ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | การ์ตูนที่รัก |
ผู้เขียน | นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ |
เผยแพร่ |
เมื่อเทียบกับหนังสือหรือหนังใหญ่เรื่องอื่นๆ ดูเหมือนทาร์ซานจะไม่ได้รับความสนใจสร้างใหม่หรือทำเป็นหนังการ์ตูนซีรีส์มากนัก อาจจะเป็นเพราะเรามีชุดพิภพวานร (Planet of the Apes) และ คอง (Kong) ให้ดูมากพอแล้ว เป็นเรื่องของ “ลิงยักษ์” เหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม ที่อาจจะเป็นไปได้มากกว่าคือทาร์ซานกลับมาเกิดใหม่ยากในยุคสมัยปัจจุบัน มิใช่เพราะเป็นเรื่อง “คนป่า” แต่เป็นเรื่องเหยียดผิวและเหยียดเพศ เสียมากกว่า การจะคงต้นฉบับเดิมเนื้อหาเดิมเป็นเรื่องทำได้ลำบาก
ทาร์ซานเป็นงานเขียนนวนิยายของ Edgar Rice Burroughs (1875-1950) ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่แล้ว ก่อนจะเป็นหนังขาวดำตามด้วยหนังใหญ่ดังระเบิดโดยนักว่ายน้ำโอลิมปิกชาวอเมริกัน Johnny Weissmuller (1904-1984) ในเวลาต่อมา ถูกดัดแปลงเป็นการ์ตูนคอมิกส์ (comics) ในนิตยสารและเป็นคอมิกสตริ๊ป (comic strip) ในหนังสือพิมพ์รายวัน ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นช่วงสามสิบปีแรกของทศวรรษที่ 1900 ถึงวันนี้ก็ประมาณครบร้อยปี
ก่อนจะคุยกันว่าทาร์ซานเดินทางมาถึงจุดสูงสุดเมื่อประมาณทศวรรษที่ 1970 อย่างไร วันนี้ชวนอ่านคอมิกสตริ๊ปในหนังสือพิมพ์รายวัน วันละ 5 กรอบกันก่อน เริ่มต้นตอนแรกวันจันทร์ที่ 7 มกราคม ปี 1929 ด้วยฝีมือการวาดภาพของ Hal Foster ซึ่งจะมีผลงานระบือโลกเจ้าชายแวลเยนต์ (Prince Valliant) ในเวลาอีกสิบปีต่อมา
งานเขียน Tarzan of the Apes ของ เอ็ดการ์ ไรซ์ เบอโร ปรากฎครั้งแรกในนิตยสาร The All-Story ฉบับเดือนตุลาคม ปี 1912 ก่อนจะรวมเล่มครั้งแรกในปี 1914 ปรากฏเป็นการ์ตูนช่องในหนังสือพิมพ์รายวันโดย Hal Foster ปี 1929 และฉบับเต็มหน้าวันอาทิตย์ในปี 1931 โดย Rex Maxon
ที่จะเล่าวันนี้เป็นฉบับรวมเล่มปกแข็งของนักวาดทั้งสองคนจัดพิมพโดยหอสมุดการ์ตูนแห่งชาติอเมริกัน พิมพ์ครั้งแรก ปี 2015 ปกแข็งรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวตามที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ความหนา 1 นิ้ว
เริ่มตอนที่ 1 Mutiny การก่อกบฏ
อันที่จริงสมัยที่ตีพิมพ์รายวันจริงๆ ไม่มีชื่อตอน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เพียงลงว่าเป็นตอนที่ 1 2 3… เรื่อยไป การใส่ชื่อตอนกำกับเพิ่งจะมาทำกันทีหลัง
เนื้อเรื่องเริ่มในปี 1888 ลอร์ดเกรย์สโต๊กและอลิศ เจ้าสาวสามเดือนของเขาเดินทางออกจากท่าเรือโดเวอร์เพื่อไปตรวจราชการที่อาณานิคมอังกฤษแห่งหนึ่งในแอฟริกา แต่สองคนไปไม่ถึงเป้าหมาย เกิดกบฏบนเรือเสียก่อน ปืนของลอร์ดเกรย์สโต๊กถูกขโมยไป ทรัพย์สินส่วนตัวถูกรื้อค้น
ลูกเรือที่ก่อกบฏสังหารกัปตันและพวกเจ้าหน้าที่ไม่ยั้งมือ ลำพังตัวกัปตันถูกขวานจามศีรษะถึงคาง ตอนนี้เหลือเพียงลอร์ดเกรย์สโต๊กคนเดียวที่จะป้องกันภริยาและบุตรในครรภ์ได้ เขาเกือบถูกฆ่าแล้วแต่หัวหน้าฝ่ายกบฏช่วยชีวิตเขาเอาไว้
ก่อนหน้าทาร์ซาน การ์ตูนคอมิกส์หนังสือพิมพ์รายวันมักเป็นการ์ตูนสำหรับเด็ก ไม่มีการ์ตูนสำหรับผู้ใหญ่ ทาร์ซานเองก็เคยถูกทำเป็นการ์ตูนคอมิกส์มาก่อนแล้วซึ่งนักเขียนเอ็ดการ์ ไรซ์ เบอโร ไม่ปลื้มเท่าไรนักด้วยเนื้อเรื่องออกจะเด็กๆ และออกทะเลไปมาก ต่างจากรอบนี้ที่เนื้อหาของการ์ตูนหนังสือพิมพ์เป็นเรื่องของผู้ใหญ่มากขึ้นและแน่นอนว่ารุนแรงมากขึ้นด้วย
แบล๊กไมเคิลหัวหน้ากบฏห้ามลูกน้องมิให้ทำร้ายลอร์ดเกรย์สโต๊กและภริยาเพราะท่านลอร์ดเคยช่วยชีวิตเขามิให้ถูกกัปตันฆ่าในคราวหนึ่ง
แต่แบล๊กไมเคิลรู้ดีว่าเขาจะป้องกันขุนนางและสุภาพสตรีจากลูกเรือบ้าคลั่งได้ไม่นานนัก จึงเทียบเรือเข้าหาเกาะแห่งหนึ่ง เวลานั้นมืดค่ำแล้วเสียงสิงโตคำรามดังออกมาจากป่ามืดมิดข้างหน้า มืดมิดเท่ากับอนาคตของลอร์ดเกรย์สโต๊กกับภริยาและบุตรในครรภ์
แบล๊กไมเคิลมอบหีบสมบัติส่วนตัวและปืนคืนแก่ลอร์ดเกรย์สโต๊ก ท่านลอร์ดสร้างบ้านบนต้นไม้ ประกอบโต๊ะเก้าอี้และตู้หนังสือ
สองเดือนผ่านไปแม้ว่าพวกเขาจะมีความสุขตามอัตภาพแต่ความสงบไม่เคยมีด้วยเสียงสิงสาราสัตว์นานารอบตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียงคำรามของเสือสิงโตรอบๆ ที่พักในเวลากลางคืน
ตอน Attacked การโจมตี ตีพิมพ์วันจันทร์ที่ 14 มกราคม ปี 1929
ลอร์ดเกรย์สโต๊กถูกวานรยักษ์ (the Great Apes) จู่โจมในวันหนึ่ง วันนั้นเขาอยู่นอกบ้านมีขวานเล่มเดียวในมือ เขาพยายามล่อสัตว์ยักษ์ออกจากตัวบ้าน แต่อลิศภรรยาของเขาถือปืนตามออกมายิงเจ้าวานรยักษ์ด้านหลัง มันหันกลับมาทำร้ายเธอก่อนที่จะล้มลงสิ้นใจ
เธอได้รับบาดเจ็บไม่มากแต่ความหวาดกลัวและความทุกข์ยากที่ได้รับตลอดหลายเดือนทำให้เธอมีสภาพจิตใจไม่เหมือนเดิม เธอไม่เคยออกจากตัวบ้านอีกเลย และไม่เคยรู้ว่าตัวเองไม่ได้อยู่ในอังกฤษ
เธอคลอดบุตรชาย มีความสุขกับการดูแลสามีและลูก
เป็นปีที่ชีวิตมีความสุขและสงบแม้จะไม่มีความหวังที่จะไปจากดินแดนแห่งนี้
เมื่อทารกน้อยอายุได้ครบปีมารดาก็จากไปอย่างสงบในค่ำคืนหนึ่ง ทิ้งลอร์ดเกรย์สโต๊กและทารกที่ไม่มีนมแม่กินไว้กลางป่าใหญ่ ตลอดเวลาที่ผ่านมาลอร์ดเกรย์สโต๊กเขียนไดอารีเป็นภาษาฝรั่งเศสเก็บไว้ในกล่องเหล็กใบหนึ่ง
เมื่อภรรยาจากไปเขาก็หมดความปรารถนาที่จะมีชีวิตอยู่
ตอน In Apeland พิภพวานร ตีพิมพ์วันศุกร์ที่ 18 มกราคม ปี 1929
เคอร์แช็ก (Kerchak) ราชาวานรอาละวาดใส่บริวารแตกกระเจิง มันบีบคอวานรตัวผู้ตายไปหนึ่ง ฟาดกะโหลกศีรษะวานรตัวเมียตายไปอีกหนึ่ง เวลานั้นคาล่า (Kala) แม่วานรตัวหนึ่งอุ้มลูกน้อยกระโดดหนีความบ้าคลั่งของราชาแต่พลาดท่าปล่อยลูกน้อยหลุดมือตกจากต้นไม้สูง กว่าคาล่าจะตามลงไปถึงพื้นลูกวานรก็สิ้นลมไปแล้ว เวลานั้นเคอร์แช็กก็สงบลง
วันต่อมาเคอร์แช็กนำฝูงวานรเดินทางไปจนพบกระท่อมของลอร์ดเกรย์สโต๊กและฆ่าเขาอย่างง่ายดาย คาล่าอยู่ตรงนั้นทิ้งลูกที่ตายแล้วของเธอแล้วคว้าลูกลิงสีขาวในกระท่อมมาเป็นของตัวเอง แม้ทูแบลต (Tublat) และเคอร์แช็กจะประท้วงอย่างไรเธอก็ไม่ยินยอม อีกทั้งต่อสู้ป้องกัน “ทาร์ซาน” อย่างดุร้าย ใช่แล้วพวกวานรยักษ์ตั้งชื่อให้เขาว่า “ทาร์ซาน” ภาษาของเผ่าพันธุ์วานรยักษ์แปลว่า “ผิวขาว”
แล้วทาร์ซานก็อายุ 10 ปี เติบโตเป็นชายผิวขาวยุโรปคนเดียวในกาฬทวีป •
การ์ตูนที่รัก | นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022