ตากใบ : มรดกเลือด จากรัฐบาลสู่อนาคต

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ในที่สุด คดีตากใบก็หมดอายุความไปด้วยการหนีคดีของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ออกนอกประเทศไปด้วยการเซ็นอนุมัติของรองประธานสภาจากพรรคเพื่อไทย

นั่นหมายความว่า 85 ศพที่ตายไปหลังถูกทหารจับกุมจากการชุมนุมที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ปี 2547 ก็จะตายฟรีโดยไม่มีนายทหารคนไหนถูกเอาผิดเลย

รัฐบาลคุณแพทองธาร ชินวัตร และเครือข่ายตอบโต้ว่า 85 ศพคดีตากใบไม่ได้ “ตายฟรี” โดยอ้างว่ารัฐบาลของคุณอาของคุณแพทองธารเคยจ่ายเงินให้ครอบครัวคนตายหัวละ 7.5 ล้านบาท

แต่ข้ออ้างนี้ไม่สมเหตุสมผลเพราะเงินเยียวยาไม่ใช่ข้ออ้างปิดปากคดี และการเยียวยาทางแพ่งไม่ได้แปลว่าผู้ก่ออาชญากรรมจะพ้นผิดทางอาญา

คดีตากใบเป็นหนึ่งในอาชญากรรมโดยรัฐที่รุนแรง, โหดเหี้ยม และอำมหิตที่สุดในสังคมไทย

และถ้าเราเริ่มนับอาชญากรรมโดยรัฐจากการฆ่าหมู่นักศึกษาที่ธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งกำลังจะผ่านไปแล้วครึ่งศตวรรษ เหตุการณ์ตากใบก็คืออาชญากรรมโดยรัฐที่รุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี

ชีวิตมนุษย์ทุกคนมีค่าจนไม่มีใครควรตายจากการฆ่าของคนด้วยกัน

แต่คดีตากใบมีคนตายชั่วพริบตาในวันเดียวกัน 85 ศพ ซึ่งสังคมไทยไม่เคยมีมาก่อน เพราะ 6 ตุลา 19, การปราบปรามประชาชนเดือนพฤษภาคม 35 และการฆ่าคนเสื้อแดงปี 2553 ล้วนเป็นการบุกยิงหรือสลายการชุมนุมที่ใช้เวลาพอสมควร

ตรงข้ามกับวาทกรรมรัฐบาลที่โจมตีว่าคนตายในกรณีตากใบคือผู้ไปร่วมชุมนุม ข้อเท็จจริงคือประชาชนทั้ง 85 ศพตายหลังจากทหารใช้อาวุธสงครามสลายการชุมนุม การตายเกิดขึ้นเมื่อทหารจับคนเหล่านี้ส่งตัวไปขังในค่ายทหาร

ความตายในคดีตากใบจึงเป็นการตายขณะที่ทุกคนถูกควบคุมตัว (Death in Custody)

 

แม้สังคมไทยจะมีการฆ่าประชาชนโดยทหารยิงผู้ชุมนุม หรือส่งมวลชนขวาจัดไปกระทืบอยู่บ่อยๆ

แต่การตายหลังจากประชาชนถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวแบบคดีตากใบนี้แทบไม่เคยเกิดขึ้น และไม่เคยมีครั้งไหนที่มีคนตายหลังถูกจับอย่างพร้อมเพรียงกัน 85 ศพแบบที่เกิดในคดีตากใบ

ขณะที่เครือข่ายรัฐบาลสร้างวาทกรรมว่า 85 ศพในคดีตากใบคือ “โจรใต้” จนสมควรตาย

ข้อเท็จจริงคือทุกคนที่ตายนั้นตายบนรถบรรทุกทหารก่อนถูกเจ้าหน้าที่สอบปากคำหรือศาลตัดสิน

คนเหล่านี้จึงเป็น “ผู้บริสุทธิ์” ในวินาทีที่เขาตาย

และทุกศพยังไม่ใช่แม้กระทั่งผู้ถูกกล่าวหา, ผู้ต้องหา, นักโทษ หรือจำเลย

เมื่อใดที่ได้ยินคนของรัฐบาลโจมตีว่า 85 ศพตากใบคือ “โจรใต้” เมื่อนั้นเครือข่ายรัฐบาลทั้งที่เป็นพรรคการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐกำลังฆ่าซ้ำทั้ง 85 ศพโดยการยัดข้อหาเพื่อกลบเกลื่อนข้อเท็จจริงที่ทุกคนตายขณะถูกทหารจับไปขังในรถทหาร ไม่มีใครมีอาวุธ

และบางคนตายขณะถูกมัดมือมัดเท้าด้วยซ้ำไป

 

ปี 2547-2549 เป็นช่วงเวลาที่รัฐปลุกปั่นให้คนไทยมองคนสามจังหวัดชายแดนใต้เป็นผู้ก่อการร้ายแบบรัฐมอง โลกที่เพิ่งผ่านวินาศกรรม 11 กันยา ทำให้การปลุกปั่นว่าคนสามจังหวัดชายแดนใต้เป็นผู้ก่อการร้ายทำได้ง่ายขึ้น

และประเทศไทยช่วงนั้นคือประเทศที่ลงแดงกับการล่าผู้ก่อการร้ายราวกับตัวเองคือสหรัฐตามล่าบิน ลาเดน

โดยพื้นฐานแล้ว สามจังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่ซึ่งรัฐใช้ความรุนแรงกับประชาชนมานับร้อยปี

ประวัติศาสตร์การสลายการชุมนุม, อุ้มหาย, ยึดดินแดน, ยิงเด็กกรณีชุมนุมปัตตานี 2518, จับเจ้าเมืองปัตตานีไปขัง, ส่งกองทัพตีกรณี “เจ็ดหัวเมืองแขก” ฯลฯ เต็มไปด้วยความรุนแรงที่เป็นความทรงจำซึ่งพร้อมระเบิดได้ตลอดเวลา

ใช่ครับ สามจังหวัดชายแดนใต้เคยมีการชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดปัตตานี กรณีนาวิกโยธินหกคนยิงชาวบ้านทิ้ง 5 ศพ แล้วโยนลงแม่น้ำสายบุรี ในคืนวันที่ 29 พฤศจิกายน 2518 แต่ปรากฏว่าเด็กชายซือแม บราเซะ รอดชีวิตราวปาฏิหาริย์แล้วเป็นพยานปากเอกของความอำมหิตของรัฐ จนนำไปสู่การชุมนุมของคนหนึ่งแสนที่ปัตตานี

เพื่อให้เห็นด้านมืดของประเทศยิ่งขึ้น การชุมนุมเพื่อทวงความยุติธรรมให้ชาวบ้านวันที่ 13 ธันวาคม 2518 จบด้วยตำรวจแทรกซึมเข้ามาปาระเบิด มีคนตายทันที 12 คน และบาดเจ็บราวสามสิบคน

หลังจากนั้นการชุมนุมโตต่อเนื่องถึง 24 มกราคม 2519 โดยบางวันมีผู้ชุมนุมถึง 1 แสนคน จนรัฐบาลต้องส่งตัวแทนมาเจรจา

 

ทันทีที่สหรัฐถูกผู้ก่อการร้ายระเบิดพลีชีพสี่ครั้งที่นิวยอร์กและกระทรวงกลาโหมในวันที่ 11 กันยายน ความเชื่อว่าโลกมี “ผู้ก่อการร้าย” อย่างตาลีบันหรืออัลกออิดะห์ก็เป็นวาระที่ลุกลามไปทั้งโลก

ไทยในเวลานั้นเริ่มพูดเรื่องขบวนการเจไอ ฯลฯ ซึ่งเชื่อมโยงกลุ่มก่อการร้ายระดับภูมิภาคกับกลุ่มก่อการร้ายสากล

เมื่อรัฐเอาปัญหาก่อการร้ายระดับโลกมาคิดว่าเป็นปัญหาของคนไทย สามจังหวัดชายแดนใต้ซึ่งรัฐปกครองแบบ “อาณานิคมภายใน” ก็ถูกกระตุ้นด้วยเชื้อไฟจากความหวาดระแวงที่รัฐมีต่อประชาชนตามกระแสโลก

ปี 2547 จึงเป็นปีที่รัฐบาลและทหารตำรวจพูดถึงเรื่องประเภท “โจรใต้” และผู้ก่อการร้ายจนเป็นเรื่องธรรมดา

การปล้นปืน 413 กระบอก ที่ค่ายทหารเจาะไอร้อง วันที่ 4 มกราคม 2547 คือ “หมุดหมาย” ที่รัฐมองสามจังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่อันตรายถึงขั้นคุณทักษิณ ชินวัตร สร้างวาทกรรม “โจรใต้” แล้วด่ากราดต่อไปว่าเป็นพวก “โจรกระจอก”

ขณะที่ “เรื่องเล่า” ของฝ่ายรัฐคือปืนถูกขโมยโดยกลุ่มเจไอซึ่งเชื่อมโยงกับขบวนการก่อการร้ายสากล

 

คู่ขนานกับความหวาดระแวงประชาชนคือผลของคดีปล้นปืนที่ตรงข้ามกับรัฐจินตนาการ รัฐบาลตามปืนที่ถูกปล้นกลับมาได้แค่ 94 กระบอก ส่วนผู้ต้องหาคดี “เจไอ” สี่คนถูกศาลสั่งยกฟ้อง เพราะไม่มีหลักฐานอะไรเลย ยกเว้นคำสัมภาษณ์ผู้ก่อการร้ายสิงคโปร์ว่าชวนคนไทยร่วมขบวนการ แต่ไม่ได้บอกว่าคุยกับใคร

ยุคสมัยของคุณทักษิณคือยุคสมัยที่รัฐบาลสวมวิญญาณซีไอเอไล่ล่าผู้ก่อการร้ายซึ่งไม่มีจริงในไทย คดีตากใบตาย 85 ศพจึงเกิดเช่นเดียวกับคดีมัสยิดกรือเซะที่ทหารยิงถล่มจนคนตาย 34 ศพ โดยผลสอบสวนพบว่าผู้ตายมีอาวุธเพียงปืน 1 กระบอก และมีด 1 เล่ม รวมทั้งการยิงถล่มนักฟุตบอล 19 ศพที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ด้วยเช่นกัน

การชุมนุมตากใบเกิดเพราะตำรวจจับชาวบ้านที่ถูกตั้งเป็น “ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน” ที่ถูกปล้นปืน คนถูกจับจึงไม่ใช่คนปล้นปืน แต่เป็นชาวบ้านที่ตำรวจให้ปืนลูกซองไว้สู้กับ “โจรใต้” แต่เจออาวุธสงครามจนสู้ไม่ได้ แล้วถูกตำรวจจับและยัดข้อหาเป็นแนวร่วมเอาปืนให้ฝ่ายตรงข้าม แต่สุดท้ายไม่มีหลักฐานเลย

พูดตรงๆ การจับคนแล้วยัดข้อหาแบบนี้ ทำที่ไหนก็มีเรื่อง ทำที่กรุงเทพฯ คนก็โกรธ ทำที่เชียงใหม่คนก็เดือด ทำที่ขอนแก่นคนก็แค้น และการชุมนุมเป็นปฏิกิริยาปกติที่ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับก่อการร้ายเลย เพราะเป็นเรื่องที่ตำรวจเอาปืนให้ชาวบ้านแล้วชาวบ้านสู้ผู้ร้ายไม่ได้จนยกปืนให้เพื่อเอาตัวรอดเท่านั้นเอง

 

คนไทยตาย 85 ศพในกรณีตากใบท่ามกลางความคลุ้มคลั่งของรัฐไทยที่มองทุกคนเป็น “โจรใต้” จนสถานการณ์ความรุนแรงขยายตัว ผู้ตายทั้งหมดเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีอาวุธติดตัว

เสียชีวิตขณะถูกคุมตัวในรถบรรทุกทหารด้วยการเอาคนนอนทับกัน 4 ชั่วโมงจนคนเกือบร้อยขาดใจตายพร้อมกันในพริบตา

อาชญากรรมตากใบเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลที่ไม่มีทางลบจากสามจังหวัดชายแดนใต้ ต่อให้รัฐบาลและหน่วยงานรัฐไม่พูดถึง ภาพคนตายและศพที่ถูกห่อด้วยผ้าขาวเพื่อฝังท่ามกลางเสียงร่ำไห้ของญาติพี่น้องก็แพร่หลายในโลกออนไลน์ไปหมด เช่นเดียวกับภาพทหารกระทืบแล้วใช้พานท้ายปืนตบแบบ 6 ตุลาฯ

ทันทีที่รัฐบาลปล่อยให้ ส.ส.เพื่อไทยหนีคดีโดยการเซ็นอนุมัติของรองประธานสภาจากพรรคเพื่อไทย และทันทีที่คดีหมดอายุความโดยรัฐบาลไม่ทำอะไรเพื่อหยุดยั้งเรื่องนี้

บาดแผลกรณีตากใบจะเป็นอีกหนึ่งแผลเป็นที่ฝังลึกในใจคนจนไม่มีทางหาย

เหลือเพียงแค่รอว่าแผลจะลุกลามเป็นโรคอะไรเท่านั้นเอง

ถ้าเทียบคดีตากใบกับแผลบนร่างกาย การเอาตัวนายพลผู้ก่อเหตุขึ้นศาลก็เปรียบได้กับการกรีดแผลเพื่อเอาหนองพิษออกไปจากร่างกาย

แต่รัฐบาลนี้เลือกเก็บหนองไว้ และในที่สุดหนองก็จะลุกลามจนเป็นอันตรายในระยะยาว

บางทีการฟื้นฝอยหาตะเข็บก็ดีกว่าการอุ้มคนผิดให้พ้นผิดอย่างที่รัฐบาลนี้ทำ