เปิดใจ ‘ประวิต เอราวรรณ์’ ปั้น ‘สกศ.’ คลังปัญญาประเทศ

สํานักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ถือเป็นหน่วยงานสำคัญในการจัดทำแผนการศึกษา พัฒนาประเทศ เปรียบเป็นหน่วยงานระดับมันสมอง ที่คอยชี้ทิศทาง การผลิตกำลังคน ให้ตรงตามความต้องการ…

แม้ที่ผ่านมา จะถูกมองเป็นหน่วยงานนอกกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และอาจถูกมองข้ามในบางเวลา แต่ถ้าพูดถึงบทบาทของ สกศ.แล้ว ยังคงเป็นหน่วยงานสำคัญที่ขาดหายไปไม่ได้

ล่าสุด พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. แต่งตั้ง นายประวิต เอราวรรณ์ นั่งเก้าอี้เลขาธิการ สกศ. พร้อมๆ ไปกับการปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.)

โดยนายประวิตยอมรับว่า ถือเป็นงานที่ท้าทาย โดยตั้งใจผลักดันให้ สกศ.เป็นคลังปัญญาและเป็นหน่วยที่ขับเคลื่อนการศึกษาของประเทศ โดยใช้องค์ความรู้ซึ่งเกิดจากการวิเคราะห์ การประมวลผล การทำวิจัย การศึกษาค้นคว้า ทบทวน และการเทียบเคียงกับระดับนานาชาติ เพื่อให้รู้ว่าต้องทำอย่างไรเพื่อให้ประสบความสำเร็จ

 

สิ่งที่สำคัญที่ต้องขับเคลื่อนเป็นอย่างแรกคือ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…. ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ที่จัดทำโดยคณะกรรมาธิการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร และฉบับที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนาคต สกศ.ต้องเข้าไปช่วยให้ข้อมูลกับฝ่ายนิติบัญญัติ ขณะนี้มีร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ หลายฉบับ ดังนั้น จึงไม่ควรยึดฉบับของใครเป็นหลัก แต่ควรนำข้อดีของแต่ละฉบับมารวมกัน ซึ่งจะต้องทำให้เสร็จสิ้นภายในรัฐบาลนี้

ส่วนแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 นั้น ปีนี้คงต้องปีการทบทวนให้ทันสมัยขึ้น แผนการศึกษาแห่งชาติที่ใช้ปัจจุบันถือว่าล้าสมัย ไม่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงทั้งสังคม เทคโนโลยี เศรษฐศาสตร์การศึกษา นโยบายรัฐบาล ขณะเดียวกันสิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยนให้มีความสอดคล้องกันคือ พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.2562 กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ การจัดทำธนาคารหน่วยกิต หรือเครดิตแบงก์ ทั้งหมดจะต้องบูรณาการเพื่อให้เกิดระบบติดตามการศึกษาของบุคคล ตั้งแต่ครรภ์มารดาจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

“สกศ.จะทำแนวคิดนี้ให้เกิดเป็นระบบ เริ่มแต่แรกเกิด เด็กจะได้รับรหัสประจำตัวประชาชน 13 หลัก ทำให้มีข้อมูลติดตามได้ว่าแต่ละคนทำอะไร อยู่ที่ไหน จบการศึกษา หรือหลุดออกจากระบบการศึกษาไปแล้ว รวมถึงแสดงข้อมูลสัมมาชีพและความมั่นคงของชีวิต ข้อมูลเหล่านี้มีผลสำคัญในการวางแนวทางนโยบายและกำหนดทิศทางการศึกษาของประเทศ” นายประวิตกล่าว

 

นายประวิตกล่าวต่อว่า การจะทำตามแผนในข้างต้น ต้องเร่งพัฒนา 3 ระบบคือ

1. ระบบการเงิน (Financial system) วิธีการจัดสรรงบประมาณทางการศึกษาของประเทศ ดูว่าปัจจุบันมีการใช้งบประมาณที่ตรงจุดและมีประสิทธิภาพหรือไม่ โดยจะตั้งศูนย์วิจัยศึกษาการใช้งบประมาณของประเทศต่างๆ และนำมาปรับใช้ เพื่อให้การจัดสรรงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

2. ระบบกำลังคน (Man power system) ติดตามบุคคลโดยนำข้อมูลที่ได้รับเพื่อดูศักยภาพคนในประเทศ วางแนวทางการพัฒนาให้ตรงจุด

และ 3. ภาระรับผิดชอบ (Accountability) เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายต่างๆ ที่ สกศ.มีหน้าที่ผลักดันให้สำเร็จ รวมไปถึงเรื่องการจัดการทุจริตต่างๆ

เหมือนปรับให้ สกศ.เป็นหน่วยงานที่กระฉับกระเฉงขึ้น เป็นหน่วยงานที่ตอบโจทย์กับโลกยุคปัจจุบัน สกส.ยุคใหม่จะไม่มุ่งเน้นในการประเมินสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว แต่จะเป็นหน่วยงานที่คาดการณ์อนาคต โดยดูว่าอีก 5 ปี 10 ปีต่อจากนี้จะเกิดอะไรขึ้น และจะต้องมีการปรับตัวอย่างไร

สกศ.จะต้องเป็นเจ้าขององค์ความรู้ใหม่ๆ เรื่องไหนที่ไม่รู้ หรือยังไม่ดีพอ ก็จะหาผู้ที่มีความรู้ หรือผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วย สกศ.ต้องปรับตัวให้เร็วกว่าองค์ความรู้ สังคมต้องการรู้เรื่องไหน

สกศ.ต้องมีความรู้เพื่อตอบปัญหานั้น เป็นการขับเคลื่อนการศึกษาโดยใช้องค์ความรู้อย่างแท้จริง

ซึ่งไม่ว่าอนาคต สกศ.จะปรับโครงสร้างไปอยู่ในกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี หรือยังคงเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับของ ศธ. ก็ไม่สำคัญ เพราะโดยเนื้องาน สกศ. เป็นหน่วยงานที่อิสระอยู่แล้วโดยพันธกิจที่ได้รับ ต่อให้ย้ายไปอยู่ที่ไหนก็สามารถทำงานได้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสังกัด อยู่ที่คนทำงาน

 

“ต้องขอขอบคุณรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ที่แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สกศ. เพราะเป็นงานที่อยากทำ ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย และยังไม่เห็นว่างานที่ออกมาจะเป็นอย่างไร จะเจอปัญหาแบบไหน ผมจะไม่มองสิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรค แต่จะมองเป็นความท้าทายที่อยากทำ โดยเฉพาะการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ให้เป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา การศึกษาเพื่อสัมมาชีพ การศึกษาเพื่อความมั่นคง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ก็คงคาดหวังกับเรื่องเหล่านี้ด้วยเช่นกัน” นายประวิตกล่าว

สำหรับผู้ที่จะมาเป็นเลขาธิการ ก.ค.ศ.ต้องมีคุณสมบัติอย่างไรนั้น ส่วนตัวมองว่า ต้องเป็นคนที่สามารถทำให้ระบบที่เดินอยู่สามารถไปต่อและพัฒนาขึ้นได้

อย่างระบบย้ายจับคู่ครูคืนถิ่น Teacher Matching System (TMS) ยังมีจุดที่ต้องพัฒนาต่อเนื่อง

ฉะนั้น คนที่จะมารับตำแหน่งนี้ต่อต้องเป็นนักพัฒนา ไม่ใช่คนที่มาทำงานกิจวัตรเพียงเท่านั้น

วันนี้บุคลากรของ ก.ค.ศ.เป็นคนที่กระตือรือร้นพร้อมทำงาน ถ้าคนใหม่ที่เข้ามาไม่ใช่คนที่กระตือรือร้นก็จะตามไม่ทัน •

 

| การศึกษา