ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 - 31 ตุลาคม 2567 |
---|---|
เผยแพร่ |
เรื่องราวที่สั่นสะเทือนความเป็นไปในสังคมไทยรุนแรงขณะนี้ เป็นคดีของการถูกหลอกให้ลงทุน
จะเห็นได้ว่าคนที่ถูกตั้งเป้าให้เป็นเหยื่อมากที่สุด เป็นกลุ่มที่เป็นที่รับรู้กันว่ามีเงิน หรือมีรายได้ที่แน่นอนระดับหนึ่ง หรือมีแหล่งที่จะหาเงินได้ แต่ไม่รู้ว่าจะเอาเงินไปต่อให้เกิดความมั่นคงในชีวิตในระดับสมกับความอยากได้อย่างไร
ข้าราชการ หรือพนักงานบริษัทที่เกษียนจากงาน มีเงินเก็บอยู่ก้อนหนึ่ง ต้องการให้เงินเก็บนั้นงอกเงยในระดับสร้างความมั่นคงให้ชีวิตที่อายุเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ได้
พระสงฆ์ที่เงินทองไหลเข้า และต้องการลงทุนเพื่อให้ฐานะมั่นคงหลังจากสึกไปใช้ชีวิตฆราวาส
คนที่มีทรัพย์สินที่ต้องการเปลี่ยนเป็นกิจการที่มีรายได้ประจำเลี้ยงดูตัวเองในแต่ละวัน แต่ละเดือนได้
ดาราหรือคนดังทั้งหลายที่ต้องการใช้โอกาสสร้างกิจการที่มั่นคง เพื่อให้ร่ำรวยยิ่งๆ ขึ้น
รวมไปถึงคนกลุ่มอื่นๆ ที่ถูกกระตุ้นให้เกิดความคิดว่า ความมั่นคงในเรื่องทรัพย์สินเงินทองเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต ยิ่งทำให้มีมากเท่าไรย่อมเป็นความสำเร็จได้เท่านั้น
จะเรียกกันว่าถูกชักจูงด้วย “ความโลภไม่รู้จบ” ก็ได้
แต่หากพิจารณาลงไปแล้ว “ผู้ปรารถนาความมั่นคง” นี้อาจจะไม่ใช่มาจากความโลภเสียทีเดียว
ในสังคมวัตถุนิยมยุคการตลาดนำเช่นนี้ การโฆษณาให้เชื่อว่า “หากสะสมทรัพย์สินไว้ไม่เพียงพอ ชีวิตจะลำบากในวัยปลาย” อย่างเช่น “เงินหมดก่อนตาย จนก่อนแก่” หรืออะไรทำนองนั้น พร้อมยกค่าใช้จ่ายมากมายที่หากไม่เตรียมไว้ให้พอจะเดือดร้อนหลังจากไม่ได้ทำงานแล้ว
เลยไปถึงถ่ายทอดบอกกล่าวว่าการหวังพึ่งพาคนอื่น หรือกระทั่งลูกหลานเป็นเรื่องคิดผิด เพราะโลกยุคปัจจุบันต่างคนต่างต้องดิ้นรนเอาตัวรอดกันทั้งนั้น
เมื่อไม่ได้อยู่ใน “ประเทศรัฐสวัสดิการ” การหาทางดิ้นรนเพื่อ “พึ่งตัวเองให้ได้” เป็นเรื่องจำเป็น
เมื่อถูกปลุกให้เกิดความกลัวในเรื่องเหล่านี้อยู่ตลอด เมื่อถึงวัยที่อ่อนไหวกับอนาคตที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่นาน การที่ใครสักคนมาชวนสร้างความมั่นคงให้ชีวิต จึงหลงเชื่อได้ง่าย ยิ่งมีการปลุกเร้าด้วยตัวอย่างของผู้ประสบความสำเร็จด้วยแล้ว การขาดความยั้งคิดก็เกิดขึ้นได้ง่ายๆ
ที่น่าเศร้า คือไม่เพียงเป็นประเทศที่ประชาชนรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิตได้ง่าย แต่ไทยเรายังมีหน่วยงานหรือกลไกที่ประชาชนหวังพึ่งได้เต็มที่เมื่อถูกหลอกลวงให้หลงเชื่อไปกับความฝันที่มิจฉาชีพปลุกเร้า
“นิด้าโพล” สำรวจล่าสุดเรื่อง “ใครจะคุ้มครองผู้บริโภค”
เมื่อถามว่า การร้องเรียนที่ได้รับความเป็นธรรมเร็วที่สุดจากการถูกเอาเปรียบหรือหลอกลวงให้ซื้อสินค้าหรือลงทุน
ร้อยละ 24.81 คิดว่า ไปร้องเรียนกับสื่อ,
ร้อยละ 23.05 ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ,
ร้อยละ 15.88 ไปร้องเรียนกับศิลปิน ดารา หรือจิตอาสาคนดัง เช่น หนุ่ม กรรชัย กัน จอมพลัง บุ๋ม ปนัดดา เป็นต้น,
ร้อยละ 15.80 ไปร้องเรียนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และไม่ร้องเรียนใดๆ ในสัดส่วนที่เท่ากัน,
ร้อยละ 1.91 ไปร้องเรียนกับทนายคนดัง,
ร้อยละ 1.45 ไปร้องเรียนกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง (ไม่รวม สคบ.),
ร้อยละ 0.92 ไปร้องเรียนกับองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ที่เกี่ยวข้อง เช่น มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค,
ร้อยละ 0.07 ไปร้องเรียนกับนักการเมือง และร้อยละ 0.31 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
จะเห็นได้ว่ากระจัดกระจายมาก สะท้อนว่าไม่มีหน่วยงานใดที่ประชาชนมั่นใจพอที่จะเชื่อมั่นว่าหากเกิดการหลอกลวงขึ้นจะสามารถช่วยเหลือได้
ในสภาพเช่นนี้ เมื่อประชาชนประสบปัญหา ก็ได้แค่คิดไปแจ้งความกับตำรวจ หรือ สคบ. แต่เป็นการแจ้งไปอย่างนั้น เพราะไม่ได้มีความเชื่อว่าจะช่วยเหลืออะไรได้
ที่ย่ำแย่คือ “นักการเมือง” ซึ่งมีหน้าที่บริหารจัดการประเทศ กลับเป็นความหวังที่อยู่ในลำดับต่ำสุดคือแค่ร้อยละ 0.07 ในความเชื่อของประชาชนว่าจะแก้ปัญหาให้ได้
ประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่ดิ้นรน ตะเกียกตะกายไขว่คว้าความมั่นคงให้กับชีวิตด้วยความหวาดหวั่น โดยเฉพาะในวัยปลายด้วยถูกปลุกเร้าว่าจะเดียวดายไร้คนดูแล จนมิจฉาชีพเห็นช่องทางว่าคือเหยื่อที่หลอกลวงได้ง่าย
ต้องหมดเนื้อหมดตัว ในวันรอตายโดยสิ้นหวังว่าจะได้รับการดูแลจากใคร
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022