ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 - 31 ตุลาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | เศรษฐกิจ |
เผยแพร่ |
ในที่สุดก็มีวันนี้ที่รอคอย หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เซอร์ไพรส์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ลง 0.25% จาก 2.50% อยู่ที่ 2.25% ต่อปี เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา เรียกว่ากว่าจะมีวันนี้ได้ ต้องรอนานกว่า 4 ปี
แม้มาถูกทาง ถูกจังหวะ แต่ยังไม่วายมีเสียงกดดันถึง กนง.ให้ลดดอกเบี้ยต่อก๊อกสองนัดวันที่ 18 ธันวาคม 2567 นี้ รวมถึงจี้ “รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” เร่งคลอดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ รับดอกเบี้ยขาลง
โดยมองว่าแค่ลดดอกเบี้ยสลึงเดียว แรงส่งคงไม่พอพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ด้วยสภาพเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า ติดหล่มหนี้เรื้อรัง ทำให้แบงก์ยังตั้งการ์ดสกัดหนี้เสียเหมือนเดิม แต่ก็ถือว่าช่วยประคับประคองเศรษฐกิจปี 2567 ไม่ให้ทรุดหนักไปมากกว่านี้ได้บ้างไม่มากก็น้อย
“พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า การที่ กนง.ลดดอกเบี้ยลง เพื่อผ่อนคลายการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่คงไม่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่แบงก์จะเพิ่มความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น แต่ช่วยแบ่งเบาภาระผู้เป็นหนี้ ลดต้นทุนภาคธุรกิจ โดยปีนี้คาด กนง.คงลดดอกเบี้ยแค่ 1 ครั้ง รอลดอีก 1-2 ครั้ง หลังกลางปี 2568 เหลือ 1.75%
เนื่องจากไตรมาส 4 ปี 2567 ได้ผลบวกระยะสั้นจากนโยบายแจกเงินของรัฐบาล จะทำให้จีดีพีไตรมาส 4 เติบโตเกิน 4% เมื่อเทียบกับปี 2566 โดยคาดการณ์จีดีพีทั้งปีนี้จะเติบโต 2.8% และอาจจะขยายตัวมากขึ้น ถ้ามีมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมไตรมาสสุดท้ายนี้ เช่น ช้อปดีมีคืน เราเที่ยวด้วยกัน
ส่วนปี 2568 ได้ผลบวกการแจกเงินเฟสสองจะเริ่มใช้ไตรมาส 2 ถึงไตรมาส 3 ส่งผลเศรษฐกิจไทยเติบโต 3% ตอนนี้นโยบายการคลังผ่านการแจกเงินและนโยบายการเงินโดยลดดอกเบี้ยมาแล้ว เหลือการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ
“สุรพล โอภาสเสถียร” ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) กล่าวว่า การลดดอกเบี้ยไม่ช่วยให้หนี้เสียลดลง แต่ส่งผลดีต่อผู้เป็นหนี้และกำลังมีปัญหา ถ้าดอกเบี้ยลดอาจทำให้การปรับโครงสร้างหนี้ง่ายขึ้น แต่ขึ้นอยู่กับมาตรการรัฐที่จะออกมาด้วย เพราะการปรับโครงสร้างหนี้เหมือนยื่นขอกู้ใหม่ ต้องดูสถานะการเงิน รายได้ ความสามารถการชำระหนี้ และแบงก์ยังเข้มการปล่อยกู้ ทำให้สินเชื่อโตต่ำ ณ เดือนสิงหาคม 2567 มียอดรวม 13.63 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.8% เมื่อเทียบกับปี 2566 กนง.จึงลดดอกเบี้ยเพื่อลดความกังวลให้กับตลาด
ขณะที่หนี้เสียค้างชำระเกิน 90 วัน เพิ่มขึ้น 13.3% อยู่ที่กว่า 1.18 ล้านล้านบาท เป็นบ้านกว่า 230,481 ล้านบาท รถยนต์กว่า 259,330 ล้านบาท บัตรเครดิตกว่า 69,306 ล้านบาท สินเชื่อบุคคลกว่า 284,073 ล้านบาท ส่วนหนี้ค้างชำระ 31-90 วัน หรือหนี้ที่กำลังจะเสีย อยู่ที่กว่า 641,393 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.9% เป็นบ้านกว่า 187,199 ล้านบาท รถยนต์กว่า 187,386 ล้านบาท บัตรเครดิตกว่า 10,796 ล้านบาท สินเชื่อบุคคลกว่า 135,808 ล้านบาท
และมีแนวโน้มหนี้เสียจะไหลต่อถึง 1.2 ล้านล้านบาท เนื่องจากการปรับโครงสร้างหนี้ทำได้ยาก
ฝั่ง “วิทัย รัตนากร” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน มองการลดดอกเบี้ยจะทำให้หนี้ครัวเรือนลดลง แต่ไม่ได้ปักหัวลงทันที และเพื่อให้ได้ผลต้องลดดอกเบี้ยเป็นซีรีส์ ซึ่งหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เป็นปัญหาใหญ่ ใช้มาตรการเดียวแก้ไขไม่ได้ ต้องใช้หลายมาตรการทำอย่างต่อเนื่อง และต้องใช้เวลา โดยเฉพาะกลุ่มฐานราก ไม่มีรายได้เพิ่ม แต่หนี้เท่าเดิม ต้องแก้ด้วยการเพิ่มรายได้ ปรับโครงสร้างหนี้ ดึงออกจากหนี้นอกระบบมาอยู่ในระบบ โดยที่ผ่านมามีคนมารีไฟแนนซ์หนี้กับออมสินจำนวนมาก เพราะดอกเบี้ยถูก
ในมุมของภาคอสังหาริมทรัพย์ “สุนทร สถาพร” นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สะท้อนลดดอกเบี้ยเป็นสัญญาณดีต่อเศรษฐกิจ ทำให้เงินบาทอ่อนค่า เพิ่มรายได้การส่งออก ขณะที่อสังหาริมทรัพย์ได้อานิสงส์บ้าง คนที่มีกำลังซื้อจะตัดสินใจเร็วขึ้น เมื่อเห็นดอกเบี้ยลด และลดภาระคนผ่อนบ้าน โดยดอกเบี้ยลด 0.25% ประหยัดได้ล้านละ 208 บาทต่อเดือน หรือ 2,500 บาทต่อปี ขณะที่ผู้ประกอบการประหยัดดอกเบี้ยได้ล้านละ 2,500 บาทต่อปี
แต่ความสัมพันธ์ของดอกเบี้ยนโยบายกับดอกเบี้ยแบงก์พาณิชย์ ไม่ได้แปรผันทันทีหรืออาจลดน้อยกว่า 0.25% ก็ได้ และถ้าแบงก์ไม่ปล่อยกู้ ดอกเบี้ยถูกก็ไม่มีประโยชน์ ซึ่งปัจจุบันตลาดอสังหาริมทรัพย์ถือว่าเป็นยุคตกท้องช้างหรือถึงจุดต่ำสุดแล้ว จากยอดรีเจ็กต์เรตสูงถึง 40-45%
จึงน่าจะถึงเวลาที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนเกณฑ์ LTV ได้แล้ว
เช่นเดียวกับ “ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต” นายกสมาคมอาคารชุดไทย ที่มองว่าหลังลดดอกเบี้ยนโยบายแล้ว สิ่งที่ ธปท.ต้องพิจารณาต่อคือ ออกนโยบายการเงินเพิ่ม เลิกมาตรการ LTV ชั่วคราวให้กู้ได้ 100% ซื้อบ้านหลังที่สอง รับกับการลดดอกเบี้ยครั้งนี้
อย่างไรก็ดี นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ กนง.ลดดอกเบี้ย เพราะช่วยลดภาระผู้เป็นหนี้และกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เมื่อหนี้ลดลง คนจะมีเงินเหลือมาจับจ่ายใช้สอย ขณะที่ผลต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ คงไม่ช่วยกระตุ้นตลาดให้เป็นบวกในทันที เพราะกำลังซื้อในประเทศอ่อนแอและตลาดยังไม่ฟื้นตัว แต่จะช่วยประคับประคองตลาดไม่ให้ติดลบไปมากกว่านี้
การลดดอกเบี้ยทุก 0.25% เพิ่มกำลังซื้อได้ 2% ลดต้นทุนการเงินของผู้ประกอบการได้ 1 ใน 3 ของดอกเบี้ยหรือ 0.1% รวมถึงยังทำให้เงินบาทอ่อนค่า ส่งผลดีต่อกำลังซื้อต่างชาติที่ชะลอตัวกลับมาคึกคักมากขึ้น
ทั้งนี้ คาดว่าในเดือนธันวาคม 2567 ถึงต้นปี 2568 กนง.น่าจะลดดอกเบี้ยลงอีกครั้ง
ขณะที่ “อิสระ บุญยัง” นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ประเมินว่าด้วยปัจจุบันตัวแปรทางเศรษฐกิจ ยังคงมีอีกหลายปัจจัยทั้งภายนอกและภายในประเทศ แม้ลดดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นปัจจัยหนึ่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่ถือเป็นปัจจัยสำคัญช่วยมาตรการทางการคลังของรัฐบาลในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งนโยบายการเงินส่งผลได้รวดเร็วกว่านโยบายการคลัง โดยเฉพาะการลงทุนด้านต่างๆ
สำหรับผลต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ การลดดอกเบี้ยส่งผลดีต่อการเข้าถึงสินเชื่อใหม่ของผู้ซื้อที่อยู่อาศัย การแก้ปัญหาภาระหนี้และการปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อผู้ประกอบการทุกประเภท ที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นทรัพย์หลักประกัน โดยเฉพาะที่ผ่านมารัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือ เช่น ลดค่าโอน ค่าจดจำนอง สนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษผ่านธนาคารของรัฐและครอบคลุมถึงบ้านมือสอง ส่งผลดีต่อการจำหน่ายทรัพย์หลักประกันของสถาบันการเงินและบริษัทบริหารสินทรัพย์ต่างๆ
จึงเชื่อว่าทั้ง ธปท.และ กนง.ที่จะประชุมครั้งสุดท้ายของปี 2567 ในวันที่ 18 ธันวาคมนี้ จะใช้ดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือสำคัญ ช่วยแก้ปัญหาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจร่วมกับมาตรการอื่นๆ ของรัฐบาล
ไม่ใช่แค่ภาคธุรกิจที่ลุ้นกันตัวโก่ง คนเป็นหนี้ทั่วประเทศก็ลุ้นหนักไม่แพ้กัน
คงต้องจับตา 18 ธันวาคมนี้ “ดอกเบี้ยไทย” จะถูกหั่นอีกครั้งหรือไม่ ในเมื่อเสียงเรียกร้องยังดังกึกก้อง
ครั้งเดียวไม่พอ!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022