ละครเวที : ความบันเทิงใหม่ของคนไทยในช่วงสงคราม (1)

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

ละครเวที

: ความบันเทิงใหม่ของคนไทยในช่วงสงคราม (1)

 

กำเนิดละครเวทีในช่วงสงคราม

ในช่วงปลายสงคราม เมื่อการโจมตีทางอากาศถี่มากทำให้ความบันเทิงประเภทภาพยนตร์ซบเซาลง เนื่องจากขาดแคลนภาพยนตร์ตะวันตกใหม่ๆ

โรงภาพยนตร์ต่างๆ จึงแก้ปัญหายอดคนชมลดลงด้วยการนำเอาภาพยนตร์เก่าที่ค้างอยู่ มาฉายเพื่อไม่ให้คนกรุงเบื่อหน่าย พร้อมมีการริเริ่มนำวงดนตรีและจำอวดเข้ามาแสดงเพื่อสร้างความแปลกใหม่และดึงดูดผู้ชม (ลาวัณย์ โชตามระ, 2527 : 165)

สำหรับศาลาเฉลิมกรุงซึ่งเป็นเวทีละครที่มีชื่อเสียงช่วงสงครามนั้น แต่เดิม เฉลิมกรุงเป็นโรงภาพยนตร์สมัยใหม่ติดเครื่องปรับอากาศ เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อ 2476 ภายในโรงมีการตกแต่งด้วยหลอดไฟสีต่างๆ ที่ม่านเวที สีเขียว แดง เหลือง แสด ชมพูสลับกันไปอย่างสวยงาม (ขุนวิจิตรมาตรา, 2523, 51)

แต่ด้วยเหตุจากสงครามทำให้เฉลิมกรุงกลายมาเป็นเวทีละคร ดังที่ ชัยยศ ทับทิมแก้ว ศิลปินอาวุโส เล่าว่า “อย่างศาลาเฉลิมกรุง บริษัทไม่มีหนังป้อน ละครเข้าตะพัดไป” (silpa-mag.com/history/article_3846)

ด้วยเหตุที่ผู้อำนวยการเฉลิมกรุงเป็นทหาร คือ น.อ.ขุนสวัสดิ์ฑิฆัมพร แม้นครั้งนั้น พระนครผจญห่าระเบิดที่ถูกทิ้งไม่เว้นแต่ะวันนั้นทำให้โรงภาพยนตร์จำนวนมากปิดตัวลง แต่เฉลิมกรุงยังคงเปิดการแสดงต่อไปด้วยการนำเสนอการแสดงชนิดใหม่ต่อชาวกรุง (สง่า อารัมภีร, 2509, 111)

เฉลิมกรุงกับป้ายโฆษณาละครเวที 2 เรื่อง “กากี” และ “พันท้ายนรสิงห์” (2490) เครดิตภาพ : National Geographic Thailand

คณะละคร ณ เฉลิมกรุง

นับแต่เกิดสงครามทวีความรุนแรงสูง มหรสพต่างๆ ถูกงดเล่น มีแต่การเล่นรำโทนกลางแจ้งเท่านั้นให้ความหย่อนใจให้กับชาวพระนคร

ขุนวิจิตรมาตราเล่าว่า วันหนึ่งในปี 2486 จอมพล ป.เห็นว่า บ้านเมืองเงียบเหงานักจึงอยากให้มีความครื้นเครงเพื่อบำรุงขวัญประชาชน จึงให้พระนางเธอลักษมีลาวัณ เป็นแม่งาน พร้อม น.อ.ขุนสวัสดิ์ฑิฆัมพร ขณะนั้นเป็นผู้จัดการสหศีนิมาและดูแลเฉลิมกรุงรื้อฟื้น “คณะละครปรีดาลัย” ในครั้งเก่าขึ้นมาใหม่ ด้วยมหาอุปรากร (Opera) เรื่องดารนี หรือละครดัดแปลงนางซินเดอริลลามาเล่นโรงภาพยนตร์เฉลิมกรุงที่ปรับมาเป็นเวทีละคร ให้ชื่อเวทีว่า “ละครเฉลิมกรุง”

ควรบันทึกด้วยว่า คณะปรีดาลัยตั้งขึ้นโดยกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ในสมัยพระจุลจอมเกล้าฯ ภายหลังการปฏิวัติ 2475 แล้ว พระนางเธอลักษมีลาวัณตั้งขึ้นใหม่ (2477) เข้าแสดงในหลายแห่ง เช่น โรงภาพยนตร์นาคาเขษมและโรงละครปราโมทัย อย่างไรก็ตาม ความนิยมของประชาชนหลัง 2479 แล้วหันไปนิยมชมภาพยนตร์มากกว่า พระนางฯ จึงพักการแสดงละครลง (ปรารถนา จุลศิริวัฒนวงศ์, 2547, 58-59)

การสร้างมหาอุปรากรของคณะปรีดาลัยครั้งใหม่เป็นความร่วมมือกับพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ผู้สำเร็จ และพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล โดยมีวงดนตรีขนาดใหญ่กว่า 100 คนจากกรมศิลปากร ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ มีพระเจนดุริยางค์ควบคุมวง ทางคณะวางแผนแสดงให้คณะรัฐมนตรีชมที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ไม่ได้แสดงด้วยเหตุความผันผวนจากสงคราม

ต่อมา ในเดือนตุลาคม 2487 ขุนสวัสดิ์ฯ ตั้งคณะละครชื่อ “คณะศิวารมณ์” ขึ้น เริ่มแสดงที่ศาลาเฉลิมกรุงขึ้นเพื่อหย่อนใจชาวพระนครในครั้งนั้น (ฑิฆัมพรอนุสรณ์, 2505, 10-11; ขุนวิจิตรมาตรา, 2523, 486)

ทั้งนี้ ละครคณะปรีดาลัยได้รับอิทธิพลมาจากละครแบบโอเปรา ที่มีการขับร้องและการสนทนาโดยใช้ดนตรีเป็นสื่อในการเดินเรื่องผสมผสานกับละครรำของไทย

พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ เล่าว่า ในช่วงปลายสงคราม การหาภาพยนตร์มาฉายเหมือนกับงมเข็มในมหาสมุทร แม้นไทยเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นก็ตาม แต่ก็ขาดมือจนแทบไม่มีเหลือ

รัฐบาลได้ร้องขอให้คนในวงการพยายามหาหนทางในการบรรเทาความเครียดให้กับประชาชน ทำให้ผู้สันทัดกรณีเช่น พระนางเธอลักษมีลาวัณ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ขุนสวัสดิ์ฑิฆัมพร และตัวเขา พยายามฟื้นฟูการละครแบบตามมีตามเกิดท่ามกลางความขาดแคลนสารพัด ซ้อมละครท่ามกลางเสียงหวอ (บัณฑูรนุสรณ์, 2510)

ยศ วัชรเสถียร นักเขียนอาวุโสเล่าว่า “เมื่อสถานการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ลุกลามมาถึงแผ่นดินไทย รัฐบาลพลอยประกาศสงครามกับฝรั่งฝ่ายสัมพันธมิตรไปกับญี่ปุ่น ยังผลให้กิจการโรงภาพยนตร์ไทยทั้งหมดทรุดฮวบลง ค่าที่ไม่มีภาพยนตร์ฝรั่ง จีนและอินเดียส่งเข้ามา เพราะพวกนี้เป็นฝ่ายสัมพันธมิตรทั้งนั้น จึงงัดเอาเรื่องเก่าที่ตกค้างอยู่มาฉายกัน แต่แล้วเรื่องเก่าๆ นั้นก็เกลี้ยง จะฉายซ้ำฉายซากก็ไม่มีคนดู หลายโรงจึงต้องหยุดกิจการไป เฉลิมกรุงโชคดีที่เป็นโรงใหญ่โตโอ่โถงและตั้งอยู่ในทำเลดี มีละครแบบสมัยใหม่ (ชายจริงหญิงแท้) ของพระนางเธอลักษมีลาวัณมาแสดงโดยการนำของขุนสวัสดิ์ฑิฆัมพรเพื่อให้ชาวพระนครมีสิ่งอำนวยความบันเทิงบ้าง”

(ยุธิษเฐียร, 2513, 425)

จอมพล ป. นายกรัฐมนตรี และขุนสวัสดิ์ฑิฆัมพร ผู้อำนวยการโรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง

ละครเวทีท่ามกลางเสียงหวอ

ในช่วงเวลานั้น การแสดงละครระหว่างสงครามประสบอุปสรรคหลายอย่าง ทั้งเรื่องความปลอดภัย และเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ต้องอาศัยไฟฟ้า ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มักขาดตกบกพร่องในช่วงสงคราม

ขุนสวัสดิ์ฯ จัดให้คณะละครผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาแสดงที่เฉลิมกรุงหลายคณะ แต่ที่ปักหลักมั่นคงคือ คณะศิวารมณ์ ส่วนคณะปรีดาลัยและคณะนาฏศิลปะสากลเข้าแสดงที่เฉลิมกรุงเดือนละครั้งได้สร้างความนิยมให้กับชาวกรุงมาก ถึงขนาดแม้พระนครเกิดไฟฟ้าดับจากการถูกโจมตีทางอากาศก็ตาม แต่เวทีเฉลิมกรุงยังมีการแสดงต่อไป โดยใช้แสงสว่างจากตะเกียงเจ้าพายุ คนดูก็ยังเนืองแน่น

คราใดที่พระนครถูกทิ้งระเบิด นักแสดงและผู้ชมต่างวิ่งหนีเอาชีวิตรอดไปยังวัดสุทัศน์ เมื่อเหตุการณ์โจมตีผ่านพ้นไปแล้ว ทุกคนต่างหัวเราะใส่กันอย่างครื้นเครง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ชมขำที่นักแสดงเองยังกลัวตายวิ่งหนีไปกับเหล่านักชมละคร (สง่า อารัมภีร, 2509, 111; ใหญ่ นภายน, 2548, 146)

ขุนวิจิตรมาตรา เล่าถึงเหตุที่คณะปรีดาลัยต้องเลิกกิจการว่า ในปี 2488 “…วันนั้นจะเป็นวันเดือนอะไรจำไม่ได้เหมือนกัน ละครเริ่มเปิดฉากเวลาราวบ่ายโมง (ละครเล่นเวลากลางวันตั้งแต่บ่ายโมงไปเลิกเวลาบ่าย 4 โมงเสมอ) เจ้าหน้าที่เฉลิมกรุงที่อยู่หน้าโรง 2-3 คนมานั่งดูละครอยู่ที่เก้าอี้หลังสุด ขุนสวัสดิ์ฯ มีห้องทำงานเล็กอยู่ชั้นบนทางถนนเจริญกรุง พระนางเธอลักษมีลาวัณมีห้องพิเศษอยู่แถวนั้น พอละครเริ่มเปิดฉากก็ปิดประตูโรงหมดเพราะมีเครื่องเย็น คนดูมากเกือบเต็มโรง…พอละครเล่นไปถึงฉากสอง ข้าพเจ้ารู้สึกว่าโรงไหวนิดๆ แต่เดินไปเดินมาอยู่ข้างเวทีก็ไม่นึกอะไร ละครแสดง คนดูก็นั่งเงียบๆ”

“สักครู่ใหญ่ๆ เจ้าหน้าที่เฉลิมกรุงซึ่งอยู่ทางหลังเวที วิ่งมาบอกข้าพเจ้าว่า เครื่องบินมาทิ้งระเบิดใกล้ๆ พาหุรัด ข้าพเจ้าวิ่งออกไปดูเห็นเครื่องบินร่อนอยู่ทางสะพานพุทธ ก็วิ่งกลับเข้ามาสั่งให้ปิดม่านทันที แล้วแหวกม่านตรงกลางออกไป ร้องบอกให้เจ้าหน้าที่เปิดประตูโรงให้หมด แล้วบอกคนดูว่าให้วิ่งออกจากโรงไปวัดสุทัศน์โดยเร็ว เวลานั้นคนดูยังไม่รู้อะไรเพราะประตูปิดหมด แต่พอปิดม่านกลางครัน ข้าพเจ้าออกไปบอกก็รู้ทันทีว่า เครื่องบินมา ต่างลุกขึ้นรีบวิ่งออกไปวัดสุทัศน์ ขณะนั้นระเบิดเสียงครืนๆ อยู่หลายครั้ง คนในโรงเฉลิมกรุงเกลี้ยงโรงหมด รวมทั้งผู้แสดงและเจ้าหน้าที่ก็ไปทั้งๆ ที่แต่งตัวอย่างนั้น เหลือข้าพเจ้าคนเดียวและขุนสวัสดิ์ฯ พระนางก็ไม่พบ…”

“ไม่นานจากนั้น ละครเฉลิมกรุงหรือละครพระนางเธอลักษมีลาวัณเป็นอันหยุด ไม่มีอีกต่อไป” (ขุนวิจิตรมาตรา, 2523, 493-495)

พระนางเธอลักษณมีลาวัลย์ และพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ
สตรีไทยสมัยสงครามชมโปสเตอร์โฆษณา เมื่อ 22 สิงหาคม 2486
ฉากหนึ่งในละครของคณะปรีดาลัย เรื่อง ศรีธนญชัย (2478)
ละครเวทีที่เฉลิมนคร ภายหลังสงคราม (2491-2495)