ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | การเมืองวัฒนธรรม |
ผู้เขียน | เกษียร เตชะพีระ |
เผยแพร่ |
การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ
จริยธรรมทางการเมือง
: 2) บริบทวันแทบสิ้นโลก
บริบทในประเทศ
เมืองมิวนิก แคว้นบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี มกราคม 1919
หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเมื่อพฤศจิกายน 1918 มิวนิกประสบกับการปฏิวัติสังคมนิยมซึ่งได้แรงดลใจ จากการปฏิวัติบอลเชวิกในรัสเซียเมื่อเดือนตุลาคม 1917
ถึงเดือนมกราคม 1919 การปฏิวัติสังคมนิยมในบาวาเรียก็ดำเนินมาได้สองเดือนแล้ว ทว่า หลังจากนั้นไม่นาน มันก็จะถูกบดขยี้ด้วยการปฏิปักษ์ปฏิวัติและตามมาด้วยการปราบปรามอย่างนองเลือด
สถานการณ์ดูเหมือนจวนเจียนจะเกิดสงครามกลางเมืองในเยอรมนีอยู่รอมร่อ รัฐเยอรมันขณะนั้นกลายเป็นรัฐล้มเหลวในทางปฏิบัติ การเมืองการปกครองล่มสลายหลังเยอรมนีประกาศยอมแพ้สงคราม
เท่านั้นไม่พอ มันยังประจวบกับการเกิดโรคระบาดไข้หวัดใหญ่สเปนซึ่งกำลังแพร่ลุกลามไปทั่วโลกในช่วงฤดูหนาวปี 1918-1919 เข้าอีก ประเมินกันว่ามีผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคระบาดครั้งนี้ตั้งแต่ราว 25 ล้านถึง 50 ล้าน และอาจจะสูงถึง 100 ล้านคนทั่วโลกทีเดียว (Microsoft Copilot, “How many people died in the Spanish flu pandemic in 1918-1919?,” October 16, 2024, Microsoft Edge)
จึงไม่เป็นการเกินเลยที่จะอุปมาอุปไมยว่าเมื่อแมกซ์ เวเบอร์ แสดงบรรยายปาฐกถาเรื่อง ‘Politik als Beruf’ (โพลิติก แอส เบรูฟ) หรือ “วิชาชีพกับภารกิจของการเมือง” ว่าด้วยจริยธรรมทางการเมืองของนักการเมืองให้กลุ่มนักศึกษาและประชาชนในมิวนิกฟังเมื่อเดือนมกราคมปี 1919 นั้น…
“อัศวินทั้งสี่แห่งวันสิ้นโลก” (The Four Horsemen of the Apocalypse ดู https://en.wikipedia.org/wiki/Four_Horsemen_of_the_Apocalypse) อันเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของ [โรคระบาด-สงคราม-ทุพภิกขภัย-ความตาย] ตามลำดับในหนังสือวิวรณ์#6 ตอน “มีม้าสี่ตัวออกไป” ของพระคริสต์ธรรม คัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ (https://www.bible.com/bible/2046/REV.6.TH1940) กำลังอาละวาดเหยียบย่ำ ทำลายสังคมและการเมืองเยอรมนีพินาศย่อยยับลงแทบว่าจะสิ้นโลกทีเดียว
และตัวเวเบอร์เองก็มีอันถึงแก่กรรมด้วยโรคปอดบวมเนื่องจากติดเชื้อระหว่างเกิดโรคระบาดไข้หวัดใหญ่สเปนดังกล่าวไปด้วยในปี 1920 ถัดมา
บริบทสากล
แน่นอนว่าบริบทสากลแห่งปาฐกถาชิ้นนี้ของเวเบอร์ย่อมได้แก่ประสบการณ์และผลลัพธ์ของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (หรือ WWI, 1914-1918) ที่เยอรมนีเป็นคู่สงครามหลักนั่นเอง
สิ่งที่พึงตระหนักคือเมื่อคนร่วมสมัยเยี่ยงเวเบอร์ประสบพบผ่าน “สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง” นั้นมันผันผวน ปรวนแปรพลิกหัวออกก้อยกว่าที่คนฉลาดหลังเหตุการณ์อย่างเรามองเห็นมาก
มันย่อมยังไม่ใช่สงครามโลก “ครั้งที่หนึ่ง” จนกว่าโลกจะเจอเข้ากับสงครามโลกครั้งที่สองเข้าเมื่อปี 1939-1945
และหะแรกเมื่อเริ่มรบกันนั้น มันยังไม่ใช่แม้แต่ “สงครามโลก” ด้วยซ้ำไป
หากเป็นแค่สงครามกลางเมืองของยุโรประหว่าง [บริเตน-ฝรั่งเศส-รัสเซีย] ฝ่ายหนึ่ง vs. [เยอรมนี-จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี-จักรวรรดิออตโตมัน-บัลแกเรีย] อันเป็นมหาอำนาจในยุโรปกลางและตะวันออกอีกฝ่าย
แม้สงครามจะกระฉอกลามไปยังดินแดนในจักรวรรดิใต้การครอบครองและอิทธิพลของรัฐยุโรปเหล่านี้ทั่วโลกบ้าง จนถึงแก่สยามส่งทหารไปร่วมรบด้วย เป็นต้น ก็ตาม
ทว่า โดยแก่นสารแล้ว มันเป็นศึกสายเลือดในยุโรปด้วยกันเอง และเอาเข้าจริงก็เป็นสงครามที่ไม่ค่อยสมเหตุสมผลสักเท่าไหร่ แม้กระทั่งสำหรับประเทศที่เข้าร่วมสงครามเองบางราย
(ดูคำวิจารณ์ความไม่สมเหตุสมผลที่จะก่อสงครามครั้งนี้ขึ้นได้ใน Sir Norman Angell, Europe’s Optical Illusion, 1909 หรือ ทัศนมายาของยุโรป ฉบับพิมพ์ครั้งหลังเปลี่ยนชื่อเป็น The Great Illusion : A Study of the Relation of Military Power to National Advantage, https://en.wikipedia.org/wiki/The_Great_Illusion)
เหล่าประเทศคู่สงครามจึงพากันชดเชยตรรกะทางทหารที่ขาดพร่องด้วยการปลุกความรักชาติล้นเกินให้ผู้คนพลเมืองพากันยอมไปรบไปฆ่าไปตายเพื่อชาติอย่างกระเหี้ยนกระหือรือ!
อันนำไปสู่สงครามพร่ากำลังคนมหาศาลยืดเยื้อนานสี่ปีที่บ่อยครั้งชะงักงันในแบบฉบับสงครามสนามเพลาะ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วมีผู้เสียชีวิตประมาณ 15-22 ล้านคน! ในนี้เป็นทหารราว 9-11 ล้านคนและพลเรือนราว 6-13 ล้านคน
ความพลิกผันขึ้นลงหลายตลบของ WWI อาจเรียงลำดับหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญได้ดังนี้ :-
– 1917 กุมภาพันธ์ เกิดการปฏิวัติรัสเซียครั้งที่หนึ่งเพื่อแทนที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่สองด้วยระบอบเสรีประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ส่งผลเปลี่ยนนัยทางการเมืองของสงครามไปเป็นระหว่าง [ฝ่ายประชาธิปไตย (บริเตน-ฝรั่งเศส-รัสเซีย) vs. ฝ่ายอัตตาธิปไตย (เยอรมนีกับพันธมิตร)]
– 1917 ฤดูใบไม้ผลิ ความหมายทางการเมืองของสงครามที่เปลี่ยนไปได้เปิดช่องทางโครงสร้างโอกาสทางการเมืองใหม่ให้สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมสงครามอย่างชอบธรรมได้ในฝ่ายประชาธิปไตยและพลิกดุลอำนาจทางทหารไปในทางที่เป็นโทษต่อฝ่ายอัตตาธิปไตย ทั้งยังส่งผลให้สงครามแผ่ขยายจากยุโรปข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปอเมริกา คู่ควรกับสมญานาม “สงครามโลก”
– 1917 ตุลาคม เกิดการปฏิวัติรัสเซียครั้งที่สองโดยพรรคบอลเชวิกใต้การนำของเลนินในแนวทางปฏิวัติสังคมนิยม เลนินเห็นว่า WWI ไม่ใช่สงครามของพวกตน ฉะนั้น ก็จะไม่ไปรบทัพจับศึกด้วยและต้องการออกจากสถานะสงครามไม่ว่าจะแลกด้วยอะไร ด้วยเหตุนี้ชั่วสี่เดือนหลังกุมอำนาจรัฐได้ เลนินก็ประกาศยอมแพ้สงครามต่อเยอรมนีอย่างสิ้นเชิง และยอมให้แทบทุกอย่างที่เยอรมนีต้องการ การณ์นี้ช่วยผ่อนเบาภาระสงครามของเยอรมนีลง ไม่ต้องรบสองแนวรบทั้งตะวันออกและตะวันตกพร้อมกัน และสามารถทุ่มกำลังไปยังแนวรบตะวันตกเพื่อต่อสู้กับอังกฤษ-ฝรั่งเศส-อเมริกาได้ถนัดเต็มที่ขึ้น
– 1918 ครึ่งปีแรก กำลังทหารอเมริกันมาถึงสมรภูมิยุโรปล่าช้าและไม่ใหญ่โตพอ ทำให้เยอรมนีเริ่มได้เปรียบในสงครามแนวรบตะวันตกถึงขั้นเกือบยึดกรุงปารีสได้และทำท่าจวนเจียนจะชนะ WWI
– 1918 ครึ่งปีหลัง สถานการณ์พลิกกลับ ชั่วเวลาไม่กี่เดือน รัฐเยอรมันมีอันล่มสลายลง กองทัพเยอรมันก็ล่มสลายลงด้วยบางส่วนแต่ไม่ทั้งหมด นี่เป็นความปราชัยทางการเมืองและสังคม แต่ไม่ใช่การปราชัยทางทหารอย่างชี้ขาด กล่าวคือ ฝ่ายนำเยอรมนีประกาศยอมจำนนและเซ็นข้อตกลงหยุดยิงกับฝ่ายประชาธิปไตย เมื่อ 11 พฤศจิกายน 1918 ขณะเดียวกันประชาชนเยอรมันซึ่งตกอยู่ในสภาพป่วยไข้ อดอยากและใกล้ล้มละลายก็รู้สึกเหลือทนและพอกันทีกับสงคราม รัฐเยอรมันไม่สามารถค้ำยันความอุตสาหะพยายามที่จำเป็นเพื่อยืนหยัดสู้รบสงครามนี้อีกต่อไป
จากจุดนั้นสถานการณ์ก็คลี่คลายสลายตัวไปอย่างรวดเร็วยิ่ง…
สิ้นปี 1918 เยอรมนีประสบความปราชัยเบ็ดเสร็จในสงครามเบ็ดเสร็จครั้งแรก กษัตริย์ไกเซอร์สละราชสมบัติ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เยอรมันถูกกวาดทิ้งลงถังขยะประวัติศาสตร์ และสังคมการเมืองเยอรมนีต้องหาทางสร้างรัฐชนิดใหม่ขึ้นมา
ปรากฏว่าตัวแมกซ์ เวเบอร์ เองเข้าไปมีบทบาทร่วมมากขึ้นอย่างเข้มข้นในบรรยากาศและกระแสการเมืองที่ทุกขเวทนา โกลาหลอลหม่านและน่าตื่นตระหนกของเยอรมนีตอนนั้น ทั้งในคณะผู้แทนเยอรมันที่เข้าประชุมสันติภาพ ณ กรุงปารีสและเข้าเป็นที่ปรึกษาให้แก่คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญไวมาร์ฉบับใหม่ด้วย
ในบริบทเยี่ยงนี้เองที่เขากล่าวบรรยายเรื่อง ‘Politik als Beruf’ หรือ “วิชาชีพกับภารกิจของการเมือง” ณ เมืองมิวนิก
(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022