ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | วิรัตน์ แสงทองคำ |
ผู้เขียน | วิรัตน์ แสงทองคำ |
เผยแพร่ |
เรื่องราวเครือข่ายธุรกิจใหญ่ ผู้ยึดครอง “พื้นที่” ในกรุงเทพฯ
อันเนื่องมาจากการเปิดโครงการใหญ่อย่างครึกโครม ดูตื่นเต้นกันมากทีเดียว วันแบงค็อก (ONE BANGKOK) บนที่ดินเช่าแปลงใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ สะท้อนพัฒนาการเมืองหลวงหนึ่งในภูมิภาค ที่น่าสนใจ (รายละเอียด นำเสนอไว้ในตอนก่อนหน้า) มีอีกบางกรณีที่สำคัญ ควรกล่าวถึง ด้วยมีมิติเทียบเคียงบางประการ (ในตอนที่แล้ว)
ความตื่นเต้นอย่างแท้จริง น่าจะอยู่ที่ กลุ่มทีซีซี หนึ่งในเครือข่ายธุรกิจใหญ่ไทย เป็นสำคัญ
ในภาพรวมโฉมหน้าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มทีซีซี เปิดขึ้นอย่างเห็นภาพ ผ่านบริษัท 2 แห่ง-บริษัท แอทเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ซึ่งถือครองและบริหารทรัพย์สินในทำเลสำคัญใจกลางกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ ประกอบด้วยเครือข่ายโรงแรม และกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ รูปแบบต่างๆ หลากหลาย
กับอีกแห่ง-บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ท (ประเทศไทย) จำกัด ก่อตั้งเมื่อปี 2556 ดูคึกคักขึ้น มองผ่านความสัมพันธ์กับอีกบริษัทหนึ่ง ปรากฏขึ้นในช่วงเดียวกับ AWC เข้าตลาดหุ้น (ปี 2562)-บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ FPT ได้เข้าซื้อบริษัทในตลาดหุ้นไทย แล้วเปลี่ยนชื่อมาเป็น FPT ตามยุทธศาสตร์เข้าตลาดหุ้นไทยทางลัด ที่เรียกว่า Backdoor listing
ทีซีซี แอสเซ็ท กับ FPT เป็นเจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์ในหลายพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะย่านพระราม 4 ที่สำคัญเป็นพิเศษกล่าวถึงมาแต่ต้น คือ โครงการ One Bangkok บนที่ดินกว่า 100 ไร่หัวมุมถนนพระราม 4-ถนนวิทยุ ด้วยแผนการลงทุนถึง 1.2 แสนล้านบาท
เมื่อพิจารณาข้อมูลธุรกิจที่เปิดเผยวงกว้าง ทั้ง 3 บริษัท (ผ่าน official website) ให้ภาพโครงการอสังหาริมทรัพย์มากมายหลายรูปแบบ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ อาจถือว่า เป็นเครือข่ายที่มากที่สุดในเมืองหลวงแห่งนี้ ที่ผ่านๆ มา ดูไปแล้วยังไม่ปรากฏเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของกรุงเทพฯ เท่าที่ควร
เมื่อพิจารณาลึกลงไปอีก หลายต่อหลายที่ หลายต่อหลายแห่ง มีที่มา มีเรื่องราวในมิติสำคัญซ่อนอยู่ ว่าด้วยพัฒนาการเครือข่ายธุรกิจใหญ่ไทยแห่งหนึ่งซึ่งทรงอิทธิพล
กลุ่มทีซีซี ภายใต้ผู้นำ-เจริญ สิริวัฒนภักดี เครือข่ายธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย ก่อร่างสร้างกิจการอย่างเป็นเรื่องราวมาเพียง 4 ทศวรรษ เมื่อเทียบเคียงกับกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่รายอื่นๆ ของไทย โดยเฉพาะเครือซีพี หรือ เครือเซ็นทรัล ถือว่ากลุ่มทีซีซี ยังเยาว์วัย
ย้อนกลับไปยุค เจริญ สิริวัฒนภักดี เข้าควบคุมวงจรสัมปทานผูกขาดค้าสุรา ธุรกิจโมเดลเก่า ซึ่งซ่อนตัวอย่างเงียบๆ รวบเงียบๆ ท่ามกลางเครือข่ายธุรกิจใหญ่ โดยเฉพาะบรรดาธุรกิจครอบครัว ซึ่งมีธนาคารเป็นแกนกลาง
จะว่าไป ทีซีซี ผ่านมรสุมทางธุรกิจมาไม่น้อยเช่นกัน ไม่ว่าช่วงปลายสงครามเวียดนาม กับ “ทฤษฎีโดมิโน” จากปรากฏการณ์ขยายตัวของคอมมิวนิสต์ในภูมิภาค วิกฤตการณ์ตลาดหุ้นครั้งแรกในปี 2522 ทำลายโอกาส “หน้าใหม่” อย่างราบคาบ มาจนถึงวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ในปี 2540 บั่นทอน “หน้าเก่า” ไปพอสมควร
ด้วยพลังระบบสัมปทานผูกขาด อ้างอิงกับฐานใหญ่ผู้บริโภค ไม่เพียงสามารถเอาตัวรอดได้ หากในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมานั้น ทีซีซีได้แสดงพลัง กลายเป็นผู้กวาดซื้อถือครองทรัพย์สินอย่างมากมาย ในนั้นไม่น้อยเป็นทรัพย์สินเชิงสัญลักษณ์ สะท้อนช่วงเวลาต่างๆ สังคมไทย
ให้ภาพต่อเนื่องดราม่า มีสีสัน จากพ่อค้าเชื้อสายจีน เริ่มต้นจากสองมือเปล่า สร้างโอกาสจากธุรกิจอิทธิพลจากสัมปทานผูกขาดค้าสุราในยุคสุดท้าย สามารถสะสมความมั่งคั่ง สร้างสายสัมพันธ์ทางสังคม เชื่อมโยงกับรากเหง้า ดูประหนึ่งเป็นกระบวนการ การขยับฐานะทางสังคม จาก “หน้าใหม่” สู่ Old establishment
เมื่อมองผ่านกรณีที่ได้มาซึ่ง “พื้นที่” สำคัญๆ ในกรุงเทพฯ ที่น่าสนใจ อาจให้ภาพสะท้อนเช่นนั้น
จากแวดวง สู่วงใน
กรณีได้มา “พันธุ์ทิพย์พลาซ่า” เกี่ยวข้องกับบางคนในตระกูลเก่าแก่ “บุนนาค” และ “กลุ่มโรงแรมอิมพีเรียล” นักธุรกิจหัวใหม่ในธุรกิจโรงแรม จนมาถึง “สโมสรราชพฤกษ์” สนามกอล์ฟ และสปอร์ตคลับ เนื้อที่กว่า 300 ไร่ มีฐานะทัดเทียมกับราชกรีฑาสโมสร (The Royal Bangkok Sports Club) คลับของชนชั้นสูงในกรุงเทพฯ มีมาตั้งแต่เมื่อศตวรรษที่แล้ว
ที่สำคัญช่วงเวลานั้น เจ้าของคือ ยศ เอื้อชูเกียรติ ผู้เคยมีบทบาทในแวดวงธนาคาร กำลังเข้าไปมีบทบาทใหม่ในเครือข่ายธุรกิจดั้งเดิม เกี่ยวข้องกับสำนักงานทรัพย์สินฯ และเอสซีจี
อีกกรณีหนึ่งที่น่าสนใจเข้าซื้อที่ดินย่านเวิ้งนาครเขษม ย่านการค้ายุคแรกๆ ของสังคมไทย ก่อนหน้านั้นเคยเป็นวัง ในรัชสมัยในหลวงรัชกาลที่ 5 เกี่ยวข้องกับราชสกุลบริพัตร
จากยุคอาณานิคม สู่ยุคสมัย
กลุ่มทีซีซี กับการได้มาซึ่งทรัพย์สินซึ่งสะท้อนช่วงเวลาต่อเนื่องของสังคมไทย ตั้งแต่ยุคอาณานิคม จากอสังหาริมทรัพย์จนถึงกิจการ อาจเชื่อมโยงเชิงจิตสำนึกและจินตนาการ ถึงยุคบุกเบิกธุรกิจไทย เทียบเคียงกับธุรกิจดั้งเดิม เอสซีจี และธนาคารไทยพาณิชย์
จากห้างยุคอาณานิคม-ฟัลค์ แอนด์ ไบเด็ก (Falck & Beidek) หรือห้างสิงโต ถึงอาคารอนุรักษ์ อดีตสำนักงาน The East Asiatic Company กิจการค้ายุคอาณานิคมของชาวเดนมาร์ก ซึ่งรวมกับท่าเรือระหว่างประเทศที่แรกของสยามด้วย ปัจจุบันกลายเป็น เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์
แผนการทีซีซีใหญ่ขึ้น มีความหมายกว้างขึ้นด้วย จากทรัพย์สินที่จับต้องได้ สู่กิจการซึ่งเป็นนามธรรมด้วย มีความหมายบางอย่างซ่อนอยู่ อย่างกรณีเข้าครอบงำเป็นเจ้าของธุรกิจซึ่งมีตำนาน อย่างกรณี เสริมสุข ของตระกูลธุรกิจเก่าในสังคมไทย
ก่อตั้งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ด้วยสายสัมพันธ์กับธุรกิจอิทธิพลระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา และอีกกรณีที่สำคัญไปไกลกว่านั้น ซื้อกิจการ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ กิจการซึ่งมีตำนานย้อนไปเกือบ 150 ปี
ไม่ได้หยุดแค่นั้น มีแผนการใหญ่ในภูมิภาค เข้าซื้อกิจการระดับโลก (ปี 2556) – Fraser and Neave หรือ F&N แห่งสิงคโปร์ กิจการก่อตั้งในยุคอาณานิคม มีตำนานสำคัญมากมาย ยิ่งใหญ่กว่าเบอร์ลี่ยุคเกอร์ ทั้งมีขนาดและเครือข่ายธุรกิจใหญ่และกว้างขวาง
สำหรับทีซีซี ซึ่งปักหลัก วางรากฐานในสังคมไทย ดูมีความคาดหวัง ตั้งใจ กับอีกแผนการใหญ่ในระยะไล่เลี่ยกันนั้น
ในกลางปี 2557 พื้นที่แปลงใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ แปลงสุดท้ายที่เหลืออยู่ก็ว่าได้ จึงตกมาถึงมือกลุ่มทีซีซี ในฐานะผู้ชนะการประมูล อีก 3 ปีต่อมา (เมษายน 2560) โครงการใหญ่เปิดฉากขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ การเปิดตัวโครงการ ONE BANGKOK โครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสม (Mix-used) ประกอบด้วย โรงแรม ที่พักอาศัย ศูนย์การค้า และอาคารสำนักงาน พร้อมกับแผนการสร้างตึกสูงที่สุดในไทย
“ทางกลุ่มรู้สึกเป็นเกียรติที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ได้ให้ความไว้วางใจในการพลิกโฉมพื้นที่ผืนสำคัญใจกลางกรุงเทพฯ ผืนนี้…” ถ้อยแถลงของ เจริญ สิริวัฒนภักดี ซึ่งตั้งใจนำเสนอในครั้งนั้น และอีกครั้งในคำกล่าวท่อนสำคัญ (โดย ปณต สิริวัฒนภักดี) วันเปิดโฉมหน้าใหม่อย่างแท้จริง (25 ตุลาคม 2567)
“…ความภาคภูมิใจของครอบครัวสิริวัฒนภักดี ที่ได้รับโอกาสจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ในการพัฒนาพื้นที่อันทรงคุณค่ามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และเคยเป็นศูนย์กลางการพัฒนากรุงเทพฯ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน”
ดูเหมือนว่า ทีซีซี ในฐานะผู้ถือครอง “พื้นที่” มากมายในกรุงเทพฯ ให้ความสำคัญกับพื้นที่ตามสัญญาเช่าแห่งนี้เป็นพิเศษ ที่ที่จะเป็น “ที่ยืน” อย่างเด่นชัดของเครือข่ายธุรกิจทีซีซี คาดหวังว่าจะกลายเป็นแลนด์มาร์กสำคัญในกรุงเทพฯ
ขณะเดียวกัน เป็นเดิมพันครั้งใหญ่ด้วย •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022