ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ |
เผยแพร่ |
หลวงอดุลฯ อยู่ฝ่ายไหน?
บทบาทของหลวงอดุลเดชจรัส ผู้บัญชาการทหารบกนั้นค่อนข้างจะคลุมเครือ เพราะในการประชุมครั้งพิเศษเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2490 ที่ทำเนียบท่าช้างของนายปรีดี พนมยงค์ พล.อ.อดุล อดุลเดชจรัส กล่าวว่า “ถ้ารัฐบาลยังจะทำตัวเลวอยู่เช่นนี้ เมื่อเกิดการปฏิวัติหรือรัฐประหารขึ้นมาคิดว่าจะไม่ปราบปราม เพราะไม่ต้องการเอาทหารไทยไปฆ่าทหารไทยด้วยกันเอง”
และมีแนวโน้มว่าหลวงอดุลเดชจรัสน่าจะทราบความเคลื่อนไหวของคณะรัฐประหารเกือบทุกระยะแต่มิได้กระทำการขัดขวางหรืออาจจะมีส่วนร่วมสนับสนุนดังที่ สมุทร สุรักขกะ อธิบายว่าคณะรัฐประหารได้ส่งคนไปชวน พล.อ.อดุล อดุลเดชจรัส ครั้งแรกหลวงอดุลฯ ไม่ยอม แต่ “ได้ตกลงยินยอมในเวลาต่อมา แต่ขอสงวนท่าทีไว้ก่อน จะขออยู่หลังฉาก”
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ให้ความเห็นต่อท่าทีของหลวงอดุลเดชจรัส ในคืน 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 ไว้ใน “แผนชิงชาติไทย” อย่างน่าสนใจว่า
จากการที่ผู้บัญชาการทหารบก หลวงดุลอดุลเดชจรัสน่าจะรู้เห็นกับการรัฐประหารเช่นนี้เองที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ว่า กำลังที่ก่อการรัฐประหารสายหนึ่งได้รับรหัสมาว่า “หลวงอดุลเดชจรัสเป็นพวกเดียวกันจึงได้หลงเชื่อ” ด้วยเหตุนี้ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ จึงได้แถลงเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน หลังการรัฐประหารได้รับชัยชนะแล้วว่า หลวงอดุลเดชจรัสนั้นรู้เรื่องการรัฐประหารครั้งนี้และ “ตกลงจะเอาด้วย” แต่มีความเป็นไปได้ว่าหลังจากที่หลวงอดุลเดชจรัสทราบว่าหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์จะลาออกจากตำแหน่งและให้ตนเป็นนายกรัฐมนตรีแทนจึงได้ออกมาพยายามระงับการรัฐประหาร แต่ไม่ทันการ เพราะคณะรัฐประหารได้เลื่อนเวลาลงมือมาเคลื่อนกำลังตั้งแต่ 21.00 น.ของวันที่ 8 พฤศจิกายน หลวงอดุลเดชจรัสจึงได้เข้าตั้งป้อมสู้ที่กองพันที่ 1 กรมทหารราบที่ 11 บางซื่อ คณะรัฐประหารจึงได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 3 มีข้อความตอนหนึ่งว่า
“ก่อนที่คณะเราจะลงมือกระทำการนั้นก็ได้ไปเชิญอ้อนวอน พล.อ.อดุล อดุลเดชจรัส แล้วเพื่อขอให้มาเป็นประมุขในการกระทำคราวนี้ โดยคณะของเราเห็นว่าท่านผู้นี้เป็นผู้ที่หวังดีต่อชาติโดยแท้จริง เหมือนดังที่ประชาชนทั่วไปเข้าใจกัน อนึ่ง ท่านผู้นี้เองได้ตระหนักถึงความเหลวแหลกของรัฐบาลดีอยู่แล้วถึงกับปรารภอยู่เนืองๆ ว่ายินดีจะช่วยเหลือ แต่ครั้นถึงการกระทำเข้าจริงๆ ท่านผู้นี้ซึ่งใครๆ พากันหวังว่าเป็นคนรักชาติที่แท้จริงคนหนึ่งกลับกลายเป็นบุคคลสำคัญที่พยายามขัดขวางการกระทำของคณะทหารผู้หวังดีต่อประเทศชาติ”
เวลาประมาณ 06.30 น.ของวันที่ 9 พฤศจิกายน หลวงกาจสงคราม และ ร.อ.ขุนปรีชานนทเศรษฐ์ ได้นำทหารจำนวนหนึ่งไปยังที่ทำการกองพันที่ 1 กรมทหารราบที่ 11 ที่หลวงอดุลเดชจรัสรออยู่ ทหารสองฝ่ายได้ประจันหน้ากันที่สะพานเกษะโกมล แต่หลวงอดุลเดชจรัสได้ยินยอมที่จะประนีประนอมและยุติการต่อต้าน
ดังนั้น แถลงการณ์ของคณะรัฐประหารฉบับที่ 5 จึงได้อธิบายเพิ่มเติมว่า
“พี่น้องชาวไทยทั้งหลาย ตามที่แถลงการณ์ฉบับที่ 3 ได้แจ้งให้พี่น้องชาวไทยทั้งหลายทราบว่า พล.อ.อดุล อดุลเดชจรัส ได้กระทำการขัดขวางโดยการถอนกำลังทหารบางส่วนไปเพื่อเตรียมต่อต้านนั้น บัดนี้ได้ทำการตกลงกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงไม่มีเหตุการณ์ที่น่าวิตกแต่อย่างใด การกระทำของท่านผู้นี้ก็ทำไปตามนิสัยคนไทยที่มีเลือดนักต่อสู้เท่านั้น บัดนี้ไม่มีเหตุการณ์ใดน่าวิตกแล้ว ขอให้ราษฎรจงคลายกังวล”
เมื่อคณะรัฐประหารประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจแล้วก็ไม่แตะต้องตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกของหลวงอดุลเดชจรัส โดยออกประกาศวันที่ 9 พฤศจิกายน แต่งตั้ง “กองบัญชาการทหารแห่งประเทศไทย” ซึ่งมี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็น “ผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย” พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ เป็นรองผู้บัญชาการ พ.อ.หลวงกาจสงคราม เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการ ฯลฯ ขณะที่หลวงอดุลเดชจรัสยังคงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกต่อไป
อันเป็นการสะท้อนความประนีประนอมระหว่างคณะรัฐประหารกับหลวงอดุลเดชจรัสอย่างชัดเจน
วันที่ 11 พฤศจิกายน หลังความสำเร็จของคณะรัฐประหาร หลวงอดุลเดชจรัสในนามของผู้บัญชาการทหารบกได้ออกคำสั่งให้ทหารทุกหน่วยร่วมมือกับคณะรัฐประหารและฟังคำสั่งของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทยโดยเคร่งครัด
วันที่ 18 พฤศจิกายน มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้หลวงอดุลเดชจรัส เป็นอภิรัฐมนตรี (องคมนตรี) โดยมีรายงานว่ากรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไม่พอพระทัยนัก หลวงอดุลเดชจรัสจึงลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก
เมื่อแก้ไขปัญหาตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกของหลวงอดุลเดชจรัสได้แล้ว วันที่ 5 ธันวาคม คณะรัฐประหารก็มีคำสั่งยกเลิก “กองบัญชาการทหารแห่งประเทศไทย” และแต่งตั้งให้จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการทหารบก พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ เป็นรองผู้บัญชาการทหารบก พ.อ.กาจ เก่งระดมยิง เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก
ตลอดเวลาของความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ฝ่ายทหารเรือยังคงอยู่ในความสงบมิได้แสดงอาการต่อต้านขัดขวางหรือสนับสนุนคณะรัฐประหารแต่อย่างใด รวมทั้งกรมตำรวจ พล.ร.ต.สังวร สุวรรณชีพ อธิบดีกรมตำรวจ ก็ได้ส่ง ร.ต.อ.เฉียบ ชัยสงค์ มารายงานให้จอมพล ป.พิบูลสงคราม ทราบว่า
“การรัฐประหารครั้งนี้ เมื่อเป็นงานของท่านจอมพลแล้ว ไม่ขัดข้อง”
บั้นปลายของชีวิต
เมื่อลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกหลังรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 แล้ว หลวงอดุลเดชจรัสก็วางมืออย่างเด็ดขาดแม้จะได้รับตำแหน่งที่สำคัญแต่ก็มิได้เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือการบริหารประเทศแต่อย่างใด
รัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้สร้างบ้านหลังเล็กๆ ให้หลวงอดุลเดชจรัสพักอาศัยในบริเวณวังปารุสกวันที่ท่านคุ้นเคย และจะพักอาศัยอยู่ที่นี่จนสิ้นอายุขัยเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2512 โดยมิได้เข้าไปเกี่ยวข้องใดๆ กับการเมืองของประเทศอีกเลย
ขณะที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม ยังคงโลดแล่นต่อไปบนถนนการเมือง จนกระทั่งต้องระหกระเหินไปเสียชีวิตที่ต่างแดนในที่สุดเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2507
อัฐิของทั้งสองท่านได้รับการบรรจุไว้ที่เจดีย์วัดพระศรีมหาธาตุฯ หรือวัดประชาธิปไตยที่คณะราษฎรสร้างขึ้นเพื่อเป็น “อนุสรณ์สถานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย”
คุณธรรม น้ำมิตร
ตั้งแต่เข้าร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยอุดมการณ์ที่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย หลวงอดุลเดชจรัสก็มุ่งมั่นที่จะรักษาคณะราษฎรผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงไว้อย่างสุดชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้รับมอบหมายให้ย้ายมาทำหน้าที่ในกรมตำรวจร่วมกับนายทหารรุ่นน้องร่วมอุดมการณ์คือขุนศรีศรากร
เมื่อศัตรูของระบอบใหม่ “ปฏิปักษ์ปฏิวัติ” ปรากฏขึ้น คือ “กบฏบวรเดช” “กบฏนายสิบ” และโดยเฉพาะ “กบฏพระยาทรงสุรเดช” ที่นำไปสู่การจัดตั้ง “ศาลพิเศษ” ซึ่งมีคำพิพากษาเด็ดขาดรุนแรงผิดธรรมเนียมของ “คดีการเมือง” หลวงอดุลเดชจรัสซึ่งเป็นจุดเริ่มของกระบวนการยุติธรรมในฐานะพนักงานตำรวจก็ทำหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานและจับกุมผู้ต้องหาอย่างจริงจัง จากนั้นก็ส่งเข้ากระบวนการยุติธรรมขั้นต่อไปคืออัยการและศาล ซึ่งพ้นความรับผิดชอบของกรมตำรวจไปแล้ว
ครั้นต่อมาปรากฏว่าการดำเนินการในชั้นอัยการและศาลถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้รักความเป็นธรรมถึงความสุจริตโปร่งใสซึ่งล้วนเชื่อมโยงไปถึงหลวงพิบูลสงครามในฐานะนายกรัฐมนตรีทั้งสิ้น
เมื่อเปรียบเทียบกับการปฏิบัติงานของกรมตำรวจหลังการรัฐประหาร พ.ศ.2490 ภายใต้อธิบดีกรมตำรวจ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ สามารถเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจนประการหนึ่ง แม้จะมีเป้าหมายเดียวกันคือความคงอยู่ของ “คณะราษฎร” ในสมัยหลวงอดุลเดชจรัส กับความคงอยู่ของ “คณะรัฐประหาร” ในสมัย พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ แต่ข้อแตกต่างที่สำคัญคือ ในยุคของ พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส นั้น เคร่งครัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เป็นไปตามตัวบทกฎหมาย
ขณะที่ในสมัย พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ นั้นใช้วิธีการทั้งในและนอกกฎหมาย จนเรียกกันว่า “รัฐตำรวจ” และ “ยุคทมิฬ”
หลวงอดุลเดชจรัสและขุนศรีศรากร ได้ใช้ความพยายามที่จะให้ความเป็นธรรมต่อนักโทษการเมืองในขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการยุติธรรม คือ “เรือนจำ” แต่นั่นก็เป็นปลายทางเสียแล้ว หลายกรณีก็ไม่อาจแก้ไขได้ โดยเฉพาะคำพิพากษาประหารชีวิต 18 ศพ ที่หลวงพิบูลสงครามพยายามปัดความรับผิดชอบแล้วโยนบาปให้หลวงอดุลเดชจรัส
ตัดบัวไม่เหลือใย
“แปลก-บัตร” หรือ “แปลก-อดุล” นั้นเป็นเพื่อนรักกันมาตั้งแต่เป็นนักเรียนนายร้อยจนกระทั่งจบออกรับราชการเป็นนายทหาร ผูกพันกันจนอาจเรียกได้ว่าเป็น “เพื่อนตาย”
ทว่า การเข้าร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 นั้นมิได้มาจากความเป็นเพื่อนระหว่างกันแต่เพียงปัจจัยเดียว แต่ยังมาจากอุดมการณ์อันบริสุทธิ์เพื่อชาติบ้านเมืองอีกด้วย ดังนั้น ต่อมาเมื่ออุดมการณ์เปลี่ยนไปย่อมส่งถึงมิตรภาพระหว่างกันอย่างหลีกเลี่ยงมิได้
อุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันทำให้หลวงอดุลเดชจรัสกับหลวงพิบูลสงครามเริ่มมีแนวความคิดและการปฏิบัติที่แตกต่างกัน
เริ่มตั้งแต่การปฏิบัติต่อนักโทษการเมืองกรณี “กบฏบวรเดช” และ “กบฏพระยาทรงฯ” ในเวลาต่อมา หลวงอดุลเดชจรัสไม่คิดว่านักโทษการเมืองเป็นอาชญากรจึงต้องได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกัน ซึ่งหลวงพิบูลฯ มิได้คิดเช่นนั้น
แนวทางของหลวงอดุลเดชจรัสสอดคล้องกับแนวทางของ “มือขวา” คือขุนศรีศรากร นายทหารปืนใหญ่รุ่นน้องที่จะร่วมเส้นทางเดินกับหลวงอดุลเดชจรัสอย่างเด็ดเดี่ยวเหนียวแน่นโดยตลอด
“แปลก” เสียชีวิตก่อน “บัตร” จึงไม่ปรากฏข้อเขียนงานพระราชทานเพลิงศพของหลวงอดุลเดชจรัสที่ถึงแก่กรรมในภายหลัง มีก็แต่เพียงข้อเขียนของ คุณหญิงละเอียด พิบูลสงคราม กล่าวถึงมิตรภาพที่ผันแปรของเพื่อนรัก “แปลก-บัตร” ไว้อย่างถูกต้องว่า
“แต่อนิจจาการเมืองเอย เจ้าหรือมิใช่ที่ทำให้มิตรร่วมชีวิต 2 ท่านนี้ ทั้งๆ ที่ไม่เคยเป็นศัตรูกันและยังรักกันฝังอยู่ในส่วนลึกของหัวใจ จำต้องแยกทางกันเดินในบั้นปลายของชีวิต”
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022