สังคมบ้าดารา | คำ ผกา

คำ ผกา

กรณีดิไอคอนน่าสนใจมาก

เพราะมันไม่ใช่แค่ความฉ้อฉลที่เกิดกับธุรกิจขายตรงหรือการเป็นแชร์ลูกโซ่ฉ้อโกงประชาชน แบบที่เคยเกิดขึ้นกับคดีอื่นๆ ก่อนหน้านี้

แต่ทุกเรื่องราวของดิไอคอนมีมิติทางสังคมทางวัฒนธรรมชวนให้ถอดรหัสได้หลายเรื่อง

และฉันจะพยายามถอดรหัสนั้นดู

 

ในอดีตมีคดีแชร์แม่ชม้อย ทิพย์โส มีคดีชาร์เตอร์ของเอกยุทธ อัญชัญบุตร แต่ความหวือหวาของข่าวเป็นแค่เรื่องเม็ดเงินมหาศาลในคดีฉ้อโกงที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้แต่ไม่มีมิติทาง “ศีลธรรม” หรือความรู้สึกโกรธแค้นแบบรวมหมู่ (collective) เพราะสังคมเห็นว่าเป็นเรื่องของคนมีเงิน คนมีสีฉ้อโกงกันเอง เช่น เหยื่อที่ถูกโกงกรณีแชร์แม่ชม้อยมีแต่ข้าราชการ ทหารยศสูงๆ คุณหญิง คุณนาย หรือกรณีแชร์ชาร์เตอร์ก็เช่นเดียวกัน

ในแง่หนึ่งชาวบ้านที่หาเช้ากินค่ำก็ได้คติเตือนใจตัวเองว่า “ดูสิ ขนาดคนมีความรู้ ทหารยศใหญ่ๆ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ยังโดนหลอกได้เลย”

หรือได้ความรู้สึกประโลมใจตัวเองว่า “เออ คนรวยๆ นี่เอาเข้าจริงก็ไม่เห็นจะฉลาดเฉลียวอะไร สุดท้ายก็ตายเพราะความโลภเหมือนๆ กัน”

อารมณ์ร่วมของสังคมต่อข่าวแชร์ลูกโซ่ในอดีตจึงเป็นเรื่อง “คนจนสมเพชคนรวย”

 

แต่กรณีของดิไอคอน ซึ่งไม่ได้เป็นการ “ลงทุน” แต่ธุรกิจของดิไอคอนไปต่อยอดความฝันแบบ “เสื่อผืนหมอนใบ” ว่าจากคนไม่มีอะไรเลย เพียงเข้ามาเป็น “นักขาย” ของเราและขยันให้มากพอจากโนบอดี้ก็จะกลายเป็นมหาเศรษฐีมีชีวิตดีๆ เยี่ยงดาราดัง

เป็นเหตุให้มีคนหลงเชื่อจนสิ้นเนื้อประดาตัว

และจุดที่เป็นชนวนความโกรธของสังคมจนเป็น “อารมณ์ร่วม” คือ คนแก่ถูกหลอกให้ลงทุนจนหมดเนื้อหมดตัวแทบฆ่าตัวตาย

ตรงนี้ก็สานต่อเป็นละครคุณธรรมอีกชุดนั่นคือ ทำให้รายการโทรทัศน์ พิธีกร ทนายหนึ่งสอง สาม สี่ เครือข่ายฮีโร่เอกชนแบบโรบินฮู้ดจอมพลังอะไรต่างๆ ก็ได้แสดงบทบาท “ธรรมชนะอธรรม” หรือ “ปราบคนพาลอภิบาลคนดี” (ที่เขียนเช่นนี้ ฉันไม่ได้บอกว่าเขาทำในสิ่งที่ไม่ดี แต่กำลังถอดรหัสของปรากฏการณ์นี้ในเชิงวรรณกรรม)

และบนพล็อตของการปราบคนพาลอภิบาลคนดีนี้เอง ที่ทำให้ข่าวนี้ถูกติดตามในหลายมิติ

 

หนึ่ง การทำงานของหน่วยงานภาครัฐว่าช่วยเหลือประชาชนได้หรือไม่

สอง ธุรกิจนี้มีคนสำคัญหรือพรรคการเมืองบางพรรคหนุนหลังหรือไม่ กรณีคลิปเสียง และการเรียกรับเงินของข้าราชการใน สคบ. อันเป็นประเด็นคลาสสิคคือการรับส่วย การเรียกเก็บเงินค่าคุ้มครองของข้าราชการ นักการเมือง การทุจริต คอร์รัปชั่น ที่สังคม “อิน” ตลอดกาล

สาม ลุ้นว่าฮีโร่ทางศีลธรรม คุณธรรมของเราจะกระชากหน้ากากคนชั่วได้อย่างสาแก่ใจหรือไม่

คนชั่วเหล่านั้นจะได้รับโทษอย่างสาสมหรือไม่

ความชั่วของคนเหล่านี้คือความใจดำอำมหิตร่ำรวยอยู่บนความสิ้นเนื้อประดาตัวของผู้อื่น

และตลอดเวลาก่อนที่เรื่องมันจะแดง ประชาชนทางบ้านต่างก็เคยเสพคอนเทนต์แสดงความร่ำรวยอย่างบ้าคลั่งของคนเหล่านี้มาแล้ว เช่น บ้านหลายร้อยล้าน การเปิดแอร์ให้กระเป๋าแบรนด์เนมนับร้อยๆ ใบ ที่ราคาเฉียดล้านหรือนาฬิกาหรูของบอสกันต์ที่บางเรือนราคาสามสิบ สี่สิบล้าน

แถมเจ้าตัวยังมาบอกอีกว่า มีเงินอย่างเดียวก็ใช่ว่าซื้อได้ ต้องเป็นคนพิเศษจริงๆ เท่านั้นถึงได้รับอนุญาตให้ซื้อ

เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้อีก เมื่อเราเห็นภาพเหยื่อที่สิ้นเนื้อประดาตัว อยากฆ่าตัวตาย ตัดมาอีกภาพหนึ่งที่เหล่าบอสใช้ชีวิตหรูหราชนิดนี่สมาชิกคนชั้นสูงบางประเทศยังไม่อาจครอบครองของฟุ่มเฟือยแบบนี้ได้ด้วยซ้ำ

เมื่อภาพมันตัดกันขนาดนี้ อารมณ์ของมวลชนก็ย่อมอยากเห็นการลงโทษที่เร็วและแรง (แน่นอนว่ามันก็ยกระดับความฟินของเราในฐานะผู้พิทักษ์คุณธรรมด้วย)

สี่ ภาวะอยากผดุงความผุดผ่องแห่งศาสนาพุทธของเรากำเริบเมื่อเห็นพระ อินฟลูฯ ชื่อดังขวัญใจเซเลบ ดารา ไฮโซ มายาวนานหลายทศวรรษ และชนชั้นกลางที่ถูกจริตกับสถานปฏิบัติธรรมที่มีดีไซน์เหมือนรีสอร์ตแนวสมถะ

ชวนให้ถึงสวนผลัมของติชท์ นัท ฮัน อันไม่น่าประหลาดใจสักนิดเลยว่า โดยจริตของพระแนวนี้ย่อมสอดคล้องกับแนวทางการตลาดแบบบอสๆ ทั้งหลาย

ภาพพระเป็นวิทยากร หัวเราะกันเอิ๊กอ๊ากกับเหล่าบอสและแม่ข่ายที่แต่งตัว แต่งหน้า ทรงเดียวกันหมด ไม่ต่างจากที่สี่-ห้าปีก่อน เราเห็นอีกคณะหนึ่งที่มีศาสนาเป็น “เข็มทิศ” และเหล่าสาวกพากันแต่งตัวจัดเต็ม และหิ้วกระเป๋าแอร์เมสคนละสี หอบหิ้วกันไปถวายทองที่วัดพระธาตุพนม และถ่ายรูปลงไอจีกันอย่างบ้าคลั่ง

เพื่อที่ว่าหลังจากนั้นไม่นาน ก็เกิดเรื่องฉ้อโกงอะไรในกลุ่มของเขาจนแตกกระเจิงไปคนละทิศคนละทาง ลบรูปในไอจีกันแทบไม่ทัน

ตอนนี้สังคมเกิดอาการตาสว่างกับพระรูปนี้ แล้วแปรความตาสว่างนั้นเป็นพลังจองล้างจองผลาญแทน

ส่วนฉันที่ไม่เชื่อพระรูปนี้ตั้งแต่ครั้งพูดว่า “ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน” ก็ได้แต่ตั้งข้อสังเกตว่า ณ วันนั้น ที่พระรูปนี้พูดว่า “ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน” พระรูปนี้แมสมาก เป็นที่นิยมมาก

และฉันไม่คิดว่าสุดท้ายพระรูปนี้จะมาตกไม้ตายที่กลุ่มแฟนคลับ “ไฮโซ” ที่สุดท้ายกลายเป็นสิบแปดมงฯ ในสายตาประชาชน

 

ถามว่าหัวใจของความสำเร็จของดิไอคอนคืออะไร?

จะว่าไปแล้วธุรกิจขายตรงทำนองนี้คาบเกี่ยวกับการเป็นแชร์ลูกโซ่มาโดยตลอด ยกเว้นแบรนด์ที่มีมายาวนานและขายดีจริงๆ อย่างแอมเวย์

ในยุคโซเชียลมีเดีย มีธุรกิจขายครีม ขายเซรั่ม สูตรสำเร็จของการทำธุรกิจเหล่านี้คือ ไปอุปโลกน์ใครสักคนเป็น “ด๊อกเตอร์” ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเรื่องผิว เรื่องความงาม จากนั้นไปจ้างโรงงานโออีเอ็มทำครีม ทำวิตามิน ทำน้ำตบต่างๆ

ถามว่าผลิตภัณฑ์อันตรายไหม ก็ไม่อันตราย เพียงแต่คุณภาพประมาณต้นทุนกระปุกละแปดบาท แล้วเอามาขายแปดร้อยบาท

ทำออกมาแล้วเรียบร้อย ก็จะใช้เงินไปซื้อเวลาในรายการโทรทัศน์ที่มีคนดูเยอะๆ จ่ายไปเลยหกแสน แปดแสน ล้านบาท แล้วเอาด๊อกเตอร์กำมะลอ กับจ้างดาราดังๆ ยอมจ่ายเลยกี่ล้านก็ว่าไป ตระเวนออกโทรทัศน์ ออกสื่อ จากนั้นก็ยิงแอด เฟซบุ๊ก งานขายหลังจากนี้เป็นการสร้างแม่ข่ายไปเรื่อยๆ

พอทำเงินได้สักร้อยล้าน คนพวกนี้จะปิดแบรนด์ แล้วเริ่มต้นนับหนึ่งทำใหม่แบบเดิม แต่เปลี่ยนชื่อยี่ห้อ อุปโลกน์ด๊อกเตอร์คนใหม่ วนไปจ้างดาราใหม่ วนไปจ่ายค่าเวลาออกโทรทัศน์ในรายการที่คนดูเยอะๆ ใหม่ สร้างแม่ข่ายใหม่ ยิงแอดใหม่

และเท่าที่ฉันเคยไปคุยมา กลุ่มเป้าหมายบางทีเป็นหนุ่มสาวที่ทำงานโรงงาน หรือบางรายเน้นตลาดลาว ตลาดพม่า กัมพูชา ไปเลย โกยเงินทีละร้อยล้าน ร้อยล้าน ไปเรื่อยๆ คล้ายผีตองเหลือง ที่พอการขยายแม่ข่ายเริ่มตัน คนเริ่มรู้ว่าครีมที่ขายใช้ไม่ได้ผลจริง ก็จะยุบแบรนด์นั้นไปสร้างแบรนด์ใหม่

แต่มันไม่เคยเป็นเรื่องเพราะอย่างน้อยคนพวกนี้มีสินค้าขายจริง แค่คุณภาพมันตีหัวเข้าบ้านสุดสุด และมูลค่าความเสียหายของลูกข่ายไม่เยอะ จะว่าหลอกลวงก็พูดไม่เต็มปาก แต่ที่แน่ๆ คนไทยคุ้นเคยพอสมควรว่ามันมีธุรกิจแบบนี้อยู่ ทั้งตลาดบน ตลาดล่าง

ตัวฉันเองยังเคยเป็นลูกค้าซื้อวิตามิน อาหารเสริมของแบรนด์ขายตรงแบรนด์หนึ่งที่ซื้อก็เพราะเพื่อนแนะนำ เพื่อนเป็นตัวแทน เราก็คิดว่าไหนๆ ก็ซื้อวิตามินกินอยู่แล้ว แทนที่จะซื้อของคนอื่นก็ซื้อที่เพื่อนขายจะได้ช่วยเพื่อนด้วย และก็เป็นยี่ห้อค่อนข้างมีชื่อเสียง

แต่หลังๆ ก็เลิกไปเพราะธรรมชาติของคนกินอาหารเสริมก็ไม่กินอะไรซ้ำๆ อยู่แล้ว

เพราะฉะนั้น การสร้างแบรนด์ของดิไอคอนจึงสร้างมาบนความคุ้นเคยของผู้คนที่ชินกับการซื้อของออนไลน์ ไปพร้อมๆ กับในแวดวงเพื่อนเราสิบคนต้องมีหนึ่งคนที่มีอาชีพเป็น “ตัวแทน” ขายตรงในฐานะอาชีพเสริมจากงานประจำ

แล้วเราก็รู้สึกว่าเออ มันก็เป็นสัมมาอาชีวะนี่นา มันอาจจะมีอะไร “นิดนึง” ที่เรารู้สึกไม่ชอบ แต่มันก็ไม่ถึงขั้นล้ำเส้น

 

พร้อมกันนั้นและฉันคิดว่านี่เป็นประเด็นที่สำคัญมากและหลายคนมองข้าม

นั่นคือความเฟื่องฟูของธุรกิจขายตรงมาพร้อมกับยุคถดถอยของสื่อ

ยุคถดถอยของสื่อคืออะไร?

มันคือยุคของสตรีมมิ่ง และทำให้รายได้ของคนทำรายการในโทรทัศน์ หรือทำรายการบันเทิงต่างๆ หาสปอนเซอร์ยากขึ้นเรื่อยๆ

การเกิดของยูทูบเบอร์ อินฟลูเอนเซอร์ที่ทำให้การจ้างโฆษณาไม่จำเป็นต้องมาแย่งกันซื้อเวลาในรายการเกมโชว์ รายการข่าว ละครหลังข่าว ทอล์กโชว์อะไรแบบในสมัยก่อนที่ราคาต่อวินาทีหลายแสนบาท

ธุรกิจแบบดิไอคอนแทรกเข้ามาในช่องว่างนี้ ลองคิดดูว่าหากเป็นสมัยที่รายการโทรทัศน์มีโฆษณาเป็นบรีส เป็นแฟ้บ เป็นซันซิล เป็นอะไรต่อมิอะไรที่เป็นแบรนด์ระดับโลก ธุรกิจโนเนมของคนโนเนมไม่มีวันได้แทรกเข้ามาในรายการโทรทัศน์ช่องหลัก

แต่ในยุคที่มันแร้นแค้นรายได้จากสปอนเซอร์ อยู่ๆ ที่บริษัทเหล่านี้มาทุ่ม มาเปย์ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก คนในวงการสื่อย่อมรู้ดีว่า รายการสัมภาษณ์ซีอีโอทั้งหลายก็ล้วนแต่เป็นรายการ “จ่ายเงิน” เพื่อให้ได้มาเป็นแขกรับเชิญทั้งนั้น

และเราจะเห็นว่า ดิไอคอนต้องเปย์หนักมาก เปย์ทุกช่อง เปย์ทุกรายการ โดยเฉพาะรายการสัมภาษณ์เหล่าบอสทั้งหลาย ที่จะเปิดตัวด้วยการแต่งตัวเว่อร์ๆ เหมือนหลุดมาจากนิตยสารดาราแฟชั่น ถ้าเป็นผู้หญิงเกือบทุกคนก็ดูสวยเหมือนอั้ม พัชราภา กันไปหมด

แล้วก็จะมาบอกว่า การเป็นตัวแทน เป็นนักขายของดิไอคอน ทำให้เขาและเธอกลายเป็นนักธุรกินร้อยล้านในชั่วข้ามคืนได้อย่างไร

 

เราจะเห็นคอนเทนต์นี้ในทุกรายการของพิธีกรแถวหน้า ของทุกรายการของทุกช่องหลัก

ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดจากอะไรเลย

เกิดจากภาวะสิ้นไร้ไม้ตอกของสื่อกระแสหลักที่ไม่มีรายได้จากโฆษณาแบบสมัยก่อน

รายได้จึงมาจากโฆษณาแฝงจากธุรกิจที่ดู “ไม่น่าไว้วางใจ” แต่จ่ายโคตรหนัก

แล้วมันก็จะกลายเป็นจิตวิทยารวมหมู่ เมื่อเราเห็นพิธีกรเบอร์หนึ่งยังรับเงินจากคนนี้ในการทำคอนเทนต์ เราเป็นใครเหรอ ทำไมเราจะไม่รับ จากนั้นก็รับตามๆ กันไปทุกช่อง

ผลปรากฏว่า ดิไอคอนซื้อสื่อได้หมด ประชาชนทางบ้านเห็นดิไอคอนในทุกรายการก็บอกตัวเองว่า

“โห อันนี้น่าจะของจริง เพราะถ้าไม่จริงไม่ได้ออกรายการนี้กับพิธีกรคนนี้หรอก”

จากนั้นเราก็จะเห็นดาราดัง ไม่ใช่ดังธรรมดา เป็นดาราเกรดเอหมดเลยเข้ามาเป็น “บอส” ของดิไอคอน

หลังจากนั้นทุกคนที่ชอบตามดาราในติ๊กต็อกเอยอะไรเลย ก็จะเริ่มเห็นคอนเทนต์ดาราคนนี้กับแม่ข่ายต่างๆ แล้วโดย “มาตรฐาน” ของโซเชียลมีเดียที่เอไอเป็นคนคัดสรรคอนเทนต์ให้เราตามสิ่งที่เราติดตาม (และสอดคล้องกับเทคนิคการยิงแอด) เราก็จะเริ่มเห็นชีวิตโคตรสวย โคตรแหล่ม โคตรสนุก โคตรประสบความสำเร็จแบบง่ายๆ ชิลๆ ของเหล่าบอส และลูกข่ายของเขา เอไอจะป้อนแต่คอนเทนต์แบบนี้มาให้จนเราเชื่อว่า “โลกทั้งใบเป็นแบบนี้” ใครๆ ก็ใช้ชีวิตแบบนี้ ใครๆ ก็มาเป็นลูกข่าย แม่ข่ายของสินค้ายี่ห้อนี้

อย่างที่นักเขียนบางคนเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “ทรราชของอะกอริธึ่ม” หรือ The tyranny of agorithm

 

นี่คือที่มาของการสร้างความรู้สึกให้คนเข้าใจว่า การขายตรงของดิไอคอนถูกกฎหมาย ไม่หลอกลวง สินค้าคุณภาพดี ขายดี ขายได้เป็นพันล้าน

บอสบางคนมีเงินร้อยล้านตั้งแต่อายุยี่สิบต้นๆ บอสบางคนล้มเหลวในชีวิต ล้มละลาย ไม่มีแม้แต่มาม่าจะต้มกิน วันนี้ปลูกบ้านสองร้อยล้าน ขับซูเปอร์คาร์

พร้อมกันนั้นใครๆ ก็รู้ว่า หนึ่งในกิจกรรมสำคัญของการขายตรงคือการสัมมนา

เราได้เห็น ได้ฟังสตอรี่ของบอสพอล ที่ทำขึ้นมาด้วยโปรดักชั่นเหมือนดูหนังสารคดีโฆษณาชวนเชื่อที่คนไทยเราคุ้นเคยและซาบซึ้งนั่นแหละ ทั้งภาพประกอบ เพลง เสียง จังหวะการเล่า พล็อตบีบหัวใจ พอล ผู้มีแม่เป็นคนงานก่อสร้าง ยากจน เสียสละ ลำบาก ถูกดูถูก เจ็บปวด โตมาในสลัม สู่เส้นทางของเศรษฐีหมื่นล้าน หนุ่มหล่อ ผู้ไม่ลืมกำพืด และด้วยพื้นเพเป็นเด็กยากจนจึงอุทิศตัวช่วยเหลือสังคม บริจาคเงิน ทำความดี ทำบุญกับพระที่เป็นขวัญใจคนรุ่นใหม่ พระที่เป็นขวัญใจของดาราดังๆ

เพียงแค่นี้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ดิไอคอนสถาปนาความน่าเชื่อถือและให้บอสลูกทีมใช้ความน่าเชื่อถือนี้ไปขยายเครือข่าย หลอกให้คนเปิดบิล เมื่อเราเปิดบิลไปแล้ว เสียเงินไปแล้ว หากเราไม่อยากสูญเงิน เราก็ต้องพยายามไปหลอกคนอื่นต่อ

สมมุติว่ามีคนเข้ามาในวงจรนี้ร้อยคน อาจจะมี 70 ถอนตัวออกตั้งแต่บิลแรกที่เปิด เพราะรู้ว่าแชร์ลูกโซ่แน่แล้ว

แต่ที่เหลืออีกสิบคนที่เดินหน้าหาเหยื่อต่อจากรุ่นของตัวเอง มันก็มากพอที่จะสะสมจนเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง

 

ฉันคิดว่าในช่วงแรก คนที่ตกเป็นเหยื่อก็น่าจะเป็นดาราด้วยกัน คนชั้นกลางที่พอจะมีเงิน แต่เมื่อเครือข่ายมันบานออกไปเรื่อยๆ มันก็ลามไปที่คนจน จนเกิดเคส ยุให้ขายบ้าน ขายรถ กู้หนี้ยืมสิน จนลุกลามเป็นเรื่องร้องทุกข์ กล่าวโทษกันตามที่เป็นข่าว

สิ่งเดียวที่ฉันพอจะพูดได้คือ เทคนิคการรู้เท่าทันมิจฉาชีพ เราทุกคนไม่ควรไว้ใจใครก็ตามที่ขับซูเปอร์คาร์ การมีชีวิตหรูหรา ลักชัวรี่ไม่ใช่อาชญากรรม

แต่เราควรระแวงคนที่มีชีวิตหรูหรา ลักชัวรี่แบบไม่มีที่มาที่ไป เราไม่ควรไว้ใจใครเลยที่สำแดงความร่ำรวยเหมือนก๊อบปี้ไลฟ์สไตล์ของดาราฮอลลีวู้ดในจินตนาการมาแสดงอย่างไม่บันยะบันยังในโซเชียลมีเดีย

และน่าเศร้าใจที่วงการดารานักแสดงบ้านเราไม่ได้นำเสนอคอนเทนต์เกี่ยวกับการ “ฝึกฝน” ทักษะ ฝีมือ มากเท่ากับคอนเทนต์อวดรวย โชว์ชีวิตหรูหรา ฟองสบู่ แบบตื้นเขิน ฉาบฉวย จนกลายเป็น “ความปกติ”

สื่อก็ควรทำคอนเทนต์ดาราอ่านหนังสือ เที่ยวมิวเซียม อ่านวรรณกรรม ไม่ใช่เอะอะ ทำคอนเทนต์อวดบ้านที่มีแต่คำว่า แพง แพง แพง

ที่เขียนเช่นนี้ไม่ใช่เพราะฉันดัดจริตอยากเป็นปัญญาชน แต่เพื่อสร้างความหลากหลายของคอนเทนต์

คนที่เสพสื่อจะได้เห็นว่า คำว่า “ดารา” และในความหมายของดารานักแสดง มันสามารถหมายถึงความซีเรียส จริงจัง ทำงานหนัก ไม่จำเป็นต้องเป็นภาพวิบวับนาฬิกาห้าสิบล้าน บ้านร้อยล้านเสมอไป

ขณะเดียวกัน ฉันก็อยากจะบอกว่า สังคมไทยควรเลิกเอาดารามาเป็นสรณะในชีวิตได้แล้ว

เพราะดาราก็แค่มนุษย์คนหนึ่งที่ประกอบอาชีพหนึ่ง

เลิกได้แล้วเรื่องการ “มู” ตามดารา ไปเที่ยวตามดารา ใช้กระเป๋า รองเท้า เครื่องสำอางตามดารา กรณีดิไอคอนนี่ชัดเจนว่าพังเพราะดารา

พยายามวิเคราะห์อะไรมายืดยาว สุดท้ายมันเป็นเรื่องคนไทยบ้าดารา บ้าตัวบุคคล ง่ายต่อการถูกชักจูงให้เข้าลัทธิ ชอบการมีศาสดา ชอบการมีผู้นำทางจิตวิญญาณ ทางการเมือง เช่น จำลอง สนธิ สุเทพ ทางจิตวิญญาณก็ตั้งแต่เข็มทิศชีวิตมาถึงบอสพอล

เชื่อสิ เดี๋ยวก็มีคนใหม่มา