ยุทธการ 22 สิงหา สงคราม การข่าว จาก ‘ทักษิณ’ ยุทธการ โฟนอิน แดงทั้งแผ่นดิน

สาระนิยาย Psy ฟุ้ง

 

ยุทธการ 22 สิงหา

สงคราม การข่าว จาก ‘ทักษิณ’

ยุทธการ โฟนอิน แดงทั้งแผ่นดิน

 

ในห้วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างปลายเดือนกุมภาพันธ์กับต้นเดือนมีนาคม 2552 ได้ก่อให้เกิดภาพ 2 ภาพในทางการเมืองขึ้น

เหมือนกับเป็นเรื่องปรกติ แต่ก็ดำเนินไปอย่างไม่ธรรมดา

1 เป็นภาพการเคลื่อนไหวของทางด้านรัฐบาลอันมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นตัวเปิด

ขณะเดียวกัน 1 เป็นภาพการเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทย การเคลื่อนไหวของ นปช.อันมีเป้าหมายเพื่อแสดงให้เห็นลักษณะ “แดงทั้งแผ่นดิน”

ภาพหลังมองผ่านไปก็จะปรากฏภาพของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อย่างเด่นชัด

เมื่อเข้าสู่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ จึงเห็นภาพของการเปิดประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า “อาเซียน ซัมมิต” แม้ตามหมายจะกำหนดเป็นการประชุมระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ถึง วันที่ 1 มีนาคม

แต่พิธีเปิดอย่างเป็นทางการปราฏขึ้นในตอนบ่ายของวันที่ 28 กุมภาพันธ์ โดยผู้นำอาเซียนทั้ง 10 ประเทศเข้าร่วม ณ ห้องรอยัล ดุสิต แกรนด์ บอลรูม โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานอาเซียนขึ้นกล่าวสุนทรพจน์เปิด โดยเน้นให้สมาชิกอาเซียนร่วมมือกันแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจและผลักดันให้ประชาคมอาเซียนเข้มแข็งมากขึ้น

ต่อมา เวลา 17.00 น. ผู้นำอาเซียนเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล และเดินทางไปร่วมในงานเลี้ยงอาหารค่ำ ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน

ตามแถลงของอาเซียนในการประชุมมีการลงนามและรับรองเอกสารต่างๆ

ทั้งในระดับผู้นำ รัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีเศรษฐกิจ อาทิ ปฏิญญาชะอำ หัวหิน ว่าด้วยแผนงานสำหรับประชาคมอาเซียน ปี พ.ศ.2552-2558 ความตกลงอาเซียนว่าด้วยความมั่นคงทางปิโตรเลียม เป็นต้น

มีการออกแถลงการณ์ว่าด้วยวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลก และเร่งรัดการเปิดเสรีในด้านต่างๆ โดยประกาศชัดเจนว่าไม่เอาด้วยกับการกีดกันทางการค้า ขอให้ประเทศสมาชิกประสานนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เสริมสร้างความเข้มแข็งของธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) ให้สามารถรองรับผลกระทบของเศรษฐกิจโลกได้

และเป็นครั้งแรกที่ผู้นำอาเซียนเปิดโอกาสให้ประเทศต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการอาเซียนโดยกลุ่มแรกเป็นตัวแทนจากรัฐสภา กลุ่มที่สองเป็นตัวแทนเยาวชน

และกลุ่มที่สามเป็นภาคประชาสังคม

 

ขณะเดียวกัน ประสานกันไปกับความสำเร็จในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน

ในอีกด้านหนึ่ง การเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทย การเคลื่อนไหวของ “คนเสื้อแดง” ก็ดำเนินไปด้วยความคึกคัก เข้มข้น

วันที่ 6 มีนาคม มีการชุมนุมที่หนองคาย

วันที่ 8 มีนาคม มีการชุมนุมที่ขอนแก่น วันที่ 14 มีนาคม มีการชุมนุมที่พระนครศรีอยุธยา และมุกดาหาร วันที่ 15 มีนาคม มีการชุมนุมที่ย่านมีนบุรี กรุงเทพมหานคร วันที่ 18 มีนาคม มีการชุมนุมที่ปทุมธานี และวันที่ 19 มีนาคม มีการชุมนุมที่อุบลราชธานี

จุดน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งอันกลายเป็นจุดเด่นในการชุมนุม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้โทรศัพท์หรือ “โฟนอิน” เข้าไปที่การชุมนุมแทบทุกครั้ง

สาระส่วนใหญ่ในการ “โฟนอิน” เป็นอย่างไร

ส่วนใหญ่ที่กล่าวกับผู้ชุมนุมเป็นการโอดครวญที่ตนตกเป็นเหยื่อของความไม่ถูกต้อง กล่าวโจมตีองค์กรอิสระ ทหาร กระบวนการยุติธรรม รวมถึงกล่าวถึงคนเสื้อเหลืองและโจมตีรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

และเนื้อหา “โฟนอิน” ที่แหลมคม เป็นการกล่าวไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมครั้งสำคัญที่จังหวัดเชียงใหม่

หนังสือ “บันทึกประเทศไทย ปี พ.ศ.2552” ของ “มติชน” ยืนยัน

 

กระทั่งวันที่ 22 มีนาคม อดีตนายกรัฐมนตรีได้กล่าวกับผู้ชุมนุมที่จังหวัดเชียงใหม่โดยเปิดประเด็นปัญหาทางการเมืองที่นำมาสู่ความวุ่นวายในปัจจุบัน

ใจความว่า

หลังจากผลการเลือกตั้งอย่างเป็นการทั่วไปครั้งที่ 2 ที่พรรคไทยรักไทยได้ 377 เสียง มี “ผู้ใหญ่” บางคนเริ่มส่งสัญญาณผ่านสื่อว่าในวังไม่เอาตนแล้ว

และจากการที่ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี อดีตรอง ผอ.รมน. ไปพบตนที่จีนได้เล่าให้ตนฟังว่า ต้นปี 2549 ถูกเรียกไปพบ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ที่บ้านหลังหนึ่งในซอยสุขุมวิท

โดยมีผู้ใหญ่ 2 คนกล่าวหาตนไม่จงรักภักดีต่อสถาบัน

ต่อมา ได้มีการลงมือเอาชีวิตตน 2 ครั้ง จนในที่สุดมาถึงกรณีคาร์บอมบ์ นอกจากนั้น มีการกดดันให้ กกต.ลาออกจนเหลือ 3 คน ซึ่งต่อมาผู้ที่ลาออกได้มาเล่าให้ตนฟังว่า

ผู้มากดดันให้ออก คือ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

หลังปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 มีการตั้งสำนักงานสอบสวนตนในนาม คตส.ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับตนเพื่อเอาผิด โดยมีบุคคล 4 คนที่เข้ามาดำเนินการในทางกฎหมาย

คือ นายปราโมทย์ นาครทรรพ นายอักขราธร จุฬารัตน์ ประธานศาลปกครองสูงสุดและเป็นอดีตตุลาการรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคไทยรักไทย นายจรัญ ภักดีธนากุล เลขานุการประธานศาลฎีกา และนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ องคมนตรี (ขณะนั้นเป็นประธานศาลฎีกา)

จากนั้น ทิ้งท้ายไว้ว่า จะแฉต้นตอของปัญหาและหนทางแก้ไขเพิ่มเติมในการชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดงในวันที่ 26 มีนาคม

วันที่ 23 มีนาคม พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ชี้แจงว่า พ.ต.ท.ทักษิณเข้าใจผิด เพราะข้อมูลได้รับอาจคลาดเคลื่อน ตนไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติ 19 กันยายน 2549

ส่วน พล.อ.พัลลภ ยอมรับเคยเล่าเรื่องเบื้องหลังปฏิวัติให้ พ.ต.ท.ทักษิณฟังจริง แต่ไม่มีเรื่องแผนการลอบสังหาร

นั่นคือ ปฏิบัติการ “โฟนอิน” ผ่าน “แดงทั้งแผ่นดิน”

 

ห้วงเวลาใกล้เคียงกันนั้นพรรคเพื่อไทยก็ขยับขับเคลื่อนอย่างทรงพลัง เห็นได้จากบรรดา ส.ส.พรรคเพื่อไทยเข้ายื่นหนังสือต่อ นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภาในวันที่ 11 มีนาคม

เพื่อให้วุฒิสภามีมติถอดถอน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 274

วันที่ 12 มีนาคม เช้ายื่นหนังสือต่อวุฒิสภาเพื่อลงมติถอดถอน 5 รัฐมนตรี

1 นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 2 นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง 3 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 4 นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 5 นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

จากนั้น ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี โดยกำหนดการอภิปรายทั่วไประหว่างวันที่ 19-20 มีนาคม และลงมติในวันที่ 21 มีนาคม

นี่ย่อมเป็นการเคลื่อนไหวในลักษณะประสาน 2 ส่วนระหว่าง แนวทางรัฐสภาและแนวทางนอกรัฐสภา

ความน่าสนใจอยู่ที่การเคลื่อนไหวนอกรัฐสภา อยู่ที่ “โฟนอิน”

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เปิดบนเวทีที่เชียงใหม่ในวันที่ 22 มีนาคม เรื่องการส่งสัญญาณทางการเมืองของ “ผู้ใหญ่” ที่ระบุ

ถึงการปฏิเสธ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หลังการเลือกตั้งปี 2547

นั่นก็คือ การทิ้งท้ายก่อนจบการ “โฟนอิน” ว่า ในการชุมนุมใหญ่ของเสื้อแดงในวันที่ 26 มีนาคม

จะ “แฉต้นตอของปัญหา”