หงส์เหินลม (3)

ญาดา อารัมภีร

‘หงส์’ กับ ‘แหล่งน้ำ’ เป็นของคู่กัน วรรณคดีสมัยอยุธยาเรื่อง “สมุทรโฆษคำฉันท์” เล่าถึง พระยาหงส์และนางหงส์บินร่อนลงสระน้ำกลางป่า เป็นภาพที่เพลินตาพระสมุทรโฆษขณะเดินทาง

“ขุนหงสเหิรสู่ คในสระบรรจงสรง

สาวหงสเหิรลง และประดับดูเรียงรัน” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

แหล่งน้ำสัมพันธ์กับหงส์โดยตรง “โคลงโลกนิติ” บทหนึ่งบรรยายถึง สองสิ่งที่พึ่งพากัน ได้แก่ หงส์ทองกับสาคร (แม่น้ำ ทะเล) ช้างกับป่า แมลงภู่ ผึ้งกับดอกไม้ นักปราชญ์กับสติปัญญา หงส์พึ่งแหล่งน้ำเป็นที่เลี้ยงชีวิตฉันใด ช้างย่อมพึ่งป่าเป็นที่อาศัยฉันนั้น แมลงภู่ ผึ้งอาศัยดอกไม้ยังชีวิตฉันใด นักปราชญ์ย่อมอาศัยสติปัญญาทำมาหากินฉันนั้น ดังที่กวีบรรยายว่า

“เหมหงส์เลี้ยงชีพด้วย สาคร

ช้างพึ่งพนาดร ป่าไม้

ภุมราบุษบากร ครองร่าง ตนนา

นักปราชญ์เลี้ยงตัวได้ เพื่อด้วยปัญญา ฯ”

 

ขึ้นชื่อว่า ‘หงส์’ ทันทีที่เห็นสระน้ำมิใช่จะรีบร่อนลงเล่นน้ำหรือพำนักอาศัยได้ทุกแห่ง ต้องเลือกแล้วว่าเป็นสระชั้นดีมีคุณภาพตามมาตรฐานหงส์ คือใสสะอาด ปราศจากเปือกตมสิ่งโสมมใดๆ ดังที่ “โคลงโลกนิติ” อีกบทมีข้อความว่า

“สระโหดหงส์ละวาง วากเว้”

คำว่า ‘โหด’ ในที่นี้หมายถึง ไม่ดี สระไม่ดี คือ สระแห้งขอดไม่มีน้ำ หรือมี แต่น้ำขุ่นน้ำสกปรก หงส์ก็เมินไม่แยแส พากันบินหนีไป ละทิ้งสระให้อ้างว้างว่างเปล่า

นอกเหนือจากความสะอาด สระน้ำยังต้องมีบรรยากาศสดชื่นผ่อนคลาย อวลกลิ่นหอมจากดอกบัวนานาพรรณ เป็นกลิ่นพึงประสงค์ของหงส์โดยเฉพาะ ดังข้อความใน “โคลงโลกนิติ” ที่ว่า

“หงส์กับบุษบากร ชื่นช้อย”

ตัวอย่างนี้บอกให้รู้ว่า แค่เล่นน้ำอาบน้ำสะอาดใสในสระยังไม่เพียงพอ สระน้ำต้องมีกลิ่นหอมเร้าอารมณ์สุนทรีย์ตามประสาหงส์

 

วรรณคดีหลายเรื่องมักกล่าวถึง ‘สระมุจลินท์’ ควบคู่กับ ‘หงส์’ อยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากเป็นสระน้ำมีระดับเป็นที่โปรดปรานของหงส์ยิ่งนัก ดังจะเห็นจาก ‘เพลงยาวสำนวนนายมหานุภาพ’ จาก “ประชุมเพลงยาว ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ” (สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ.2565) มีข้อความตอนหนึ่งสอนสตรีให้รักเกียรติ ถนอมรักษาความบริสุทธิ์ด้วยการวางตนอย่างเหมาะสม โดยเปรียบกับหงส์ที่ปรารถนาจะชำระกาย ณ สระมุจลินท์เท่านั้น

“สงวนยศอย่างประยูรวิหคหงส์ ย่อมจำนงมุจลินท์สระสนาน

สงวนศรีมิให้มีราคีพาน เคยสถิตสถานคูหาทอง

อันความชั่วจะให้ชื่อนั้นลือลึก เหมือนต้องหมึกถึงมิมอมก็จำหมอง

ใครจะเมตตาตามเคียงประคอง ไม่เท่าน้องรักหน้าสงวนนวล”

เหตุใด ‘มุจลินท์’ สระใหญ่ในป่าหิมพานต์ ขอบสระประกอบด้วยต้นจิก จึงเป็นที่หมายปองของหงส์ทั้งมวล คำตอบอยู่ที่ “มหาเวสสันดรชาดก” กัณฑ์มหาพนทั้ง 2 สำนวน

สำนวนแรก เป็นพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

“พฺรหฺเม ดูกรมหาพราหมณ์พรหมบุตรวิสุทธิวงศ์ เมื่อท่านจะจรจากจตุรัสสระสรงมงคลโบกขรณี จะได้เห็นซึ่งสระศรีมีนามชื่อว่า มหามุจลินท์ เปี่ยมไปด้วยกระแสสินธุ์ใสสะอาด โขมาว ตตฺถ ปทุมา สระนั้นมีเศวตรปทุมชาติอเนกแน่นเป็นระนาว เล่ห์ประหนึ่งว่าลาดด้วยผ้าขาวโขมพัสตรไปประดับไว้ ดูไสวด้วยเศวตรอุบลจงกลนีแนม กระลำพักเกิดแกมทอดยอดอยู่สลอน คิมฺหา เหมนฺตกา ผุลฺลา เมื่อถึงฤดูกาลหนาวและร้อนระรวยรื่นด้วยบัวบาน ในน้ำมีประมาณเสมอเพียงเข่า บัวหลวงนี้เล่าก็บานแบ่งเกสรร่วงลงบนหลังน้ำ ดูกระแสพิจิตรล้ำเล่ห์ลาดด้วยดอกบัว กลิ่นฟุ้งขจรตระหลบอบทั่วทั้งสระศรี” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

สำนวนต่อมาเป็นผลงานของพระเทพโมลี (กลิ่น) สมณกวีสมัยรัตนโกสินทร์

“พฺรหฺเม ดูกรมหาพราหมณ์ผู้ประพฤติพรตพรหมจรรยา เราจะพรรณนาถึงสระศรี อันมีอยู่ที่แทบพระอาศรมศิวาวาสแห่งสมเด็จพระบรมบาทบพิตรพิชิตพิชัยเฉลิมชาวเชตุดรราชธานี มีนามมุจลินทสินธุสระสนาน สี่เหลี่ยมเปี่ยมไปด้วยชลธารชโลทกเทียบเทียมไพฑูรยจินดาดวงดูใสสะอาด เย็นยะเยือกหยาดอย่างอมฤตวาริน ระรื่นรวยด้วยกลิ่นไออบอวล ฝูงกินนรคณานางย่อมชักชวนกันมาอาบกิน เกษมศานติ์แสนสุขาภิรมย์ระร่าเริงบันเทิงใจในสระนั้น อเถตฺถ ปทุมา ผุลฺลา อำพนด้วยบัวบุษย์เบญจพรรณมีประเภทพิจิตรอาจจะจับเอาใจ ที่ขาวก็ขาวแข่งไสวสีเศวตวิสุทธิ์สดสะอาด โขมาว ดั่งสุขุมโขมพัสตร์ลาดแลละลิบละลานตา พรรณที่เขียวแดงก็ดาษดาดูดุจแสร้งระดับสลับสลอนล้วนเป็นเหล่ากัน พวกอุบลบัวผันและเผื่อนผุดกุมุทหมู่ลินจงขจายบาน ในคิมหันต์เหมันตกาลประกอบเกิดกับน้ำ กำหนดตื้นยืนเพียงเข่าควรที่จะปราโมทย์ อันว่าโกสุมสโรชก็โรยรายร่วงรสเรณูนวลผกาเกสร” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

จะเห็นได้ว่า กัณฑ์มหาพนทั้ง 2 สำนวนนี้ให้ภาพสระน้ำเต็มไปด้วยดอกบัวหลากสี มีทั้งสีขาว สีแดง สีเขียว ส่งกลิ่นหอมฟุ้งไปทั่วบริเวณ สระนี้มีน้ำสะอาดใสไร้มลทินสิ่งสกปรก ระดับน้ำสูงแค่เข่าไม่ลึกเท่าใดนัก สระมุจลินท์จึงดึงดูดใจหงส์ทั้งหลายให้มาอาศัยและลงเล่นน้ำอย่างรื่นรมย์

 

กวีนิยมนำ ‘หงส์’ และ ‘สระมุจลินท์’ มาใช้ในการเปรียบเทียบ ดังจะเห็นได้จากเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ตอนที่ขุนแผนพาบ่าวไพร่ขึ้นไปบนเรือนหอขุนช้าง

ขุนแผนถามขุนช้างว่า ‘คิดอย่างไรถึงกล้าเป็นชู้กับเมียคนอื่น โดยแกล้งหลอกว่าผัวนางตายในสงคราม’

คำถามนี้ทำเอาขุนช้างกลัวจนขนหัวลุก แม้ถามถึงสามครั้ง ขุนช้างยังเงียบกริบ เอาแต่กอดนางวันทองไว้ไม่ยอมลืมตา

“ขุนแผนฮึดฮัดให้ขัดใจ ร้องถามไปดูก่อนเจ้าวันทอง

กระไรเลยเจ้าเอ๋ยเรามาหา ช่างซ่อนหน้านอนได้อยู่ในห้อง”

เมื่อขุนช้างไม่ยอมตอบ ขุนแผนก็เรียกนางวันทองออกมาพูดจากัน ความที่นางกลัวว่าขุนแผนจะบุกเข้าไปซักไซ้ถึงในห้อง ก็รีบปิดประตูแน่นหนา

ขุนแผนจึงตัดพ้อต่อว่าระคนเหน็บแนมแกมเสียดสีอย่างเจ็บแสบว่า ‘ที่แท้นางวันทองหาใช่หงส์ที่รักและหวงแหนสระมุจลินท์ไม่ แต่เป็นกาปลอมเป็นหงส์ จึงอดไม่ได้ที่จะลงเกลือกกลั้วโคลนตมสิ่งสกปรกตามสัญชาติแท้จริง’

“กาลวงว่าหงส์ให้ปลงใจ ด้วยมิได้ดูหงอนแต่ก่อนมา

คิดว่าหงส์เราจึงหลงด้วยลายย้อม ช่างแปลกปลอมท่วงทีดีนักหนา

ดังรักถิ่นมุจลินท์ไม่คลาดคลา ครั้นลับตาฝูงหงส์ก็ลงโคลน”

 

เช่นเดียวกับใน “มหาเวสสันดรชาดก” กัณฑ์มัทรี เมื่อพระนางมัทรีกลับจากเสาะหาผลไม้ในป่ามาเป็นอาหารพระสวามีและพระโอรสธิดา ทุกเย็นที่กลับมาถึงพระอาศรมที่พำนัก ลูกๆ จะวิ่งมาต้อนรับ แต่วันนี้กลับไม่เห็นสองกุมาร พระนางจึงร้องเรียกหา

“แก้วกัณหาพ่อชาลีของแม่เอ๋ย แม่มาถึงแล้วเหตุไฉนไยพระลูกแก้วจึ่งมิมาเล่าหลากแก่ใจ แต่ก่อนแต่ไรสิพร้อมเพรียง เจ้าเคยวิ่งระรี่เรียงเคียงแข่งกันมาคอยรับพระมารดา ทรงพระสรวลสำรวลร่าระรื่นเริงรีบรับเอาขอคาน แล้วก็พากันกราบกรานพระชนนี พ่อชาลีเจ้าเลือกเอาผลไม้ แม่กัณหาฉะอ้อนวอนไหว้ว่าจะเสวยนม ผทมเหนือพระเพลาพลางฉอเลาะแม่นี้ต่างๆ ตามประสาทารกเจริญใจ”

พระนางรำพันว่า ลูกน้อยทั้งสองเปรียบเสมือนลูกเนื้อทรายตั้งตารอพบแม่เมื่อยามเย็น ไม่เคยประสบความยากลำบากใดๆ “แม่สู้พยาบาลบำรุงเจ้าแต่เยาว์มา เจ้ามิได้ห่างพระมารดาสักหายใจ โอความเข็ญใจในครั้งนี้นี่เหลือขนาด สิ้นสมบัติพลัดญาติยังแต่ตัว ต้องไปหามาเลี้ยงลูกและเลี้ยงผัวทุกเวลา แม่มาสละเจ้าไว้เป็นกำพร้าทั้งสององค์ หํสาว เสมือนหนึ่งลูกหงส์เหมราชปักษิน ปราศจากมุจลินท์ไปตกคลุกในโคลนหนอง สิ้นสีทองอันผ่องแผ้ว”

พระนางมัทรีเปรียบสองกุมารกับลูกหงส์ทองซึ่งไร้สระมุจลินท์ บัดนี้ตกระกำลำบากเกลือกกลั้วโคลนในหนองน้ำจนสีขนหม่นหมอง ไร้สีทองเปล่งปลั่งดังแต่ก่อน ทั้งกัณหาและชาลีสิ้นสง่าราศีที่เคยมี

‘หงส์’ กับ ‘การเปรียบเทียบ’ ยังมีต่อ ติดตามฉบับหน้า •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร