‘คิดใหม่’ สร้างเมืองสู้น้ำ (2)

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

“นํ้าป่า” ถล่ม อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี เมื่อวันเสาร์ที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา จนเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง เป็นอีกปรากฏการณ์ที่บ่งชี้ว่า การวางแผนรับมือกับสภาพภูมิอากาศแปรปรวนรุนแรงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งและควรทำเร่งด่วน

เพราะหากนิ่งเฉยปล่อยให้เป็นไปตามมีตามเกิดเหมือนเช่นทุกวันนี้ ชุมชนเมืองต่างๆ อยู่ในภาวะเสี่ยงสูงที่จะเกิดเหตุซ้ำซาก

หลักฐานประจักษ์ว่าทุกพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วมดินโคลนถล่ม ล้วนมีสาเหตุมาจากฝนตกหนัก ปริมาณน้ำฝนมากเกินมหาศาล

ก่อนน้ำป่าถล่มบ้านไร่ครั้งล่าสุด มีฝนตกติดต่อกัน 3 วัน ปริมาณฝนวัดได้สูงสุด 148 มิลลิเมตร มวลน้ำบนเขาสูงไหลทะลักใส่พื้นที่ด้านล่างของ อ.บ้านไร่อย่างรวดเร็วฉับพลัน

น้ำท่วมดินโคลนถล่มเมืองแม่สาย จ.เชียงราย เป็นเพราะมีฝนตกหนักต่อเนื่องหลายวันในบริเวณต้นน้ำแม่สาย ฝั่งประเทศเมียนมา ฝนตกหนักสุดวันที่ 11 กันยายน ปริมาณฝนวัดได้มากถึง 235.8 ม.ม.ในรอบ 24 ชั่วโมง

ส่วนเหตุน้ำป่าถล่ม จ.ภูเก็ตเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน สร้างความเสียหายให้กับประชาชนกว่า 740 ครัวเรือนใน อ.ถลาง และ อ.กะทู้ เป็นเพราะมีฝนตกหนักถึง 4 ชั่วโมงติดต่อกัน ปริมาณน้ำฝนรวมกว่า 320 ม.ม.

มวลน้ำมหาศาลจึงไหลบ่าท่วมชุมชนที่ไม่มีระบบระบายน้ำรองรับเพียงพอ และการสร้างขยายเมืองไร้แบบแผนขวางทางน้ำ ทำลายพื้นที่ป่า

 

ปริมาณน้ำฝนเป็นตัวชี้วัดว่าโอกาสเกิดน้ำท่วมมากน้อยแค่ไหน เพราะน้ำฝนเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดน้ำท่าที่ไหลบ่าตามผิวดินไปรวมตัวเป็นลำน้ำไหลลงสู่แม่น้ำลำคลอง

ปริมาณน้ำท่ามีมากเกินกว่าลำน้ำรับไหวจะเกิดการเอ่อท่วมพื้นที่ริมตลิ่ง และยิ่งมีมวลน้ำไหลมาสมทบอีก พื้นที่น้ำท่วมก็ยิ่งขยายออกไป

ถ้าฝนตกหนักบนพื้นที่สูงชัน น้ำฝนไหลลงสู่เบื้องล่างเกิดเป็นมวลน้ำขนาดใหญ่ทั้งไหลแรงเร็ว กระชากผิวดินจนกลายเป็นดินโคลนทะลักท่วมพื้นที่ด้านล่างเหมือนปรากฏการณ์น้ำท่วมดินโคลนถล่มถล่ม อ.แม่สายจนอ่วมหนัก

กรมอุตุนิยมวิทยา กำหนดปริมาณน้ำฝนไว้ 4 ระดับ ฝนตกเล็กน้อย จะมีปริมาณน้ำฝนตั้งแต่ 0.1-10 ม.ม. ฝนตกปานกลาง 10-35 ม.ม. ฝนตกหนัก 35.1-90 ม.ม. และหนักมากจะมีปริมาณน้ำฝนตั้งแต่ 90.1 ม.ม.ขึ้นไป

ปริมาณฝนกับพื้นที่ต้องมีความสัมพันธ์กัน พื้นที่หนาแน่นอย่างกรุงเทพมหานคร ถ้าตกต่อเนื่องราวๆ 70-90 ม.ม.ในช่วง 24 ชั่วโมง จะเกิดปัญหาน้ำท่วมหนักหนาสาหัส แต่ปริมาณฝนเท่ากันไปตกแถวๆ ภาคอีสาน ประชากรไม่หนาแน่น มีพื้นที่รับน้ำกว้างใหญ่ก็ไม่เกิดอะไรขึ้น

ความเสียหายจากน้ำท่วมจึงมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับความเป็นชุมชนเมืองอย่างชัดเจน ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องและมีปริมาณน้ำฝนมากนั้นมาจากความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก เกิดภาวะสุดขั้วไม่สามารถคาดการณ์ได้

บ้านลอยน้ำในเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากน้ำท่วม บ้านดังกล่าวสามารถยกตัวเมื่อน้ำท่วมสูงและดึงลงเมื่อน้ำลด (ภาพ : waterstudio.nl)

รายงานของเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม ว่าด้วยความเสี่ยงโลก (World Economic Forum Global Risks Report) ฉบับล่าสุด ปี 2567 ระบุว่า ภัยน้ำท่วมกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนในหลายพื้นที่ทั่วโลกไม่สามารถหลีกหนีได้พ้น

น้ำท่วมที่ยุโรป สหรัฐอเมริกา ลิเบีย ปากีสถาน อินเดีย จีน ในตะวันออกกลาง อย่างเช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย หรือโอมาน ล้วนแล้วมาจากปริมาณน้ำฝนที่ตกในพื้นที่นั้นๆ มากเกินกว่าจะรับมือได้ทันทั้งสิ้น

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ปริมาณน้ำฝนที่ตกในเมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีมากถึง 254 ม.ม. มากกว่าปริมาณเฉลี่ยทั้งปี ทำลายสถิติสูงสุดในรอบ 75 ปี

มวลน้ำเอ่อท่วมสนามบินที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลก ต้องยกเลิกเที่ยวบินมากถึง 1,244 เที่ยว

น้ำท่วมแค่ 3 วัน ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เสียหายมากกว่า 544 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งบ้านเรือนพังและผู้เสียชีวิตอีก 4 คน

ส่วนกรณีเกิดพายุไซโคลนแดเนียล พัดถล่มประเทศลิเบีย เมื่อเดือนกันยายน ปี 2566 เกิดฝนตกหนักทำให้เขื่อน 2 แห่งแตก มวลน้ำจากเขื่อนไหลบ่าท่วมเมืองเดอร์นา มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 5,900 คน สูญหายอีก 8,000 คน เป็นความสูญเสียจากเหตุเขื่อนแตกน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ลิเบีย

ปรากฏการณ์ทั้งหมดนี้คือภัยพิบัติน้ำท่วมซึ่งมีต้นตอจากภาวะโลกเดือด ด้วยอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงเพราะผู้คนปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศโลกเกิดปฏิกิริยาทางเคมีรุนแรงก่อเมฆดำทะมึน กระแสลมหมุนเป็นเกลียวขนาดมหึมา นำไปสู่พายุอานุภาพร้ายกาจหอบหุ้มมวลน้ำฝนปริมาณมหาศาลและกระแสลมเกรี้ยวกราดพัดถล่มใส่บ้านเรือนผู้คนอย่างซูเปอร์ไต้ฝุ่นยางิ เฮอร์ริเคนเฮลีนที่ชาวโลกได้เห็นเต็มตา

หลายประเทศทั่วโลกจึงเร่งคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติน้ำท่วม

อย่างเช่น กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย วางแผนก่อสร้างทางน้ำใหม่คู่ขนานกับแม่น้ำดานูบที่เรียกว่า New Danube ระยะทาง 21 กิโลเมตร

เมื่อน้ำในแม่น้ำดานูบมีปริมาณน้ำเพิ่มสูง จะดึงน้ำไหลลงสู่ทางน้ำใหม่ และยังคิดค้นกำแพงป้องกันน้ำเคลื่อนที่ นำไปติดตั้งตามจุดต่างๆ ก่อนมวลน้ำทะลักมาช่วยลดความเสียหายจากน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ดูข้อมูลย้อนหลังในคอลัมน์สิ่งแวดล้อม ฉบับที่ 2306)

ที่เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ สถาปนิกของวอเตอร์สตูดิโอคิดค้นการสร้างบ้านลอยน้ำที่ช่วยป้องกันความเสียหายจากเหตุน้ำท่วมสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โครงสร้างพื้นชั้นล่างของตัวบ้านทำด้วยปูนซีเมนต์เป็นตัวถ่วงน้ำหนักให้บ้านมีความเสถียรเมื่ออยู่ในน้ำ ปักเสาเหล็กลึก 65 เมตร ติดตั้งตัวซับแรงกระแทกหรือโช้กสำหรับยกบ้านขึ้นเมื่อมีน้ำท่วม และดึงลงเมื่อน้ำลด (ตามรูปประกอบ)

บ้านลอยน้ำจะมีโรงเรียน ศูนย์ดูแลสุขภาพ สำนักงานอยู่รายล้อม

ส่วนชุมชนอีกแห่งที่เรียกว่า “สกูลสคิพ” ออกแบบโดยบริษัทสเปซแอนด์แมตเธอร์ เป็นบ้านลอยน้ำสร้างริมคลองของอัมสเตอร์ดัม จำนวน 30 หลัง ชุมชนแห่งนี้ใช้ชีวิตบนคลอง แต่สมาชิกทุกคนจะร่วมแบ่งปันอาหาร หมุนเวียนการใช้รถยนต์หรือจักรยานร่วมกัน บนหลังคาติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ บ้านไหนใช้น้อยโอนกระแสไฟไปให้เพื่อนบ้านที่ใช้ไฟมากกว่า หรือส่งไปขายให้กับรัฐ

ฟาร์มวัวลอยน้ำในเมืองรอตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้แนวคิดมาจากเหตุพายุเฮอร์ริเคนถล่มมหานครนิวยอร์ก สหรัฐ ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารการกิน (ภาพจาก : floation farm)

ที่เมืองรอตเตอร์ดัม เป็นเมืองท่าใหญ่ที่สุดอีกแห่งของเนเธอร์แลนด์ สร้างสำนักงานลอยน้ำใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อ 3 ปีก่อน มีพื้นที่ 3,700 ตารางเมตร สามารถลอยบนผิวน้ำเมื่อน้ำทะเลหนุนสูง และลดระดับเมื่อน้ำลด ซึ่งรอตเตอร์ดัมอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลมีน้ำขึ้นน้ำลงวันละ 2 เมตร

สำนักงานลอยน้ำแห่งนี้ใหญ่ที่สุดในโลก ใช้วัสดุทำจากไม้ทั้งหมดและวัสดุรีไซเคิล บนหลังคาสำนักงานทุกหลังติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ ปลูกต้นไม้และพืชสมุนไพร

เมืองรอตเตอร์ดัมยังสร้างฟาร์มวัวลอยน้ำแห่งแรกของโลก เมื่อ 3 ปีก่อนฟาร์มแห่งนี้มี 3 ชั้น ชั้นล่างสุดอยู่ใต้น้ำ ชั้นสองเป็นส่วนผลิตนมสด ชั้นบนสุดเป็นโรงเลี้ยงวัว ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาและมีเครื่องกรองน้ำฝนมาทำน้ำบริสุทธิ์

ส่วนหญ้าที่นำมาเลี้ยงวัว ใช้หญ้าจากสนามกีฬา สนามกอล์ฟ เศษเปลือกมันฝรั่ง และหญ้าเลี้ยงใกล้ๆ ฟาร์ม ติดตั้งหุ่นยนต์เพื่อรีดนมวัว

แนวคิดการสร้างฟาร์มวัวลอยน้ำมาจากพายุเฮอร์ริเคน “แซนดี้” ถล่มมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2555 ทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก อาหารสดๆ ไม่มีขายเพราะน้ำท่วมทำให้การขนส่งสะดุด เกิดภาวะขาดแคลน

สินค้าที่ผลิตจากฟาร์มลอยน้ำจะช่วยบรรเทาการขาดแคลนอาหาร และในอนาคตจะสร้างฟาร์มไก่ลอยน้ำและสวนเกษตรอินทรีย์ลอยน้ำ

 

ส่วนที่จีน สร้างเมืองฟองน้ำ (sponge city) ใช้พื้นที่ชุ่มน้ำมาปรับเป็นทั้งสวนสาธารณะ ทะเลสาบและแหล่งรับน้ำเมื่อเกิดฝนตกหนัก

สถาปนิกและวิศวกรร่วมกันวางแผนเมืองฟองน้ำด้วยเทคโนโลยีเอไอหรือปัญญาประดิษฐ์ คำนวณปริมาณน้ำฝนที่แหล่งน้ำสามารถรับได้ หรือทิศทางการระบายน้ำเมื่อมีปริมาณน้ำมาก จำนวนของต้นไม้ที่ใช้ปลูกในพื้นที่เพื่อซับน้ำ ออกแบบให้เป็นสวนสาธารณะในห้วงเวลาที่ไม่มีเหตุน้ำท่วม และยังให้เอไอคำนวณปริมาณปูนซีเมนต์ที่นำมาใช้ก่อสร้างทางน้ำ อาคารสำนักงานและทางเดินอีกด้วย

แนวคิดเมืองฟองน้ำจึงกลายเป็นกระแสหลักของแผนป้องกันน้ำท่วมในเมืองใหญ่ๆ อย่างนิวยอร์ก ลอนดอน สิงคโปร์ มุมไบ โอ๊กแลนด์ เซี่ยงไฮ้และไนโรบี

เพราะไม่เพียงป้องกันบรรเทาน้ำท่วม หากยังช่วยลดอุณหภูมิของเมืองเมื่อเกิดภัยแล้งหรือคลื่นความร้อน •

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]

‘คิดใหม่’ สร้างเมืองสู้น้ำ (1)