ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 - 31 ตุลาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | Cool Tech |
ผู้เขียน | จิตต์สุภา ฉิน |
เผยแพร่ |
Cool Tech | จิตต์สุภา ฉิน
Instagram : @sueching
Facebook.com/JitsupaChin
Vision Pro
ไอเท็มใหม่ประจำห้องผ่าตัด
Apple เริ่มขาย Vision Pro อุปกรณ์สวมศีรษะแสดงภาพแบบมิกซ์เรียลลิตี้เครื่องแรกของแบรนด์
และในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2024 ทุกคนที่ได้ลองรวมถึงตัวฉันเองด้วยต่างก็เห็นตรงกันว่าเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ชวนประทับใจเป็นอย่างมาก
ทั้งในด้านความสามารถของผลิตภัณฑ์ ความคมชัดของภาพ ไปจนถึงฟังก์ชั่นการใช้งานที่ผสานโลกจริงเข้ากับโลกเสมือนได้เกือบแนบเนียนไร้รอยต่อ
อย่างไรก็ตาม วางขายไปได้สักพักก็เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าลูกค้าโดยทั่วไปไม่ได้อ้าแขนรับ Vision Pro กันขนาดนั้น
ถึงแม้ว่าคนที่ได้ไปทดลองใช้งานที่ Apple Store ทุกคนจะรู้สึก ‘ว้าว’ กับสิ่งที่ได้เห็น แต่ความว้าวนั่นไม่เพียงพอที่จะแปรเปลี่ยนเป็นยอดขายที่ยั่งยืนได้และต่ำจากเป้าที่ Apple มาดหมายเอาไว้มาก
สาเหตุหลักๆ ที่ผู้บริโภคไม่ยอมควักกระเป๋าซื้อ Vision Pro ก็มาจากราคาค่าตัวที่สูงลิ่วสำหรับคนทั่วไป ด้วยราคาเริ่มต้นที่ 3,500 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 116,000 บาท
ถ้าหากไม่ใช่คนที่ชื่นชอบเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือคนในกลุ่มนิชที่รีดประโยชน์ใช้สอยจากอุปกรณ์ประเภทนี้ได้เต็มที่ก็คงรู้สึกว่าไม่ใช่การลงทุนที่คุ้มค่าสักเท่าไหร่
อีกสาเหตุหนึ่งคือรูปทรงของ Vision Pro ที่หากสวมใส่เพื่อใช้งานแป๊บๆ ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าจะให้ใส่วันละหลายๆ ชั่วโมงเพื่อท่องเว็บ ดูหนัง หรือทำงาน ก็คงไม่ไหว เพราะขนาดที่ค่อนข้างใหญ่และน้ำหนักที่ใส่แล้วชวนเมื่อยกล้ามเนื้อบนใบหน้า
หาก Apple ต้องการทำให้ Vision Pro ขายดีกว่านี้ในกลุ่มลูกค้าทั่วไปก็น่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนบางอย่างในอนาคต
อย่างเช่น รออีกสักปีสองปีให้ตลาดของ spatial computing เติบโตมากกว่านี้แล้วออกรุ่นเวอร์ชั่นราคาสบายกระเป๋าขึ้นออกมาโดยอาจจะตัดฟีเจอร์บางอย่างออก
หรือออกแบบใหม่ให้รูปทรงกะทัดรัดขึ้นกว่าทุกวันนี้
แม้ว่าผู้บริโภคทั่วไปยังไม่เก็ทว่าทำไมจะต้องซื้อ Vision Pro
แต่ข่าวดีสำหรับ Apple ก็คือผู้ใช้งานในกลุ่มนิชบางกลุ่มได้มองเห็นประโยชน์ใช้สอยที่เข้ากับรูปแบบการทำงานของตัวเอง และนำ Vision Pro ไปใช้ได้อย่างลงตัว ทำให้งานที่ทำอยู่เดิมง่ายขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
หนึ่งในกลุ่มนั้นก็คือหมอผ่าตัดค่ะ
TIME รายงานเรื่องราวของศัลยแพทย์คนหนึ่งที่มีชื่อว่า Santiago Horgan จาก University of California ใน San Diego ซึ่งเป็นคนที่ผ่าตัดกระเพาะอาหารแบบบายพาสโดยใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้ามาช่วยเป็นคนแรกของโลกเมื่อ 24 ปีที่แล้ว
และในตอนนี้เขาได้เริ่มนำเครื่องมือชิ้นใหม่เข้ามาช่วยโดยบอกว่าจะเปลี่ยนโฉมหน้าของห้องผ่าตัดไปเลย
และแน่นอนว่าสิ่งนั้นก็คือ Apple Vision Pro นั่นเอง
คุณหมอ Horgan เล่าว่ากระบวนการของการผ่าตัดผ่านกล้อง หรือ laparoscopic surgery คือการที่หมอจะต้องส่งกล้องขนาดจิ๋วเข้าในในรอยผ่ารอยเล็กๆ บนร่างกายของผู้ป่วย
ภาพที่ถ่ายจากกล้องจะถูกส่งขึ้นมาแสดงไว้บนจอ หมอก็จะต้องลงมือผ่าตัดโดยเงยหน้ามองจอไปด้วยซึ่งต้องอาศัยการทำงานที่แม่นยำระหว่างมือและสายตา ยังไม่นับปัจจัยอื่นๆ รอบตัวที่ส่งผลกระทบต่อการผ่าตัดด้วย
ความท้าทายเหล่านี้ส่งผลให้ศัลยแพทย์ส่วนใหญ่บอกว่ารู้สึกเหนื่อยล้าจากการผ่าตัดส่องกล้อง และความเจ็บปวดเมื่อยล้าต่างๆ เหล่านี้ก็ทำให้อยากจะเกษียณก่อนกำหนด
จนกระทั่งมีการค้นพบว่าอุปกรณ์สวมศีรษะแบบมิกซ์เรียลลิตี้สามารถช่วยบรรเทาความเจ็บปวดเมื่อยล้าเหล่านั้นได้ ช่วยให้แพทย์สามารถมองบริเวณที่ต้องผ่าตัดได้โดยไม่ต้องเงยหน้าขึ้นมองจอเพราะมีจอเสมือนจริงฉายซ้อนให้เห็นตรงหน้าอยู่แล้ว
แถมยังมีรายละเอียดข้อมูลสำคัญๆ อย่างอื่น อย่างเช่น สัญญาณชีพของผู้ป่วย แสดงให้เห็นอยู่ข้างๆ กันเลยด้วย
ที่ผ่านมา คุณหมอ Horgan ก็เคยลองใช้อุปกรณ์สวมศีรษะของค่ายอื่นๆ มาแล้ว ทั้ง Google Glass และ Microsoft HoloLens แต่ก็รู้สึกว่าภาพยังคมชัดไม่พอ
เมื่อได้ลองใช้ Apple Vision Pro ก็รู้สึกประทับใจมากและขออนุมัติจากคณะกรรมการเพื่อให้สามารถใช้อุปกรณ์ชิ้นนี้ในห้องผ่าตัดได้สำเร็จ และที่ผ่านมาก็ได้มีการใช้ Vision Pro ในการผ่าตัดประเภทอื่นๆ มาแล้วด้วย
หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจมากคือตัวแทนจากทางมหาวิทยาลัยให้ความคิดเห็นว่าสนนราคาแสนกว่าบาทของ Vision Pro อาจจะดูจับต้องไม่ได้สำหรับผู้บริโภคทั่วไป แต่เมื่อเทียบกับงบประมาณจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ในแวดวงสาธารณสุขแล้วตัวเลขเท่านี้ถือว่าเป็นฝุ่นผงเม็ดเล็กๆ เท่านั้น
เขาบอกว่าลำพังแค่จอในห้องผ่าตัดอย่างเดียวก็ราคาจอละ 6-7 แสนขึ้นไปแล้ว ดังนั้น อุปกรณ์สวมศีรษะราคาแค่แสนกว่าบาทถือว่าจิ๊บจ๊อยมากๆ และอันที่จริงโรงพยาบาลตามชุมชนเล็กๆ ที่ไม่ได้มีงบประมาณสูงนักก็ยังสามารถเข้าถึงได้
ในท้องตลาดตอนนี้ ผู้เล่นไม่ได้มีเพียงแค่รายที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว แต่ยังมีสตาร์ตอัพอย่าง Augmedics หรือผู้ผลิตแว่นอัจฉริยะที่เราอาจจะคุ้นชื่อกันอย่าง Vuzix ที่ออกแบบแว่นมาสำหรับการใช้งานหลากหลายด้วยน้ำหนักที่เบาสบายหน้า
ดังนั้น ทีมแพทย์ที่ต้องการใช้แว่นหรืออุปกรณ์สวมศีรษะเข้ามาช่วยในกระบวนการผ่าตัดก็สามารถลองได้ว่ายี่ห้อไหนมีจุดแข็งจุดอ่อนอย่างไรที่เหมาะกับประเภทงานของตัวเองมากที่สุด
ฉันคิดว่า Apple เองก็คงไม่ได้คาดการณ์ได้ล่วงหน้าครบถ้วนว่า Vision Pro จะถูกนำไปใช้ทางไหนบ้าง หรือวงการไหนจะให้เสียงตอบรับที่ดีบ้าง
ปรากฏการณ์นี้คล้ายๆ กับตอนออก iPad ใหม่ๆ Apple ไม่ได้บอกอะไรมากไปกว่าการเป็นอุปกรณ์ที่มาพร้อมจอที่ใหญ่และใช้งานง่ายกว่า iPhone
แต่ทำไปทำมาก็มีรูปแบบการใช้งานที่สดใหม่และครีเอทีฟออกมาให้ได้เห็นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะในหมู่แวดวงนักบิน หมอ นักกีฬา หรือครู จนกลายเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่หลายวิชาชีพขาดไม่ได้
หรือ Apple Watch ที่ก็ได้กลายเป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิตคนในเหตุการณ์ต่างๆ จนนำมาซึ่งธรรมเนียมปฏิบัติของการเขียนจดหมายขอบคุณ Apple ว่ารอดชีวิตมาด้วยฟังก์ชั่นอะไรของ Apple Watch บ้าง
ดังนั้น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า Spatial Computer อย่าง Vision Pro ของ Apple หรือของค่ายอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกันนั้นจะมีศักยภาพที่ยิ่งใหญ่อีกหลายรูปแบบรอคอยอยู่ในอนาคตแน่นอน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022