ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 กันยายน 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | เศรษฐกิจ |
เผยแพร่ |
พาณิชย์กางตำรายุทธศาสตร์ 20 ปี! เข็นส่งออก ไม่ใช่แค่พลิกติดลบ 4 ปีซ้อน…เป็นกำไร ขอฝันใหญ่…ก้าวขึ้นผู้นำตลาดโลก
เพิ่งผ่านพ้นไปกับงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ครั้งที่ 58 เมื่อวันที่ 7-11 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อผลักดันส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งตัวเอกของส่งออกไทย
งานนี้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ จาก 58 แห่งทั่วโลก รวมตัวกันเพื่อประชุมร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
สาระการประชุมเพื่อทบทวนสถานการณ์ส่งออก ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกขยายตัวในอัตราต่ำลง และอัตราการส่งออกของโลกชะลอตัวจนตอนนี้หดตัวหรือติดลบ
โดยในปี 2550-2554 การส่งออกของโลกขยายตัวเฉลี่ย บวก 10.1% ต่อปี แต่ในปี 2555-2558 ติดลบ 2.3% ต่อปี ส่วนปีนี้อาจติดลบ 3.2% ซึ่งน้อยกว่าการขยายตัวเศรษฐกิจโลกของปีนี้ที่ 3.1%
และคาดกันว่าการส่งออกของโลกจะยังติดลบต่อไป
เมื่อพิจารณาตัวเลขการส่งออกรายปีของไทยย้อนหลังช่วงที่ผ่านมาติดลบต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2556 มูลค่า 228,504 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 0.26%
ปี 2557 มูลค่า 227,523 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 0.43%
ปี 2558 มีมูลค่า 214,352 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 5.79%
และ 7 เดือนแรกปีนี้ (มกราคม-กรกฎาคม) มีมูลค่า 122,182 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบแล้ว 2.28%
ซึ่งก่อนหน้านี้ เอกชนโดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คือ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย ให้กรอบการส่งออก ลบ 2 ถึง 0% ตรงกับสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) และธนาคารแห่งประเทศไทย คาดการณ์ส่งออกปีนี้ ติดลบ 2%
แม้แต่กระทรวงพาณิชย์เองที่เคยวางกรอบการทำงานปีนี้ ตัวเลขส่งออก บวก 5% ก็ยอมรับแล้วว่าน่าจะติดลบ 2 ถึง บวก 2% หากสามารถส่งออกได้ 210,064-218,639 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงที่เหลือของปี
แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ ยังยืนยันกับทูตพาณิชย์ในการประชุมร่วมกันว่าส่งออกปีนี้จะขยายตัวได้ 0.3%
ขณะที่ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ฉายภาพการส่งออกสินค้าของไทยว่า ขณะนี้ในแง่ปริมาณยังคงที่ แต่ในแง่มูลค่าหดตัว เพราะมีสินค้าส่วนหนึ่งราคายังทรงตัวระดับต่ำตามภาวะราคาน้ำมัน ส่วนการค้าภาคสินค้าระหว่างประเทศลดลง แต่การค้าภาคบริการจะเพิ่มขึ้น และมีผู้ประกอบการไทยออกไปลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มออกไปลงทุนอีกมาก ส่วนนี้จะเป็นรายได้คนไทยกลับเข้าประเทศ
“ในปี 2549-2558 บริษัทไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกไปลงทุนต่างประเทศ มีมูลค่าไปลงทุนเพิ่มขึ้น 8-9 เท่า มีจำนวนบริษัทออกไปลงทุนเพิ่ม 14% ต่อปี และมีรายได้การลงทุนจากต่างประเทศเพิ่ม 12.5% ต่อปี ในระยะต่อไปการวัดการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ จะพิจารณาเฉพาะจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) คงไม่เพียงพอ ต้องพิจารณาควบคู่กับจีเอ็นพี หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ซึ่งเป็นผลผลิตของคนไทยที่สร้างขึ้นตามที่ต่างๆ ของโลก” นายสุวิทย์ กล่าว
เมื่อขณะนี้ไทยยังต้องพึ่งพาภาคการส่งออกอยู่ ส่วนผลผลิตจากการลงทุนในต่างประเทศของคนไทย เมื่อเทียบสัดส่วนกับการส่งออกแล้ว อาจจะยังกลับเข้าประเทศไม่มากนัก งานหลักของผู้เกี่ยวข้อง นอกจากผลักดันการลงทุนต่างประเทศแล้ว การผลักดันส่งออกให้เติบโตจึงยังเป็นงานหลักในตอนนี้ที่ต้องทำคู่ขนาน และสานต่อในระยะยาว
เพื่อให้การค้าของไทยทั้งในและระหว่างประเทศเดินหน้า สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันและรองรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต กระทรวงพาณิชย์จึงจัดทำยุทธศาสตร์พาณิชย์ 20 ปี (2559-2579) ผ่านความเห็นชอบแล้วจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา เรียกว่าเพิ่งคลอดมาหมาดๆ!!
นายสุวิทย์ กล่าวถึงรายละเอียดของยุทธศาสตร์นี้ว่า แบ่งการทำงานออกเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ปี 2559-2564 ปฏิรูปการค้า เน้นปรับกฎหมาย วางระบบการค้า ระยะที่ 2 ปี 2565-2569 เป็นห่วงโซ่คุณค่าสำคัญของภูมิภาค เน้นพัฒนาผู้ประกอบการให้สามารถเป็นผู้นำตลาดภูมิภาค ระยะที่ 3 ปี 2570-2574 เป็นห่วงโซ่คุณค่าสำคัญของโลก เน้นยกระดับความสามารถของผู้ประกอบการไทยให้เป็นผู้ค้าสำคัญในตลาดโลก และระยะที่ 4 ปี 2575-2579 ก้าวขึ้นผู้นำในตลาดโลก เน้นสร้างศักยภาพของประเทศให้สามารถส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยเป็นผู้ค้าหลักของโลก
“เป้าหมายสำคัญของยุทธศาสตร์ มี 3 เรื่องด้วยกัน คือ สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจการค้าของประเทศ ด้วยการยกระดับความสามารถทางการแข่งขัน สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจการค้าของประเทศ ด้วยการผลักดันความเชื่อมโยงกับโลก และสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการค้าของประเทศ ด้วยการสร้างแรงยึดเหนี่ยวในระบบเศรษฐกิจการค้าของประเทศ” นายสุวิทย์ กล่าว
ในระหว่างการเดินตามแผนงานตลอด 20 ปี จะเป็นไปตาม 4 แกนยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่
1. ยุทธศาสตร์การพัฒนาผู้ประกอบการแบบครบวงจร พัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สามารถส่งออกสินค้าตามมาตรฐานสากล มีการพัฒนานวัตกรรม และขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศได้
2. ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบการค้าให้มีประสิทธิภาพ โดยเปลี่ยนบทบาทกระทรวงพาณิชย์จากผู้ควบคุมกฎระเบียบมาเป็นผู้อำนวยความสะดวก ปรับระบบการค้าโดยยกระดับการค้าในชนบทให้สามารถเชื่อมโยงและได้ประโยชน์จากห่วงโซ่การค้าในภาคการผลิตและการบริการที่ก้าวหน้า
3. ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างบทบาทผู้บริโภค ให้ผู้บริโภคมีความรอบรู้ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน มีความพอประมาณ และสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดและนวัตกรรมสมัยใหม่ได้อย่างทันท่วงที ให้ผู้บริโภคมีบทบาทในการดูแลและพัฒนาตลาด มีอำนาจต่อรองกับการค้าในตลาดได้
และ 4. ยุทธศาสตร์การบูรณาการกับระบบการค้าโลก โดยเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจด้วยการค้าระหว่างประเทศ ใช้ประโยชน์จากการค้าทวิภาคีและพหุภาคี ได้แก่ ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) และความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) เป็นต้น
“ยุทธศาสตร์การค้าของกระทรวงพาณิชย์ในระยะ 20 ปีข้างหน้า มีมิติที่ครอบคลุมทั้งการพัฒนาผู้ประกอบการและผู้บริโภค การมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากการค้าในระดับต่างๆ รวมทั้งการพัฒนาช่องทางการค้า และการพัฒนาตลาดให้ไปสู่ห่วงโซ่อุปทานในระดับโลกของผู้ประกอบการทั้งในเมืองและในชนบท จะช่วยลดช่องว่างของประโยชน์ทางการค้าที่จะได้รับ ให้มีความเท่าเทียมกันและเป็นเครื่องมือที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ” นายสุวิทย์ กล่าวทิ้งท้าย
กลยุทธ์ผลักดันการส่งออกและยุทธศาสตร์พาณิชย์ 20 ปี ได้ผ่านความเห็นชอบ และมอบเป็นนโยบายสู่ผู้ปฏิบัติ ภาคส่งออกในปีนี้จะเป็นอย่างไร คงต้องมาลุ้นกันในอีก 5 เดือน (สิงหาคม-ธันวาคม) สุดท้ายปีนี้…
ซึ่งอาจต้องลุ้นไปพร้อมๆ กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก