ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 พฤศจิกายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
ผู้เขียน | อิสราชัย จงภัทรนิชพันธ์ |
เผยแพร่ |
ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อน นับเป็นหนึ่งในความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติ เมื่อการกระทำที่เรียกว่าการพัฒนาเพื่อความเจริญก้าวหน้า ต้องแลกมาด้วยการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและปล่อยมลภาวะที่ส่งผลต่ออุณหภูมิในชั้นบรรยากาศโลกโดยไม่นึกว่าสิ่งนี้จะย้อนกลับมาทำร้ายเรา ไม่ว่าจะปล่อยมากหรือน้อย ทุกส่วนของโลกได้รับผลหมด
โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลรุนแรงที่สุด
ในช่วงที่รัฐบาลหลายประเทศให้คำมั่นและหาทางรับมือเพื่อหยุดยั้งไม่ให้อุณหภูมิเข้าสู่จุดที่ “ถอยหลังกลับไปไม่ได้” นั้น สิ่งที่ควรใส่ใจคือ ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐบาลที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ ในนามความเจริญหรือประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ พวกเขาเหล่านี้กลับต้องแบกรับความยากลำบากและความทุกข์ทรมานแทน
แต่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบนี้เองที่เข้าใจปัญหานี้มากที่สุด และอาจเป็นหัวใจสำคัญไปสู่การสร้างความยั่งยืนที่ทุกคนอยู่ร่วมกันได้
ในการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 3 เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการจัดวงเสวนาย่อยในหัวข้อ “ประชาสังคม กุญแจสู่ Net Zero” โดยเชิญตัวแทนภาคประชาชนที่มีหลากที่มาและหลายมิติปัญหาเพื่อเข้าใจภาพที่กว้างขึ้นของปัญหาโลกร้อนที่ว่าซับซ้อนนั้น การแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องซับซ้อนยิ่งกว่ายังไง
ธีรวัฒน์ ต๊ะวิกา ประธานศูนย์การเรียนรู้บ้านทุ่งศรี จ.แพร่ กล่าวว่า ก่อนที่จะมาเป็นผู้ใหญ่บ้านทุ่งศรี ขนาดพื้นที่ 700 ไร่ 12 ครัวเรือน เรียกว่าต้นทุนติดลบ ชีวิตความเป็นอยู่ค่อนข้างแย่ ไม่มีเงินทุนสนับสนุน แม้จะมีอาชีพเกษตรกรที่ปลูกพืชหลากหลาย แต่ก็ใช้สารเคมีปราบศัตรูพืช ทำให้ชาวบ้านป่วยโรคทางเดินหายใจและโรคมะเร็ง พอป่วยก็ต้องมีค่าใช้จ่ายในการรักษาจนเป็นหนี้สิน ถามว่าแบบนี้ใครอยากอยู่?
สิ่งที่ตนเริ่มทำเพื่อเปลี่ยนแปลงคือเริ่มจากจุดเล็กๆ ด้วยการดึงผู้เฒ่าของชุมชนมาร่วมก่อตั้ง “ผู้ก่อการดี” ทำเรื่องเล็กๆ พอตัวเองได้มาเป็นผู้ใหญ่บ้าน เรามีวิธีคิดว่า จะไม่รอใครมาทำให้ แต่เรากับคนในหมู่บ้านมาร่วมช่วยกันคิดช่วยกันทำ
มาตอนนี้ได้กลายเป็นหมู่บ้านต้นแบบด้านนวัตวิถีระดับประเทศ และทำเกษตรแบบ zero waste โดยซากพืช เช่น ฟางข้าวหลังเก็บเกี่ยว แทนที่จะเผา ก็ส่งฟางข้าวไปเป็นอาหารเลี้ยงโค จนมีรายได้จากการส่งฟางข้าวหลายหมื่นบาท ปลูกพืชโดยไม่ใช้สารเคมี
ความมั่นคงและยั่งยืนสำหรับชาวทุ่งศรี คือทำแล้วได้เงิน เพราะการสร้างรายได้จะนำไปสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี และยังมีโครงการวิสาหกิจอีกหลายอย่างที่กำลังเกิดขึ้นโดยชาวบ้านทุ่งศรี เรามีความหลากหลายในการขับเคลื่อน ไม่ใช่แค่ BCG model แต่ทำแล้วพี่น้องต้องได้
สิ่งที่ได้เรียนรู้คือ หลายโครงการที่ผ่านล้มเหลวตั้งแต่เริ่ม นั่นก็เพราะขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน
ปริญญา แทนวงษ์ ประธานเครือข่ายชุมชนคนบางระกำ กล่าวว่า หลายคนอาจรู้จัก “บางระกำโมเดล” ในฐานะพื้นที่รับน้ำ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาด 265,000 ไร่ กินพื้นที่ 5 อำเภอ แต่พื้นที่ใหญ่อยู่ใน อ.บางระกำ แต่จะบอกว่าชาวบางระกำต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เพราะเราต่างรับรู้ว่า บางระกำโมเดลคือความสำเร็จของโครงการการจัดการน้ำ
แต่สิ่งที่หลายคนไม่รู้เลยคือ ชาวบางระกำต้องชอกช้ำกับการแบกรับปัญหาให้คนอื่นอย่างไม่เต็มใจ
พอต้องกลายเป็นพื้นที่รับน้ำ ต้องปรับปฏิทินการทำนาครั้งใหญ่ โดยปกติจะทำนาปรัง 3 ครั้ง ตั้งแต่มีบางระกำโมเดลในปี 2560 ก็ต้องบอกชาวบ้านรีบเก็บเกี่ยวให้เสร็จก่อนวันที่ 15 สิงหาคม ในการปล่อยน้ำเข้าทุ่งเพื่อหน่วงน้ำชะลอไว้ เป็นระยะเวลาถึง 4 เดือน นานถึงเดือนพฤศจิกายน พอปลายเดือนพฤศจิกายนก็ผันน้ำออกและให้ชาวบ้านเข้าทำนา
เท่ากับว่าชาวบางระกำขาดรายได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคมจนถึงเดือนมีนาคม 7 เดือนเต็ม
น้ำที่ท่วมทุ่งกว่า 2 แสนไร่ น้ำไม่ได้ท่วมแค่ทุ่งนา ยังมีชุมชน วัด โรงเรียน ที่มีคนป่วยติดเตียง คนแก่อยู่ การสัญจรเดินทางลำบาก คุณภาพชีวิตกลับแย่ลง บางระกำโมเดลกลับสร้างภาระให้กับชาวบางระกำมากขึ้น
แม้มีทำประชาพิจารณ์ แต่ชาวบ้านตอนนั้นเชื่อสนิทใจว่าการมีโครงการรัฐบาลเข้ามาต้องดีแน่ แม้กำหนดพื้นที่รับน้ำไว้ 2 แสนกว่าไร่ แต่พอน้ำมาจริงๆ กลับกินพื้นที่ถึง 5-6 แสนไร่ ไม่ใช่แค่คนในพื้นที่บางระกำโมเดล แต่ชุมชนโดยรอบก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน
ตนแม้มีอาชีพขายไก่ย่าง แต่ก็สนใจปัญหาสังคม ก็ได้รวมตัวจัดตั้งเครือข่ายชุมชนคนบางระกำขึ้นเพื่อสร้างตัวตนให้คนเห็นปัญหาและคนบางระกำที่ได้รับผลกระทบ
มีการทำโมเดล 3 มิติศึกษาผลทั้งอาหาร สุขภาพและน้ำ พบว่า บางระกำทั้งที่เป็นพื้นที่เกษตรแต่กลับมีปัญหามิติอาหารมากที่สุด เพราะในช่วงหน่วงน้ำ ต้องใช้จ่ายซื้อของกินจากพื้นที่อื่นทั้งที่ไม่มีรายได้ จึงใช้การเลี้ยงไก่เพื่อชดเชย
ที่น่าชอกช้ำที่สุดคือ คนในบางระกำโมเดล 5 อำเภอ ไม่มีสิทธิได้รับการเยียวยาเงินจากภัยพิบัติ ผิดกับที่อื่นพอผู้ว่าฯ ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติก็จะมีสิทธิได้รับเงินเยียวยา
เรื่องเงินทุนเป็นสิ่งที่ต้องใช้ขับเคลื่อน จึงมีการผลักดันกับเครือข่ายอีก 11 ประเทศ เรียกร้ององค์การสหประชาชาติจนจัดตั้งกองทุนสีเขียวโลกขึ้น แต่กองทุนนี้ต้องให้หน่วยงานรัฐดำเนินการ ซึ่งเงินพันกว่าล้านผ่านมา 2 ปี ยังไม่เห็นการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม
คนบางระกำก็ยังคงอยู่กับความไม่เป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศและไม่รู้ว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงยังไง
กัญจน์ ทัตติยกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อนตะวันออก กล่าวว่า นับตั้งแต่การค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเมื่อปี 2516 การพัฒนาเศรษฐกิจชายฝั่งภาคตะวันออกก็ได้เริ่มขึ้น จากนั้นในปี 2535 ขยับขึ้นเป็นอีสเทิร์นซีบอร์ด เกิดนิคมอุตสาหกรรมกระจุกตัวในจังหวัดชลบุรี ระยองและฉะเชิงเทรา
ผ่านมา 40 ปี 4 จังหวัดอุตสาหกรรมภาคตะวันออก (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และปราจีนบุรี) สร้างรายได้ให้ประเทศเป็นสัดส่วนถึง 35%
แต่ต้นทุนที่แลกมานั้นมหาศาล ปริมาณการใช้ไฟฟ้าใน 8 จังหวัดภาคตะวันออก ใช้เกิน 1 ใน 4 ของประเทศ หรือ 26%
เมื่อการผลิตมาก ของเสียก็ต้องมาก กากอุตสาหกรรมในเขตอุตสาหกรรม EEC ก็มีมากถึง 5 ล้านตันต่อปี โดยไม่ได้ถูกกำจัดถึง 55% จึงมักได้ยินข่าวการลอบทิ้งกากสารพิษจากอุตสาหกรรมอยู่เนืองๆ เพราะมีมากมายจนเกินกำลังที่รับกำจัดได้
สถานการณ์ป่าไม้ในภาคตะวันออกมีน้อยกว่าค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 22% จังหวัดที่มีการพัฒนามากๆ มีพื้นที่ป่าไม้ไม่ถึง 10% ทำให้ระบบนิเวศเพื่อดูดซับอากาศเสียไม่สมดุล ภาคตะวันออกเองก็มีพื้นที่เกษตรกรรมขนาดใหญ่เช่นกัน แต่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรเชิงเดี่ยว เช่น ยางพารา อ้อย มันสำปะหลังและลำไย ซึ่งเกษตรอุตสาหกรรมนี้มีผลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas- GHG)
จากข้อมูลขององค์การจัดการก๊าซเรือนกระจกที่ได้มาเมื่อปีที่แล้ว การปล่อย GHG ในภาคตะวันออกซึ่งเชื่อว่า พอมีอุตสาหกรรมก็ต้องปล่อยมากอยู่แล้ว
แต่ข้อมูลแสดงตัวเลขที่น่าตกใจ พบว่า ค่าเฉลี่ยคนไทยปล่อย GHG คือ 6 ตันต่อคนต่อปี ภาคตะวันออกปล่อย GHG สูงกว่าเป็นเท่าตัว ดูรายจังหวัด ระยองทะยานถึง 25 ตันต่อคนต่อปี เรียกว่าปริมาณนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยในสหรัฐฯที่ปล่อย GHG เฉลี่ย 18 ตันต่อคนต่อปี
ตลอดการสั่งสมการปล่อยกว่า 40 ปี ไทยได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในการเร่งปัญหาโลกร้อนไปแล้ว แต่ก็มีเวลาหยุดนิ่งในช่วงโควิด-19 เครือข่ายประชาสังคมภาคตะวันออกได้เห็นร่วมกันว่า โลกได้เปลี่ยนไปแล้ว
เราจะเจอความไม่แน่นอน ความแปรปรวน โรคระบาดใหม่ วิกฤตเศรษฐกิจและโลกร้อนที่กำลังกลายเป็นโลกเดือด และจาก Climate Action Tracker ก็แสดงให้เห็นว่า ไทยยังไม่รับมือกับการแก้วิกฤตโลกเดือดได้เพียงพอ
สหประชาชาติได้ออกรายงาน Roadmap for a livable planet ที่เป็นวาระการปฏิบัติการยับยั้งโลกร้อนแผนการไปสู่ Net Zero ที่ร่นเวลาให้เร็วขึ้น
ไทยอยู่ในเกณฑ์ประเทศกำลังพัฒนาก็กำหนดไว้ที่ปี 2050 จึงเป็นโอกาสอันดีที่กลุ่มเพื่อนตะวันออกได้จัดตะวันออกฟอรั่มมาแล้ว 3 ครั้งเพื่อพัฒนายุทธศาสตร์ในการไปสู่เป้าหมาย “เพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม” เราได้เครือข่ายประชาสังคม สถานศึกษา และภาครัฐ เช่น กรมโลกร้อน สภาพัฒน์
ถึงเวลาที่ภาคตะวันออกต้องยืดอกรับผิดชอบกับสิ่งที่เราทำลงไป และนำพาประเทศไทยไปสู่โลกเย็นที่เป็นธรรม ถ้ายังไม่แก้ที่ต้นเหตุ เราจะเจออะไรที่หนักขึ้น
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022