ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 - 31 ตุลาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
นับตั้งแต่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นำโดย “บิ๊กป้อม”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ปรับทัพด้วยการตั้งคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ชุดใหม่ แทนกลุ่มก๊วนเดิมของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ออกไป หลังประกาศตัวไปสนับสนุนพรรครัฐบาลอย่างชัดเจน
พรรคพลังประชารัฐยุคหลังปรับทัพ พยายามโชว์จุดยืนนอกจากความสามัคคี ความเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่มีแบ่งก๊ก แบ่งก๊วน หรือกลั่นแกล้งกันแล้ว สิ่งสำคัญคือ การยึดมั่นในสถาบันพระมหากษัตริย์ ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำเศรษฐกิจที่ทันสมัย แก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง เพื่อยกระดับให้ประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น
ส่วนรูปแบบการทำงาน ได้ปรับแผนวิธีการใหม่ มอบหมายให้รองหัวหน้าพรรค พปชร.เป็นผู้ควบคุมพื้นที่ และดูแลสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โดยมีเลขาธิการพรรค พปชร.เป็นฝ่ายสนับสนุน
นอกจากนี้ พรรคได้จัดตั้ง ‘ศูนย์นโยบายและวิชาการของพรรคพลังประชารัฐ’ เพื่อเป็นศูนย์การทำงานให้กับ ส.ส. และทีมสมาชิกของพรรคพลังประชารัฐ นำข้อมูลข่าวสารไปดำเนินการ เพื่อตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชน
โดยศูนย์นโยบายและวิชาการฯ ดังกล่าวมีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นหัวหน้าทีม และมีนายอุตตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นทีมงานคนสำคัญ เรียกได้ว่า เป็นการเสริมทัพทีมเศรษฐกิจให้แข็งแกร่งเลยทีเดียว
กระทั่งล่าสุด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. ได้ลงนามคำสั่งเมื่อวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา มอบหมายให้ นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ และ พล.ต.ท.ปิยะ ต๊ะวิชัย ปฏิบัติหน้าที่กำกับดูแลสั่งการฝ่ายสื่อสารทางการเมืองและเทคโนโลยี ดูแลการสื่อสารภารกิจขององค์กรผ่านสื่อทั่วไปและสื่อสมัยใหม่ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ และสื่อโซเชียล ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
เป้าหมายคือ สร้างความเข้าใจอันดีต่อประชาชนและสังคม เสริมสร้างภาพลักษณ์องค์กรและบุคลากรของพรรค ให้ตรงจุดและเกิดความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
ตลอดจนเสริมสร้างและรักษาสัมพันธ์ระหว่างองค์กรกับประชาชนในยุคที่การสื่อสารเปลี่ยนแปลงไป ภายหลังเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตเข้ามามีบทบาททางการเมืองมากขึ้น และมีความสำคัญต่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง
ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ทุกกลุ่มและทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
ขณะที่แง่มุมทางการเมือง หลังพรรค พปชร.ถูกปรับบทบาทมาเป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ทำให้มีดีกรีทางการเมืองเข้มข้นขึ้น เมื่อนายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ได้ออกมาแถลงเชิญชวนประชาชนให้จับตาเวลา 7 โมงเช้าของวันที่ 10 ตุลาคม 2567 โดยระบุว่า จะเป็นจุดเริ่มต้นการล่มสลายของพรรคแกนนำรัฐบาล ยิ่งทำให้ทุกฝ่ายเกาะติดเฝ้าติดตามรอ
ปรากฏว่าวันดังกล่าว นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ หรือที่ทุกคนรู้จักในนามมือยื่นคำร้องยุบพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ได้นำคำร้องรวม 65 หน้า เอกสารประกอบคำร้องอีก 443 แผ่น รวมคำร้อง เอกสารประกอบชุดละ 508 แผ่น ทำสำเนารวม 10 ชุด รวมเป็นเอกสาร 5,080 แผ่น ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้พิจารณาวินิจฉัยสั่งการนายทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 โดยยก 6 พฤติการณ์ที่เห็นว่าเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ชำรุดทรุดโทรมเสื่อมทรามหรืออ่อนแอลง ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานไว้ในหลายคำวินิจฉัย
แน่นอนว่า เรื่องนี้สังคมต่างพุ่งเป้ามาที่พรรคพลังประชารัฐทันทีว่าเป็นผู้สั่งการ อยู่เบื้องหลัง เขียนคำร้อง และสนับสนุนการดำเนินการครั้งนี้หรือไม่ เพราะก่อนที่จะมีการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ได้ออกมาโหมโรงเรื่องนี้มาตลอด ก่อนที่จะมาเฉลยภายหลัง
ขณะที่นายธีรยุทธก็ออกมายอมรับว่า ได้มีการไปขอคำปรึกษาจากนายไพบูลย์ นิติตะวัน ว่าสิ่งที่คิดมันเป็นไปได้หรือไม่ โดยเฉพาะจากที่เห็นการยุบพรรคไทรักธรรม และพรรคก้าวไกล ซึ่งนายไพบูลย์ก็มองว่าเป็นไปได้
แม้ว่าภายหลังนายไพบูลย์จะออกมายืนยันว่า การที่นายธีรยุทธไปยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญ ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรคไม่ได้อยู่เบื้องหลังการกระทำดังกล่าวแต่อย่างใด แต่ดูเหมือนจะไม่มีใครเชื่อ
ทําให้อีกมุมหนึ่งพรรคพลังประชารัฐต้องเผชิญแรงเสียดทานและสารพัดปัญหามากมายมารุมเร้า เริ่มจากก่อนหน้านี้ เกิดปัญหาศึกความขัดแย้งภายในพรรค ระหว่างกลุ่มก๊วน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา ซึ่งประกาศแยกทาง แยกขั้วกันชัดเจน แม้ตอนนี้เรื่องดูจะเงียบไป แต่ทว่า ปัญหาก็ยังไม่จบไปเสียทีเดียว
ต่อมากลับปรากฏคลิปหลุดเป็นเสียงบทสนทนาคล้ายกับเสียงของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พูดถึงประเด็นต่างๆ อาทิ การขอเป็นเบอร์ 1, การแทรกแซงการแต่งตั้งข้าราชการกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งการเรียกรับเงิน จึงกลายเป็นชนวนเหตุให้อีกฝ่ายหยิบยกนำประเด็นต่างๆ เหล่านี้ไปขย่มซ้ำด้วยการไปยื่นหน่วยงานต่างๆ ดำเนินการตรวจสอบเอาผิดทันที
โดยเฉพาะนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) เดินสายยื่นร้องผ่านหน่วยงานองค์กรอิสระ
ทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช. ) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อเอาผิดกับ “บิ๊กป้อม “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
นอกจากนี้ นายพร้อมพงศ์ยังยื่นเรื่องให้สภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบการทำหน้าที่ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ว่าได้ทำหน้าที่ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของ ส.ส.หรือไม่ เนื่องจากขาดประชุมสภา
รวมทั้งการลาไปต่างประเทศ บินหรู กินอยู่สบาย เดินทางโดยเครื่องบินส่วนตัว เข้าข่ายรับทรัพย์หรือประโยชน์อื่นใดเกินกว่า 3,000 บาทหรือไม่
ยิ่งไปกว่านั้น ล่าสุด คดีดิ ไอคอน กรุ๊ป ซึ่งเป็นคดีใหญ่ระดับประเทศ ประชาชนให้ความสนใจและเกาะติดคดีอย่างใกล้ชิด เพราะมีประชาชนได้รับความเสียหายจำนวนมาก ซึ่งพรรคพลังประชารัฐกลับได้รับผลกระทบไปด้วย เนื่องจากปรากฏคลิปเสียงนักการเมืองเรียกรับผลประโยชน์กับผู้บริหารของบริษัทดังกล่าวเผยแพร่ออกมา
โดยกระแสข่าวเชื่อมโยงและพาดพิงชื่อ นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะรองโฆษกพรรค
แน่นอนว่า กรณีดังกล่าว ทางกรรมการบริหารพรรค เกิดความไม่สบายใจ เพราะทำให้ภาพลักษณ์ของพรรค พปชร.เกิดความเสียหาย ฉะนั้น จึงมีการเสนอคำสั่งปลดออกจากตำแหน่งรองโฆษกพรรคไปก่อน
ส่วนจะมีการขับออกจากพรรคหรือไม่ ต้องรอมติของที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค ที่จะมีการประชุมวันที่ 29 ตุลาคมนี้ตัดสินอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้คงต้องรอติดตามว่าทุกปมร้อนที่เขย่า และสร้างแรงกระเพื่อมนั้น พรรคพลังประชารัฐจะสามารถฝ่าฟันไปได้หรือไม่
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022