ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 - 31 ตุลาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ของดีมีอยู่ |
เผยแพร่ |
1.
“หากอากาศมีความทรงจำ
อากาศจะจดจำสิ่งต่างๆ เหล่านี้
ทั้งหมดทั้งมวลได้หรือเปล่า
ความทรงจำที่ซ้อนทับความรู้สึก
ซ้อนความรู้สึก ทับความรู้สึก
ความรู้สึกทับซ้อนความทรงจำ
ชีวิตซ้อนทับชีวิต จิตวิญญาณ
เพื่อสร้างแผนที่ความทรงจำ
เจ็บปวด
ในภูมิทัศน์ความรู้สึก
ก่อร่างห้วงขณะของเวลา
ระหว่าง
ความเป็นและความตาย
วินาทีเฮือกหายใจสุดท้าย
ออกจากร่าง ปักหมุดหมายใหม่
ประวัติศาสตร์ความทรงจำและการหลงลืม
และการตั้งคำถามกับ ‘ความจริง’
แม้ความจริงมิได้ล่องหนอยู่เบื้องหน้าเรา
หากอากาศเป็นความหลงลืม
อากาศจะลืมสิ่งต่างๆ เหล่านี้
ทั้งหมดทั้งมวลได้หรือเปล่า”
(ส่วนหนึ่งของบทกวีชื่อ “หากอากาศมีความทรงจำ” เขียนเพื่อนิทรรศการ “สดับเสียงเงียบ : จดจำตากใบ 2547” ตีพิมพ์ในหนังสือ “บทกวีตีพิมพ์บนสรวงสวรรค์ในปีต่อมา” โดย “ซะการีย์ยา อมตยา”)
2.
“อิหซานอยู่กับยายตั้งแต่เกิดเพราะพ่อกับแม่แยกทางกัน มีชื่อเล่นว่า ‘ซาน’
“อิหซานโตมากับยาย ยายรักอิหซานมาก อิหซานหน้าตาดีตั้งแต่เด็ก พอเรียนจบชั้น ป.6 ก็เรียนด้านศาสนาที่โรงเรียนปอเนาะ เขาได้เจอพ่อครั้งแรกตอนอายุ 14 ปี หลังจากนั้นก็ติดต่อพ่อตลอด ส่วนแม่ นานๆ จะเจอกันสักครั้ง
“ตอนอิหซานอายุ 25 ปี เขาไปทำงานรับจ้างที่อำเภออื่นๆ ซานเป็นเด็กดี ยายทำนาขายข้าวเปลือก เขาช่วยยายทำนา เวลาได้เงินจากการทำงานก็ให้ยายด้วย คนในหมู่บ้านก็รักเขาเพราะชอบช่วยเหลือเวลามีงานในหมู่บ้านหรือที่มัสยิด
“ยายยังจำได้ตอนเขายังเล็ก ตอนที่ยายจะซักเสื้อให้ อิหซานบอกว่ายายไม่ต้องซัก เดี๋ยวอิหซานจะซักเสื้อผ้าเอง อิหซานทำเองได้แล้ว ยายเคยคิดว่า จะพึ่งพาหลานคนนี้ตอนแก่ ถ้าหลานยังอยู่คิดว่าพึ่งพาได้ เมื่ออิหซานแต่งงานอาจมีหลานให้ชื่นใจ ยายคิดว่ายายคงรักลูกของอิหซานมาก
“การเยียวยาเทียบไม่ได้กับชีวิตของหลาน แม้ให้เงินมาเป็นกระสอบมันเทียบไม่ได้กับชีวิต – ยาย”
3.
“แบมะหายไปตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2547 ครอบครัวไม่เคยได้พบศพของเขา
“แบมะเป็นผู้ชายเพียบพร้อมคนหนึ่ง ถึงเราจะยากจนแต่เขาไม่เคยบกพร่อง เขาสุขุม สมถะ เรียบง่าย ไม่ชอบมีปัญหากับใคร และช่วยเหลือคนอื่นเสมอ
“แบมะเป็นพ่อครัวที่เก่งมาก ที่จำได้ดีคือซุปเป็ดเทศ หากชุมชนมีงานเลี้ยงโอกาสอะไร แบมะจะถูกเชิญให้เป็นพ่อครัวเสมอ กับข้าวมื้อสุดท้ายที่แบมะแสดงฝีมือ คือซุปเป็ดเทศในกิจกรรมละศีลอด ในมัสยิดของหมู่บ้าน
“นอกจากนี้ แบมะยังเป็นมุอัซซิน คนขานอาซานแจ้งเตือนเวลาละหมาดอีกด้วย ทุกวันนี้เสียงไพเราะของแบมะยังก้องในหูเพื่อนบ้านทุกคน – ภรรยา”
4.
“มะไซดีมีพี่น้องห้าคน เขาเป็นลูกคนที่สี่ มีชื่อเล่นว่า ‘ยี’
“แม่ไม่เคยลืมมะไซดี เขาชอบพูดคุยกับผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน เด็กๆ ในหมู่บ้านก็รักเขา เขาเป็นคนขยัน ช่วยพ่อแม่ทำนา เวลาที่มีงานแต่งงานในหมู่บ้านก็ไปช่วยเหลือ เขาชอบไปละหมาดที่มัสยิด ช่วงที่มีการต่อเติมมัสยิดก็ไปช่วย
“ตอนนั้นมะไซดีทำงานเก็บเงินซื้อรถมอเตอร์ไซค์เป็นของตัวเอง เขาคิดว่าจะเก็บเงินสร้างบ้านใหม่ เพราะบ้านที่อยู่เป็นบ้านเก่าทำด้วยไม้ไผ่ ตอนนั้นเรายากจนมาก มะไซดีพยายามออมเงิน เขาให้แม่ไปซื้อสร้อยคอทองหนึ่งบาท เพราะถ้าเก็บเป็นเงินก็หมด แม่ยังใส่สร้อยไว้ติดตัวจนถึงทุกวันนี้ – แม่”
5.
“อาลีเป็นลูกชายคนที่แปด มีน้องสาวคนสุดท้องหนึ่งคน แม้ยังเรียนชั้นมัธยม แต่อาลีเริ่มทำงานหารายได้พิเศษและเข้าอบรมโครงการอาชีพต่างๆ ด้วยความหวังว่าจะช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัว
“พี่ชายเป็นคนน่ารักและอ่อนโยนมาก เราเป็นลูกคนเล็กถัดจากพี่ชาย พี่คนอื่นโตกันหมดแล้ว พี่คนนี้จะดูแลเราเป็นพิเศษ เขาคอยดูแลทุกเรื่อง
“บ้านเรายากจน แม่เย็บผ้าทั้งวัน ส่วนพ่อทำงานในนาหรือในสวนบ้าง ปลูกข้าว ปลูกผัก เลี้ยงวัว แม่จะทำข้าวกลางวันให้พี่เอาข้าวไปส่งให้พ่อ พี่จะจูงเราไปด้วย ช่วงที่เดินยากๆ มีหญ้ารกหรือเรากลัว พี่จะให้เราขึ้นขี่หลัง
“บ้านเราไม่มีน้ำประปา ก็จะใช้น้ำบ่อกัน ตอนเช้าก่อนไปโรงเรียน พี่จะตักน้ำหิ้วมาไว้ในห้องน้ำให้เราอาบ ช่วยดูแลอาหารการกิน ส่วนใหญ่บ้านเราก็กินผักกินปลาเพราะไม่แพง ผักก็ปลูกเอง
“ก่อนเหตุการณ์ พี่บอกแม่ว่า เขาอยากกินตูปะซูตง (ปลาหมึกยัดไส้ข้าวเหนียว) แต่แม่ยังไม่ได้ทำสักที เพราะปลาหมึกแถวบ้านเราแพงมาก ตั้งแต่นั้น แม่ไม่เคยทำตูปะซูตงอีกเลย
“ทุกวันนี้ พูดถึงพี่ชาย เรามีน้ำตาทุกครั้ง ทั้งคิดถึงเขา เสียใจ และแค้นใจ หลังพี่เสียไม่นาน มีเรื่องการเยียวยา เราก็ไม่เข้าใจว่า การเยียวยาคืออะไร วันหนึ่งไปโรงเรียน แล้ว ชรบ. คนหนึ่งพูดว่า ‘พี่ชายตาย ตอนนี้ก็รวยแล้วสิ’
“เราร้องไห้ กลับบ้าน เล่าให้แม่ฟังแม่ก็ร้องไห้ไปด้วย – น้องสาว”
(เนื้อหาส่วนที่ 2.-5. นำมาจาก booklet ประกอบนิทรรศการ “ลบ ไม่ เลือน 20 ปี ตากใบ” จัดทำโดย “พิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุชายแดนใต้”) •
ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022