ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 - 31 ตุลาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ต่างประเทศ |
เผยแพร่ |
เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาปีนี้ยิ่งยับวันยิ่งสนุกมากขึ้นทุกที เพราะใกล้วันเลือกตั้งเข้ามา ไม่เพียงมีคนอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ เป็น “แคนดิเดต” เท่านั้น ยังปรากฏคนอย่างอัลอน มัสก์ มหาเศรษฐีผู้อื้อฉาว กระโดดลงมาโลดแล่นบนเวที ในฐานะผู้สนับสนุนทรัมป์อย่างเต็มตัวอีกด้วย
และเพราะมีคนอย่างมัสก์ลงมาคลุกฝุ่นการเมืองเต็มตัวนี่แหละ ที่ทำให้ก่อนหน้าวันลงคะแนนเพียงไม่กี่วัน ก็เกิดโครงการ “สุ่มแจกเงินล้าน” ขึ้นมา ชนิดที่ทำให้ผู้สันทัดกรณีการเมืองอเมริกันยังเกาหัวแกรกๆ พึมพำแบบไม่เชื่อสายตาตัวเองว่า “ทำได้ด้วยหรือ (วะ)”
เรื่องนี้เริ่มต้นที่รัฐเพนซิลเวเนีย หนึ่งในรัฐสำคัญที่ส่งผลไม่น้อยต่อการเลือกตั้ง แต่ยังถือเป็นรัฐที่สามารถพลิกผันไปเข้าข้างฝ่ายไหนก็ได้ อย่างที่ศัพท์เลือกตั้งมะกันเรียกว่า “สะวิงสเตต” เมื่อ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา
มัสก์ประกาศในวันนั้นว่า จะแจกเงินอย่างน้อย 47 ดอลลาร์ให้กับผู้ลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยผู้ลงทะเบียนนั้นต้องยื่นคำร้องด้วยว่า ขอ “แสดงเจตจำนงที่จะลงคะแนนสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิในการครอบครองอาวุธ (ทั้งสองอย่างเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญอเมริกันรับรองไว้แล้ว)”
พอถึง 19 ตุลาคม คนที่ลงนามในคำร้องที่ว่านี้ทุกคน จะได้รับสิทธิอัตโนมัติ ได้เข้าสู่ระบบการสุ่มเลือกรางวัลเงินสด 1 ล้านดอลลาร์ ที่จะมีขึ้นทุกวันไปจนถึงวันเลือกตั้ง คือ 5 พฤศจิกายนนี้
ด้วยโปรเจ็กต์ประหลาดพิกลเช่นนี้ มัสก์คาดหวังว่า จะส่งผลให้สมาชิกพรรครีพับลิกันในเพนซิลเวเนีย มาขึ้นทะเบียนเพื่อใช้สิทธิกันมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อโอกาสชนะของทรัมป์มีมากขึ้นนั่นเอง
คําถามก็คือ แล้วทำอย่างนี้ไม่เข้าข่ายใช้เงินเพื่อซื้อเสียงหรือไร ไม่ผิดกฎหมายในสหรัฐอเมริกาหรืออย่างไรกัน
ในสหรัฐอเมริกา การจ่ายเงินเพื่อให้ใครสักคนมาขึ้นทะเบียนเพื่อใช้สิทธิออกเสียงใดๆ หรือการเสนอว่าจะให้เงินสด หรือการจับสลาก เป็นสินบนเพื่อให้ลงคะแนนเลือกใครคนใดคนหนึ่งนั้น ผิดกฎหมายแน่นอน
แต่การใช้เงินเพื่อจูงใจให้ลงนามในคำร้องแสดงเจตจำนง ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้ยื่นคำร้องที่ว่านี้เป็นผู้ที่ขึ้นทะเบียนเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้ง ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องพิเคราะห์กันในแง่กฎหมายว่า ผิดหรือไม่ผิด
อย่างไรก็ตาม มัสก์ใช้วิธี “เลี่ยงบาลี” ไว้อีกชั้นหนึ่ง ด้วยการประกาศแจกเงินให้กับผู้ที่แนะนำมาให้ยื่นคำร้อง ไม่ใช่ผู้ที่มายื่นคำร้อง ซึ่งเป็นช่องโหว่ที่กฎหมายไม่ได้ครอบคลุมถึงไว้
ส่วนในความเป็นจริงแล้วเงินที่ว่านั้นจะเป็นของใครก็ไม่ใช่สาระสำคัญอีกต่อไป
การเล่นเจ้าล่อเอาเถิดกับกฎหมายครั้งนี้ดูเหมือนจะได้ผล เพราะในวันที่ 21 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันสุดท้ายสำหรับการขึ้นทะเบียนเพื่อใช้สิทธิในเพนซิลเวเนีย “อเมริกา แพ็ก” กลุ่มพันธมิตรที่มัสก์ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนทรัมป์ อ้างว่า มีรีพับลิกันมาขึ้นทะเบียนใช้สิทธิในสัปดาห์สุดท้ายถึงเกือบ 28,000 คน มากกว่าเดโมแครตเกือบสองเท่า
หนึ่งวันให้หลัง มัสก์ก็ประกาศ “ขยาย” สิทธิในการสุ่มรับรางวัล 1 ล้านดอลลาร์ ออกไปครอบคลุมในทุก “สะวิงสเตต” คือ แอริโซนา, จอร์เจีย, มิชิแกน, เนวาดา, นอร์ธแคโรไลนา และวิสคอนซิน
ในทัศนะของนักกฎหมายบางคน อย่างเช่น ริก ฮาเซน จากคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย เชื่อว่า มัสก์ทำผิดกฎหมายตั้งแต่การใช้เงินเพื่อดึงคนให้มาขึ้นทะเบียนเพิ่มมากขึ้น โดยอาศัยแรงจูงใจจากการลงนามในคำร้องและการสุ่มรับรางวัล
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอีกส่วนหนึ่งเชื่อว่า กรณีของมัสก์ ไม่ได้ชัดแจ้งแดงแจ๋ถึงขนาดนั้น
ริชาร์ด บริฟฟอลต์ จากสำนักกฎหหมายมหาวิทยาลัยโคลัมเบียกลับเห็นว่า จังหวะเวลาการประกาศโครงการสุ่มแจกเงิน ซึ่งเป็นช่วง 3 วันก่อนปิดการขึ้นทะเบียนที่เพนซิลเวเนีย อาจเป็นข้อบ่งชี้ถึงเจตนาที่จะดึงดูดให้คนมาขึ้นทะเบียนเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้ง “ซึ่งถือเป็นการกระทำผิดทางอาญา”
กระนั้น บริฟฟอลต์ยอมรับว่า โครงการสุ่มแจกรางวัล 1 ล้านดอลลาร์ของมัสก์ ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือนอยู่ดี บางคนเคยพยายามคำนวณเอาไว้ว่า กว่าจะถึงวันเลือกตั้ง มัสก์จะต้องจ่ายเงินออกไปเป็นจำนวนทั้งหมดเท่าใดกันแน่ พบว่า มัสก์ต้องใช้เงินไม่น้อยกว่า 18 ล้านดอลลาร์ ไม่นับเงินที่แจกให้กับผู้ที่ยื่นคำร้องและผู้ที่แนะนำให้มายื่นคำร้องอีกส่วนหนึ่งต่างหาก
บริฟฟอลต์ชี้ว่า มัสก์ใช้ประโยชน์จากส่วนที่ “ยังไม่กระจ่างชัด” ของกฎหมายมาใช้เพื่อสนับสนุนทรัมป์ในครั้งนี้ ทำให้ไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้ว่า ผิดหรือถูก ทำได้หรือไม่ได้ หนทางเดียวที่จะทำให้เกิดความกระจ่างชัดก็คือ การฟ้องร้องดำเนินคดีเท่านั้นเอง
ปัญหาก็คือ ฟ้องร้องไปก็เท่านั้น เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วันก็จะถึงวันเลือกตั้ง ผลลัพธ์ที่ได้จากการฟ้องร้อง ไม่สามารถส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งใดๆ ได้เลย
สำหรับอีลอน มัสก์ ตำแหน่งในคณะรัฐบาลที่ทรัมป์สัญญาว่าจะให้หากได้รับเลือกตั้งในครั้งนี้ แลกกับการรวยน้อยลง 18 ล้าน ยี่สิบล้าน ดูเหมือนจะคุ้มค่าเอามากๆ เลยทีเดียว
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022