ธุรกิจพอดีคำ : “จิตวิญญาณ สร้างได้”

ลองหลับตาแล้วนึกถึงโลกในอีก 100 ปีข้างหน้า

โลกในศตวรรษที่ 22

คุณจะนึกถึงโลกที่มีอะไรบ้างครับ

รถยนต์ไร้คนขับ

จรวดเดินทางระหว่างดวงดาวหลายดวง

ยาอายุวัฒนะ

และแน่อนที่ขาดไม่ได้หนึ่งอย่าง

“หุ่นยนต์แมวสีฟ้า” มีนามว่า โดราเอมอน

ใครที่ตอนเด็กๆ เคยดูการ์ตูนญี่ปุ่น

เชื่อว่าจะต้องพอทราบแน่ๆ

โดราเอมอน เพื่อนของโนบิตะ

นั่งไทม์แมชชีนที่อยู่ในลิ้นชักของห้องโนบิตะ มาจากศตวรรษที่ 22 หรือประมาณอีก 100 ปีข้างหน้า

หากคุณเจอโดราเอมอนเดินอยู่ตามท้องถนน

หัวกลม มีหนวด หน้ายิ้ม มีกระเป๋าวิเศษ พูดจาน่ารัก ป้ำๆ เป๋อๆ

คุณจะรู้สึกอย่างไร อยากเข้าไปคุยด้วยไหม

ในปี 2029

คุณตื่นขึ้นมา ท้องฟ้าขมุกขมัว

มองออกไปนอกหน้าต่าง มีไฟลุกไหม้

มีควันโขมง บ้านเมืองถูกทำลาย

มองไปที่มุมตึก คุณเห็นหุ่นยนต์ คนเหล็ก

เหมือนในภาพยนตร์ชื่อ Terminator

เหมือนหัวกะโหลกโล้นๆ นัยน์ตาสีแดง

ตัวเป็นโครงเหล็ก ในมือถือปืน

พูดจาไม่เป็นภาษามนุษย์

คุณจะรู้สึกอย่างไร อยากเข้าไปอยู่ใกล้ๆ ไหม

เมื่อวันก่อนผมได้มีโอกาสเชิญ อิง-ดาริน สุทธพงศ์ มาเป็นแขกรับเชิญพิเศษ

ออกอากาศทางเพจ “แปดบรรทัดครึ่ง” ผ่าน Facebook Live

มีชื่อว่า แปดบรรทัดครึ่ง Live สาระ รายการใหม่ ให้ฉุกคิด

อิงเคยทำงานเป็นนักออกแบบประสบการณ์ หรือ User Experience Design ที่บริษัท Amazon.com ที่อเมริกา

หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า Ux Designer

เป็นอาชีพที่คนไทยยังไม่ค่อยคุ้นชินนัก

อิงเล่าว่า พูดง่ายๆ เลย Ux เป็น “การใส่จิตวิญญาณลงไปในสิ่งที่ไม่มีจิตวิญญาณ”

ฟังครั้งแรกแล้วงงมั้ยครับ

ถ้างง ก็ไม่ต้องห่วงครับ ผมก็งงๆ เหมือนกัน

อิงถามกลับมาด้วยคำถามง่ายๆ

ปกติแล้ว ถ้าเราอยากจะซื้อของอะไรสักอย่าง เราอยากจะซื้อของกับใคร

คำตอบไม่ยาก แน่นอน ก็ต้องเป็นพ่อค้าแม่ค้า ที่ไว้ใจได้ มีสิ่งที่เราอยากได้ พูดจารู้เรื่อง ยิ้มแย้ม อัธยาศัยดีสิ

อิงบอกต่อว่า แล้วถ้าเราไม่ได้ซื้อกับพ่อค้าแม่ค้า ผ่านมนุษย์

แต่เป็นการซื้อของผ่าน “เว็บไซต์” ล่ะ

จะเลือกซื้อของจากที่ไหน

บางคนอาจจะบอกว่า ของดี ราคาถูก

ซึ่งอันนั้นแน่นอน ของดี ราคาถูก คือสิ่งที่เราอยากจะได้

คำถามต่อไป แล้วถ้าทุกคนมีของดี ราคาถูก เหมือนกันล่ะ

คุณอยากจะเข้าไปซื้อของที่ “เว็บไซต์”

คำตอบของคนส่วนใหญ่คือ เว็บไซต์ที่ใช้ง่าย เชื่อถือได้ ให้ความรู้สึกเหมือนพ่อค้าแม่ค้าที่นิสัยดี ไม่เอาเปรียบ

สิ่งนี้แหละคือ “Ux Design”

สมัยก่อน ถ้าเราซื้อของผ่านพ่อค้าแม่ค้า จริงๆ เราสัมผัสได้โดยตรงว่าอยากซื้อร้านไหน

จากบุคลิก นิสัย วิธีการพูดคุยของเจ้าของร้าน

เราดู “จิตวิญญาณ” ของพ่อค้าแม่ค้าคนนั้น ว่าน่าเชื่อถือมั้ย เราเชื่อใจเขาหรือเปล่า

แต่ถ้าเราซื้อของออนไลน์ เราไม่ได้มีโอกาสมองตา พูดคุยกับ “พ่อค้าแม่ค้า”

การทำให้เว็บไซต์มีจิตวิญญาณของมนุษย์ จึงมีความสำคัญ

เว็บไซต์หน้าตาเป็นอย่างไร มีภาษาที่เขียนเหมือนคนบุคลิกแบบไหน

เป็นผู้ใหญ่น่าเชื่อถือ หรือเป็นน้องคนเล็กสนุกสนาน

ในยุคที่ “สินค้าต่างๆ” กลายเป็นเรื่องของดิจิตอลกันไปหมด

เรื่องการทำของให้น่าใช้ มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น จึงยิ่งมีความสำคัญ

และเป็นที่มาของศาสตร์ที่เรียกว่า Ux Design หรือ User Experience Design นั่นเอง

บริษัทที่เอา “ลูกค้า” เป็นจุดศูนย์กลางอย่าง Amazon.com นั้น ให้ความสำคัญกับเรื่อง Ux มาก

มากถึงขนาดที่ว่า เวลาเลือกคนเข้าทีมในการทำผลิตภัณฑ์อะไรสักอย่างหนึ่ง

Ux จะเป็นตำแหน่งที่คนให้ความสำคัญกับการเลือกคนมากที่สุด

มากกว่าวิศวกรซอฟต์แวร์ หรือผู้จัดการผลิตภัณฑ์ด้วยซ้ำ

เพราะสุดท้ายแล้ว คนจะซื้อของ ไม่ซื้อของ ขึ้นอยู่กับว่าคนเขาชอบ “ผลิตภัณฑ์” ของเรารึเปล่า

ถ้า “ความรู้สึก” เขาชอบ เรื่องเงินทองต่างๆ ว่าแพง ถูกยังไง ก็จะตามมา

แค่เรื่องของ “เว็บไซต์” ขายของยังต้องคิดเยอะขนาดนี้

ถ้าเราอยากจะทำ “หุ่นยนต์” ขึ้นมาสักตัวล่ะ

หน้าตามันจะเป็นแบบไหน

ถ้าคุณจะทำหุ่นยนต์ช่วยดูแลคนชรา

หุ่นยนต์ตัวนั้นจะหน้าตาเป็นอย่างไร

พูดภาษาอย่างไร มีการเคลื่อนไหวอย่างไร

หน้าตาเหมือนนางพยาบาล พูดจาไพเราะเป็นเพศหญิง เคลื่อนไหวนุ่มนวลเป็นล้อเลื่อน

ทำให้ “คนชรา” ไว้ใจ ยอมให้ดูแล

แล้วถ้าหุ่นยนต์อีกตัวหนึ่ง ถูกออกแบบให้ไปออกรบที่ชายแดน

หน้าตาหุ่นยนต์จะเป็นอย่างไร พูดได้มั้ย มีการเคลื่อนไหวอย่างไร

อาจจะหน้าตาน่ากลัวไว้ขู่ทหารฝ่ายตรงข้าม พูดไม่ได้ ส่งเสียงน่ากลัวได้

เคลื่อนไหวรวดเร็ว ด้วยสองขา กระโดดปีนต้นไม้ได้ เหมือนนินจา

จะ “โดราเอมอน” หรือ “คนเหล็ก”

ถ้ามีจุดประสงค์ของการสร้างชัดเจน

ดูแลโนบิตะ หรือลอบสังหารใครสักคน

หากเป็นเรื่องของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับดิจิตอลเทคโนโลยีแล้ว

Ux Design นี่แหละคือ “จิตวิญญาณ” ภายในสิ่งที่ไม่มีจิตวิญญาณ