ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 - 31 ตุลาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | จดหมาย |
เผยแพร่ |
จดหมาย | ประจำวันที่ 25-31 ตุลาคม 2567
• น้ำใจ (1)
ผมมีชาติกำเนิดที่เมืองเชียงราย
มหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงราย และอีกหลายๆ จังหวัดทางภาคเหนือ รวมไปถึงหลายๆ จังหวัดทางภาคอีสาน
สร้างความเสียหายกับที่อยู่อาศัย ที่ทำมาหากินกันมากมายมหาศาล
รวมไปถึงชีวิตอันมีค่าของผู้คนอีกหลายๆ คน และสัตว์เลี้ยงอีกมากมายหลายชีวิตที่ไหลไปตามกระแสน้ำเชี่ยวกรากและบ้าคลั่ง
คงไม่ต้องพูดถึงสาเหตุ
เพราะเป็นที่รู้ๆ กันอยู่ ว่าเกิดจากฝีมือของมนุษย์ทั้งสิ้น
ทำให้อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้น
ซึ่งไม่เฉพาะแต่ประเทศไทยประเทศเดียว แต่ก็เป็นไปทุกประเทศทั่วโลก
ย่อส่วนมาที่เมืองไทยของเรา
เมื่อห้าสิบกว่าปีเศษมาแล้ว ขณะเป็นหนุ่มฉกรรจ์ และมีใจรักชอบในเรื่องของชาวป่าชาวเขาเผ่าต่างๆ ทางภาคเหนือ
จึงออกตระเวนถ่ายภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวเขาเผ่าใหญ่ๆ หลายเผ่า ในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ
และก็เริ่มเห็นป่าไม้ถูกโค่นล้มทำลายเพื่อการเกษตร
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ฝิ่น” ที่เป็นพืชที่เจริญและเติบโตได้ดีบนดอยสูง และมีอากาศที่หนาวเย็น
จึงได้เห็นภูเขาหัวโล้นมากมายหลายแห่งจนชินตา
ก็คงจะโทษอะไรได้ไม่ถนัดปาก
มันเป็นความจำเป็นในเรื่องของการทำมาหากิน เพื่อความอยู่รอด
และรายได้อันงดงามจากฝิ่น และเป็นเรื่องของการทำการเกษตรแบบโบราณ ที่อาศัยแรงงานของคนเป็นสำคัญ
รวมทั้งไม่รู้จักวิธีใช้ผืนดิน และวิธีการบำรุงรักษา
เมื่อใช้ไปได้สองสามปี เมื่อผืนดินจืดก็จะละทิ้งไป แล้วหาผืนป่าแห่งใหม่ หักล้างถางพงเป็นไร่แห่งใหม่กันขึ้นมา
ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่มีแต่เมืองไทยเท่านั้น แต่ในพม่าและลาวก็มีด้วยเช่นกัน
แต่ชาวเขาชาวดอย เขาทำกันเพราะไม่มีทางเลือก ทำไปเพื่อความอยู่รอดของชีวิต
แต่ที่น่าประณามที่สุด
ก็คือเหล่านายทุน ที่ร่ำรวยกันมหาศาลอยู่แล้ว แต่ยังไม่รู้จักพอ ว่าจ้างพวกเขาให้ปลูกข้าวโพด เพื่อนำมาจำหน่ายเป็นอาหารสัตว์อย่างเดียว
แล้วผลเกิดขึ้นตามมา เมื่อเวลาผ่านไปหลายสิบปีเข้า ฝนตกลงมา น้ำฝนไม่มีต้นไม้ใหญ่ซับดูดน้ำ
แล้วผิวดินก็ถูกฝนชะล้างทำลาย
ผลก็เกิดอย่างที่เห็นกัน
ทั้งอุทกภัยในไทย ลาว พม่า น้ำจากมหาอุทกภัย ก็หลั่งไหลจากไทย ลาว พม่า ลงสู่แม่น้ำโขง
ผสมกับน้ำเขื่อนจากจีน ซึ่งอยู่ทางเหนือ ปล่อยน้ำจากเขื่อน เอ่อลงมาท่วมท้นสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องทางอีสานที่อยู่ติดกับลำน้ำโขงอีกหลายๆ จังหวัด จนเดือดร้อนวุ่นวายกันไปหมด
แล้วถามว่าในปีต่อๆ ไปในช่วงฤดูฝน หากมีฝนตกลงมามาก จะมีทางแก้ไขกันไหม
ก็เห็นจะตอบว่าคงยาก
แม้จะระดมปลูกป่ากันบนเขาบนดอยทุกลูก ก็ไม่รู้อีกกี่สิบปีจึงจะมีศักยภาพที่จะชะลอน้ำฝนบนภูเขาสูง ที่ไหลลงมาสู่พื้นราบกันได้
ก็คงจะคอยระมัดระวังและป้องกันในปีต่อๆ ไปกันลูกเดียว
แต่ทั้งน้ำ ทั้งโคลน ที่ไหลมาทับถม ผู้คนบ้านช่องกันในคราวนี้ ก็มีสิ่งมาทดแทนให้ความทุกข์อันใหญ่หลวงที่พี่น้องที่ประสบอุทกภัย ผ่อนคลายความทุกข์ในจิตใจลงกันได้บ้าง
คือ มหาน้ำใจอันใหญ่หลวง ที่พี่น้องคนไทยทุกหมู่เหล่า
ที่เสียสละระดมกันมาช่วยเหลือเหล่าเพื่อนร่วมชาติ ที่ประสบความทุกข์ยากกันอย่างสุดกำลังและความสามารถ ทั้งข้าวปลาอาหาร เครื่องใช้ไม้สอย น้ำ ยารักษาโรค เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ทำความสะอาด ซ่อมแซมบ้านเรื่อง ของเหล่าผู้ประสบอุทกภัยกันอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยกัน
ครับ ในความทุกข์ร้อนที่ได้รับกัน แต่ก็มีความสุขในใจมาทดแทนให้คลายทุกข์ที่ได้รับลงไปบ้าง
อันความกรุณาปรานี จะมีใครบังคับก็หาไม่ หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ จากฟากฟ้าสุราลัย สู่แดนดิน
ขอให้เหล่าท่านผู้มีจิตเมตตา จงประสบแต่ความสุข ความเจริญ กันยิ่งๆ ขึ้นไปนะครับ
ปิยพงศ์ (เมืองหละปูน)
มหาน้ำใจอันใหญ่หลวง
นี่แหละที่ทำให้ผู้ประสบภัย
พอจะยืนหยัดอยู่ได้
แต่กระนั้น “มหาภัย” จากธรรมชาติ
ยังเป็น “มหา” ความกังวล
ว่าเราจะแก้ไข และแก้ปัญหาอย่างไร
ซึ่งยอมรับที่เห็น และเป็นอยู่ขณะนี้
เราได้แต่รอลุ้นในแต่ละปี
ว่าจะรอดหรือไม่รอดจากมหาอุบัติภัย อย่างไร
ซึ่งดูวังเวงเหลือเกิน
• น้ำใจ (2)
ผู้คนเจ็บป่วยท่านช่วยรักษา
ด้วยจิตเมตตา – อัธยาศัย
ทั้งเด็กเล็กแดงผู้น้อยผู้ใหญ่
ให้หายเจ็บไข้ ใจเปี่ยมพลัง
กาลเวลาพิสูจน์ “หมอมวลชน”
ผ่านฝน ผ่านร้อน ผ่านหนาวยาวนาน
ลือเลื่อง “โรงพยาบาล” สถาน
“น่าน” ตำนานการให้ไม่รู้จบ…
น้อมนำพาพระราชดำรัส
ความซื่อสัตย์ หน้าที่รับผิดชอบ
ทดแทนคุณแผ่นดินคือคำตอบ
คงระบอบ – คุณธรรม กตัญญู…
คุณหมอยอดนักสู้ “บุญยงค์ วงศ์รักมิตร”
โดยความเคารพและนับถือ
สงกรานต์ บ้านป่าอักษร
“นพ.บุญยงค์ วงศ์รักมิตร”
อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน
ที่จากไปในวัย 91 ปี เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2567 นั้น
นอกจากการอุทิศตนเป็นหมอ
ในโรงพยาบาลทุรกันดารและอันตรายจากสงครามผู้ก่อการร้าย
ไม่ว่าสกลนคร เลย น่าน
จนเป็นที่ยกย่องของประชาชน
ว่าเป็น “ขวัญใจของคนยากไร้” แล้ว
ยังอุทิศตนเป็นผู้รักษาป่าซับน้ำใน จ.น่าน มาตลอด
น้ำใจของหมอบุญยงค์ ได้ช่วยคน-ช่วยป่า มาไม่น้อย
ถึงกาลที่หมอบุญยงค์ จะได้พักผ่อนแล้ว
แต่มหาภัยธรรมชาติ ก็ยังคงเกิดขึ้น
คนข้างหลังคงต้องสู้กันต่อไป •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022