ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 - 31 ตุลาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | คุยกับทูต |
เผยแพร่ |
“เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา เป็นวันชาติออสเตรีย และนับเป็นวันชาติออสเตรียครั้งที่ 3 ที่ผมมาดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตที่นี่
ย้อนไปเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 1955 ประวัติศาสตร์ของวันพิเศษนี้ คือวันที่รัฐสภาออสเตรียมีมติเรื่อง ความเป็นกลางอย่างถาวร (PERMANENT NEUTRALITY)”
กล่าวโดย นายวิลเฮล์ม มัคซีมีลีอาน ด็องโค (Wilhelm Maximilian Donko) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐออสเตรียประจำประเทศไทย
“เป้าหมายของเราในการทูตออสเตรีย คือการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเราทั้งสองให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นและส่งเสริมการแลกเปลี่ยนในทุกด้าน ในวันอันเป็นมงคลของวันชาติออสเตรียนี้จึงเป็นโอกาสที่สมบูรณ์แบบในการเฉลิมฉลองและการบรรลุเป้าหมายนี้
เราอยู่ในยุคที่มีความวุ่นวายทางการเมือง สงครามได้หวนกลับคืนสู่ยุโรปและภูมิภาคอื่นๆ อีกครั้ง แม้เราจะวางตัวเป็นกลางมาตั้งแต่ปี 1955 แต่เราก็แสดงออกในทุกๆ วันถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพันธมิตรและมิตรสหายในยุโรปตามแนวทางทางการเมืองของเราต่อวิกฤตการณ์ต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยูเครนและตะวันออกกลาง
เนื่องจากออสเตรียมีความเป็นกลางทางการทหาร แต่ออสเตรียไม่ใช่ และไม่เคยมีความเป็นกลางทางการเมือง เช่น ในกรณีที่เกิดการละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติครั้งใหญ่โดยรัฐที่ติดอาวุธนิวเคลียร์ได้เข้ารุกรานรัฐอธิปไตยเพื่อนบ้านโดยปราศจากการยั่วยุ
สาธารณรัฐออสเตรียสนับสนุนลัทธิพหุภาคีที่มีประสิทธิภาพและเคารพหลักนิติธรรมมาโดยตลอด สิ่งเหล่านี้เป็นค่านิยมหลักของนโยบายต่างประเทศของเรามานานหลายทศวรรษ
ข้อเท็จจริงนี้สะท้อนให้เห็นได้จากบทบาทของเราในฐานะเจ้าภาพสำนักงานใหญ่แห่งที่สามของสหประชาชาติในกรุงเวียนนา ต่อจากนครนิวยอร์กและนครเจนีวา”
“เรามีความภาคภูมิใจมากที่ได้ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศไทย ไม่เพียงแต่ในระดับทวิภาคีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงในเวทีพหุภาคีอื่นๆ มากมายในบริบทของสหประชาชาติด้วย
ปี 2024 นับเป็นปีพิเศษในความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างออสเตรียและไทย เนื่องจากเป็นการฉลองครบรอบถึง 2 วาระด้วยกัน คือ ครบรอบ 155 ปี ของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างออสเตรียและไทย และครบรอบ 70 ปีของคณะผู้แทนถาวร (สถานทูต) ในเมืองหลวงของเราในกรุงเทพฯ และเวียนนา
เมื่อ 155 ปีที่ผ่านมา ในปี 1869 เรือรบออสเตรีย 2 ลำ คือ ‘โดเนา’ (Donau) และ ‘แอสเฮอร์ซอก ฟรีดริช’ (Erzherzog Friedrich) เข้ามาในน่านน้ำสยามเป็นครั้งแรกเพื่อปฏิบัติภารกิจสร้างความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างออสเตรียและไทย ซึ่งในขณะนั้นคือออสเตรีย-ฮังการีและสยาม และได้ข้อสรุปเป็น ‘สนธิสัญญาว่าด้วยมิตรภาพ การค้า และการเดินเรือ’
ต่อมาในปี 1954 หรือ70 ปีที่แล้วจึงมีการสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ คณะผู้แทนทางการทูตประจำประเทศ (สถานทูต) ได้ก่อตั้งขึ้นทั้งที่เวียนนาและกรุงเทพฯ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ดังนั้น เราจึงต้องการฉลองวาระครบรอบ ทั้งสองวาระนี้ ในโอกาสเดียวกับวันชาติออสเตรียในปี 2024 นี้ด้วย ทั้งนี้ เราได้จัดงาน ‘สัปดาห์แห่งการเฉลิมฉลองทางวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และความยั่งยืนของออสเตรีย’ (Austrian Lifestyle Week) อย่างเข้มข้นมากเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อันเป็นส่วนหนึ่งของงานครบรอบสองวาระดังที่กล่าวมาแล้ว และยังมีงานอื่นๆ ที่เราจัดตามมาอีก
ซึ่งรวมถึงนิทรรศการภาพถ่ายเกี่ยวกับการเยือนกรุงเทพฯ ในปี 1869 โดยนายวิลเฮล์ม เบอร์เกอร์ (Wilhelm Burger) ช่างภาพผู้บุกเบิกชาวออสเตรีย ที่ได้เข้ามาเมืองไทยพร้อมคณะทูต
จึงกล่าวได้ว่า เรามีความสัมพันธ์ทวิภาคีที่ยอดเยี่ยมเป็นเวลากว่า 155 ปีแล้ว ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศทั้งสอง”
เอกอัครราชทูตวิลเฮล์ม ด็องโค สรุปถึงการใช้พลังของการดึงดูดความสนใจว่า
“ประเทศไทยและออสเตรีย ขึ้นชื่อในเรื่องวัฒนธรรมอันหลากหลาย เป็นรากฐานสำคัญของพลังทางด้าน soft power ของเรา ดังเช่น อาหาร ศิลปะ ดนตรี เป็นต้น
องค์ประกอบดังกล่าว ในปัจจุบันมักนิยมเรียกกันว่าเป็น ‘การทูตเชิงอำนาจอ่อน’ (Soft Power Diplomacy) ซึ่งเราได้พยายามอย่างเต็มที่ในการแสดงทักษะเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ในงานเฉลิมฉลองของเราในปี 2024 นี้ด้วยเช่นกัน” •
รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน
Chanadda Jinayodhin
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022