ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | กาแฟดำ |
ผู้เขียน | สุทธิชัย หยุ่น |
เผยแพร่ |
กาแฟดำ | สุทธิชัย หยุ่น
Madoff
: แชร์ลูกโซ่บันลือโลก
พูดถึง “แชร์ลูกโซ่” ก็ต้องโยงถึง Ponzi Scheme ต้นตำรับเกมกลโกงชาวบ้านในประวัติศาสตร์
และหากเอ่ยถึง Ponzi Scheme ใครไม่รู้จัก Bernie Madoff ก็เชยเต็มที
จึงต้องเล่าเรื่อง “กลหลอกเงินชาวบ้านบันลือโลก” นี้สำหรับคนที่สนใจว่า “ปรมาจารย์” ด้านฉ้อฉลบันลือโลกครั้งประวัติศาสตร์นั้นเขาเป็นใคร
และหลอกลวงคนเป็นหมื่นๆ ล้านเหรียญได้อย่างไร
เรื่องราวอื้อฉาวที่เราได้ยินในประเทศไทยอยู่ทุกวันนี้มีอะไรละม้ายกันหลายประการ
ที่ดูเหมือนจะสอดคล้องต้องกันคือ “ความโลภ” ของมนุษย์ที่บ่อยครั้งหาเหตุผลอธิบายไม่ได้
แต่ที่ตรงกันแน่ๆ คือความเปราะบางของสังคมที่บูชาคนมีชื่อเสียง, คนที่สร้างภาพ “ประสบความสำเร็จ” โดยไม่รู้ที่มาที่ไป
และอันตรายของ “จอมหลอกลวง” ที่แฝงตัวมาในเปลือกของ “นักเล่าเรื่อง”
เบอร์นี่ เมดอฟฟ์ คือเจ้าของเกมกลโกงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์วอลล์สตรีทของสหรัฐ
เดือนธันวาคมปี 2008 โลกได้รู้จักกับเมดอฟฟ์ ชายผู้สร้างชื่อเสียงในฐานะ “พ่อมด” ด้านการเงินบนวอลล์สตรีต
แต่สิ่งที่ “เบอร์นี่” สร้างขึ้นมาไม่ใช่แค่ความมั่งคั่งเท่านั้น มันคือการหลอกลวงขนาดมหึมา มูลค่าประมาณ 65,000 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 186,000 ล้านบาท
เป็นการฉ้อโกงทางการเงินครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์…โดยฝีมือของคนที่เคยได้ชื่อว่าเป็นคนที่ “น่าเชื่อถือที่สุดคนหนึ่ง” ในวงการการเงิน
เบอร์นี่ เมดอฟฟ์ คือใคร?
ในภาพกว้าง “เบอร์นี่” เป็น “แม่แบบแห่งความสำเร็จ” ที่เป็นที่อิจฉาของคนทั่วไป
ทั้งรวย ทั้งเก่ง ทั้งเป็นที่ยอมรับของคนทั่วทุกวงการ
เบอร์นี่เกิดปี 1938 เติบโตในครอบครัวยิวชนชั้นกลางค่อนไปทางล่างในควีนส์ นิวยอร์ก
แต่นั่นไม่เป็นอุปสรรคสำหรับการสร้างเนื้อสร้างตัวให้โดดเด่นในวงการเงินและหุ้น
ด้วยความมุ่งมั่นและทะเยอทะยานอย่างไม่ลดละ เบอร์นี่ก่อตั้งบริษัทลงทุนของตัวเองชื่อว่า Bernard L. Madoff Investment Securities LLC ในปี 1960
เริ่มต้นด้วยเงินเพียง $5,000 (160,000 บาท) ที่อดออมจากการทำงานเป็นไลฟ์การ์ด
ระยะแรก เน้นการทำธุรกิจการค้าอย่างซื่อสัตย์และบริหารจัดการพอร์ตการลงทุนให้ลูกค้า
พอทำงานอย่างเอาจริงเอาจัง เบอร์นี่เริ่มเป็นที่รู้จักในวงการ
จนต่อมา กลายเป็นผู้เล่นสำคัญบนวอลล์สตรีต
ถึงขั้นขึ้นดำรงตำแหน่งประธาน NASDAQ อันเป็นตลาดหุ้นที่สร้างชื่อเสียงด้วยการเปิดทางให้บริษัทเทคโนโลยีเอาหุ้นมาจดทะเบียนซื้อขายกันอย่างคึกคัก
ไม่ช้าไม่นาน เบอร์นี่ก็ยกฐานะตัวเองเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับคนดัง นักการเมือง กองทุนบำนาญ และองค์กรการกุศล
ภาพข้างหน้าดูน่าชื่นชมและตื่นเต้น เขาคือคนที่สร้างผลกำไรให้กับนักลงทุนในทุกวงการอย่างต่อเนื่อง
เบอร์นี่คือ “สุดยอดแห่งความฝัน” ของทุกคน
ทุกประโยค ทุกแนววิเคราะห์เรื่องการลงทุนของเขาคือ “คำศักดิ์สิทธิ์” ของวงการอย่างปฏิเสธไม่ได้
แต่ชื่อเสียงและความมั่งคั่งไม่สามารถสกัดกั้น “ความโลภ” ของมนุษย์
เสมือนหนึ่งว่ายิ่งรวยยิ่งดังก็ยิ่งรู้ซึ้งถึงจุดอ่อนของ “ความโลภ” ของเพื่อนร่วมโลกคนอื่น
เขาศึกษาเกมกลโกงแบบ Ponzi ในอดีตอย่างลุ่มลึกและแนบเนียน
คนเก่งคนฉลาดนั้น เมื่อตัดสินใจก่ออาชญกรรมแล้วก็ทำได้โหดเหี้ยมและก่อหายนะได้อย่างฉกาจฉกรรจ์เกินความคาดหมาย
อะไรคือ Ponzi Scheme ที่เบอร์นี่ตัดสินใจเอามาใช้เพื่อสร้าง “อาณาจักรมฤตยู” ของเขา?
กลลวง “พอนซี” คือเป็นแผนต้มตุ๋นตามชื่อนายชาร์ลส์ พอนซี ผู้คิดค้นแผนชั่วร้ายนี้ในปี 1920
ตามแผนฉ้อโกงอย่างมโหฬารนี้ ผู้ลงทุนรายแรกจะได้รับ “ผลตอบแทน” จากเงินของผู้ถูกหลอกให้มาเป็น “ผู้ลงทุน” รายใหม่
แทนที่จะเป็นจากผลกำไรที่เกิดจากการลงทุนจริง
กลโกงนี้จะทำงานได้ต่อเนื่องตราบเท่าที่มีเงินใหม่เข้ามา
แต่หากเกิดมีความสงสัยในหมู่ผู้ลงทุนจำนวนมากว่ามีอะไรผิดปกติ และพยายามถอนเงินออก
หรือหากไม่สามารถชักชวนหว่านล้อมผู้ลงทุนรายใหม่เข้ามา โครงสร้างทั้งหมดจะล่มสลายต่อหน้าต่อตา
ล้มกันแบบโดมิโดกันเลยทีเดียว
และนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับเบอร์นี่ในปี 2008
บริษัทของเขาสัญญากับลูกค้าว่าจะให้ผลตอบแทนที่มั่นคงและสูงมาก
ไม่ว่าจะเป็นช่วงเศรษฐกิจขาขึ้นหรือขาลง
เพราะชื่อเสียงของเขาทำให้นักลงทุนเชื่อสนิทใจ
ยิ่งเปิดโอกาสให้เขาทำธุรกิจฉ้อฉลต่อไปอีกหลายปี
ความจริงเบื้องหลังมีแต่ด้านมืด
เพราะผลตอบแทนที่เบอร์นี่จ่ายให้ลูกค้าล้วนเป็นเรื่องเสกสรรค์ปั้นแต่ง
เพราะไม่มีการลงทุนจริง เพียงแต่สลับสับเปลี่ยนเงินระหว่างบัญชีเพื่อนำไปจ่ายให้นักลงทุนรายก่อนเท่านั้น
ที่สำคัญคือต้องรักษาภาพลักษณ์ของความเป็น “มืออาชีพ” ที่ดังที่สุดในวงการ
เขาทำได้อย่างไร?
เหตุผลหนึ่งคือเขามีตำแหน่งสูงในวงการการเงินมาตลอด
อีกทั้งบริษัทมีภาพลักษณ์ของ “ความเป็นมืออาชีพอัจฉริยะ” ที่หาใครมาเปรียบเทียบไม่ได้
กลยุทธ์อีกอย่างหนึ่งที่เรียกความสนใจเป็นพิเศษคือใครจะมาลงทุนกับเขาต้องได้รับเชิญเท่านั้น
อยู่ดีๆ จะมาขอร่วมลงทุนด้วยไม่ได้
เพราะนี่เป็นกลุ่ม “เอ็กซ์คลูซีฟ” จริงๆ
ยิ่งเสริมส่งความน่าเชื่อถือ, พิเศษ, หรูหราที่ไม่มีใครกล้าตั้งคำถาม
อีกกลยุทธ์หนึ่งคือการทำบันทึกการเงินที่ดูน่าประทับใจไร้ที่ติ
เพราะเป็นบันทึกแสดงผลตอบแทนที่มั่นคงและเป็นบวกอย่างสม่ำเสมอ
ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในตลาดหุ้นก็ตาม
นั่นเป็นจุดเล็กๆ ที่ทำให้นักวิเคราะห์การเงินบางคนเริ่มตั้งข้อสงสัย
เพราะมันเป็นภาพที่สวยเกินกว่าความเป็นจริง
ไม่มีใครสามารถรับประกันการเติบโตที่มั่นคงเช่นนี้ได้เป็นเวลานาน
แต่ทำไมไม่มีใครกล้าตั้งคำถามในที่สาธารณะเรื่องนี้
ก็เพราะชื่อเสียงของเขาสามารถเลี่ยงการถูกสงสัยในทางเปิดมาได้เป็นเวลานาน
อีกเหตุผลหนึ่งคือไม่มีใครอยากตั้งคำถามกับเขา
ก็ไม่ในเมื่อเขาสามารถทำให้นักลงทุนทุกคนได้ผลตอบแทนดั่งฝัน จะไป “กวนน้ำให้ขุ่น” ไปทำไม
แต่แล้วความไม่ปกติย่อมจะต้องถึงวันล่มสลาย ไม่ช้าก็เร็ว
วิกฤตการเงินโลกในปี 2008 เป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบของเบอร์นี่
เพราะเศรษฐกิจทรุดตัวลงและผู้คนเริ่มตื่นตระหนก
ลูกค้าของเบอร์นี่จำนวนมากเริ่มถอนเงินออกเพื่อไปชดเชยความเสียหายในธุรกิจของตน
ภายในเดือนธันวาคมในปีนั้น เขาก็ไม่สามารถรับมือกับการขอถอนเงินจำนวนมหาศาลอย่างไม่หยุดยั้งได้
วันที่ 10 ธันวาคม 2008 เบอร์นี่สารภาพกับลูกชายว่าธุรกิจการลงทุนทั้งหมดของเขาเป็นกลโกงแบบพอนซี
เขาบอกว่าตัวเอง “ไม่เหลืออะไรแล้ว”
โดยยอมรับว่าเป็น “การเกมหลอกลวงครั้งใหญ่”
ลูกชายงุนงงและสับสน
เพราะตัวเองไม่ได้ระแคะระคายด้านมืดของพ่อขนาดนั้น
ทางออกที่สร้างความลำบากใจอย่างยิ่งกับลูกคือจะทำอย่างไรดี
จะแจ้งทางการให้พ่อถูกจับหรือ
หรือจะช่วยเก็บความลับเอาไว้ทั้งๆ ที่รู้ว่าอีกไม่ช้าไม่นานเรื่องอื้อฉาวนี้ก็จะถูกเปิดโปงอยู่ดี
ว่าแล้ว ลูกก็ตัดสินใจเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางในวันถัดมา
การล่มสลายระเบิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง
วันที่ 11 ธันวาคม 2008 เขาถูกจับกุมโดยเอฟบีไอ
ถูกตั้งข้อหาฉ้อโกงหลักทรัพย์
ช็อกกันทั้งวงการ ช็อกกันทั้งโลก
ผู้เสียหายมีทั้งที่เป็นตัวบุคคล องค์กรการกุศล และสถาบันต่างๆ
บางคนสูญเสียเงินเก็บทั้งหมดในชีวิต
องค์กรการกุศลหลายแห่งต้องปิดตัวลงเพราะกองทุนหายวับไปกับตา
สิ่งที่ตามมาคือคำถามที่ว่าทำไมเรื่องนี้ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจึงไม่ตรวจสอบและดำเนินคดีให้เร็วกว่านี้?
ทำไมหน่วยงานกำกับดูแลอย่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ (SEC) ถึงไม่ระแคะระคายเรื่องนี้ทั้งๆ ที่มีเบาะแสหลายข้อ
เดือนมีนาคม 2009 เบอร์นี่รับสารภาพผิดในข้อหาความผิดทางอาญาของรัฐบาลกลาง 11 กระทง
รวมถึงการฉ้อโกงหลักทรัพย์ การฉ้อโกงทางสาย และการฟอกเงิน
วันที่ 29 มิถุนายน 2009 ถูกตัดสินจำคุก 150 ปี
เรื่องเศร้าที่ตามมาคือการตัดสินใจฆ่าตัวตายของลูกชายที่ชื่อ มาร์ก เมดอฟฟ์ ในปี 2010
เพราะไม่สามารถทำใจกับการกระทำของพ่อและความสนใจของสื่อที่ถาโถมใส่ครอบครัวได้
เรื่องราวของเบอร์นี่ยังถูก “คัดสำเนา” ถึงทุกวันนี้ในหลากหลายประเทศ
รวมทั้งประเทศไทยอันเป็นที่รักยิ่งของเรา!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022