ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 - 31 ตุลาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ผี-พราหมณ์-พุทธ |
ผู้เขียน | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง |
เผยแพร่ |
ปีนี้ผมไม่ได้เขียนอะไรถึงเทศกาลกินเจหรือเจี๊ยะฉ่าย โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลเลยเพราะเบื่อๆ กับบรรยากาศ “ดราม่า” ที่มักเกิดขึ้นทุกปีในช่วงนี้
หลบไปกินเจกับสวดมนต์เงียบๆ ดีกว่า
แต่ดราม่าก็เหมือนลมครับ ไม่เข้าทางประตูก็เข้ามาทางหน้าต่าง ไม่อยากรับรู้แต่ก็ดันรู้ แม้จะวูบไหวเปลี่ยนแปลงไวมาก ปีนี้ช่วงกินเจดราม่าเดิมๆ ก็กลับมาอีกครั้ง
ที่จริงเวลามีดราม่าโดยเฉพาะในโลกออนไลน์ หากมองในแง่ดี คือโอกาสที่ผู้คนจะนำเอาข้อมูลใหม่ๆ มาถกเถียงแลกเปลี่ยนกัน แล้วพอดราม่าผ่านพ้นไป เราก็อาจได้ความรู้ใหม่ๆ เพิ่มพูนขึ้นด้วย
แต่หากเรา “อิน” กับความดราม่ามากไปหน่อย ก็อาจเสียสุขภาพจิตและเวลาได้
ดังนั้น จะเลือกเสพดราม่าควรมีสตินิดนึง และท่องคาถาที่อาจารย์ผมสอนไว้ “แล้วแต่เขา” ก็จะขำๆ กับดราม่าได้บ้าง
ตัวอย่างไม่ไกลคือเรื่องกินเจนี่เอง แต่เดิมแทบจะหาคนพูดถึงข้อมูลเกี่ยวกับพิธีกินเจว่ามีความเกี่ยวข้องกับ “สมาคมลับ” และขบวนการทางการเมืองนั้นแสนจะยากเย็น แถมคนที่รู้ก็ไม่ยอมปริปากพูดอีก
ทว่า บัดนี้ พอมีคนเสนอข้อมูลไปก็เกิดดราม่าตามปกติ แต่พอมีข้อถกเถียงมากเข้าๆ ความรู้ก็ค่อยๆ งอกเงยออกมา สังคมก็ได้ประโยชน์จากความหัวร้อนของทั้งสองฝ่าย
นี่ผมพยายามมองให้เป็นคุณแล้วนะครับ
ส่วนดราม่าในปีนี้นั้นหลักๆ คือเรื่องเดิมครับ ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า กินเจเป็นเรื่องของพุทธศาสนา หรือควรเป็นเรื่องของทางศาสนาล้วนๆ เพื่อจะได้จรรโลงคำสอนและอริยพุทธประเพณีเท่านั้น
การนำเรื่องกินเจไปเชื่อมโยงกับเรื่องทางโลกหรือเรื่องการเมือง ถ้าจริงก็เป็นการไม่สมควร หรืออาจมองไปถึงขั้นว่าการเอาไปเชื่อมโยงกับการเมืองอาจเป็นการเพ้อพกไปเองด้วยซ้ำ
อีกฝ่ายก็เห็นว่าเป็นเรื่องการเมืองหรือเรื่องอุดมการณ์ในอดีตทีเดียว ก็จำจะต้องรักษาไว้
ปีนี้จึงเกิดคำพูดแรงๆ ออกมาอีก เช่น “จะไว้ทุกข์ให้ฮ่องเต้ทรราชย์ทำไม” ผมเข้าใจว่า เขาคงรู้ที่มาที่ไปว่างานกินเจ (ในความคิดอีกฝ่าย) ส่วนหนึ่งก็มาจากประเพณีไว้ทุกข์ให้ฮ่องเต้หมิงองค์สุดท้ายคือหมิงซือจง (ปลงพระชนม์ชีพด้วยการแขวนคอองค์เอง) ซึ่งว่ากันว่า ทรงเชื่อคำยุยงและประหารขุนนางตงฉินจนทัพศัตรูบุกเข้ามาได้ในที่สุด
ฮ่องเต้พระองค์นี้เป็นทรราชย์หรือไม่นั้น ก็คงสามารถตีความถกเถียงกันต่อได้อีก แต่ทั้งนี้ พวกเราซึ่งเป็นคนยุคหลังมากๆ คงไม่ได้ไว้ทุกข์ให้ฮ่องเต้ที่มีชีวิตห่างจากเรายาวนานขนาดนั้นเพียงอย่างเดียวหรอก แต่เราไว้ทุกข์ “ร่วมกัน” กับคนก่อนหน้ารุ่นเราที่เขาไว้ทุกข์มาก่อนนั่นแหละ
กล่าวคือ ไม่ใช่ไว้ทุกข์เพียงเพราะเราเคารพฮ่องเต้องค์นั้นหรือจะเพื่อวีรชนทั้งเก้าผู้เสียสละ หรือจะใครก็ตาม แต่เรากินเจและรักษาขนบไว้ทุกข์เพราะเราเคารพในบรรพชนและบูรพาจารย์ของเราต่างหาก
ท่านทุกข์โศก เราก็ทุกข์โศกไปกับท่าน ท่านยินดีเรื่องใด เราก็พลอยยินดีเรื่องนั้นกับท่านด้วย มันคือเรื่องของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และความเคารพต่างหาก
มีบางท่านอุตส่าห์ไปค้นว่า คนจีนมิได้ใส่สีขาวกินเจเพื่อไว้ทุกข์เท่านั้น เพราะมีในตำราศาสนาเต๋าเองเลยว่าในช่วงพิธีกินเจเดือนเก้าให้ใส่ขาว ฉะนั้น จะมาอ้างว่าใส่ขาวเพื่อไว้ทุกข์ไม่ได้
ผมลองเอาเรื่องนี้ไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ท่านบอกว่า คำจีนที่มีผู้ไปแปลว่าชุดสีขาวนั้น อันที่จริงเป็นศัพท์โบราณ หมายถึงชุดที่สีสุภาพเรียบร้อยมากกว่าจะแปลว่าชุดขาวตรงๆ หรืออาจหมายถึงชุดตัวในสีขาวซึ่งนักพรตเต๋าใส่ก็ได้
ฉะนั้น หลักฐานดังกล่าวจึงยังไม่ได้หักล้างข้อเสนอที่ว่า ชุดขาวในพิธีกินเจนั้นเป็นชุดที่มีนัยถึงการไว้ทุกข์มากกว่า
อันที่จริงเมื่อยิ่งศึกษาและตระเวนไปดูพิธีกรรมก็เห็นว่า เรื่องกินเจที่มีนัยไว้ทุกข์หรือมีนัยเชิงการเมืองก็ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ
หากมองจากโรงเจเก่าๆ ที่พยายามรักษาขนบประเพณีอย่างเดิมเอาไว้ อาทิ การโพกผ้าขาวสำหรับผู้ทำงานในหล่ายเตี่ยนหรือพระตำหนักในซึ่งเป็นอย่างเดียวกับชุดไว้ทุกข์
กลอนหรือตุ้ยเหลียนที่มี “รหัสลับ” และจะติดเฉพาะในช่วงเทศกาลเท่านั้น
การไหว้พระด้วยเทียนขาวหรือใช้ผ้าปูโต๊ะไหว้สีขาว และการไหว้กิ๊วหองไต่เต่ (นพราชา) ด้วย “ธูปหัวดำ” คือธูปที่จุดแล้วจุ่มน้ำให้ดับ ซึ่งจะกระทำในวันสุดท้าย อันเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมไว้ทุกข์
ยังไม่ร่วมกับการที่จะต้องไปส่งเจ้าที่ทะเลหรือแม่น้ำที่ใกล้เคียง ผมสังเกตว่า พิธีส่งพระหยกจักรพรรดินั้นส่งกันที่ศาลเจ้าได้ แต่พอจะส่งพระนพราชาประธานกินเจ ต้องไปส่งกันทางน้ำเสมอ ผมคิดว่าก็ยังคงสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ทางการเมืองแน่
อีกประการหนึ่ง แต่เดิมผมเองก็เคยคิดอย่างหลายท่านว่า พิธีกินเจอย่างภาคกลางหรือที่อื่นซึ่งรับไปจากภาคกลางนั้น ต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับประเพณีกินเจทางภาคใต้ เพราะทางใต้มีการเข้าทรงแสดงอภินิหาร เช่น แทงปากหรือทำสิ่งที่น่าหวาดเสียว อย่างลุยไฟ ลุยประทัด หรือปีนบันไดมีด
ทว่า เมื่อได้เข้าใจมากขึ้น จึงทราบว่า อันที่จริงการกินเจในภาคกลาง โดยเฉพาะโรงเจเก่าๆ ยังมีความคล้ายคลึง ทางความคิดด้านการเมือง อุดมการณ์และประวัติศาสตร์เหมือนกับภาคใต้
ที่จริงต้องบอกว่า การเข้าทรงเทพเจ้าหรือตังกี อาจไม่ใช่ส่วนที่สำคัญที่สุดของพิธีกินเจในภาคใต้ แต่การประโคมโหมข่าวส่งเสริมการท่องเที่ยวและภาพอันน่าตื่นตาหวาดเสียวได้กลายเป็นจุดเด่นที่จดจำสำหรับคนภายนอกและที่อื่นไปแล้ว
คืออาจต้องขยายความว่า ที่จริงเกือบทุกพิธีในศาลเจ้าของคนใต้นั้น ก็มักมีการเข้าทรงเทพเจ้าอยู่แล้ว เพราะชาวฮกเกี้ยนซึ่งเป็นคนจีนส่วนมากในภาคใต้ มีวัฒนธรรมเข้าทรงตั้งแต่ในเมืองจีน พอย้ายมาโพ้นทะเล ขนบธรรมเนียมนี้ยังถูกรักษาไว้ ร่างทรงเทพเจ้ามีหน้าที่ในเชิงพิธีกรรมต่างๆ โดยทำงานร่วมกับผู้ประกอบพิธีหรือฮวดกั้ว
เช่น ทำหน้าที่ออกคำสั่งรายละเอียดในพิธี (ผ่าย) ขบวนแห่จะออกเวลาไหน มีเกี้ยวเทพองค์ใดบ้าง หรือทำหน้าที่พิทักษ์รักษาผู้ประกอบพิธีและผู้เข้าร่วม
ส่วนการแสดงอภินิหารนั้น อันที่จริงก็เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมเช่นเดียวกัน เพื่อข่มพวกภูตผีปีศาจ สำแดงเทวฤทธิ์หรือสะเดาะเคราะห์
แต่ในช่วงกินเจนั้น มักเชื่อกันว่าหากกินเจและถือข้อห้ามได้อย่างเคร่งครัด ก็จะเกิดภาวะ “เฉ่ง” หรือบริสุทธิ์สะอาดมากพอ ทำให้อาวุธ ไฟ หรือประทัด ไม่อาจทำอันตรายได้ การแทงร่างกายให้หวาดเสียวน่ากลัวกว่าปกติ บางคนเลยไปถือว่าเป็นการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน และช่วยให้มีผู้ศรัทธาเชื่อถือมากขึ้นด้วย
ทั้งนี้ จะบอกว่าการแสดงอภินิหารไม่เกี่ยวกับกินเจในทางการเมืองก็คงไม่ได้ การแสดงความขลังและเหนียวของร่างทรงและผู้ร่วมพิธี ก็เป็นส่วนหนึ่งในการ “ปลุกใจ” ให้ผู้คนกล้าหาญและเชื่อมั่นในอำนาจศักดิ์สิทธิ์ ที่จะไปทำภารกิจทางการเมืองต่อ
ฉะนั้น ในพิธีกินเจ ร่างทรงจึงยังต้องมาทำหน้าที่ในส่วนที่ต้องทำเหมือนเดิม แต่การแสดงอภินิหารจะชัดเจนและรุนแรงขึ้น ทว่า พิธีที่เกี่ยวกับการกินเจโดยตรงนั้น ก็มักเป็นเรื่องของผู้ประกอบพิธีและ “คนใน” เช่น พิธีในหล่ายเตี่ยน พิธีที่เกี่ยวกับองค์นพราชา พิธีการสวดมนต์หรือบูชาดาว รวมไปถึงขนบธรรมเนียมและข้อห้ามต่างๆ
ส่วนนี้แหละครับที่ผมคิดว่ามีความคล้ายคลึงกันระหว่างการกินเจในภาคใต้และภาคกลาง โรงเจเก่าแก่ในกรุงเทพฯ เช่น ซินเฮงตั๊ว ก็ยังมีธรรมเนียมคล้ายคลึงกับบ้านผมอยู่มาก หลายโรงเจในภาคกลางก็เคยมีคนทรงมาก่อน ซึ่งผมได้ยินมาจากผู้ใหญ่ในโรงเจเหล่านั้นเองโดยตรง ทว่า เมื่อคนทรงเดิมเสียชีวิตไป ก็มิได้มีการหาคนทรงใหม่อีก แต่ในภาคใต้ยังมีการสืบทอดพิธีเข้าทรงอย่างเป็นระบบระเบียบอยู่
ดังนั้น พอนานวันเข้า คนทรงก็หาย พิธีก็ขาดผู้สืบทอดหรือเปลี่ยนแปลงไป มโนคติเดิมก็ค่อยๆ เลือนหาย มโนคติอย่างใหม่ เช่น ความคิดแบบศาสนาก็เข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ
เรื่องร่างทรงนี่ก็เป็นดราม่ากินเจทุกปี อันที่จริงร่างทรงในภาคใต้ก็เยอะจริงๆ ครับ เด็กใต้เกิดมาก็เห็นร่างทรงแล้ว หลายคนจึงอยากเป็นร่างทรง เพราะคิดว่าเท่ดี
แต่หลายที่ก็ขาดการอบรมสั่งสอนตามขนบที่มีมา จึงทำอะไรเลอะเทอะไปบ้าง
ร่างทรงนี่ต้องฝึกต้องเรียนนะครับ โดยในส่วนประเพณีปฏิบัติ ไม่ใช่จะรู้เองขึ้นมาได้ทุกอย่าง
ดังที่ผมบอกไปว่า อันที่จริงร่างทรงคือส่วนหนึ่งของพิธีกรรมในวัฒนธรรมฮกเกี้ยน เรื่องพวกนี้จึงเป็นส่วนที่อธิบายไม่ได้เสียครึ่งหนึ่ง เช่น ความเร้นลับ อภินิหารอะไรต่างๆ และส่วนที่เป็นเรื่องวัฒนธรรมประเพณีอีกครึ่งหนึ่ง
ก็เพราะความ “หลากหลาย” และ “ลึกลับ” ทั้งปวงนี้เอง จะง่ายต่อการก่อดราม่าเสมอ ยิ่งเป็นเรื่องศรัทธาฝังหัว ถือฝั่งใครฝั่งมันก็ยิ่งดราม่าง่ายเข้าไปอีก
อันที่จริงอาจารย์ของผมท่านก็พูดเปรยๆ ว่า ก็กิ๊วหองไต่เต่ท่านลึกลับแบบนี้ จะมีดราม่าทุกปีก็ไม่แปลกหรอก
ผมก็ได้แต่พยักหน้ารับ ตอนนี้กลับเห็นเป็นเรื่องสนุกประมาณหนึ่ง
อย่างน้อยๆ เราก็พอยังเถียงกันไป ขุดข้อมูลมาสู้กันไป ไม่ได้เอามีดไม้มาไล่ฟาดกัน ทั้งที่จริงๆ ก็อยากให้มีท่าทีอ่อนกันลงอีกนิดนึง
ไหนๆ ก็เป็นเจ๊กหรือชอบวิถีเจ๊กด้วยกันแล้ว •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022