตรงของสหรัฐและโซเวียต แต่เป็นในทางตรงกันข้าม คือถูกสร้างขึ้นจากการต่อสู้แข่งขันกันของกลุ่มพลังทางการเมืองและสังคมกลุ่มต่างๆ ที่ต้องการจะสนองเป้าหมายทางการเมืองของกลุ่มตนโดยอาศัยความขัดแย้งระหว่างโลกเสรีกับคอมมิวนิสต์เป็นข้ออ้าง
(ดูเพิ่มในหนังสือ Cultures at War : The Cold War and Cultural Expression in Southeast Asia)
กรณีของไทยก็สามารถพิจารณาภายใต้กรอบนี้ได้เช่นกัน เพราะนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ตามมาด้วยการหมดอำนาจของ “คณะราษฎร” ได้นำมาซึ่งความซับซ้อนและขัดแย้งกันจากขั้วอำนาจใหม่หลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น จอมพล ป.พิบูลสงคราม, จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ “เครือข่ายสถาบันกษัตริย์” ที่ต่างฝ่ายต่างก็อาศัยประเด็นสงครามเย็นมาเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมในการสถาปนาอำนาจนำทางการเมืองวัฒนธรรมให้เกิดขึ้นกับกลุ่มของตนเองในการเข้าไปมีอำนาจรัฐ
บริบทข้างต้น ก่อให้เกิดลักษณะของการต่อรอง ผสมผสาน และขัดแย้งกันในทางความคิดและอุดมการณ์ทั้งที่เป็นเงื่อนไขจากภายนอกและภายในคู่ขนานไปพร้อมกันตลอดเวลา เป็นสภาวะที่ต่างฝ่ายต่างก็เลือกที่จะกระทำการบนฐานผลประโยชน์หรือความเข้าใจของตนเองและทำให้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไม่อาจพิจารณาบนฐานคิดที่เน้นบทบาทของสหรัฐเพียงฝ่ายเดียวได้
งานศึกษาของ Rachel V. Harrison เกี่ยวกับภาพยนตร์ไทยที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือทางอุดมการณ์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่มีลักษณะผสมผสานระหว่างภาพยนตร์ต่อต้านคอมมิวนิสต์แบบโลกตะวันตกกับความเข้าใจแบบไทย ๆ ที่มีต่อคอมมิวนิสต์ (ดูเพิ่มในบทความ The Man with the Golden Gauntlets: Mit Chaibuncha’s Insi thong and the Hybridization of Red and Yellow Perils in Thai Cold War Action Cinema)
หรืองานของสายชล สัตยานุรักษ์ ที่ศึกษาการเมืองของปัญญาชนฝ่ายขวาผ่านการนิยามความเป็นไทยแบบต่างๆ ในยุคหลังทศวรรษที่ 2490-2500 ซึ่งชี้ให้เห็นการปะทะต่อรองกันระหว่างบริบทสากลกับการเมืองภายในอย่างชัดเจน (ดูเพิ่มในหนังสือ 10 ปัญญาชนสยาม เล่ม 2 ปัญญาชนหลังการปฏิวัติ 2475)
ตัวอย่างข้างต้น แม้จะพูดถึงสงครามเย็นในฐานะเบื้องหลังอันเป็นกรอบใหญ่ที่เข้ามามีอิทธิพลต่อสังคมไทย แต่ข้อเท็จจริงที่งานเหล่านี้นำเสนอก็แสดงให้เห็นถึงการต่อรองปรับเปลี่ยนแม้กระทั่งปฏิเสธมากบ้างน้อยบ้างที่มีลักษณะเฉพาะที่สนองตอบต่อประเด็นปัญหาภายในสังคมไทยเอง
ลักษณะผสมผสานดังกล่าวเป็นสิ่งที่ช่วยก่อรูปก่อร่างนิยามของความเป็นไทยและความเป็นชาติขึ้นใหม่ว่าควรจัดวางสถานะของตนเองอย่างไรภายใต้บริบทใหม่ในยุคต้นสงครามเย็น
ภายใต้กระบวนการนี้ งานเขียนประวัติศาสตร์ศิลปะ คือ เครื่องมือที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการเข้ามาช่วยปรับเปลี่ยนนิยามของชาติไทยขึ้นมาใหม่
ภารกิจดังกล่าวเป็นสิ่งที่เนื้อหาในบทความชุดนี้ต้องการนำเสนอ และนอกจากงานเขียนยุคต้นสงครามเย็นจะมีความเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบสนองต่อบริบททางการเมืองวัฒนธรรมรูปแบบใหม่แล้ว ส่วนตัวยังต้องการชี้ให้เห็นความแตกต่างที่สำคัญอีกประการ นั่นก็คือ การเกิดขึ้นของกลุ่มคนหน้าใหม่ที่เข้ามารับหน้าที่ในการผลิตงานเขียนประวัติศาสตร์ศิลปะไทยในยุคต้นสงครามเย็น
ผมอยากขอเสนอคำนิยามคนกลุ่มใหม่ดังกล่าวว่าเป็นนักวิชาการ “สำนักศิลปากร” ซึ่งมีศูนย์กลางของเครือข่ายทางความคิดอยู่ที่ “มหาวิทยาลัยศิลปากร”
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022