วัตถุมงคลเหรียญรุ่นสิบตัง หลวงพ่อเฟื่อง ธัมมปาโล พระเกจิวัดอมรญาติสมาคม

จังหวัดราชบุรี ดินแดนเขางูและถ้ำที่สลักภาพพระพุทธรูปลงบนผนังถ้ำ สมัยทวารวดี สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่สักการะของชาวบ้าน ทั้งสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่ออย่างคลองดำเนินสะดวกและภาพชีวิตตลาดน้ำ

สำหรับอำเภอดำเนินสะดวก มีพระเกจิชื่อดังอีกรูปหนึ่ง คือ “พระครูอดุลสารธรรม” หรือ “หลวงพ่อเฟื่อง ธัมมปาโล” วัดอมรญาติสมาคม

ถือเป็นพระเกจิอาจารย์ทรงวิทยาคมที่ชาวราชบุรีและชาวบ้านพื้นที่ใกล้เคียง เลื่อมใสศรัทธาในอันดับต้นๆ

สร้างวัตถุมงคลหลายรุ่น อาทิ เหรียญ พระปรก ฯลฯ ล้วนแต่ได้รับความนิยม

โดยเฉพาะ “เหรียญรุ่นสิบตัง” สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2493 ที่ระลึกงานฉลองสมณศักดิ์ โดยผู้ใหญ่สง่า ช่วงทอง สร้างถวายให้ปลุกเสกและแจกในงานเปิดป้ายโรงเรียนวัดอมรญาติฯ

ลักษณะเหรียญเป็นรูปวงกลม ขนาดเท่าเหรียญสิบสตางค์สมัยเก่า จึงเป็นที่มาของชื่อพิมพ์นี้ สร้างด้วยเนื้อโลหะดีบุก และเนื้อทองแดง

ด้านหน้าเป็นรูปจำลองครึ่งองค์ ห่มจีวรคลุมไหล่ ใต้รูปมีอักขระภาษาไทยว่า “พระครูอดุลสารธรรม” หากเป็นเนื้อทองแดงมีข้อความเพิ่มเติมว่า “วัดอมรญาติสมาคม 6 มี.ค.93” เพิ่มมาอีกข้อความหนึ่ง ตัวเลขเป็นเลขอารบิกสากล

ด้านหลังปรากฏอักขระยันต์ตรีนิสิงเห ไม่มีอักขระภาษาไทย

ประสบการณ์นั้น คนสมัยก่อนนับถือกันว่าไม่เป็นสองรองใคร เป็นที่ประจักษ์ชาวดำเนินสะดวกและหมู่ศิษย์มานักต่อนัก

จัดเป็นวัตถุมงคลที่หายากและมีราคา ผู้ใดครอบครองยิ่งหวงแหน

เหรียญหลวงพ่อเฟื่อง รุ่นสิบตัง

มีนามเดิมว่า เฟื่อง ภู่สวัสดิ์ เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 16 มีนาคม 2420 ที่บ้านหมู่ที่ 3 ต.ท่านัด อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี บิดา-มารดาชื่อ นายภู่ และนางมิ่ง ภู่สวัสดิ์ ครอบครัวประกอบอาชีพทำนา

วิถีชีวิตในวัยเด็ก ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียน เนื่องจากอยู่ห่างไกลจากระบบการศึกษาในสมัยนั้น แต่ได้มาศึกษาร่ำเรียนต่อเมื่ออุปสมบทแล้ว

เข้าพิธีอุปสมบทในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6 ปีวอก พ.ศ.2440 ที่วัดโชติทายการาม มี พระครูวรปรีชาวิหารกิจ (ช่วง) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์ทองอยู่ วัดโชติทายการาม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการโต เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม เป็นพระอนุสาวนาจารย์

จากนั้น อยู่จำพรรษาที่วัดโชติทายการามกับพระอุปัชฌาย์ พร้อมศึกษาวิทยาคมจากตำรับตำรา และสนใจศึกษาพระปริยัติธรรมเป็นอย่างมาก

แม้เมื่อตอนที่บวชนั้นอ่านหนังสือไม่ออก แต่ก็พากเพียรร่ำเรียนอาศัยการท่องจำจากพระภิกษุด้วยกัน เพียงพรรษาแรก ก็สามารถท่องจำบทสวดมนต์และพระปาติโมกข์ได้จนจบ

นอกจากนี้ ยังพากเพียรต่อการเรียนหนังสือไทยและหนังสือขอม จนอ่านออกเขียนได้ทั้งสองภาษา สามารถเขียนยันต์ได้อย่างถูกต้อง

 

เคยกล่าวไว้ว่า “การเจริญกัมมัฏฐานทำให้เกิดปัญญาได้เหมือนกัน เพราะกรรมฐานเป็นที่ตั้งแห่งการงาน คือเป็นรากเหง้าของปัญญา ซึ่งเมื่อผู้ใดได้ฝึกกัมมัฏฐานก็เท่ากับฝึกจิตใจให้มีสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็โปร่งใส อ่านอะไรก็ทะลุปรุโปร่ง เพราะมีปัญญาที่อยู่เหนือกว่าปัญหาทั่วๆ ไป คือปัญญาของพระอริยะ”

ต่อมา ย้ายไปจำพรรษายังวัดไผ่ล้อม ต.บางป่า อ.เมือง จ.ราชบุรี ในห้วงนั้นอุโบสถชำรุดทรุดโทรมลงเป็นอันมาก จนทำสังฆกรรมอีกต่อไม่ได้

จึงร่วมกับพระอธิการโต เจ้าอาวาส ซึ่งเป็นพระอนุสาวนาจารย์ จัดการก่อสร้างขึ้นใหม่หมด ทั้งกุฏิ วิหาร และศาลาการเปรียญ บูรณะวัดจนสำเร็จ

ครั้นพระอธิการโตมรณภาพลงด้วยโรคชรา ก็ได้รับนิมนต์ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบแทน

เมื่อเจ้าอาวาสวัดอมรญาติสมาคมคือหลวงพ่อน้อย มรณภาพ จึงได้รับนิมนต์ให้รักษาการตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนี้อีกวัด จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ปีชวด พ.ศ.2455 ตรงกับวันที่ 28 มิถุนายน จึงได้ย้ายมาจำพรรษายังวัดอมรญาติสมาคม

หลวงพ่อเฟื่อง ธัมมปาโล

ด้วยความที่วัดกับบ้านเป็นที่พึ่งกันและกัน จึงได้พัฒนาทั้งวัดและบ้าน กล่าวคือ ไม่เพียงแต่จะพัฒนาก่อสร้างถาวรวัตถุแต่เพียงอย่างเดียว ด้านการศึกษานั้นหาได้ปล่อยทิ้งละเลยไม่ ขณะย่านนั้นหาได้มีสถานศึกษาของพระภิกษุสามเณรไม่ จึงได้จัดสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม ในปี พ.ศ.2473 และได้จัดหาครูมาสอนให้ด้วย กระทั่งมีพระภิกษุสามเณรมาศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างมากมาย

พ.ศ.2477 จัดสร้างศาลาการเปรียญขึ้นใหม่ด้วยของเดิมคับแคบ

พ.ศ.2483 ดำเนินการสร้างโรงเรียนประชาบาลอมรวิทยาคาร ก่อสร้างถนนหลวงและสะพานข้ามคลองมอญ ย้ายโรงเรียนปริยัติธรรมมายังด้านทิศตะวันตก

ตำแหน่งหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบล พ.ศ.2471

พ.ศ.2473 เป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.2492 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ในราชทินนามที่ “พระครูอดุลสารธรรม”

มรณภาพเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2500 สิริอายุ 80 ปี พรรษา 60 •

 

โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ

[email protected]