ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 - 31 ตุลาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ฝนไม่ถึงดิน |
ผู้เขียน | ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี |
เผยแพร่ |
ฝนไม่ถึงดิน | ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
เข้าใจอุดมการณ์ทางการเมือง
แบบ เสรีอนุรักษนิยม (Liberal Conservative)
หนึ่งในแนวคิดกระแสหลักในสังคมไทย
ในอดีตที่ผ่านมา เมื่อเราติดตามพัฒนาการทางการเมือง คำอธิบายทางประวัติศาสตร์ เรามักคุ้นเคยกับคำอธิบายสองขั้วที่อธิบายความขัดแย้งหรือความแตกต่างของความคิดทางการเมือง เช่น “เผด็จการ กับประชาธิปไตย” “ทุนนิยม กับสังคมนิยม” หรือ “อนุรักษนิยม กับเสรีนิยม”
การแบ่งแบบนี้อาจปรากฏในช่วงการเคลื่อนไหวทางการเมืองเข้มข้น เพื่อการขับเคลื่อนประเด็นทางการเมือง หรือการสรุปสั้นๆ เพื่อการสื่อสารในข่าวสารประจำวันหรือการส่งต่อในโซเชียลมีเดีย
แต่ในทางวิชาการ เฉดสีของอุดมการณ์มีความหลากหลายและซ้อนทับกันโดยมีการอธิบายเรื่องเหล่านี้มาหลายสิบปีแล้ว ดังนั้น บางครั้งเราอาจเห็น “มีม” ในโซเชียลมีเดียที่พูดข้อความย้อนแย้งของกลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
เช่น ตัวเองต่อต้านเผด็จการสนับสนุนการเลือกตั้งแต่กลับมีแนวคิดเหยียดศาสนา ชาติพันธุ์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ
หรือคนบางกลุ่มดูมีความคิดทันสมัยในเรื่องเทคโนโลยีที่เปิดกว้างเข้าถึงข้อมูลข่าวสารแต่กลับคิดว่าคนกลุ่มหนึ่งไม่สมควรแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี
หรือแม้แต่คนที่บอกว่าเชื่อเรื่องคนเท่ากันแต่ก็ท่องวลีเด็ดตลอดว่าอ่อนแอก็แพ้ไป?
ในบทความนี้ผมจะพาทุกท่านทำความเข้าใจอุดมการณ์ทางการเมืองแบบ เสรีอนุรักษนิยม (Liberal Conservative) ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นหนึ่งในแนวอุดมการณ์หลักของสังคมไทยปัจจุบัน
ย้อนกลับไปในทางประวัติศาสตร์ แนวคิดนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะมีรากในทางการเมืองจริงๆ พรรคอนุรักษนิยมอังกฤษที่ก่อตั้งในปี 1834 ก็คือการรวมระหว่างกลุ่มนายทุน เจ้าที่ดิน และชนชั้นนำ
อุดมการณ์ของพรรคอนุรักษนิยมอังกฤษตั้งแต่แรกเริ่มไม่ใช่อย่างที่เราเข้าใจว่าเป็น “อนุรักษนิยม” แบบที่เราเห็นในบริบทของไทย
เพราะอุดมการณ์ของพรรคมีความชัดเจนว่าไม่ได้ต้องการอำนาจกษัตริย์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เช่นเดียวกันกับอำนาจของศาสนจักรแบบรัฐศาสนา
หากแต่ต้องการพิทักษ์ผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุน พร้อมกันกับโครงสร้างอำนาจทางสังคมที่ควบคุมคนไว้ก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นลำดับชั้น ครอบครัว ศาสนา ฯ
จึงอาจถือได้ว่าเป็นแนวทาง Liberal Conservative ยุคเริ่มแรกที่เป็นรากฐานให้เข้าใจแนวคิดนี้ได้ชัดเจนที่สุด
ภาพเหล่านี้ชัดเจนในช่วงทศวรรษ 1970 การเติบโตของแนวคิดเสรีนิยมใหม่ มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และโรนัลด์ เรแกน ประธานาธิบดีของสหรัฐอมริกา สนับสนุนกลุ่มทุนและตลาดเสรี
ทำลายระบบสวัสดิการและการคุ้มครองแรงงาน โดยข้ออ้างสำคัญคือ รัฐสวัสดิการ และขบวนการแรงงานท้าทายค่านิยมและคุณค่าที่เคยมีมาของสังคม ผ่านการเน้นการผสมผสานระหว่างการส่งเสริมเสรีภาพทางเศรษฐกิจและการรักษาค่านิยมทางสังคมแบบดั้งเดิม
นโยบายหลักคือการลดบทบาทของรัฐบาลในเศรษฐกิจ การสนับสนุนตลาดเสรีและการค้าระหว่างประเทศ
แต่ขณะเดียวกันก็เน้นการรักษาความมั่นคงของสังคมและการส่งเสริมค่านิยมดั้งเดิมในเรื่องครอบครัวและศาสนา
ในด้านเศรษฐกิจ Liberal Conservative สนับสนุนการลดบทบาทของรัฐบาลในการควบคุมเศรษฐกิจและส่งเสริมตลาดเสรี การลดภาษีเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการสนับสนุนการค้าเสรี
นอกจากนี้ พวกเขามองว่าการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีบทบาทในการแข่งขันและการลงทุนจะช่วยเพิ่มความมั่งคั่งและสร้างโอกาสให้ประชาชนได้พัฒนาตนเอง ในส่วนของค่านิยมทางสังคม
อุดมการณ์นี้ให้ความสำคัญกับการรักษาระเบียบสังคมแบบดั้งเดิม การสนับสนุนสถาบันครอบครัวและศาสนา รวมถึงการเน้นบทบาทของศาสนาในสังคม
พร้อมทั้งเชื่อในการรักษาความมั่นคงของชาติและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด
และลักษณะสุดท้าย ในด้านสวัสดิการสังคม Liberal Conservative เชื่อว่าการให้สวัสดิการควรจำกัดเฉพาะกลุ่มคนที่จำเป็น เช่น ผู้สูงอายุหรือผู้ตกงานชั่วคราว เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อภาษีประชาชน
พวกเขามองว่าผู้คนควรมีความรับผิดชอบต่อตนเองและครอบครัว มากกว่าพึ่งพารัฐบาล
แนวคิดนี้จึงเป็นปฏิปักษ์ต่อการสร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าโดยปริยาย เนื่องด้วยในภาพรวม Liberal Conservative มองว่ารัฐบาลควรมีบทบาทเพียงในการปกป้องความมั่นคงของชาติและรักษากฎหมาย
ขณะที่การแทรกแซงทางเศรษฐกิจและชีวิตส่วนบุคคลควรมีน้อยที่สุด เพื่อส่งเสริมเสรีภาพและความรับผิดชอบส่วนบุคคล
ดังนั้น พอกลับมาพิจารณาในสังคมไทยเราจึงจะเห็นกรอบความคิดที่มีความสุดโต่ง ในลักษณะ Liberal Conservative อยู่ประจำ
เช่น กรอบความคิด “Pay to win” หรือการจ่ายเพื่อให้ได้รับสิทธิ์จนเป็นปกติ
เราเห็นที่จอดรถ “ซูเปอร์คาร์” ที่เป็นที่จอดรถส่วนที่ดีที่สุดของห้างสรรพสินค้า โดยที่เรารู้สึกได้ว่าเป็นเรื่องปกติที่คนรวยจะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ
หรือบางครั้งก็มาพร้อมกับปรากฏการณ์ค่านิยม “ความเป็นชายเป็นพิษ” ที่มองว่าความเป็นชายมีสถานะเหนือกว่าเพศอื่น มีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า เป็นเรื่องปกติที่จะมีความเหลื่อมล้ำแตกต่างกัน
หรือคำอธิบายที่จบสั้นๆ ว่า โลกนี้มีเสรีภาพในการหาเงินก็เพียงพอ หรือแค่มีเสรีภาพในการพูดก็เพียงพอ
โดยไม่ได้มองว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะมีจุดเริ่มต้นในการหาเงินได้เท่ากัน หรือมีอภิสิทธิ์ในการที่จะพูดโดยไม่ต้องกลัวผลกระทบต่างๆ
แน่นอนที่สุดว่าสังคมนี้สามารถมีอุดมการณ์ที่แตกต่างหลากหลายกันได้เป็นปกติ มีเลนส์ในการมองโลกที่ต่างกันได้
แต่ที่ผู้เขียนได้ฉายภาพมาทั้งหมดเพื่อชี้ให้เห็นถึงสถานะของอุดมการณ์นี้ในสังคมไทย ที่กำลังเป็นอุดมการณ์ทางสังคมกระแสหลัก
กล่าวคือ สามารถชักนำให้ผู้คนเมินเฉย เย้ยหยันต่อข้อเรียกร้องต่างๆ ของผู้คน และลดทอนเสรีภาพเหลือแค่เสรีภาพในการทำมาหากินเท่านั้น
เสรีภาพในเรื่องการเรียกร้องความยุติธรรม เสรีภาพในการปรารถนาชีวิตที่เท่าเทียมจากสวัสดิการ มักถูกจั่วหัวว่าเป็นเรื่องของ “คนขี้แพ้” หรือ “ไม่พยายายาม” หรือ “ไม่รู้จักกาลเทศะ”
บทความนี้จะตีพิมพ์หลังวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ผู้เขียนยังไม่ทราบว่า คดีตากใบ จะถูกปล่อยให้หมดอายุความหรือไม่ แต่สิ่งที่ผู้เขียนเห็นกระแสของผู้คนในโลกออนไลน์ส่วนหนึ่งแล้วรู้สึกท้อใจอยู่เหมือนกันว่า
“อุดมการณ์ทางการเมืองแบบ เสรีอนุรักษนิยม” บางครั้งก็ทำให้เราสูญเสียความเป็นมนุษย์ได้เหมือนกัน
เมื่อเราลดทอนผู้ที่ห่างไกลจากเราในทางจินตภาพ เพียงแค่เพราะศาสนา ถิ่นที่อยู่อาศัย หรือจุดยืนทางการเมือง ให้ “กลายเป็นใครก็ไม่รู้” ที่ไม่เกี่ยวข้องกับโลกทำมาหากินของเรา…
อุดมการณ์ทางการเมืองชุดนี้กำลังสร้างปัญหาอย่างมากแน่นอน และมันกำลังกัดกร่อนคุณค่าการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมที่มนุษย์เคยมีร่วมกัน เจ็บปวดกับผู้อื่นที่เราไม่รู้จัก
ให้เหลือเป็นเพียงผู้ทำมาหากินร่วมกันในกลไกตลาดเท่านั้น?
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022