จาก The Beatles ถึง Mozart ‘เพลงใหม่’ จาก ‘ศิลปินที่ตายแล้ว’

ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน

บทความพิเศษ | จักรกฤษณ์ สิริริน

 

จาก The Beatles ถึง Mozart

‘เพลงใหม่’ จาก ‘ศิลปินที่ตายแล้ว’

 

วงการเพลงไม่มีทางตัน

เราจึงได้เห็นการนำ “ศิลปินที่ตายแล้ว” เช่น Elvis Presley มา Featuring กับศิลปินรุ่นใหม่ บ้านเราก็เคยมีการนำ “ครูเอื้อ สุนทรสนาน” มา Featuring กับศิลปินรุ่นใหม่เช่นกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงที่ผ่านมา เราได้เห็นวงดนตรีชื่อดังในอดีตที่หวนกลับมาออกอัลบั้ม และเดินสายแสดงคอนเสิร์ตอีกครั้ง หลังจากยุบวง-แยกย้ายกันไปช่วงหนึ่ง

ไม่ว่าจะเป็น Linkin Park ที่ได้นักร้องนำคนใหม่ หรือพี่น้อง Gallagher แห่งวง Oasis ที่กลับมาคืนดีกัน

ล่าสุด มีการค้นพบบทเพลงใหม่จาก “ศิลปินที่ตายแล้ว” คือ Wolfgang Amadeus Mozart นักประพันธ์เพลงคลาสสิคชื่อก้องโลก

รวมทั้งก่อนหน้านี้ ที่ The Beatles ได้กลับมารวมวงอีกครั้ง ระหว่าง “ศิลปินที่ตายแล้ว” คือ John Lennon และ George Harrison

กับ “ศิลปินที่ยังมีชีวิตอยู่” คือ Paul McCartney และ Ringo Starr ปล่อย Now and Then ที่เป็น Single ใหม่ให้โลกฮือฮามาแล้ว

The Last Song of The Beatles คือคำจำกัดความของเพลง Now and Then หรือ “เพลงสุดท้าย” ของ “สี่เต่าทอง”

ย้อนกลับไปในปี ค.ศ.1977 John Lennon กำลังแต่งเพลงใหม่ ความยาว 5 นาที ที่เขาร้องพร้อมเล่นเปียโนในบ้านพักที่มหานครนิวยอร์ก โดยได้อัดเป็น “เดโม่เทป” เก็บไว้

จากนั้นในปี ค.ศ.1994 Yoko Ono ภรรยาของ John Lennon ได้ส่ง “เดโม่เทป” ไปให้ Paul McCartney, George Harrison และ Ringo Starr เพื่อบันทึกเสียง Single ใหม่ มีชื่อว่า Now And Then

โดย The Beatles มีแผนจะออกแผ่นเสียงในปี ค.ศ.1995 แต่ต้องค้างคามานานหลายสิบปี จน George Harrison มือกีตาร์เสียชีวิตไปในปี ค.ศ.2001 ก็ยังไม่ออก เพราะ “เดโม่เทป” ของ John Lennon เป็นเพียง “เดโม่เทป” ที่นอกจากจะยังแต่งเพลงไม่เสร็จ ยังอัดด้วยเทคโนโลยีบ้านๆ คือเครื่องบันทึกเทปธรรมดา

ดังนั้น เสียงร้องและเสียงเปียโนจึงอยู่ Track เดียวกัน และเทคโนโลยีการแยกเสียงในยุค 90 ยังไม่ดีพอที่จะแยกเสียง John Lennon ออกจากเปียโน โดยที่ยังคงรักษาคุณภาพเสียงทั้งหมดเอาไว้ได้

ทำให้โปรโจ็กต์เพลงนี้ต้องพักไว้นานกว่า 40 ปี

 

ต่อมาถึงยุค 2020 เทคนิค Machine Learning ของ AI สามารถช่วยแยกเสียงร้องของ John Lennon ออกจากเปียโน แล้วนำไปสังเคราะห์เสียงขึ้นมาใหม่ได้ ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ตัวเดียวกับที่ผู้กำกับการแสดง Peter Jackson ใช้ในภาพยนตร์สารคดี The Beatles : Get Back

ที่ใช้เทคโนโลยี MAL Audio มาช่วยแยกเสียงดนตรี (เปียโน) เสียงร้องของ John Lennon และบทสนทนาของ John Lennon กับ Yoko Ono ออกจากกัน

จึงทำให้ Paul McCartney มือเบส และมือกลอง Ringo Starr สมาชิกที่เหลืออยู่ 2 คนของ The Beatles และทีมงานเบื้องหลังในห้องอัดของ The Beatles สามารถทำเพลง Now and Then ต่อได้จนสำเร็จออกมาในปี ค.ศ.2023 ที่ผ่านมา

และทันทีที่ The Beatles ปล่อยเพลง Now and Then ออกมา ก็ขึ้น Chart อันดับ 1 ของ UK Official ในรอบ 60 ปีเลยทีเดียว

โดยทาง UK Official Chart เผยว่า หลังจากที่ Single ใหม่ของ The Beatles เพลง Now And Then ถูกปล่อยออกมา ก็ทะยานสู่อันดับ 1 บน Chart เพลงของเกาะอังกฤษ

ถือเป็นผลงานเพลงของ The Beatles ที่หวนกลับมาครอง Chart อันดับ 1 ได้อีกครั้งในรอบ 60 ปี นับตั้งแต่ Single เพลง From Me to You ที่ทำได้ในปี ค.ศ.1963

Now and Then บรรเลงโดยสมาชิก “สี่เต่าทอง” ที่ยังมีชีวิตอยู่ คือ Paul McCartney และ Ringo Starr ที่ได้ร่วมเพิ่มท่อนโซโล่กีตาร์ และเพิ่มเสียงดนตรีต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลอง และเสียงร้องนำ ร้องประสาน เข้าไป เพื่อให้กลายเป็นบทเพลงที่สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น

อีกทั้งยังพัฒนาให้เสียงที่ออกมามีความทันสมัยทั้งในระบบเสียง Stereo และ Dolby Atmos ซึ่งถ่ายทอดลงสื่อบันทึกเสียงทุก Platform ไม่ว่าจะเป็นแผ่นเสียง CD เทป และระบบ Streaming

 

ล่าสุด นอกจาก The Beatles ศิลปินระดับโลกอย่าง Mozart ก็ปล่อยเพลงใหม่ออกมาเช่นกัน

ก่อนหน้านี้ มีการค้นพบเพลงใหม่ของ Mozart มาแล้วหนหนึ่ง นั่นคือ Allegro in D K626b/16″ ความยาวประมาณ 92 วินาที คาดการณ์ว่าถูกประพันธ์ขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ราวปี ค.ศ.1773 ซึ่งขณะนั้นเขามีอายุได้ 17 ปี

Ulrich Leisinger ผู้อำนวยการสถาบันวิจัย Mozarteum Foundation ระบุว่า แม้ลายมือจะดูค่อนข้างแปลกสำหรับ Mozart แต่มีกลิ่นอายของเขา

“เพลงดังกล่าวถูกแต่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของ Mozart นอกจากนี้ กระดาษที่ใช้ในการประพันธ์ก็เป็นกระดาษธรรมดา ไม่ใช่กระดาษโน้ตซึ่งปกติ Mozart จะตีบรรทัดด้วยตนเอง” Ulrich Leisinger กล่าว

โน้ตดังกล่าวไปอยู่ในมือ Aloys Fuchs นักดนตรีสมัครเล่นอยู่ช่วงหนึ่งก่อนจะหายไป และปรากฏขึ้นมาอีกครั้งในช่วงทศวรรษ 1880-99 ท้ายที่สุดในปี 2018 Mozarteum Foundation ได้โน้ตนี้มาครอบครอง

แม้จะใช้เวลาพิสูจน์กันหลายปี ว่า Allegro in D K626b/16″ เป็นเพลงของ Mozart จริงหรือไม่ แต่บทเพลงได้รับการเผยแพร่ทางออนไลน์ นำร่องโดย Deutsche Grammophon ร่วมกับบทเพลงอื่นๆ ของ Mozart

และในที่สุด Allegro in D K626b/16″ ได้รับการเล่นปฐมทัศน์โดย Seong-Jin Cho นักเปียโนเกาหลีใต้ อายุ 26 ปี ผู้ชนะรายการแข่งขัน XVII International Chopin Piano Competition

 

Seong-Jin Cho ได้พูดถึง Allegro in D K626b/16″ ว่าเป็นบทเพลงที่ทั้งสนุกสนาน ร่าเริง และขี้เล่น

ผู้ฟังจะรู้สึกถึงความซุกซนของ Mozart และสามารถสัมผัสได้ว่า Mozart ได้ประพันธ์เพลงนี้ขึ้นในวัยเยาว์

“ไม่ว่าคุณจะเป็นคอเพลงคลาสสิคหรือไม่ ถ้าได้ฟัง Allegro in D K626b/16″ ก็จะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า นี่คืออารมณ์อันบริสุทธิ์ของ Mozart อย่างแท้จริง” Seong-Jin Cho กล่าว

และว่า “ด้วยท่วงทำนองที่ก้าวกระโดด จากความกระชับฉับไว จากนั้นเข้าสู่ช่วงอ่อนหวานในทันที ซึ่งเป็นการตัดสลับที่ผมชื่นชอบมาก” Seong-Jin Cho สรุป

 

ล่าสุด นักวิจัยในเมือง Leipzig ประเทศเยอรมนี ได้ค้นพบผลงานดนตรีที่ไม่เคยมีใครได้ฟังมาก่อน แปลไทยเป็นไทยก็คือ “เพลงใหม่” อีกเพลง ของ Mozart ที่ประพันธ์ขึ้นในทศวรรษ 1760

ซึ่งคาดการณ์กันว่า น่าจะแต่งขึ้นตอน Mozart เป็นวัยรุ่น นักวิจัยคนดังกล่าว ได้ค้นพบผลงานชิ้นนี้ในห้องสมุดดนตรีภายในหอสมุดเทศบาลเมือง Leipzig ขณะที่กำลังรวบรวมแคตาล็อก K?chel ฉบับล่าสุด

โดยคำว่า K?chel คือที่มาของอักษร K เวลาพูดถึงลำดับผลงานของ Mozart ซึ่งต้องถือว่าเป็นคลังเก็บผลงานดนตรีของ Mozart ฉบับสมบูรณ์

โน้ตดังกล่าว เขียนด้วยหมึกสีน้ำตาลเข้มบนกระดาษสีขาว แต่ละแผ่นถูกเย็บเข้าด้วยกัน

เจ้าหน้าที่หอสมุดเทศบาลเมือง Leipzig เผยว่า ผลงานดังกล่าวมีอายุย้อนไปถึงช่วงกลางถึงปลายทศวรรษ 1760 ประกอบด้วยท่อนดนตรีขนาดเล็ก 7 ท่อน สำหรับวงเครื่องสาย 3 ชิ้น มีความยาวประมาณ 12 นาที

จากข้อมูลในแคตาล็อก K?chel ระบุว่า มีการตั้งชื่อผลงานชิ้นนี้ว่า Ganz kleine Nachtmusik

นักวิจัยคนเดิมกล่าวว่า ต้นฉบับที่เพิ่งค้นพบนี้ไม่ได้เขียนโดย Mozart เอง แต่เชื่อว่าเป็นสำเนาที่ทำขึ้นเมื่อประมาณปี 1780

ทั้งนี้ Ganz kleine Nachtmusik ถูกนำไปแสดงรอบปฐมทัศน์ที่ Leipzig Opera ในเยอรมนี โดยบัณฑิตจากโรงเรียนดนตรีใน Leipzig เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา

โดยมีแฟนพันธุ์แท้ Mozart ต่อแถวซื้อตั๋วเข้าชมยาวถึง 400 เมตร เพื่อเข้าฟังบทเพลงของศิลปินในดวงใจอย่างใจจดใจจ่อ