ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 - 31 ตุลาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ศัลยา ประชาชาติ |
เผยแพร่ |
ไม่บ่อยครั้งนักที่เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) จะยอมรับเชิญขึ้นเวทีให้ข้อคิดคำแนะนำ บอกกล่าวถึงแนวทางการทำธุรกิจให้กับสาธารณชน
ล่าสุด เป็นอีกครั้งในโอกาสปิดหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านองค์ความรู้และความร่วมมือธุรกิจจีน (TEPCIAN) รุ่นที่ 4 ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2567 เจ้าสัวธนินท์ได้เสวนาพิเศษ เรื่อง “การส่งเสริมความสัมพันธทางการค้าการลงทุนไทย-จีนที่ยั่งยืน”
เริ่มต้นด้วยการอารัมภบทถึงภาวะของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงที่ปั่นป่วน ผันผวน แทบจะทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นสภาพดินฟ้าอากาศ เศรษฐกิจ สังคม รวมไปถึงด้านการทหาร
ที่น่าสนใจคือ ช่วงปีนี้เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงด้านผู้นำของแต่ละประเทศ นั่นหมายรวมถึงการต้องติดตามนโยบายของแต่ละประเทศคู่ค้าคู่แข่งทั้งหลายที่อาจต้องปรับเปลี่ยนไปตามผู้นำอีกด้วย
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จุดใหญ่ใจความของประเทศจีน ที่เป็นหมุดหมายสำคัญของธุรกิจซีพี ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วเช่นเดียวกัน
คุณธนินท์เล่าว่า ซีพีเข้าไปลงทุนในจีนเมื่อ 40-50 ปีก่อน สมัยนั้นซีพีใหญ่มาก เมื่อเทียบกับจีนที่ยังไม่มีอะไรเลย ไม่มีการลงทุนจากต่างประเทศ แต่มาถึงวันนี้ จีนล้ำหน้าด้านเทคโนโลยี จีนมีนักธุรกิจรุ่นหนุ่ม อายุแค่ 30 ปีเศษ แต่ได้รับการกล่าวขานว่า คือ อีลอน มัสก์ ของจีน สามารถคิดค้นทดลองยิงจรวดเข้าสู่อวกาศสำเร็จ ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นการยิงจรวดที่มีต้นทุนถูกกว่ารัฐบาลจีนทำถึง 3 เท่า
วันนี้จีนมีรถไฟฟ้าความเร็วสูง มีมหาเศรษฐีมากมาย ขณะเดียวกันมีพัฒนาการด้านเทคโนโลยีที่ดีขึ้นทุกๆ วัน มีสตาร์ตอัพเกิดใหม่นับไม่ถ้วน
คุณธนินท์บอกว่า ลักษณะเด่นที่ทำให้จีนพัฒนามาได้ไกล ก็คือ คนจีนเป็นชาติที่ชอบเปลี่ยนแปลง พร้อมที่จะเรียนรู้ ปรับตัวและพัฒนาเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ประกอบกับประเทศจีนไม่มีกฎหมายที่เป็นอุปสรรค เพราะในอดีตจีนไม่ได้มีกฎหมายมากมายเหมือนเมืองไทย
ทุกวันนี้ ไทยยังมีกฎหมายล้าหลังที่ยังใช้อยู่ ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายอาชีพสงวนที่โบราณ ไม่ทันต่อสถานการณ์
การเปลี่ยนแปลงพัฒนาของจีน มีผลให้สถานะของซีพี จากที่เคยเป็นเบอร์หนึ่ง ด้านการเลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู โดนนักธุรกิจจีนเบียดตกลงมาอยู่เบอร์ 3-4 แทน
โดยในช่วงวิกฤตโรดระบาดหมู จีนมีการทดลองใช้หมู 2 สายพันธุ์ผสมกัน ซึ่งทำให้หมูเกิดและเติบโต ไม่ติดโรคได้ดีกว่า แก้ปัญหาผลิตหมูไม่ทันต่อความต้องการ ในขณะที่ซีพียังคงยึดหลักใช้ 3 สายพันธุ์ เพราะห่วงเรื่องคุณภาพเนื้อหมูและกลัวเสียชื่อเสียง
แต่ถึงกระนั้น เจ้าสัวธนินท์ยังมีมุมมองเป็นบวกต่อการลงทุน ร่วมทุนไทย-จีน โดยมองว่า แม้ว่าปัจจุบันการเข้าไปลงทุนในจีนจะไม่ง่าย ประเทศจีนยังมีโอกาสอีกมาก โดยเฉพาะในสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ที่รุนแรงวุ่นวาย ในห้วงที่จีนถูกสหรัฐและยุโรปกีดกันทางการค้า นับเป็นโอกาสของไทย จะใช้กลยุทธ์การร่วมลงทุนกับจีน เพื่อผลิตสินค้าในไทย
“ไม่อยากให้คนไทยคิดว่าจีนเป็นคู่แข่ง ที่ผ่านมาหลายคนบ่นว่าสินค้าจีนเข้ามาตีตลาดสินค้าไทย แต่เราต้องคิดอีกมุมว่า จีนมีประชากร 1,400 ล้านคน เขาผลิตของมาขายเมืองไทย ก็ขายได้อย่างมากแค่ 70 ล้านคน แต่ถ้าเราคนไทยผลิตของไปขายจีน เราจะขายได้ตั้ง 1,400 ล้านคน โอกาสเป็นของเรามากกว่า ยิ่งจีนถูกชาติตะวันตกตั้งข้อกีดกัน ก็ยิ่งเป็นโอกาสของไทยที่จะร่วมมือ เอาความเก่งของจีนมาผลิตสินค้าที่ไทย แล้วส่งออกไปขายอเมริกา ยุโรป เราไม่ต้องเสียเวลานับหนึ่ง แค่ใช้วิธีเอาของเขามาใช้ได้เลย เราต้องคิดเสมอว่า วิกฤตจะตามมาด้วยโอกาส”
และเช่นเคยที่เจ้าสัวธนินท์แสดงความชื่นชมในตัวอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร โดยกล่าวว่า เป็นคนมีความรู้ความสามารถ มีความเข้าใจโลกที่เปลี่ยนแปลง อีกทั้งประสบการณ์ที่เคยอยู่ที่ดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทำให้คุณทักษิณรู้วิธีที่จะช่วยนำมาใช้ในการพัฒนา ผลักดันให้ไทยขึ้นสู่การเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลก แทนที่ฮ่องกง สิงคโปร์ได้ และรัฐบาลชุดนี้มาถูกเวลา เชื่อว่ารัฐบาลจะผลักดันเรื่องนี้ จะมีการแก้ไขกฎหมายให้เอื้ออำนวย โดยเฉพาะการแก้กฎหมายเปิดรับต่างชาติเข้ามาทำงานเมืองไทย และเปิดช่องให้ได้รับสัญชาติไทย
“ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยพัฒนาประเทศไทย คือ เรื่องคน เราต้องดึงคนเก่งๆ จากทั่วโลกให้มาอยู่เมืองไทย จูงใจให้ได้สัญชาติไทย เพราะประชากรคนไทยในอนาคตจะลดน้อยลงทุกปี เพราะเด็กเกิดใหม่น้อยลง เช่นเดียวกับประเทศจีน ที่อนาคต 50-60 ปีข้างหน้า มีโอกาสลดลงมากกว่าครึ่ง จากปัจจุบัน 1,400 ล้านคน อาจเหลือแค่ 700 ล้านคน ดังนั้น จำเป็นมากที่เราต้องดึงคนเก่งๆ จากทั่วโลกเข้ามาช่วยพัฒนาประเทศ ต้องเรียนรู้จากเขา ต้องให้สิทธิประโยชน์จูงใจให้เขามาอยู่เมืองไทย”
สำหรับในเรื่องธุรกิจค้าปลีก เจ้าสัวธนินท์มองว่าในอนาคตจะไม่ใช่การแข่งขันด้านราคาอีกแล้ว เพราะในยุคปัจจุบันผู้ซื้อสามารถเช็กได้อย่างสะดวกรวดเร็วว่า สินค้าชิ้นไหนราคาถูกที่สุด แค่คลิกเดียวก็รู้แล้ว ดังนั้น ตอนนี้แม้จะขายราคาถูกที่สุด แต่จะมีคนทำราคาถูกกว่ามาแข่งได้ตลอดเวลา
คนค้าขายออนไลน์ได้ ไม่ได้หมายความว่า คุณชนะแล้ว หัวใจสำคัญของการแข่งขันในโลกยุคนี้ คือ การผลิตให้ได้ต้นทุนที่ต่ำที่สุด และสามารถผลิตได้มากๆ ดังนั้น เพื่อดึงดูดการค้า การลงทุนจากต่างประเทศ สิ่งที่ไทยจะต้องให้ความสำคัญ และเตรียมให้พร้อม คือ เรื่องของพลังงาน
การใช้ไฟฟ้า ถือเป็นจุดสำคัญที่จะดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก
ประเทศไทยไทยต้องทำให้ต้นทุนการใช้ไฟฟ้าถูกลง และต้องเป็นไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ถึงจะขายของได้
เราต้องปรับเปลี่ยนและวางยุทธศาสตร์ให้ถูกต้อง ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาให้กระบวนการผลิตใช้ไฟฟ้าที่น้อยลงด้วย
“ผมมองว่า พลังงานไฟฟ้าจากนิวเคลียร์เป็นพลังงานทางเลือกที่สำคัญ เพราะนิวเคลียร์เป็นพลังงานสะอาด และอีกเรื่องที่ผมยังไม่รู้ว่ารัฐบาลจะทำอย่างไร คือ เรื่องพลังงานน้ำมันและก๊าซจากพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ โดยส่วนตัว ผมมองว่า การตกลงแบ่งผลประโยช์แบบคนละครึ่งจะเกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานมหาศาลแบบทุกวันนี้ สิ่งที่ต้องกังวล คือ พลังงานตรงนั้นต้องรีบนำขึ้นมาใช้ ไม่เช่นนั้น ในอีก 10 ปีข้างหน้า โลกจะเน้นใช้พลังงานสะอาด คนจะไม่ใช้ก๊าซกันแล้ว พลังงานตรงนั้นจะไร้ค่า”
นั่นคือวิสัยทัศน์ล่าสุดจาก “เจ้าสัวธนินท์” ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ที่เชื่อว่า ยังมีโอกาสและช่องทางมากมายหากปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงให้เข้มแข็ง และรู้วิธีพัฒนาการค้า การลงทุน แบบเดียวกับที่ประเทศจีน และหลายชาติ ทำสำเร็จมาแล้ว
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022