ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
เผยแพร่ |
การค้าระยะไกลทางทะเลระหว่างอินเดียกับจีนผ่านชุมทางสุวรรณภูมิ เป็นพลังกระตุ้นการค้าขยายตัวกว้างขวางต่อไปข้างหน้า ทำให้มีพ่อค้าจากแดนไกลจำนวนมากขึ้นที่เดินทางเข้าสู่ภูมิภาคอุษาคเนย์ นานไปกลายเป็นเส้นทางการค้าโลกสายสำคัญสืบเนื่องต่อมา
สุวรรณภูมิ แปลว่า ดินแดนทอง พบในเอกสารโบราณของอินเดีย, กรีก-โรมัน และลังกา หมายถึงดินแดนแผ่นดินใหญ่หรือภาคพื้นทวีปอุษาคเนย์โดยไม่ระบุตำแหน่งแห่งหนชัดเจน ทั้งนี้ สุวรรณภูมิเป็นชื่อถูกเรียกสมัยแรกเริ่มโดยนักเดินทางเสี่ยงภัยจากอินเดีย ครั้นหลังจากนั้นมีการบอกต่อจนเป็นที่รับรู้ทั่วกันราว 2,000 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ.500 กระตุ้นการค้าโลก แล้วดึงดูดอารยธรรมใหญ่แผ่ถึงสุวรรณภูมิ
การเข้ามาของอารยธรรมใหญ่ คืออินเดียและจีน นิธิ เอียวศรีวงศ์ บอกว่า มีผลกระทบต่อชุมชนระดับต่างๆ ในประเทศไทยหลายลักษณะ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เช่น การสร้างสายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและการเมืองกับศูนย์กลางที่ได้รับอิทธิพลอินเดียอย่างเข้มข้น ในกัมพูชา, เมืองมอญ, ศรีวิชัยและรัฐบนคาบสมุทรมลายู และทวารวดี ฯลฯ (จาก ข้อเสนอสังเขปประวัติศาสตร์แห่งชาติ ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2549) แล้วบอกต่อไปอีกดังนี้
1.พัฒนาการของรัฐในส่วนต่างๆ ของประเทศไทย อาจแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ
รัฐที่สามารถเชื่อมต่อได้กับการค้าทางทะเลโดยตรง รัฐประเภทนี้จะมีพัฒนาการที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าจะมีฐานทางเกษตรเป็นกำลังด้วยหรือไม่ รัฐที่อยู่ในลุ่มน้ำขนาดใหญ่ย่อมเป็นที่ตั้งของประชากรหนาแน่นกว่า และมีเส้นทางคมนาคมไปถึงส่วนในของแผ่นดินได้กว้างขวางกว่ารัฐที่ตั้งตามชายฝั่งทะเลของคาบสมุทรมลายู
รัฐซึ่งตั้งในที่ราบสูงค่อนข้างแห้งแล้ง และรัฐในหุบเขา ซึ่งมีลักษณะคล้ายกันตรงที่ว่า การกระจุกตัวของประชากรขนาดใหญ่ในทำเลที่สามารถควบคุมได้ทั่วถึงและรัดกุมทำได้ยาก หุบเขาย่อมมีที่ราบจำกัด ในขณะที่ที่ราบสูงค่อนข้างแห้งแล้ง ประชากรต้องกระจายตัวไปตามแหล่งที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกกว้างขวาง ยากแก่การควบคุมและเรียกประโยชน์จากแรงงานได้สะดวก
รัฐทั้ง 2 ประเภทนี้ย่อมมีพัฒนาการทางการเมือง, เศรษฐกิจ และสังคมที่ต่างกัน
2. การขยายตัวของการค้าโลก ทำให้มีพ่อค้าจากแดนไกลเดินทางเข้ามาสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ทั้งประเภทของพ่อค้า, วัฒนธรรมที่พ่อค้าสังกัด และจำนวนของพ่อค้านักเดินทาง
บทบาทสำคัญของภูมิภาคนี้ในการค้าโลกก็คือ 1/ เป็นศูนย์การค้าที่สินค้าจากจีนและอินเดียไปจนถึงตะวันออกกลางเข้ามาซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน 2/ เป็นแหล่งกำเนิดและส่งเข้าสู่ตลาดซึ่งสินค้าพื้นเมืองที่สำคัญ คือ ของป่า, ดีบุก, ตะกั่ว และเครื่องเทศ และอาหารไม่สู้มากนักสำหรับตลาดภายในภูมิภาค
การขยายตัวของการค้าดังกล่าวทำให้เกิดการเชื่อมโยงกันของการค้าภายในระหว่างรัฐต่างๆ จึงมีการกระจายของวัฒนธรรมไปกว้างขวางกว่าอำนาจทางการเมืองของรัฐ ในขณะเดียวกันก็ทำให้รัฐมีกำลังทั้งทางโภคทรัพย์และกำลังคนเพิ่มขึ้น จนทิ้งสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ให้เห็นได้สืบมาจนถึงทุกวันนี้
3. การไหลบ่าเข้ามาของวัฒนธรรมและเทคโนโลยีจากต่างแดน เช่น อินเดีย, กัมพูชา, มอญ และพม่า, อาหรับ-เปอร์เชีย และจีน นำมาผสมปนเปกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ก่อให้เกิดรูปแบบทางวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น ความเข้มข้นของการรับและประยุกต์วัฒนธรรมต่างแดนมีมากในหมู่คนชั้นสูง ในขณะที่ค่อยๆ เจือจางลงมาจนถึงระดับประชาชนธรรมดาซึ่งไม่ค่อยมีโอกาสสัมผัสวัฒนธรรมต่างแดน
4. รัฐที่ได้ประโยชน์จากการค้าระหว่างประเทศมาก โดยเฉพาะที่มีฐานการเกษตรที่แข็งแกร่งของตนเอง พัฒนารูปแบบของรัฐที่อ้างความเป็นศูนย์กลางของจักรวาล สั่งสมเกียรติยศของศูนย์กลางด้วยสิ่งก่อสร้างมโหฬารและพิธีกรรมที่โอ่อ่า อำนาจทางวัฒนธรรมของศูนย์กลางเหล่านี้อาจแพร่หลายไปได้กว้างไกล โดยรัฐอื่นๆ รับเอาวัฒนธรรมของราชสำนักไปแสดงในท้องถิ่นของตนเอง เกิดแบบแผนทางวัฒนธรรมที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของอุดมคติที่รัฐในรุ่นหลังมักอ้างถึง ที่เกี่ยวข้องในประวัติศาสตร์ ไทยคือเมืองพระนครในกัมพูชา, เมืองละโว้, อู่ทอง-นครชัยศรี, นครศรีธรรมราช ในประเทศไทย และมะตะรัมในชวากลาง
[จบบทความที่คัดจากนิธิ เอียวศรีวงศ์]
ความสำคัญของการค้าโลกกระตุ้นให้มีแผนที่เส้นทางผ่านทะเลสมุทร เหตุจาก พ.ศ.2083 (ตรงกับสมัยอยุธยาตอนต้น) มีผู้ทำแผนที่ตามหลักฐานเอกสารดั้งเดิมของนักสำรวจชาวกรีกทำไว้เมื่อ พ.ศ.670-693 พบว่าสุวรรณภูมิคือดินแดนทองอยู่เหนือแหลมมลายูซึ่งตรงกับบริเวณที่เป็นประเทศไทยปัจจุบัน
ซึ่งเข้ากับหลักฐานโบราณคดีพบที่เมืองอู่ทอง (อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี) ลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง กระทั่งพบภายหลังว่าพื้นที่ตรงนี้มีชื่อในจารึกว่า “สุพรรณภูมิ” ซึ่งเป็นคำเดียวกับ “สุวรรณภูมิ” (ว แผลงเป็น พ) แสดงว่าคนลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลองสมัยนั้นมีความทรงจำชื่อสุวรรณภูมิจากพระสงฆ์และนักปราชญ์ราชบัณฑิตรุ่นก่อนๆ บอกเล่าตกทอดสืบต่อกันมา
หลังจากนั้นสุพรรณภูมิเปลี่ยนชื่อเป็น “สุพรรณบุรี” สืบจนปัจจุบันซึ่งอาจลำดับความเป็นมาอย่างกว้างๆ ง่ายๆ ดังนี้ (1.) สุวรรณภูมิ ราว 2,000 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ.500 (2.) สุพรรณภูมิ ราว 800 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ.1700 (3.) สุพรรณบุรี ราว 500 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ.2000
เส้นทางล่าอาณานิคม มีขึ้นเมื่อเรือน พ.ศ.2300 (ตรงกับช่วงเวลารัฐอยุธยาตอนปลาย) อินเดียและลังกาถูกยึดครองเป็นเมืองขึ้น จากนั้นขยายการล่าอาณานิคมถึงภูมิภาคอุษาคเนย์ โดยเริ่มแผ่เข้าดินแดนสุวรรณภูมิ
การล่าอาณานิคมเป็นแรงบันดาลใจสุนทรภู่ “มหากวีกระฎุมพี” แต่งวรรณกรรมคำกลอนการเมืองเรื่องพระอภัยมณีเพื่อต่อต้านการล่าเมืองขึ้นของยุโรปครั้งนั้น •
| สุจิตต์ วงษ์เทศ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022