ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ |
ผู้เขียน | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ |
เผยแพร่ |
“ศิลปะ” นอกจากจะถูกสร้างขึ้นเพื่อมอบความรื่นรมย์ชุบชูจิตใจผู้คนด้วยความสวยงาม และสุนทรียะ หรือทำหน้าที่บันทึกหรือบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ในสังคมแล้ว ศิลปะยังสามารถเป็นเครื่องมือในการบำบัดเยียวยา และนำพาผู้สร้างสรรค์ให้ก้าวผ่านความเจ็บปวดทางจิตใจได้อีกด้วย
ดังเช่นที่ปรากฏในผลงานของนิทรรศการ Imago ของ หฤษฏ์ ศรีขาว ศิลปินร่วมสมัยรุ่นใหม่ชาวไทย ผู้มีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ที่ประกอบด้วยผลงานวิดีโอจัดวาง และภาพถ่ายสื่อผสมที่นำเสนอหลักฐานแห่งการเยียวยาตนเองของศิลปินผู้นี้
“คำว่า Imago มี 3 ความหมาย ความหมายแรกคือ เป็นรากศัพท์ในภาษาลาตินของคำว่า Image ความหมายที่สองคือ เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปร่างระยะสุดท้ายของแมลงเปลือกแข็งที่โตเต็มวัย ความหมายที่สามคือ ความหมายในเชิงจิตวิทยา ที่เป็นภาพของอุดมคติในจิตใต้สำนึกที่สะท้อนความสัมพันธ์ในช่วงวัยเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการเลี้ยงดูและพฤติกรรมของคนในครอบครัว (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การยึดติดกับความสัมพันธ์อันเจ็บปวดจากคนนิสัยแบบเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า) ผมรู้สึกว่าชอบคำนี้ที่มีความหมายซ้อนกันหลายชั้น”
“งานชุดนี้มีนัยยะถึงตัวผมเองในช่วงวัยรุ่น คือตอนอายุ 18-19 ผมสัญญากับตัวเองไว้ว่า ถ้าตัวเองแข็งแรงทางจิตใจพอ ผมจะทำงานชุดนี้ขึ้นมา ตอนนี้ผ่านมา 10 ปี ผมอายุ 30 แล้ว ก็รู้สึกว่าแข็งแรงพอที่จะทำเรื่องนี้แล้ว”
“ถึงแม้ดูเหมือนนิทรรศการนี้จะมีงานวิดีโอจัดวางเป็นงานหลัก แต่ผลงานทุกชิ้นในนิทรรศการก็มีความเชื่อมร้อยกันทั้งหมด อันที่จริงงานผมทุกชิ้นจะมีนัยยะที่พูดถึงสภาวะเปราะบางของความเป็นวัยรุ่น หรือสภาวะเปราะบางในการรับมือกับความสัมพันธ์ ที่อาจจะมีความซับซ้อนในตัวเอง ผมรู้สึกว่าการผ่านเวลาในช่วงวัยรุ่นนั้นเป็นอะไรที่ค่อนข้างยากมากสำหรับผมในตอนนั้น ซึ่งเป็นสภาวะเปราะบางบางอย่างที่มนุษย์เราทุกคนน่าจะมีเหมือนกัน ซึ่งสภาวะเปราะบางที่ว่านี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเติบโต”
“เหตุผลอีกอย่างที่ผมเลือกใช้ชื่อ Imago ก็เพราะ ตอนเด็กๆ ผมเคยเก็บหนอนมาเลี้ยง แล้วสังเกตว่าตอนมันอยู่ในดักแด้ มันทำอะไรไม่ได้เลย มันเปราะบาง ช่วยตัวเองไม่ได้ อยู่ในสภาพเหมือนหลับไปเป็นสิบกว่าวัน ผมรู้สึกว่าการเติบโตของเด็กวัยรุ่น ก็เป็นแบบนี้ แล้วผมก็คิดว่าไม่ใช่แค่ผมคนเดียว ผมสัมผัสได้ว่า ผมและเพื่อนโตมากับเรื่องราวแบบนี้ ความเปราะบางที่ว่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับวัยรุ่นหลายๆ คน ถึงแม้เรื่องราวในนิทรรศการนี้จะเป็นเรื่องของผม แต่ผมเชื่อว่าเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับผมแค่คนเดียว”
สิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้ถูกถ่ายทอดผ่านผลงาน Imago ภาพยนตร์สั้นชื่อเดียวกับนิทรรศการ ซึ่งเป็นการผันตัวจากการทำงานภาพนิ่งมาทำภาพเคลื่อนไหวเป็นครั้งแรกของเขา
“ผมคิดว่ามันเป็นภาพเคลื่อนไหวที่มีวิธีคิดมาจากภาพนิ่งประมาณหนึ่ง ผมคิดว่าภาพถ่ายเป็นเรื่องของเวลา เพราะเวลาเราถ่ายภาพ ภาพนิ่งจะทำให้เวลาถูกเฉือนออกมาเป็นชิ้นส่วนที่หยุดนิ่ง ในขณะเดียวกัน วิธีการที่เราจะปะติดปะต่อชิ้นส่วนเหล่านี้เข้าด้วยกัน ก็คือการนำมันกลับเข้าไปเรียงในเส้นเวลาของตัวเองที่เรียงต่อกันไป ผมมองว่าแอนิเมชั่น หรือสต็อปโมชั่น (Stop motion) นั้นมีรากมาจากการทำสิ่งที่ตายไปแล้วให้กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง และการบาดเจ็บทางจิตใจ (Trauma) นั้นมีลักษณะคล้ายๆ กัน ก็คือการหยุดนิ่งยึดติดกับอะไรบางอย่าง ไปไม่ได้สักที”
เช่นนั้น กระบวนการทำงานในครั้งนี้ของเขา ก็ไม่ต่างอะไรกับการเยียวยาและทำความเข้าตัวเอง เป็นเหมือนการกอบโกยชิ้นส่วนทางความรู้สึกและความทรงจำที่กระจัดกระจายมาประกอบขึ้นใหม่ สร้างรูปร่างให้กับความทรงจำทั้งดีและร้าย เพื่อเป็นเครื่องมือในการสนทนา และทำความเข้าใจกับตัวเอง เพื่อก้าวผ่านการติดกับดักของบาดแผลในอดีตนั่นเอง
จากการติดตามผลงานของเขาตลอดมา เราจะพบว่าหฤษฏ์เป็นศิลปินที่ค่อนข้างบ้าพลัง สังเกตได้จากขนาดและจำนวนของผลงานในแต่ละนิทรรศการที่ผ่านๆ มา ผิดกับนิทรรศการนี้ที่ผลงานมีจำนวนน้อย และนิ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งอาจจะเกี่ยวกับการเติบโตของอายุและประสบการณ์ที่มากขึ้นก็เป็นไปได้
“ผมคิดว่าการเติบโตขึ้นมีส่วนอยู่เหมือนกัน แต่ถ้าจะให้พูดอย่างเฉพาะเจาะจงกว่านั้น ก็น่าจะเป็นเพราะผมเริ่มทำงานชุดนี้ขึ้น เพราะผมเริ่มไปทำศิลปะบำบัดกับ คุณณัชนาถ กระแสร์ชล (นักศิลปะบำบัดแผนกเด็กและวัยรุ่น ผู้เชี่ยวชาญในการทำงานกับกลุ่มเด็กและวัยรุ่นผู้มีภาวะบอบบาง ซึมเศร้า และทำร้ายร่างกายตัวเอง จากโรงพยาบาลศิริราช) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผมรู้สึกว่า ผมได้ทำความรู้จักกับความโกรธ และความคับข้องใจ ความไม่เข้าใจต่างๆ ผ่านความรุนแรงในการตัดกระดาษในการทำศิลปะบำบัด ผ่านผีเสื้อกระดาษที่ถูกตัด ที่สะท้อนการถูกกระทำต่างๆ ที่ผมไม่เคยอนุญาตให้ตัวเองรู้สึกโกรธเลย ผมรู้สึกว่า พอเราปลดปล่อยความโกรธแล้ว มันจะนำไปสู่ความสงบบางอย่าง”
“จริงๆ ผมไม่ได้ตั้งใจให้งานดูนิ่งน้อย แต่ตั้งใจให้งานของผมแสดงออกถึงความโกรธมากๆ แต่ท้ายที่สุด ผมก็พบว่า พอเราปลดปล่อยความโกรธออกมาแล้ว สุดท้ายก็อยู่ไม่นาน มันกลับกลายเป็นอะไรที่เปราะบางและอ่อนโยนพอสมควร ทั้งๆ ที่ตัวเราไม่ได้อยากจะอ่อนโยนด้วยซ้ำ อาจเป็นเพราะการเติบโตของเราที่ทำให้เป็นแบบนั้นไปโดยอัตโนมัติ”
“ผมรู้สึกว่าผมมีความหวาดกลัวที่จะปลดปล่อยความโกรธนี้ตั้งแต่ตอนเป็นวัยรุ่นเยอะมาก แต่อยู่ๆ วันหนึ่งมันก็หายไป ซึ่งนักศิลปะบำบัดมีส่วนช่วยผมมาก ความสัมพันธ์ของผมกับนักศิลปะบำบัดคนนี้ ไม่ได้เป็นผู้ป่วยที่รักษากับนักจิตบำบัด แต่เธอเป็นรุ่นพี่ที่ผมค่อนข้างจะรู้จักกัน ก็เลยเหมือนเป็นพี่ติว ที่ทุกสัปดาห์ผมจะไปเรียนรู้วิธีการ รู้จักอุปกรณ์ และเครื่องมือในการทำศิลปะบำบัด แล้วก็เอามาทำเองที่บ้าน”
“ดังนั้น ทั้งงานวิดีโอจัดวาง แอนิเมชั่นในนิทรรศการนี้ของผมจึงเป็นผลจากการทำงานศิลปะบำบัด ทั้งการใช้สีฝุ่น การระบายสี การตัดกระดาษ หรือแม้แต่การหยิบเอาเศษความทรงจำที่เป็นชิ้นส่วนเล็กๆ น้อยๆ มาเรียงต่อกัน ผมรู้สึกว่าสิ่งนี้คือศิลปะบำบัดอย่างชัดเจน ในนิทรรศการครั้งนี้ยังมีเวิร์กช็อปศิลปะบำบัดให้วัยรุ่นอายุ 18-25 ปี เข้าร่วมฟรีอีกด้วย”
โดยปกติ เมื่อดูงานของหฤษฏ์ เนื้อหาในผลงานของเขามักจะสอดแทรกประเด็นทางการเมืองอย่างชัดเจน จนถูกมองว่าเป็นศิลปินที่ทำงานเกี่ยวกับการเมืองไปแล้ว ถึงแม้นิทรรศการครั้งนี้จะพูดถึงการเยียวยาบาดแผลในอดีตของตนเอง แต่ก็ยังมีประเด็นทางการเมืองแฝงเร้นอยู่ไม่น้อยเช่นกัน
“ตั้งแต่นิทรรศการก่อนหน้า ผมสนใจการเมืองในความหมายของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ระหว่างคนที่มีอำนาจน้อยกว่า กับคนที่มีอำนาจมากกว่า ซึ่งไม่ต่างอะไรกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล”
“ดังนั้น การเปลี่ยนผ่านจากวัยรุ่นไปสู่วัยผู้ใหญ่ ก็ไม่ต่างอะไรกับการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง เป็นการต่อรองระหว่างผู้อยู่ใต้อำนาจ กับผู้มีอำนาจเหนือกว่า”
“หรือความความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของมนุษย์มากๆ ในการที่มนุษย์ปฏิบัติต่อกัน และความเปราะบางนี่เอง ที่ทำให้มนุษย์ใจร้ายต่อกันอย่างมาก”
“ผมมองว่าส่วนใหญ่ความรุนแรงไม่ได้มาจากความเข้มแข็ง การมีอำนาจ หรือการใช้อำนาจคุกคามผู้อื่น ในความเป็นจริงไม่ได้เกิดจากความแข็งแกร่ง แต่เกิดจากความเปราะบาง อ่อนแอ และหวาดกลัวมากกว่า”
สิ่งเหล่านี้ทำให้เราอดนึกเปรียบเทียบระหว่างความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชนไม่ได้ เพราะในขณะที่ดูเหมือนประชาชนหวาดกลัวต่ออำนาจรัฐ แต่ในทางกลับกัน รัฐเองก็กลัวประชาชนลุกฮือขึ้นมาต่อต้านและโค่นล้มอำนาจรัฐเช่นเดียวกัน ดังนั้น รัฐจึงกดขี่คุกคามประชาชนด้วยความกลัวและความเปราะบางนั่นเอง
“นิทรรศการครั้งนี้ประกอบด้วยผลงานสองส่วน คือส่วนของแอนิเมชัน 2 มิติ ที่เป็นผลพวงจากศิลปะบำบัด แต่ผมเอามาปรับให้สวยงามขึ้น และส่วนของแอนิเมชั่น 3 มิติ ที่เป็นสต็อปโมชั่น ซึ่งเป็นเรื่องราวของจิตใจที่แยกตัวออกจากร่างกาย และพยายามจะกลับมาหาร่างกายเดิม เหมือนเราหลงทางออกจากบ้าน และพยายามหาทางกลับ ซึ่งในที่นี้ร่างกายคือบ้านของเรา”
“ในผลงานวิดีโอจะมีวัตถุชีวภาพที่เป็นเหมือนตัวตนที่เปลี่ยนรูปร่างไปได้เรื่อยๆ เหมือนบาดแผลที่เกาะติดกับเราเหมือนภูติผี ปิศาจ สาเหตุที่มันเปลี่ยนร่างเพราะเราไม่ได้หาภาชนะบรรจุมัน ผมเชื่อว่า ถ้าเราหาภาชนะให้มัน เหมือนหาร่างให้มันอยู่ มันก็จะคงรูปอยู่อย่างนั้น และไม่เปลี่ยนรูปแปลงร่างอีกต่อไป”
“ในวิดีโอยังมีประติมากรรมสื่อผสมเป็นหัวยางที่หล่อจากศีรษะของผมเอง ปะติดปะต่อกับกิ่งไม้แห้ง และผีเสื้อกระดาษที่มาจากงานศิลปะบำบัด โดยใช้เทคนิคแบบ Live Painting ดังนั้น งานชุดนี้จึงไม่มีการสร้างขึ้นจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์เลยแม้แต่น้อย”
นอกจากผลงานหลักในนิทรรศการอย่างวิดีโอจัดวาง ภาพถ่ายต่างๆ แล้ว ยังมีผลงานอีกส่วนที่พัฒนาและจัดแสดงควบคู่กันอย่าง Imago Original Soundtrack EP ที่ประกอบไปด้วยบทเพลงที่ประพันธ์โดย ติณห์นวัช จันทร์คล้อย นักดนตรีที่ร่วมงานกับหฤษฏ์มาอย่างยาวนาน ผลงานชุดนี้ยังมีขายในรูปแบบซีดีและสามารถรับฟังผ่านทางช่องทางออนไลน์ ในนิทรรศการยังมีการจัดกิจกรรมสาธารณะและเวิร์กช็อปศิลปะบำบัด การเสวนา และการร่วมอ่านหนังสืออีกด้วย
สามารถติดตามรายละเอียดวันเวลาเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ได้ที่เพจเฟซบุ๊ก BANGKOK CITYCITY GALLERY และเว็บไซต์ https://bangkokcitycity.com/
อนึ่ง เนื้อหาในนิทรรศการค่อนข้างมีความละเอียดอ่อนและเกี่ยวข้องกับประเด็นทางเพศ จึงเหมาะสำหรับผู้ชมที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไปเท่านั้น
นิทรรศการ Imago โดย หฤษฏ์ ศรีขาว จัดแสดงที่ บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี (ซอยสาทร 1 – สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินลุมพินี ทางออก 2 – จอดรถที่ 123 ปาร์กกิ้ง) ตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม-30 พฤศจิกายน 2567 เวลา 13:00-18:00 น. (ปิดวันอาทิตย์ถึงวันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 08-6087-2725 อีเมล [email protected]
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี •
อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022