‘ส.ส.รอมฎอน ปันจอร์’ ถึง ‘พี่พิศาล’ และ ‘คดีตากใบ’

หมายเหตุ “รอมฎอน ปันจอร์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน สนทนากับ “ใบตองแห้ง-อธึกกิต แสวงสุข” ในรายการ “ประชาธิปไตยสองสี” ช่องยูทูบมติชนทีวี (เทปเผยแพร่เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม) ว่าด้วย “คดีตากใบ” และเพื่อนร่วมคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีชื่อว่า “พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี”

 

เอาเท่าที่ผมรู้จัก “พี่พิศาล” และฟังเรื่องเล่าจากท่านมาหลายต่อหลายครั้ง ในตอนที่เราทำงานด้วยกันในคณะกรรมาธิการความมั่นคงฯ ลงพื้นที่ ไปต่างประเทศ ศึกษาดูงานด้วยกัน ผมฟังเรื่องเล่าของแกตลอด ผมก็ยังเข้าใจว่าจริงๆ แล้ว ข้อต่อสู้ (คดีตากใบ) ของแกก็มีอยู่นะ อธิบายได้ พูดง่ายๆ “เมกเซนส์” (มีเหตุผล)

ผมเลยแปลกใจมากว่า ทำไมท่านถึงไม่เอาข้อเท็จจริงที่แน่นอกท่านเอง มันอึดอัดอยู่ในใจ ว่างทีไร นั่งคุยเรื่องตากใบให้ผมฟังตลอด ทำไมไม่เอาเรื่องนี้มาเปิดเผย?

ท่านผู้พิพากษาเอง ครั้งหนึ่งตอนที่ผมไปสังเกตการณ์คดี ท่านยังยืนยันให้คนในห้องพิจารณาคดีทราบว่า ท่านรู้ว่าคดีนี้เป็นเรื่องใหญ่ พฤติกรรมของคดีเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ ปัญหาความรุนแรง และกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ท่านเห็นว่านัยยะของมันเป็นอย่างนั้น

แต่มันไม่ใช่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายโจทก์เท่านั้น ที่จะให้ความยุติธรรมหรือความจริงปรากฏ เรื่องนี้ยังเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายจำเลยด้วย เพราะเรื่องนี้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา จำเลยถูกกล่าวหาโดยสังคมมาโดยตลอด และนี่คือโอกาสของทางจำเลยเอง ในการที่จะมายืนกราน-ยืนยันข้อเท็จจริงจากมุมของจำเลย

ผมเลยเห็นว่าจากมุมคิดนี้ เท่าที่ผมฟังพี่พิศาลมาหลายต่อหลายครั้ง จริงๆ แกก็มีข้อต่อสู้ที่น่าจะสู้ได้

ถ้าไม่อยู่ในห้องประชุม (คณะกรรมาธิการความมั่นคงฯ) ซึ่งเราก็นั่งห่างกันหน่อย ปกติเวลาเราไปดูงาน ไปเยือนเหล่าทัพ เราไปด้วยกัน เรามีท่านพิศาลซึ่งเป็นผู้ใหญ่ในกรรมาธิการช่วยเป็นผู้ประสานงาน คุยกับน้องๆ ของแกในเหล่าทัพต่างๆ ติดต่อประสานงานเพื่อให้คณะของเราเดินทางไปพบปะเยี่ยมเยียนหน่วยงานความมั่นคงต่างๆ

หรือแม้กระทั่งการเดินทางไปศึกษาดูงานที่โปแลนด์ งานด้านความมั่นคงและกิจการชายแดน ท่านพิศาลก็ไปกับเรา ก็เป็นหน้าที่ของพวกเราวัยรุ่น คณะกรรมาธิการในพรรคประชาชน เราก็จะแบ่งกันว่าใครจะดูแลท่าน เพราะท่านอาจจะเดินช้าหน่อย

โดยส่วนตัว เรารู้จักกันและเราทำงานกันด้วยกัน ด้วยดี และหลายต่อหลายครั้ง หน้าที่ที่ผมทำอย่างหนึ่งก็คือ “นั่งฟัง” แกเล่าเรื่องที่แกรู้อยู่ว่าผมตามเรื่องนี้ และแกก็อยากจะเล่าในมุมของแกให้ฟัง ผมก็นั่งฟังมาโดยตลอด และเราก็แลกเปลี่ยนกัน

ผมก็บอกท่านว่า เท่าที่ผมรู้และสัมผัส ตั้งแต่ตอนที่ผมเป็นนักข่าวหรือตอนที่เจอกับผู้คนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตากใบ ผมก็บอกพี่พิศาลตรงๆ ว่า “เรื่องเล่าของพี่” มันต่างกับของพี่น้องอีกหลายเรื่องเลย

แล้วตอนนี้ เรื่องเล่าของกรณีตากใบมันไปไกลมาก การซ้อนทับกัน (ของร่างผู้เสียชีวิต) เรื่องเล่าของพี่พิศาลก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งแกก็จะอ้างอิงไปถึงรายงานของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงด้วย

จะมีอยู่บางช็อตที่บันทึกคำให้การของท่านพิศาลและพยานคือนักข่าว ที่บอกว่าในรถคันแรกๆ ท่านเห็นว่าการซ้อนกันแบบนี้ไม่เวิร์ก ท่านให้ลูกน้องเอาลงมาแล้วจัดเรียงใหม่ ก็มีการบันทึกในข้อเท็จจริง ท่านเล่าเรื่องนี้อยู่ประมาณ 2-3 ครั้ง ผมจำได้ และผมรู้สึกว่าถ้าอธิบายดีๆ ท่านเองก็มีข้อ “ดีเฟนด์” (แก้ต่าง) ในเรื่องนี้

 

ครั้งหนึ่ง ผมทำถึงขนาดนี้ ก็คือตอนที่มีเพื่อนๆ เขาจัดนิทรรศการ “ลบไม่เลือน 20 ปี ตากใบ” ตอนนี้ก็จัดแสดงอยู่ที่นราธิวาส เขาพิมพ์หนังสือมาเล่มหนึ่ง เป็นคำบอกเล่าของญาติผู้เสียชีวิต เกี่ยวกับคนที่เสียชีวิตเหล่านั้น ตอนที่เขายังมีชีวิตอยู่

ผมได้หนังสือมาสามเล่ม ผมก็เอาให้ “ทิม พิธา (ลิ้มเจริญรัตน์)” เล่มหนึ่ง เก็บไว้เองเล่มหนึ่ง แล้วอีกเล่มหนึ่งผมตั้งใจมากเลย ว่าผมจะต้องเอาไปให้พี่พิศาล และผมก็เอาให้แก แกก็ขอบคุณผม

แล้วผมก็บอกแกตรงๆ เลยว่า ผมฟังเรื่องของพี่นะ ถ้าพี่มีโอกาส (ลอง) เปิดหนังสืออ่าน ฟังเรื่องเล่าของชาวบ้าน เขาอาจจะมีบางอย่างที่พี่สัมผัสได้จากเขา

ผมก็ไม่แน่ใจว่าท่านได้อ่านหรือเปล่า? แต่ผมรู้สึกว่า ความทรงจำของคนในเหตุการณ์นั้น ไม่ว่าคุณจะเป็นเจ้าหน้าที่ หรือว่าชาวบ้านคนที่อยู่ในรถบรรทุกคันนั้น คนขับรถที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ หรือว่าอะไร มันอาจจะมีหลายมุมมองก็ได้ มันมีหลายมิติ หลายความรู้สึกในนั้น

มันมีทั้งเรื่องที่เขาอาจจะรู้สึกไม่อยากจะจำแล้ว เขาอาจจะรู้สึกผิด หรือเขาอาจจะรู้สึกกลัวจนไม่อยากจะจำ มันเป็นความรู้สึกหลายอย่างที่ผมคิดว่า คนที่ไม่อยู่ในสถานการณ์แบบนั้นควรเรียนรู้กับมัน และพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้เกิดอะไรแบบนั้นขึ้นอีก ให้ได้มากที่สุด

 

ตอนนี้ ถ้าถามผม เหลืออีกแค่ไม่กี่วัน (คดีตากใบจะหมดอายุความ) ผมเลยมั่นใจและเชื่อว่าพี่พิศาลจะกลับมา และผมก็พยายามสื่อสารกับแก ผมเชื่อว่ามันไม่ใช่แค่ปลดปล่อยแกจากข้อกล่าวหาที่ประเดประดังอยู่ในเวลานี้เท่านั้น

นี่คือโอกาสของแกที่จะทำให้ประเทศนี้ขีดเส้นบรรทัดฐานใหม่ แกกำลังรักษาความมั่นคงของชาติในความหมายที่ว่า เราต้องไม่มีทางเลือกให้กับผู้ใช้อำนาจในการที่จะฆ่าประชาชนได้ง่ายๆ แบบนี้อีก เราต้องมาสร้างบรรทัดฐานนี้ด้วยกัน และสร้างความไว้วางใจต่ออำนาจรัฐ ให้มันเกิดขึ้นในหมู่ประชาชน

ถ้า (คดี) ตากใบขาดอายุความ มันก็เหมือนเป็น “การเกิดเหตุการณ์ตากใบครั้งที่สอง” มันเกิดขึ้นอีกครั้ง มันเกิดขึ้นแล้วเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แต่นี่เราสามารถประคับประคองความยุติธรรมและความจริงได้ แล้วคุณปล่อยมันไปอีก เท่ากับตอกย้ำให้เห็นว่า ไอ้สิ่งที่มันเคยเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นอีก ทำไมเราต้องปล่อยให้มันเกิดเหตุการณ์แบบนั้นอีก?

ผมเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า ถ้าพี่พิศาลเห็นมุมนี้ แกจะกลับมา แล้วก็คอยประคับประคองความชอบธรรมของอำนาจรัฐ เท่าที่พอจะมีเหลืออยู่ ให้เดินต่อไปให้ได้ในสายตาของพี่น้องประชาชน

(เท่าที่คุยกัน แกก็เสียใจ? – ใบตองแห้ง) ผมสัมผัสถึงความเสียใจนั้นได้ เอาอย่างนี้ ไหนๆ ก็พูดแล้ว แกอึดอัดมากแล้วกัน อึดอัดจนครั้งหนึ่ง แกหลั่งน้ำตา

ผมไม่รู้ว่าแกอึดอัดจากสถานการณ์ที่แกเผชิญอยู่ตอนนั้น ที่แกถูกบีบถูกอะไรต่อมิอะไรด้วยหรือไม่? ผมไม่แน่ใจ แต่เวลาพูดถึงเรื่องนี้ เรื่องตากใบ ผมรู้สึกว่าแกมีบางอย่างอยู่ในใจ

ผมเลยเป็นห่วงว่า ถ้าเราไม่ปลดปล่อยเรื่องนี้ในศาลในกระบวนการยุติธรรมที่สังคมยอมรับ เรื่องนี้จะติดตัวแกไปตลอดกาล ซึ่งไม่น่าจะเป็นประโยชน์กับทั้งตัวแกเอง และต่อสังคมต่อผู้คนที่เหลืออยู่