ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 - 31 ตุลาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | On History |
ผู้เขียน | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ |
เผยแพร่ |
ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ บริเวณพื้นที่เขตปทุมวันในปัจจุบัน ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของทุ่งบางกะปิอันกว้างใหญ่ โดยแต่เดิมในสมัยรัชกาลที่ 4 นั้น พื้นที่บริเวณทางด้านใต้ของคลองแสนแสบ ตั้งแต่แยกปทุมวัน ไปจนถึงบริเวณแยกราชประสงค์นั้น ถูกใช้เป็นเขตพื้นที่ “นาหลวง”
ต่อมา รัชกาลที่ 4 ทรงสร้างวังปทุมวัน โดยโปรดให้สร้างขึ้นในบริเวณดังกล่าว ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของศูนย์กลางพระนครในขณะนั้น เมื่อเรือน พ.ศ.2396
โดยเล่ากันว่าแถวนั้นมีบึงบัวอยู่มาก พระองค์จึงโปรดให้ขุดสระบัวขึ้นให้สวยงามอีกสระหนึ่ง โดยแบ่งพื้นที่เป็นสระในด้านเหนือให้เป็นเขตพระราชฐาน ส่วนสระนอกด้านใต้ไว้เป็นที่แล่นเรือของข้าราชการ และประชาชนโดยทั่วไป
โดยพระองค์ได้พระราชทานชื่อพื้นที่บริเวณนี้เสียใหม่ว่า “ปทุมวัน” ซึ่งก็เป็นชื่อที่ใช้เรียกพื้นที่บริเวณดังกล่าวมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้นั่นแหละ
และจึงไม่แปลกอะไรเลยด้วยนะครับ ที่วังแห่งนี้จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “วังสระปทุม” ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่า “สระบัว” ในเมื่อแต่เดิมเคยเต็มไปด้วยสระบัวอยู่อย่างมากมายเสียขนาดนั้น
แต่รัชกาลที่ 4 ไม่ได้ทรงสร้างเฉพาะเพียงแต่วังเท่านั้น เพราะยังสร้างวัดขึ้นที่ริมสระนอกที่อยู่ทางด้านทิศใต้
โดยกล่าวกันว่า ทรงสร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี โดยได้พระราชทานชื่อวัดแห่งนี้ว่า “วัดปทุมวนาราม”
แต่โดยทั่วไปแล้ว ชาวบ้านในสมัยนั้น นิยมเรียกกันว่า “วัดสระปทุม” หรือ “วัดสระ” เสียมากกว่า
ผมมีเกร็ดจะเพิ่มเติมให้อีกนิดด้วยว่า ภาพจิตรกรรมที่วาดอยู่บนผนังเหนือกรอบหน้าต่าง ภายในพระอุโบสถของวัดแห่งนี้ ได้เขียนรูปเรื่องราวของพระอินทร์ที่ประทับอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ โดยได้เขียนภาพสระน้ำ 4 สระ ที่มีอยู่ในสวนบนสวรรค์ชั้นดังกล่าว อันได้แก่ สวนนันทวัน, ปารุสกวัน, จิตรลดาวัน และมิสกวัน อย่างเน้นย้ำ และให้ความสำคัญเป็นพิเศษ
แน่นอนว่า ภายในภาพเขียนรูปสระน้ำทั้ง 4 สระ ย่อมเต็มไปด้วยดอกบัว ไม่ต่างอะไรกับพื้นที่ย่านปทุมวัน ที่พระองค์เพิ่งจะพระราชทานชื่อให้ใหม่นี้เช่นกัน
ถัดจากวัดปทุมวารามลงไปทางใต้เดิมเคยเป็นวังอีกแห่งหนึ่งคือ “วังเพ็ชรบูรณ์” แต่วังแห่งนี้ไม่ได้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เหมือนอย่างวัดปทุมวนาราม และวังปทุมวัน แต่เพิ่งถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6
เพื่อให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย พระราชโอรสพระองค์ที่ 72 ในรัชกาลที่ 5 ผู้เป็นพระราชอนุชาของพระองค์
หนังสือตำนานวังเก่า ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ระบุว่า รัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริจะปลูกวังให้เจ้าฟ้าจุฑาธุชฯ ตรงพื้นที่ระหว่างพระราชวังสวนจิตรลดา กับพระราชวังสวนดุสิต แต่ก็ทรงสวรรคตไปเสียก่อนที่เจ้าฟ้าจุฑาธุชฯ จะเสด็จกลับมาจากการศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ดังนั้น จึงยังไม่ได้ทรงสร้างวังลงในบริเวสณพื้นที่ดังกล่าว
และเมื่อเจ้าฟ้าจุฑาธุชฯ เสด็จกลับมายังประเทศสยามแล้ว รัชกาลที่ 6 ก็สร้างวังให้เป็นที่ประทับของพระองค์ โดยปลูกขึ้นตรงบริเวณที่เป็นห้างเซ็นทรัลเวิลด์ในปัจจุบัน
ส่วนชื่อ “วังเพ็ชรบูรณ์” นั้น ก็ตั้งขึ้นตามพระราชอิสริยยศของเจ้าฟ้าจุฑาธุชฯ นี้เอง
ในระหว่างที่ปลูกวังเพ็ชรบูรณ์อยู่เจ้าฟ้าจุฑาธุชฯ ทรงพำนักอยู่ที่วังสระปทุม และก็พำนักอยู่จนสิ้นพระชนม์ที่วังแห่งนั้นเลย โดยไม่เคยได้พำนักที่วังเพ็ชรบูรณ์เลยสักครั้ง
อย่างไรก็ตาม วังแห่งนี้ก็ได้ตกเป็นของพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช พระโอรสของเจ้าฟ้าจุฑาธุชฯ ในที่สุด
ในเรือน พ.ศ.2525 พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช ซึ่งทรงเป็นพระสวามีองค์ที่ 2 ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ด้วยนั้น ก็ได้ขายวังไปให้แก่นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ ไปในราคา 25 ล้านบาท แล้วเสด็จไปอยู่ต่างประเทศจนทิวงคต
ส่วนนายวิรุฬนั้นได้สร้างห้างเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ลงบนพื้นที่ที่ได้ซื้อมา ก่อนที่จะขายต่อและถูกแปรสภาพเป็นห้างเซ็นทรัลเวิลด์อย่างในปัจจุบัน
แต่เดิมอาณาบริเวณของวังสระปทุมจึงสิ้นสุดลงที่บริเวณวัดปทุมวนาราม ซึ่งสร้างขึ้นตามพระราชดำริในรัชกาลที่ 5 วังเพ็ชรบูรณ์ที่ถูกแยกขาดจากวังสระปทุมด้วย “พื้นที่กระสุนจริง” ที่วัดดังกล่าว และวางตัวอยู่ในอาณาบริเวณที่ปัจจุบันเรียกว่า สี่แยกราชประสงค์ ซึ่งเกิดจากการตัดกันของถนนสองสายคือ ถนนราชดำริ และถนนเพลินจิต
“ถนนราชดำริ” สร้างแล้วเสร็จเมื่อเรือน พ.ศ.2445 ตามพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 ที่โปรดให้ตัดถนนกว้างขวางกว่าที่พระนครเคยมี
เนื่องจากถนนสายที่มีมาก่อนในกรุงเทพพระมหานคร เช่น ถนนเจริญกรุง แคบเกินไปจึงทำให้เกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง จนทำให้เกิดกระแสวิจารณ์ในยุคนั้นว่า ถนนเส้นนี้กว้างเกินความจำเป็น
กาลเวลาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าถนนราชดำริกว้างเกินความจำเป็นอย่างที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสมัยนั้นหรือเปล่า? ส่วน “ถนนเพลินจิต” สร้างขึ้นในสมัยต่อมาคือรัชกาลที่ 6 โดยสร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2463 ก่อนที่จะได้รับการพระราชทานนามในปีถัดมาตรงกับเรือน พ.ศ.2464 โดยจุดตัดกันของถนนราชดำริ และถนนเพลินจิตนั้น ก็คือพื้นที่บริเวณที่เรียกว่า “แยกราชประสงค์” อันมีวังเพ็ชรบูรณ์ตั้งอยู่นั่นเอง
จากที่ผมได้เล่าให้ฟังมาทั้งหมดนั้น ก็คงจะเห็นได้อย่างไม่ยากเย็นนักว่า พื้นที่บริเวณตั้งแต่แยกปทุมวัน ไปจนถึงแยกราชประสงค์นั้น เกิดจากการขยายตัวของชุมชนเมืองในช่วงระหว่างรัชกาลที่ 4-รัชกาลที่ 6
แต่ทำไมทั้งรัชกาลที่ 4, 5 และ 6 จึงทรงต้องมาสร้างวัด วัง และถนนสายใหญ่ ในพื้นที่ท้องนา อันเป็นของทุ่งบางกะปิในสมัยโบราณ ซึ่งอยู่ออกมานอกขอบของพระนครในยุคโน้นมาเสียไกลลิบกันด้วยล่ะครับ
เกี่ยวกับเรื่องนี้เราอาจจะลองหาคำตอบได้จากบันทึกของฝรั่งคนหนึ่งชื่อ เจ. อันโตนิโอ (J. Antonio) ซึ่งได้เดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ เมื่อเรือน พ.ศ.2447
ช่วงเวลาดังกล่าวตรงกับในช่วงปลายของสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเขาได้เขียนหนังสือที่คงแปลจะแปลออกมาง่ายๆ ว่าชื่อ “นำเที่ยวบางกอกและสยาม” (Guide to Bangkok and Siam) ซึ่งแม้ว่าจะไม่ใช่หนังสือทำนอง Lonely Planet ฉบับแรกที่ฝรั่งเขียนพาเที่ยวกรุงเทพฯ แต่ก็มีสิ่งที่น่าสนใจอยู่ในหนังสือฉบับนี้
นายอันโตนิโอว่าบางกอกและสยามนั้นอยู่ “นอกเส้นทาง” (out of track) ของโลก ไม่ว่าเส้นทางที่ว่าจะเป็นเส้นทางการค้า เส้นทางท่องเที่ยวผจญภัย หรือจะเป็นเส้นทางอะไรก็ตามที แต่นายอันโตนิโอก็บันทึกไว้ด้วยว่า บางกอกในฐานะศูนย์กลางอำนาจรัฐของสยาม กำลังขยายเมืองใหม่ขึ้นมาทางด้านทิศเหนือของเมืองเก่า ที่มีกำแพงเมืองล้อมรอบ ซึ่งหมายถึงเมืองที่มีพระบรมมหาราชวัง และวัดพระแก้วเป็นศูนย์กลางที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1
ลักษณะอย่างหนึ่งที่เมืองใหม่ทางทิศเหนือนี้ต่างจากเมืองเก่าก็คือมีการสร้างวังด้วยสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก ซึ่งแปลกไปจากธรรมเนียมดั้งเดิมของสยาม ในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งร่วมสมัยกับที่นายอันโตนิโอเข้ามาในบางกอก เป็นช่วงที่รัชกาลที่ 5 โปรดให้สร้างวังสวนดุสิต หรือพระราชวังดุสิตในปัจจุบัน ที่มีพระที่นั่งทรงฝรั่งอย่าง พระที่นั่งวิมานเมฆ พระที่นั่งอัมพรสถาน หรือพระที่นั่งที่มาแล้วเสร็จเอาในสมัยรัชกาลที่ 6 อย่าง พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นสำคัญ
หลังสร้างวังสวนดุสิต รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้สร้างวังสวนสุนันทาเพิ่มเติม ในละแวกไม่ห่างกันนัก แถมยังโปรดให้ปลูกพระตำหนักพญาไท ในพื้นที่ท้องทุ่งที่ห่างไกลออกไปจากศูนย์กลางของเมืองในสมัยนั้น
และต่อมารัชกาลที่ 6 ก็โปรดให้ขยายและสร้างเป็นพระราชวังพญาไท ปัจจุบันอยู่ภายในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ย่านราชวิถี ที่นี้มีการสร้างเมืองจำลองของรัชกาลที่ 6 ที่ชื่อว่าเมืองดุสิตธานีอักด้วย นี่ยังไม่ได้นับวังสร้างใหม่อีกหลายแห่ง เช่น วังสวนจิตรลดา เป็นต้น
ดังนั้น จึงอาจจะกล่าวได้ว่า พื้นที่บริเวณที่ผมกล่าวถึงมาทั้งหมดนี้ เป็นย่านสมัยใหม่ของบางกอก ที่เริ่มขยายตัวตั้งแต่ช่วงระหว่างสมัยรัชกาลที่ 5-รัชกาลที่ 6 และแยกราชประสงค์เองก็อยู่ท่ามกลางความเจริญ ของเมืองที่เริ่มขยายตัวขึ้นมาทางทิศเหนือของเมืองเก่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าว โดยมีพื้นที่บริเวณแยกปทุมวันที่นำร่องมาก่อนแล้ว
เอาเข้าจริงแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรนักที่จะมีการสร้างพระราชวังปทุมวัน หรือวังสระปทุม และวังเพ็ชรบูรณ์อยู่ในบริเวณที่เคยเป็นทุ่งนาบนชายขอบของพระนคร อย่างทุ่งบางกะปิเพราะพื้นที่บริเวณดังกล่าวดั้งอยู่บนเขตเมืองที่กำลังถูกขยายขึ้นมาใหม่ในช่วงเวลาที่มีการสร้างวังทั้งสองแห่งนั่นเอง •
On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022