อินเดียในไสยเวทจีน : มนตรยานในไสยเวทจีน (1)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

มักมีผู้ถามผมว่า ร่ำเรียนสนใจเรื่องอินเดียมานาน พอหันมาสนใจเรื่องจีนมันจะไม่ตีกันหรือ เพราะใครต่อใครก็คิดว่า อินเดียกับจีนนั้นเหมือนน้ำกับน้ำมัน ไม่เข้ากันทั้งวิธีคิดและวัฒนธรรม จะชวนให้ปวดหัวเปล่าๆ

ผมก็ตอบกลับไปว่า อันที่จริงแต่เดิมผมก็คิดแบบนั้น คิดว่าพอมาเรียนเรื่องจีนก็คงต้องเอาของเดิมทิ้งไปหมด แต่เมื่อมาเรียนวิชาไสยเวทจีนในสายลื่อซานซำตั๋วแล้วนั้น กลับพบว่า ความรู้หรือสิ่งที่เคยสนใจมาก่อนหน้าไม่ว่าจะอินเดียหรือพุทธศาสนาวัชรยานนั้น กลับช่วยให้เข้าใจไสยเวทจีนลึกซึ้งมากขึ้น

ราวกับสิ่งที่ร่ำเรียนมาทั้งหมดนั้นช่วยนำมาสู่เส้นทางนี้

พูดแบบนี้ เดี๋ยวคนจะหาว่าผมย้อมจีนให้กลายเป็นอินเดียอีก ที่จริงไม่ใช่แบบนั้นเลยครับ เพราะสิ่งนี้ผมไม่ได้พูดเองเออเอง นักวิชาการสากลเขาทำกันไว้แล้ว หรือในสายสำนักวิชาบางสายก็ยังปรากฏความเชื่อมโยงเหล่านี้ให้เห็น มีหลักฐานให้ดู เพียงแต่คงมิได้รับรู้กันอย่างแพร่หลายเท่านั้น

วันนี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะส่วนของ “มนตรยาน” อันมีรากเหง้าที่อินเดียก่อน ส่วนอะไรอื่นๆ จากอินเดียคงได้ค่อยๆ นำเสนอในภายหลัง

 

เมื่อกล่าวถึงพุทธศาสนาฝ่ายมนตรยานตะวันออก ย่อมหมายถึงพุทธศาสนาวัชรยานนั่นเอง เพียงแต่เจริญอยู่ในเอเชียตะวันออกคือฝั่งจีน ญี่ปุ่นและเกาหลี ส่วนมนตรยานตะวันตกนั้น คือฝ่ายทิเบตที่เรารู้จักกัน

เหตุที่เรียกว่ามนตรยานนั้น ก็เพราะให้ความสำคัญกับมนตร์ คือการภาวนาท่องบ่นมนต์หรือพระธารณีซึ่งถือเป็นถ้อยคำศักดิ์สิทธิ์อันอาจก่อเกิดเป็นอำนาจทิพยศักดิ์ไปจนถึงการรู้แจ้งได้

แต่นอกนั้นก็มิได้แตกต่างกับวัชรยานฝ่ายทิเบตมากนัก เพียงแต่หลักของมนตรยานตะวันออกเน้นบุรุษภาวะมาก โดยเฉพาะองค์พระมหาไวโรจนะพุทธะ บรรดาพุทธะโพธิสัตว์ก็มักเน้นที่บุรุษมากกว่าสตรี ผิดกับทางฝั่งทิเบตที่เน้นสตรีภาวะมากกว่า

ส่วนการปฏิบัติในมนตรยานเน้นสามสิ่ง คือ มนต์ มุทรา และมณฑล ซึ่งเป็นสามวิธีเพื่อแปรเปลี่ยนกาย วาจา ใจ ให้กลายเป็นพุทธะ โดยมนต์เป็นการปฏิบัติทางวาจา มุทราการปฏิบัติเป็นทางกายและมณฑลเป็นการปฏิบัติทางใจ เช่น การตรึกภาพนิมิตของเทพในมณฑล และการตรึกมนฑลภายใน

นอกจากพระพุทธะและพระโพธิสัตว์ทั้งปวงแล้ว มนตรยานตะวันออกยังมี “มหาวิทยาราช” (จีนฮกเกี้ยนเรียก เบ๋งอ๋อง) ซึ่งเป็นภาวะอันดุดันเนรมิตจากพระปัญญาธิคุณและพระศักดิคุณของพระพุทธะ คอยขจัดมารและพิทักษ์ผู้ปฏิบัติธรรม

 

พุทธศาสนาสายนี้เข้าจากอินเดียสู่จีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง มีพระคณาจารย์ส่งผ่านกันมาเป็นรุ่นๆ โดยถือกันว่า พระปฐมาจารย์แห่งมนตรยานตะวันออกคือพระนาคารชุน ตามมาด้วยพระนาคโพธิ พระวัชรโพธิ ทั้งสามรูปนี้เป็นชาวอินเดีย พระอโมฆวัชระ เป็นชาวอุซเบกิสถาน พระศุภกรสิงหะ ชาวอินเดีย ตามด้วยพระคณาจารย์จีนสองรูป คือพระอี้สิงและพระฮุ่ยกั่ว และพระบูรพาจารย์รูปที่แปดคือพระโคโบ ไดฌิ หรือพระคูไคชาวญี่ปุ่น

กล่าวถึงพระอโมฆวัชระ ท่านค่อนข้างมีความสำคัญและมีชื่อเสียงมาก เพราะเป็นผู้วางรากฐานของมนตรยานตะวันออกอย่างแท้จริง ทั้งยังได้กำหนดพิธีโยคะตันตระ (โยคะ ออกเสียงในปากคนจีนเพี้ยนเป็นเอี่ยมเข้า) ซึ่งใช้ในการอุทิศกุศลเปรตพลีของพระภิกษุจีนมาจนถึงทุกวันนี้

พระคูไคบูรพาจารย์องค์สุดท้าย หลังจากได้ศึกษามนตรยานจากจีน เมื่อเดินทางกลับบ้านเกิดแล้วก็ก่อตั้งอารามทำให้มนตรยานแพร่หลายออกไป จึงถือเป็นบูรพาจารย์ของนิกายมนตรยานหรือชินงอนองค์แรกในญี่ปุ่นนั่นเอง

ส่วนพระนาคารชุนนั้น มีความสำคัญมากที่สุดในทางไสยเวท ถือเป็นหนึ่งในสามเทวาจารย์ของสายซำตั๋วเลยทีเดียว เพราะนอกจากท่านจะเป็นปฐมาจารย์ของฝ่ายมนตรยานแล้ว ท่านยังได้ชื่อว่าเป็นแพทยราช (อี่อ๋อง) คือมีวิชาเล่นแร่แปรธาตุและปรุงยาได้ ทั้งยังเคยลงไปนาคพิภพเพื่อไปนำเอาพระสูตรกลับมาในโลกมนุษย์ พระนาคารชุนจึงเป็นมหาสิทธาที่เฮี้ยนและสมควรอย่างยิ่งที่จะเป็น “ครูหมอ” ทางไสยเวทซึ่งอิงกับคติพุทธได้เป็นอย่างดี

ในบทเทพมนต์ (จิ่ว) เชิญครูรวมของลื่อซานซำตั๋วซึ่งจะต้องท่องในพิธีกรรมไสยศาสตร์ ก็ต้องกล่าวเชิญท่านเสมอ ส่วนในบทเทพมนต์เชิญพระนาคารชุนบทยาวนั้นก็บอกว่าท่านมียาขมๆ อันวิเศษ และมีอำนาจในการปราบมารตลอดจนมิจฉาทิฐิทั้งหลาย

แม้ไสยเวทซำตั๋วจะเกิดขึ้นภายหลังยุคสมัยของท่านนาคารชุนนานหลายร้อยปี แต่ก็มีความเชื่อมโยงกันอยู่ จึงต้องอ้างถึงท่านในฐานะครูต้นสายวิชาด้วยองค์หนึ่ง

 

ผมได้เคยเขียนไว้แล้วว่า ไสยเวทจีน เป็น “ซำก่าว” คือสามศาสนาผสมกัน อันได้แก่ เต๋า พุทธ และ “หวด” หรือศาสนาพื้นบ้านของจีนเอง กระนั้น จะมีส่วนไหนมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับความเป็นมาสายสำนักนั้นๆ ด้วย ดังนั้น ผมคงกล่าวถึงเฉพาะส่วนที่ได้รู้มาจากสายที่ตนเองศึกษา

ไสยเวทจีนสายลื่อซานซำตั๋ว หรือภูเขาลื่อสายตรีปะรำ ประมุขสายนี้เป็นพระภิกษุคือพระพ้ออ๊ามจ้อซู (จีนกลางว่าผู่อัน) ส่วนทางเต๋าเขาถือว่าสายลื่อซานดั้งเดิมมีประมุขคือข้อจินหยินหรือคอจินหยิน ซึ่งเป็นนักพรตและเทวาจารย์องค์หนึ่ง

พระอาจารย์พ้ออ๊ามเป็นภิกษุนิกายเซ็นหรือฉาน สังกัดสายธรรมหลินเจ่ หรือรินไซ ในภาษาญี่ปุ่น มีชีวิตในช่วงสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ ถือธุดงควัตรเคร่งครัด ตำนานเล่าว่าท่านได้ไปศึกษาไสยเวทฝ่ายเต๋ากับเตียวเทียนซือรุ่นที่สามสิบ เพื่อแก้ไขปัญหาทางชัยภูมิในวัดของท่าน จึงได้กลายเป็นปฐมาจารย์ของสายตรีปะรำหรือซำตั๋ว ซึ่งนำเอาพุทธศาสนาเข้าไปผสมผสานกับไสยเวทเต๋าจนเป็นแบบแผนสืบมา

 

ผมเข้าใจว่า มนตรยานจากอินเดียและเอเชียกลางเฟื่องฟูอยู่ในช่วงถัง-ซ่ง เพราะอิทธิพลจากราชสำนักด้วย วิถีปฏิบัติและคำสอนของมนตรยานจึงได้แทรกซึมเข้าไปอยู่ในนิกายย่อยต่างๆ พระภิกษุจีนในสมัยนั้นคงได้ศึกษามนตรยานตามความนิยมของยุคสมัย

ดังนั้น การปฏิบัติมนตรยานจึงเข้ามาอยู่ในไสยเวทผ่านพุทธศาสนาสายอื่นอีกต่อหนึ่ง เช่น จากสายของพระพ้ออ๊าม เพราะแม้พระเทวาจารย์พ้ออ๊ามจะมิได้เป็นพระในนิกายมนตรยานโดยตรง แต่หลักปฏิบัติในสายธรรมของท่านก็มีอิทธิพลจากมนตรยานไม่น้อย ท่านยังได้ประพันธ์บทสวดที่มีชื่อเสียง เรียกกันภายหลังว่า พ้ออ๊ามจิ่ว เป็นการรวมเอาการออกเสียงอักขระสันสกฤตจากอักษรสิทธัม ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยให้คนจีนออกเสียงภาษาสันสกฤตและพีชพยางค์ต่างๆ อันเป็นวิธีปฏิบัติมนตรยานที่สำคัญได้

นอกจากนี้ ตัวท่านได้ก่อตั้งสำนักไสยเวท “เฮี่ยงซุ่ยอี่” (สุคนธสาคร) ที่ยังคงมีคำสอนต่อมาไม่ขาดสาย

แม้จะพิธีกรรมซำต๋านแบบบ้านๆ จะดูไม่ได้ต่างไสยเวททั่วไป คือตั้งปะรำ เชิญเทพ ขจัดเสียดจัญไร ไล่ผีสาง แก้โรคภัยไข้เจ็บ ฯลฯ กระนั้น อุดมคติทางพุทธศาสนาได้เข้าไปอยู่ในฐานะเป้าหมายสูงสุด คือมองเห็นเป็นอุปายะวิธีเพื่อการ “ช่วยเหลือสรรพสัตว์” ให้พ้นจากความทุกข์

 

อิทธิของมนตรยานมิได้มีเพียงในส่วนอุดมการณ์หรือความเป็นมา แต่ยังแทรกซึมเข้าไปทั้งในส่วนรายละเอียดพิธีกรรม รวมถึง การนับถือเทพเจ้าบางพระองค์ เช่น บรรดาพระวิทยาราช

คำอาราธนาและบูชาครูของฝ่ายซำตั๋วเฮี่ยงซุ่ยอี่ จึงเริ่มต้นจากอัญเชิญพระพุทธะมากมายหลายหลากพระองค์ รวมถึงพุทธะในลักษณะมนตรยาน เช่น กล่าวถึงพระมหาไวโรจนะและพระปัญจธยานิพุทธะ มีการอาราธนาพระโพธิสัตว์เรื่อยไปจนอริยสาวกและบูรพาจารย์ทั้งหลาย

นอกจากนี้ รูปแบบพิธีกรรมของพุทธศาสนา ทั้งการทำมุทรา การเปล่งมนต์ รวมถึงการเพ่งอักษรพีชะ และการตั้งนิมิตก็ยังคงถูกนำมาใช้ในทางไสยศาสตร์ และยังส่งอิทธิพลต่อพิธีกรรมของศาสนาเต๋าด้วย

วันนี้เนื้อที่หมดเสียแล้ว ทว่า เรื่องมนตรยานยังมีต่อ

ผมขออนุญาตยกไปคราวหน้า •