จาก ‘อ้ายกรีก’ (เอลเกรโก) ถึงปิกัสโซ : เชิงอรรถเล็กๆ ในพระราชวังหลวงของสเปน

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

เมืองที่ติดตรึงในใจผมมากคือเมืองมหาวิทยาลัยแห่งโกอิมบรา (Coimbra University)

ที่สนใจเพราะก่อตั้งแต่ปี ค.ศ.1290 นับเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่มากแห่งหนึ่งในยุโรปและในโลกก็ได้

หลายปีก่อนผมเคยไปทัศนาจรประเทศอิตาลี แวะไปตามเมืองต่างๆ จนถึงเมืองโบโลนญาที่มีมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดในยุโรป (ราวปี 1088) ตัวตึกและสถาปัตยกรรมยุคกลางยังคงอยู่ให้รู้สึกได้ถึงความขลังของความรู้

ให้บรรยากาศที่แปลกเมื่อมองจากประเทศที่มหาวิทยาลัยเก่าที่สุดแค่ไม่ถึงร้อยปีเท่านั้น และความรู้ก็ไม่เคยเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในสังคมของชนชั้นนำ

ที่มหาวิทยาลัยโกอิมบรา เราพบนักศึกษาในชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ มีคนในคณะเล่าว่า เจ เค.โรลลิ่งส์ ผู้เขียนเคยมาที่นี่เลยติดใจเครื่องแบบนักศึกษาจากโกอิมบรา

แม้จะเก่ามากแต่มีคนวิจารณ์ว่ามหาวิทยาลัยโกอิมบราก็ไม่โด่งดังไปทั่วทวีป มูลเหตุเพราะคณาจารย์ไม่ใช้ภาษาละติน

ทำให้ความลึกซึ้งและการแลกเปลี่ยนกับนักวิชาการที่อื่นไม่มีเท่าไร

อีกเมืองที่ต้องบันทึกไว้คือเมืองปอร์โต้ ทางตอนเหนือของโปรตุเกส หลายคนคงเคยได้ยินชื่อไวน์ปอร์โต้อันโด่งดัง

ที่น่าชมยิ่งคือสถานีรถไฟ Sao Bento ที่มีกระเบื้องเขียนสีลวดลายสีน้ำเงินอันเป็นอัตลักษณ์ของเมือง เล่าเรื่องความเป็นมาของชาวโปรตุเกส

ชานชาลาสถานีจึงแน่นคลาคล่ำไปด้วยคน ทั้งคนเดินทางและนักท่องเที่ยวต่างเดินกันเข้าออกไม่หยุด

จากนั้นคณะเดินทางไปต่อยังประเทศจุดหมายปลายทางสำคัญคือสเปน

เมืองแรกที่ไปถึงคือซาลามังกา ซึ่งมีมหาวิทยาลัยเก่าแก่เหมือนกัน ก่อตั้งในปี ค.ศ.1218 นับว่าเก่าสุดๆ ในยุโรปได้เหมือนกัน

เล่าว่าตอนที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ต้องออกมายืนยันความเป็นไปได้ในโครงการเดินเรือข้ามทวีปของเขานั้น ได้มาที่มหาวิทยาลัยซาลามังกาเพื่อนำเสนอและปกป้องความถูกต้องของโครงการที่นี่

แสดงว่ามหาวิทยาลัยในยุโรปทำหน้าที่ในการตรวจสอบโครงการใหญ่ที่จะเสนอให้แก่รัฐมานานแล้ว

ต่อไปที่เมืองเซอร์โกเบีย ยังมีรางส่งน้ำทำด้วยท่อคอนกรีตจากสมัยโรมันวิ่งผ่านเมืองอยู่ อัศจรรย์ยิ่งนัก

แต่ที่ประทับใจอย่างยิ่งคือการไปกินหมูหันเซอร์โกเบีย (Meson de Candido) ในร้านเก่าแก่ที่มีตำนานว่าย้อนกลับไปถึงปี ค.ศ.1786 โด่งดังมาก

คุณปู่เจ้าของและเจ้าตำรับหมูหันวัย 90 แล้วยังมารับแขกด้วยความอบอุ่น

เขาแสดงวิธีการกินหมูหันให้ดู ด้วยการใช้จานกระเบื้องหั่นหมูออกเป็นชิ้นๆ จนหมด แล้วขว้างจานกระเบื้องลงพื้นเสียงดังโครมใหญ่ จานแตกเป็นเสี่ยงๆ

ผมไม่ได้ถามถึงตำนานของการขว้างจานก่อนเสิร์ฟหมูหันเป็นชิ้น

ในที่สุดเราก็ถึงเมืองหลวงแมดริดของสเปน

แห่งแรกที่นักท่องเที่ยวต้องไปชมได้แก่พระราชวังหลวง ซึ่งบริเวณนั้นเคยเป็นป้อมค่ายของมัวร์มาก่อน จนกษัตริย์สเปนเอาชนะได้ในปี 1083 พระเจ้าฟิลิปที่ 2 สร้างเป็นพระราชวังในปี 1561 หลังจากเพลิงไหม้จึงเริ่มก่อสร้างใหม่ในปี 1738 ใช้เวลา 26 ปีกว่าจะเสร็จ คราวนี้สร้างด้วยหินทั้งหมดไม่เอาไม้อีกเพราะกลัวไฟไหม้สไตล์บาโรคกับนีโอคลาสสิค

น่าสนใจมากว่าช่างก่อสร้างและสถาปัตยกรรมนั้นมาจากฝรั่งเศสและอิตาลี ซึ่งมีอิทธิพลและความเชี่ยวชาญที่หาคนเทียบไม่ได้สมัยโน้น

ความใหญ่โตของพระราชวังดูได้จากจำนวนห้องซึ่งมีทั้งหมดถึง 2,830 ห้อง ในเนื้อที่ 133,000 ตารางเมตร

ห้องสำคัญได้แก่ห้องทหารองครักษ์ (the Royal Guards’ Room) ห้องท้องพระโรงใหญ่ (the Columns Room) ซึ่งใช้เป็นห้องบอลล์รูมและห้องเสวยพระกระยาหารของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ประดับด้วยพรมขนาดใหญ่ทำจากเบลเยียมออกแบบโดยศิลปินใหญ่ราฟาเอล

ข้างบนเพดานท้องพระโรงมีภาพวาดบนผนังปูนเปียกเรื่องเทพอพอลโลบนรถม้าและเทพแห่งไวน์แบคคัสรื่นเริง

ในพระราชวังหลวงยังเก็บภาพวาดสำคัญของศิลปินใหญ่หลายคนเช่น ฟรานซิส โกยา (Goya) ดิโก เวลาสเกซ (Vel?zquez) รูเบน (Rubens) และคาราแวกจิโอ (Caravaggio)

เสียดายที่เราไม่ได้เห็นหรือทัศนาภาพสำคัญเหล่านั้นเพราะไกด์พาเราไปเยี่ยมชมห้องต่างๆ มากมายให้ทันในเวลาที่กำหนด

ไกด์มิเรียมผู้กระฉับกระเฉงเสียงดังฟังชัด พาเราไปชมภาพสำคัญแห่งเดียวคือของเอลเกรโก (El Greco) ซึ่งเธอเล่าด้วยความตื่นเต้นเมื่อถึงห้องนั้นซึ่งมีภาพวาดขนาดใหญ่หลายภาพบนผนังและเพดาน

เธอบอกว่าศิลปินคนนั้นมีนามว่า Dom?nikos Theotok?poulos เธอถามว่าใครรู้จักว่าศิลปินผู้นี้คือใคร

ไม่มีใครตอบได้เพราะไม่เคยได้ยินชื่อนี้มาก่อน

ผมเองก็งุนงงว่าเคยไปชมงานภาพวาดระดับโลกมาหลายแห่งและได้ยินได้อ่านชื่อนักวาดและศิลปินดังของโลกเกือบหมดแล้วก็ยังงงว่าอีตาคนนี้คือใคร นึกไม่ออกจริงๆ

เธอสาธยายสรรพคุณอันวิเศษของเขาว่าดูภาพวาดบนเพดาน ที่มีเทพลอยกันไปมาจนเต็มว่าใช้เวลาเท่าไร ผมเดาตอบไปว่าสักปีหนึ่ง เธอบอกว่าเร็วกว่านั้น เพียงแค่เดือนเดียวเท่านั้น เพราะศิลปินคนนี้สามารถวาดได้ทั้งสองมือ ทุกคนตื่นเต้นกับข้อมูลใหม่ยิ่งนัก

จนเมื่อมิเรียมแน่ใจว่าคณะเราไม่มีใครรู้จักชื่อนี้แน่แล้ว ก็ตามมาด้วยการเฉลยด้วยความยินดีที่เธอเดาไม่ผิด ว่าทุกคนต้องตะลึงเมื่อได้ยินชื่อจริงของเขา ก็คือ” เอลเกรโก”

หรือแปลว่า “อ้ายกรีก”

 

พอได้ยินชื่อเอลเกรโกผมก็ร้องอ๋อด้วยเพราะเป็นชื่อที่คุ้นหูมานานแล้วแต่ไม่เคยรู้ประวัติด้านพิสดารของเขามาก่อนเลย

เขาเกิดที่เกาะครีตของกรีกแล้วไปทำงานศิลปะในเวนิส เขารับมรดกทางศิลปะของ Jacopo Robusti ชื่อเล่นว่า Tintoretto แห่งสำนัก Mannerism ที่ไม่เน้นการวาดภาพแบบฉบับเรเนซองส์ที่นิยมกัน

น่าสนใจมากว่าพวกนักปฏิวัติยุโรปคงเกิดกับพวกศิลปินก่อน แนวคิดและวิธีวิทยาของทินโทเร็ตโตคือการปฏิวัติจากแบบแผนการวาดภาพแบบเดิมที่เน้นความสวยงามสัดส่วนสามมิติลงตัวตามธรรมชาติ

ภาพเหล่านี้ดูแล้วสบายตาและสบายใจ แต่มันไม่ทำให้รู้สึก

เมื่อวาดภาพเรื่องราวสำคัญจากคัมภีร์ไบเบิลก็ไม่ทำให้ผู้ชมเห็นความตื่นเต้นและรู้สึกถึงสิ่งใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นและมีชีวิต

นี่คือสปิริตที่จับใจเอลเกรโก จากนั้นเขาไปเป็นศิษย์ฝึกฝนงานวาดภาพกับไทเทียนและไมเคิลแองเจโล ซึ่งเขาวิจารณ์งานในภายหลัง จนมีฝีมือแล้วมาเปิดสตูดิโอที่เมืองโทเลโดในสเปน กล่าวกันว่าที่นี่เองที่เพื่อนศิลปินเรียกเขาว่า “เอลเกรโก” (อ้ายกรีก)

เมื่อมีชื่อเสียงและผลงานมากขึ้น กษัตริย์ฟิลลิปที่ 5 ซึ่งโปรดปรานและอุปถัมภ์ไทเทียนอยู่ ได้ว่าจ้างให้เขาวาดภาพเหมือนของพระองค์

ทว่า ไม่ทรงโปรดสไตล์การวาดภาพแบบใหม่ของเขา รับสั่งให้เขากลับไปโทเลโดดีกว่า ความใฝ่ฝันอันสูงสุดของศิลปินก็ดับสลายไป

 

มิเรียมชี้ให้ดูภาพวาด The Holy Trinity ซึ่งพระเยซูฟื้นจากความตายจากการถูกตรึงไม้กางเขนแล้วลอยขึ้นไปสู่สวรรค์ ล้อมรอบด้วยเทพบนสวรรค์ เธอชี้ภาพพระแม่มาเรียซึ่งแต่งด้วยชุดแดงว่าเป็นลักษณะเฉพาะของเอลเกรโกที่ต้องการสี่อความรู้สึกทางจิตวิญญาณของเขาที่มีอย่างดูดดื่มในศาสนาคริสต์หลังจากเขาเปลี่ยนจากกรีกออโธดอกซ์มาเข้ารีตเป็นคาทอลิก

ภาพและการตีความของเขาที่ไม่เป็นแบบเรเนซองส์ไม่เป็นที่ยอมรับจากเจ้าคณะ แต่เขาก็ไม่ยอมแพ้อย่างง่ายๆ เข้าใจว่ากว่าเขาจะได้รับเงินค่าจ้างในการวาดก็เสียเวลาไปหลายปี

อีกจุดที่ไกด์มิเรียมให้ข้อสังเกตซึ่งไม่อย่างนั้นเราก็คงไม่มีทางเห็นอย่างแน่นอน นั่นคือเอลเกรโกเซ็นชี่อของเขาในภาษากรีกไว้ในตอนล่างของภาพด้วย

งานของเขากว่าจะได้รับการยอมรับก็ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 แล้ว ศิลปินรุ่นหลังที่ศึกษางานของเขาและนำไปใช้ด้วยได้แก่ปิกัสโซที่ใช้ทัศนียภาพอันเดียวสำหรับหลายมุมมองและกลุ่มเอ็กเพรสชั่นนิสต์ที่เน้นไปที่รูปทรงและสีในการสื่อความหมาย เช่นงานของวินเซนต์ แวนโก๊ะห์

เนื่องจากเวลาจำกัดมาก คณะเราจึงดูได้อย่างฉาบฉวย จากห้องหนึ่งไปยังอีกห้องหนึ่ง ห้องที่ตรึงตาตรึงใจยิ่งคือมงกุฎทองคำขนาดใหญ่ที่วางอยู่กลางห้องบนที่ตั้งสูงล้อมรอบด้วยแกนยึด โดยรวมแล้วคือการแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของอำนาจทางศาสนจักรคาทอลิกกับอำนาจทางโลกของพระมหากษัตริย์สเปน

บัดนี้โลกเก่านั้นได้สลายไปเกือบหมดแล้ว

สิ่งที่เหลือให้เราดูคืออดีตอันเป็นประวัติศาสตร์ที่สะท้อนผลรวมของอำนาจยิ่งใหญ่นั้นว่าได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

 

จุดต่อไปที่พลาดไม่ได้คือพิพิธภัณฑ์ Museo Reina Sofia ที่มีภาพวาดสำคัญของปิกัสโซคือ Guernica อยู่ในนั้นด้วย

ผมกับ อ.ชาญวิทย์เดินดุ่มไปหาห้องปิกัสโซห้องเดียว ได้พบภาพเขียนสำคัญชิ้นนั้นขนาด 3 เมตรกว่าแขวนอยู่ในห้องที่ไม่มีอะไรพิเศษ ที่คิดไม่ถึงคือคนมาดูภาพนั้นก็ไม่มีมากมายจนล้นห้องต้องชูคอขึ้นดูเหมือนตอนไปดูภาพวาดโมนาลิซ่าในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ในปารีส

ภาพนี้ปิกัสโซวาดให้ฝ่ายรัฐบาลรีพับลิกันของสเปนในปี 1937 เพื่อนำไปแสดงในงานสินค้าโลก ตอนนั้นเกิดสงครามกลางเมืองจากรัฐประหารของนายพลฟรังโกได้ 6 เดือนแล้ว ซี่งกลายมาเป็นสงครามกลางเมืองที่ผ่ายประชาธิปไตยทั่วโลกพากันมาร่วมรบช่วยฝ่ายรีพับลิกันรวมทั้งนักเขียนอังกฤษที่จะดังทั่วโลกต่อมาคือจอร์จ ออร์เวล

ภาพสะท้อนความโหดร้ายของสงคราม หลังจากนาซีเยอรมันทิ้งระเบิดใส่เมืองกูเออร์นิกาตามการร้องขอของฝ่ายชาตินิยมฟรังโกทำให้ผู้คนสามในสี่ตายและบาดเจ็บ

ภาพม้าพยายามประคองคนขี่ไว้ไม่ให้ตก แม่กับลูกผู้หญิงชูมือขอความเมตตา วัวกระทิงอีกมุมที่ร้องครวญคราง เป็นภาพที่สื่อถึงการใช้อำนาจการเมืองอย่างไร้มนุษยธรรม

แต่ปิกัสโซไม่ได้สนใจเรื่องศิลปะในการเมืองเลย เขาไม่เคยอธิบายถึงความหมายของมัน บอกว่าทำไมต้องถามถึงความหมายของงานศิลปะ ทำไมไม่ถามนกว่าเพลงที่มันร้องมีความหมายอะไร เนื่องจากจอมพลฟรังโกชนะในสงคราม ปิกัสโซไม่ยอมให้ภาพนี้อยู่ในสเปน

เขาบอกว่า “ภาพนี้จะกลับไปยังรัฐบาลรีพับลิกันของสเปนในวันที่สาธารณรัฐกลับมายังสเปนอีก”

ภาพนี้จึงเดินทางไปปารีสแล้วนิวยอร์กกว่า 20 ปีจนฟรังโกตาย จึงเดินทางกลับสเปน

แต่วันนั้นปิกัสโซเสียชีวิตก่อนแล้ว