ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 - 31 ตุลาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | หลังลับแลมีอรุณรุ่ง |
ผู้เขียน | ธงทอง จันทรางศุ |
เผยแพร่ |
มาถึงวันนี้ก็ล่วงเข้าเขตเดือนพฤศจิกายนแล้ว เผลออีกนิดเดียวปีใหม่ก็จะมาถึง
อีกสิบสองเดือนข้างหน้าคือในเดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช 2568 จะเป็นวาระครบรอบ 100 ปีวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
และในวันเดียวกันนั้น ก็จะเป็นวาระครบรอบ 100 ปี แห่งการเสวยราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย
ในฐานะที่ผมเกษียณอายุราชการแล้ว แต่ยังทำงานในหน้าที่เป็นกรรมการของหน่วยงานราชการและหน่วยงานประเภทมูลนิธิอยู่หลายแห่ง เพราะหมอบอกว่าอย่าได้หยุดทำงานแบบฉับพลันทันทีเป็นอันขาด ไม่เช่นนั้นผมจะต้องเฉาตายไปในที่สุด
ด้วยเหตุข้างต้น ผมจึงยังคงทำหน้าที่เป็นกรรมการอยู่ในมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระบรมราชูปถัมภ์
กับทั้งเป็นประธานกรรมการพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวของสถาบันพระปกเกล้า ไปพร้อมๆ กันกับการทำหน้าที่เป็นกรรมการอีกหลายคณะในประเทศไทยด้วย
วาระสำคัญที่กล่าวมาแล้วจะมาถึงในวันที่ 25 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2568 หน่วยงานที่ผมเป็นกรรมการอยู่ทั้งสองแห่งจึงต้องมีการเตรียมการจัดกิจกรรมให้เหมาะสมกับเรื่องราวและวาระโอกาส
กล่าวเฉพาะมูลนิธิพระบรมราชชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เรากำลังคิดจัดพิมพ์หนังสือที่ระลึกอยู่สองเล่มครับ โดยเตรียมการกันมากกว่าสองปีแล้ว และวางแผนว่าปีหน้าจะเสร็จทันทันเผยแพร่ในเดือนพฤศจิกายนได้พอดี
หนังสือสองเล่มที่ว่านั้น เล่มแรกเป็นจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ มีบันทึกรายวันเรียงไปว่าในแต่ละวัน ตั้งแต่วันแรกในรัชกาลจนถึงวันสุดท้ายในรัชกาล ท่านทรงปฏิบัติพระพระราชกิจอะไรบ้าง
บันทึกรายวันไม่ใช่พระราชนิพนธ์หากแต่เป็นหนังสือที่อาลักษณ์เป็นผู้จด ถ้าลำพังเพียงแค่คิดนำต้นฉบับเก่ามาพิมพ์ก็ไม่ยากอะไร
แต่ประเด็นอยู่ตรงว่า เรื่องราวที่จดไว้ก็ดี ภาษาที่ใช้ในบันทึกนั้นก็ดี มาถึงทุกวันนี้แล้วจะมีใครสักกี่คนที่อ่านเข้าใจได้ตลอดรอดฝั่ง
ตรงนี้ล่ะครับ ที่ต้องมีมนุษย์พวกเดียวกับผมช่วยกันมาทำเชิงอรรถ คือที่ฝรั่งเรียกว่า Footnote เพื่อทำให้หนังสืออ่านง่ายและเป็นแหล่งความรู้สำหรับนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงต่อไป
ส่วนหนังสือเล่มที่สอง เล่มนี้ผู้อ่านน่าจะถูกใจและสนุกสนานเพลิดเพลินกว่าเล่มแรก เพราะเน้นรูปภาพครับ
รูปภาพนี้เป็นภาพเก่าในสมัยรัชกาลที่หก หรือเก่ากว่านั้นขึ้นไปตั้งแต่ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงอยู่ในฐานะเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้า และเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ตามลำดับ
นั่นแปลว่าภาพทุกภาพมีอายุมากกว่า 100 ปีแล้วแน่นอน
ภาพเหล่านี้เก็บรักษาอยู่ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ หลายภาพผมเคยเห็นผ่านตามาก่อน
แต่อีกหลายภาพผมก็ไม่เคยเห็นมาเลยในชีวิต เมื่อจะนำมาพิมพ์เป็นหนังสือสมุดภาพที่ระลึกในโอกาสสำคัญข้างต้น จำเป็นอยู่เองที่จะต้องมีคำอธิบายที่เป็นหลักฐาน เพื่อให้ผู้อ่านผู้ชมภาพได้รับความรู้ ได้รับข้อมูล ซึ่งผมมั่นใจว่าจะทำให้การอ่านหนังสือเล่มที่จะพิมพ์ดังว่านี้มีความหมายมากยิ่งขึ้น
มากกว่าการเห็นแต่เพียงภาพว่าสวยงามเพียงแง่มุมเดียว โดยไม่มีคำอธิบาย
สำหรับขั้นตอนการทำคำอธิบายภาพแต่ละภาพนั้น จะเป็นการไม่รอบคอบอย่างยิ่ง ถ้าหากว่าเราจะให้ใครคนหนึ่งเป็นผู้อ่านภาพ คือเขียนคำอธิบายว่าภาพนั้นเป็นเหตุการณ์อะไรหรือเป็นรูปของท่านผู้ใด พระองค์ใด แต่โดยลำพัง
การอ่านภาพเพียงหนึ่งภาพแต่เป็นข้อมูลที่ได้รับจากคนอ่านภาพหลายคนช่วยกันช่วยกันเติมข้อมูลให้ครบถ้วน จึงเป็นวิธีทำงานที่เราเลือกใช้สำหรับภารกิจนี้
ประกอบกับช่วงประมาณสองปีที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ทำให้การประชุมของเราเลือกใช้วิธีประชุมแบบออนไลน์ โดยกรรมการหรือผู้อ่านภาพแต่ละคนนั่งอยู่กับบ้านหรือวัดของตัวเอง แล้วนัดประชุมพร้อมหน้ากันประมาณเดือนละสองครั้ง ในเวลาตั้งแต่ 8 โมงเช้าไปจนถึง 10 โมงเช้า ซึ่งเป็นเวลาที่กรรมการส่วนใหญ่ตื่นนอนแล้ว
และยังถึงเวลาเพล ฮา!
ที่พูดถึงเรื่องวัดเรื่องเพลขึ้นมาเช่นนี้ เพราะกรรมการของเรามีอยู่หนึ่งรูป เป็นพระภิกษุระดับท่านเจ้าคุณเลยทีเดียวครับ
ถ้าสงสัยและถามต่อไปว่าทำไมจึงต้องพระภิกษุมาช่วยอ่านภาพด้วย
เรื่องมีอยู่ว่า ในการอ่านภาพนั้นเราต้องการความรู้ความถนัดในแต่ละด้านมาช่วยกัน เช่น กรรมการท่านหนึ่งในคณะของเรา เป็นอาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจในเรื่องอาคารเก่าและวัดวาอารามต่างๆ
รวมทั้งเป็นนักค้นข้อมูลจากแหล่งข้อมูลในต่างประเทศได้อย่างรวดเร็วลึกซึ้งเสียด้วย
อาจารย์จึงช่วยเราได้มาก เมื่อเราเห็นอาคารใดอยู่ในภาพ ส่วนใหญ่แล้วอาจารย์จะสามารถบอกได้ทันทีว่าเป็นอาคารที่ใด มีการก่อสร้างมีการซ่อมแซมบูรณะมากี่ครั้งกี่คราว
แถมอาคารที่ว่านั้นยังไม่จำกัดเฉพาะอาคารในเมืองไทยนะครับ เรื่อยไปจนถึงอาคารตึกรามบ้านช่องในต่างประเทศอาจารย์ก็สามารถสืบค้นให้เราได้ด้วย
ถ้าเป็นรูปภาพที่มีชาวต่างประเทศหรือเจ้านายต่างประเทศปรากฏอยู่ อาจารย์ท่านเดียวกันก็จะค้นข้อมูลให้เราได้ครบถ้วนว่า ชื่อจริงพระนามจริงต้องสะกดอย่างไร ท่านเป็นใครมาจากที่ไหน
กรรมการอีกท่านหนึ่งในคณะของเรา เป็นผู้มีความทรงจำเป็นเลิศในเรื่องหน้าตาของผู้ที่ปรากฏอยู่ในภาพ ไม่ว่าจะเป็นเจ้านายหรือข้าราชการ ไม่ว่าจะมีอายุมากน้อยแค่ไหนก็ตาม ไม่รอดฝีมือการขานชื่ออ่านภาพจากกรรมการท่านนี้ของผมได้
ส่วนกรรมการที่เป็นท่านเจ้าคุณนั้นเล่า เป็นเรื่องจำเป็นต้องมีท่านเป็นกรรมการเป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าเป็นรูปภาพที่มีกิจการเกี่ยวข้องกับพิธีการฝ่ายพระศาสนา หรือพระเถระอยู่ในภาพเมื่อใดท่านเจ้าคุณสามารถบอกได้หมดว่าใครเป็นใครและกำลังเกิดอะไรขึ้นในขณะที่ถ่ายภาพ
กรรมการรุ่นเยาว์ที่มาจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติก็ดี มาจากสำนักหรือกองอื่นในกรมศิลปากรก็ดี ได้ทำหน้าที่อย่างขยันขันแข็งในการสอบทานความเชื่อมโยงกับภาพหรือข้อมูลอื่น
ถ้าตอบคำถามสดเดี๋ยวนั้นไม่ได้ การประชุมครั้งต่อไปเราก็ได้ข้อมูลแม่นยำจากกรรมการรุ่นน้องเหล่านี้
ส่วนผมเองซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการ รับบทเป็นผู้มีหน้าที่โดยภาพรวม
กล่าวคือ ดูว่าภาพนั้นเป็นเหตุการณ์อะไร จากนั้นก็ปะติดปะต่อข้อมูลจากกรรมการทั้งหลาย แล้วทดลองยกร่างเป็นคำอธิบายภาพมีความยาวประมาณหนึ่งย่อหน้าหรือถ้าจำเป็นต้องขยายเป็นสองย่อหน้าก็ได้ เพื่อให้ฝ่ายเลขานุการได้อ่านออกเสียงดัง และให้กรรมการทั้งหลายฟังแล้วช่วยติชม
เพื่อให้ได้ผลงานการอ่านภาพหนึ่งภาพที่ดีที่สุดจากความเห็นที่ประมวลกันเข้าเป็นเนื้อเดียวกันของหมู่กรรมการ
เมื่อประมาณสองเดือนที่ผ่านมา ผมและเพื่อนกรรมการได้ทดลองจัดให้มีการประชุมแบบที่ว่าเป็นการสาธิตให้ผู้ชมที่เข้ามานั่งดูอยู่ในห้องประชุมของหอวชิราวุธ ซึ่งเป็นที่ทำการของมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ได้เห็นว่าคณะกรรมการมีวิธีทำงานอ่านภาพกันอย่างไร
โดยตัวผมเองนั่งอยู่บนเวทีหอประชุม มีจอภาพขนาดใหญ่ฉายภาพที่เรากำลังอ่าน ตลอดถึงเอกสารหรือข้อมูลอะไรก็แล้วแต่ที่กรรมการนำขึ้นแสดงบนจอ เพื่อให้ผู้ชมที่นั่งอยู่ในห้องประชุมได้เห็นพร้อมกัน
ส่วนกรรมการตัวจริงคนอื่น นั่งอยู่ที่วัดบ้าง นั่งอยู่ที่บ้านบ้าง นั่งอยู่ที่ทำงานของท่านบ้างตามอัธยาศัย
ตลอดเวลา 2 ชั่วโมงที่เป็นการประชุมสาธิต กว่าจะช่วยกันจัดทำคำอธิบายหนึ่งภาพเสร็จสิ้น หรือแม้ไม่เสร็จสิ้นแต่ต้องเดินหน้าไปอ่านภาพอื่นต่อไปแล้ว ในระหว่างกรรมการด้วยกันตนเองก็ได้แลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูลกันอย่างประเทืองปัญญายิ่ง รวมทั้งผู้ที่นั่งชมการประชุมสาธิตก็สามารถยกมือขึ้นแสดงความคิดเห็นได้ด้วย
วันนั้น ผู้ชมการประชุมสาธิตท่านหนึ่งมีรอบรู้ลึกลึกซึ้งในเรื่องเครื่องแต่งกายเสือป่า ซึ่งเป็นประโยชน์มากในการอ่านภาพของเราหนึ่งภาพที่เลือกมาทำงานในวันนั้น เพราะเป็นรูปเสือป่าเข้าแถวภายหลังการซ้อมรบคราวหนึ่ง ในบริเวณจังหวัดนครปฐมตลอดถึงจังหวัดใกล้เคียง
อย่างที่เล่ามาบ้างแล้วว่า ภาพบางภาพอ่านคราวเดียวก็ไม่จบ ต้องไปค้นข้อมูลต่อ ข้อมูลบางอย่างในหมู่กรรมการเองก็จนปัญญา แต่เราพอรู้อยู่ว่ามีผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกท่านใดที่จะช่วยให้ข้อมูลเราได้บ้าง ก็ต้องฝากกรรมการหรือฝ่ายเลขานุการไปประสานงานขอข้อมูลเหล่านั้นมา
ท่านผู้อ่านหลายท่านคงนึกรำคาญว่า วันนี้ผมเอาเรื่องอะไรมาเล่าก็ไม่รู้ ฟังดูเหมือนคนแก่พูดยานคาง ยังไงยังงั้น
แต่ถ้าลองตั้งสตินึกดูให้ตลอดเรื่อง ผมพบว่าอุทาหรณ์เรื่องการทำงานของคณะกรรมการอ่านภาพเก่าที่ว่ามาทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นว่างานสำคัญ (อย่างน้อยก็ในสายตาของพวกเรา) ไม่ใช่งานที่จะทำสำเร็จได้โดยลำพังคนคนเดียว ไม่มีเสียหรอกครับที่ใครจะไปรู้รอบได้ในทุกแง่มุม
แต่ถ้าเรานำความรู้ที่แต่ละคนสะสมไว้นานปีมารวมกันเข้าในภารกิจเดียวกัน คำอธิบายภาพที่รอบคอบย่อมเป็นผลงานของพวกเราทุกคนร่วมกัน
เฉกเช่นเดียวกันกับงานอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการงานอะไรก็แล้วแต่ที่มีขนาดใหญ่โต การงานเรื่องนั้นถ้าคนช่วยกันทำ ความสำเร็จก็น่าจะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม ทั้งนี้ อยู่บนเงื่อนไขที่ว่า กรรมการแต่ละคนหรือผู้ร่วมงานแต่ละท่าน ต้องเคารพให้เกียรติซึ่งกันและกันแล้วช่วยกันทำงาน
เพราะไม่มีใครรู้ทุกเรื่องอยู่คนเดียวหรอกครับ
ผมทำราชการมานานตั้งแต่เป็นหนุ่มจนอายุมากขนาดนี้ก็ยังทำราชการอยู่บ้างตามฐานานุรูป ผมตระหนักรู้ว่าผมไม่ใช่คนเก่งที่สุด แค่อธิบายบอกกับตัวเองว่าเป็นคนที่ทำงานพอใช้ได้ก็เขินจะแย่อยู่แล้ว หน้าที่การงานทั้งหลายของผมที่ผ่านมาตลอดชีวิตจึงเป็นการทำงานร่วมกันกับคนอื่นทั้งสิ้น
สมมุตินะครับ สมมุติว่ากรรมการแต่ละคนทะเลาะกันเองป่นปี้ ไม่มีใครฟังใคร ไม่มีใครให้เกียรติใคร
จนถึงปีพุทธศักราช 2668 ถึงวาระครบรอบ 200 ปีนับแต่วันสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่หก หนังสือสมุดภาพอย่างที่เล่ามาตอนต้นเรื่องจะพิมพ์เสร็จทันงานหรือไม่ ยังไม่รู้เลย
เมื่อเห็นภาพย่อยอย่างนี้แล้ว เราหันกลับมามองภาพใหญ่แล้วช่วยกันคิดคำตอบสักทีว่า การแก้ปัญหาสารพัดเรื่องในบ้านเรา โดยเฉพาะในเรื่องใหญ่เรื่องสำคัญที่เป็นประโยชน์กับคนหมู่มาก เขาทำงานกันในลักษณะอย่างไร ทำไมหนอจึงเดินหน้าช้าเต็มที
นี่ใจคอจะให้รอปีพุทธศักราช 2668 กันทุกเรื่องเลยหรืออย่างไร ฮึ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022