จีน-สหรัฐ บนสมรภูมิอาเซียน

(Photo by LINTAO ZHANG / POOL / AFP)

แวะเวียนเข้าไปในเว็บไซต์ cfr.org เมื่อ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา เจอข้อเขียนของ โจชัว เคอร์แลนต์ซิชก์ ที่นำเสนอการสำรวจตรวจสอบสถานการณ์ล่าสุดของการแข่งขันช่วงชิงอิทธิพลระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ในสมรภูมิการทูตอย่างอาเซียน

แม้จะเป็นเรื่องเก่า แต่การนำเสนอข้อมูลล่าสุดทำให้ประเด็นเรื่องนี้น่าสนใจอยู่เสมอ

อดไม่ได้ที่จะหยิบมาบอกเล่าต่อกันอีกครั้ง

 

ผู้เขียนเริ่มต้นด้วยการชี้ให้เห็นว่า มีสัญญาณเตือนมากมายหลายอย่างกำลังเกิดขึ้น ซึ่งบ่งชี้ว่า สหรัฐอเมริกากำลังสูญเสียอิทธิพลในภูมิภาคอาเซียนให้กับจีนไป แม้จะทีละเล็กทีละน้อย แต่เพิ่มขึ้นทุกที

ย้ำเอาไว้ชัดเจนว่าในแง่ของอิทธิพลแล้ว จีนกำลังถือไพ่เหนือกว่าสหรัฐอเมริกาอยู่ในแทบจะทุกประเทศในอาเซียน ยกเว้นฟิลิปปินส์

ผู้เขียนระบุว่า ประเทศอย่างลาว กับกัมพูชา แทบจะเรียกได้ว่า กลายเป็น “รัฐบริวาร” ของจีนไปแล้วในทางปฏิบัติ ด้วยเหตุที่ว่า จำเป็นต้องพึ่งพาจีนในแทบจะทุกด้าน ตั้งแต่การให้ความช่วยเหลือ, การลงทุน, การให้ความคุ้มครองทางการทูต และการร่วมมือด้านการทหาร การป้องกันประเทศ

เมียนมา ก้ำกึ่งอยู่ว่าจะรวมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วยหรือไม่ เพราะยิ่งนับวันยิ่งพึ่งพาจีนมากขึ้นทุกที อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของขบวนการต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา ทำให้สถานะในอนาคตของประเทศนี้ยังไม่ชัดแจ้งนัก

 

ที่น่าสนใจก็คือ ผู้เขียนบอกว่า แม้ในประเทศอาเซียนที่มั่งคั่งกว่าและมีอำนาจมากกว่า สัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลจีนก็เริ่มมีนัยสำคัญมากขึ้น

ผู้เขียนอ้างข้อสังเกตของ “อีโคโนมิสต์” ที่ระบุว่า บรรดาผู้นำอาเซียน พากันโกรธที่โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เมินการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก เป็นปีที่สองติดต่อกัน

นอกจากนั้น ยังเป็นกังวลกันว่า ต่อไป แม้รองประธานาธิบดี กมลา แฮร์ริส จะเคยเดินทางเยือนอาเซียนแล้วหลายครั้ง แต่กลุ่มที่ปรึกษาของนางแฮร์ริส ยังคงเป็นกลุ่มที่มุ่งเน้นไปที่ความสัมพันธ์ข้ามหาสมุทรแอตแลนติก สูงกว่าแปซิฟิกต่อไปอย่างแน่นอน

ยิ่งไปกว่านั้น ชาติอาเซียนจำนวนไม่น้อย จำเป็นต้องพึ่งพาการค้าจากจีน ซึ่งบางครั้งรวมถึงความช่วยเหลือและการลงทุน ยังผิดหวังกับการที่สหรัฐอเมริกาไม่มีนโยบายทางการค้าที่ชัดเจนและต่อเนื่องมาตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เมื่อมีความพยายามทำความตกลงทางการค้าใดๆ ขึ้น สหรัฐอเมริกาก็ไม่ได้เข้าร่วม

ผู้เขียนระบุในตอนท้ายว่า อีโคโนมิสต์ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า สงครามในฉนวนกาซา ยิ่งทำให้ชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกาในชาติอาเซียนบางชาติที่มีประชากรเป็นมุสลิมเสียหายและฉาวโฉ่มากขึ้น อย่างเช่นในอินโดนีเซีย และมาเลเซีย เป็นต้น

นายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม แห่งมาเลเซีย ที่เคยมีสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐอเมริกามาช้านาน กลายเป็นผู้ที่ออกปากวิจารณ์สหรัฐอเมริกาหนักหนาที่สุดเพราะการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสงครามกาซาและความขัดแย้งในตะวันออกกลางนี่เอง

ว่ากันว่า จะเป็นเรื่องยากเย็นอย่างยิ่งสำหรับผู้นำของสหรัฐอเมริกาในอนาคตที่จะได้รับการสนับสนุนกลับคืนมาในประเทศเหล่านี้

 

ผู้เขียนระบุว่า การเสื่อมถอยของอิทธิพลอเมริกันในกลุ่มประเทศอาเซียน สะท้อนออกมาเห็นได้ชัดในการสำรวจความคิดเห็นประจำปี ของสถาบันวิชาการ Iseas Yusof-Ishak ในสิงคโปร์ ที่สะท้อนให้เห็นทัศนะของชาติในอาเซียนที่มีต่อมหาอำนาจภายนอกได้เป็นอย่างดี

ในปีนี้ ผลการสำรวจแสดงให้เห็นเป็นครั้งแรกว่า “จีนถูกมองวาเป็นชาติที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจสูงสุด (59.5 เปอร์เซ็นต์) และอิทธิพลทางการเมืองสูงที่สุด (43.9 เปอร์เซ็นต์) ในภูมิภาค เอาชนะเหนือสหรัฐอเมริกาได้ด้วยความห่างที่มีนัยสำคัญในทั้งสองกรณี”

แต่นั่นยังไม่ใช่ประเด็นที่มีนัยสำคัญสูงสุด ที่สำคัญที่สุดอยู่ตรงที่ว่า ผลการสำรวจดังกล่าว ยังเปิดเผยด้วยว่า

“จีนเฉือนชนะสหรัฐอเมริกาในฐานะตัวเลือกที่ดีที่สุด (50.5 เปอร์เซ็นต์) หากภูมิภาคอาเซียต้องถูกบีบบังคับให้เลือกเป็นพันธมิตรกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งภายใต้บริบทของการขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา”

ย้อนกลับไปดูผลสำรวจเมื่อปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกา ได้รับการสนับสนุนถึง 61.1 เปอร์เซ็นต์ ปีนี้ หลงเหลือเพียง 49.5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง

ไม่ใช่สัญญาณที่ดีสำหรับสหรัฐอเมริกาอย่างแน่นอน