ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 - 31 ตุลาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | กาแฟดำ |
ผู้เขียน | สุทธิชัย หยุ่น |
เผยแพร่ |
รัฐบาลของนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร กำลังจะเจรจากับกัมพูชาเรื่องผลประโยชน์การร่วมสำรวจน้ำมันหรือก๊าชใต้ทะเลในเขตทับซ้อนอ้างสิทธิ์ตาม MoU 2544 โดยอาจไม่ต้องหาข้อสรุปเรื่องเส้นเขตแดนทางทะเลไปพร้อมๆ กัน
อย่างที่รัฐบาลดูเหมือนกำลังจะส่งสัญญาณอย่างนั้น
เพราะอ้างว่าหากไม่รีบสำรวจหาน้ำมันและก๊าซขึ้นมา อีกไม่ถึง 20 ปีโลกอาจจะเลิกใช้พลังงานแบบนี้แล้วก็ได้
อีกทั้งตระกูล “ชินวัตร” กับ “ฮุน” มีความสนิทสนมรักใคร่กันอย่างลึกซึ้งมิใช่หรือ
คำถามว่าหากจะเดินหน้าแบ่งปันผลประโยชน์กันก่อนแล้วค่อยไปเจรจาเรื่องเส้นแบ่งเขตแดนจะเกิดอะไรขึ้น?
คนที่รู้เรื่อง “บันทึกความเข้าใจ” ฉบับนี้ดีที่สุดคนหนึ่งคือ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย, อดีตรองนายกฯ และอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ
คำตอบง่ายๆ สั้นๆ จาก ดร.สุรเกียรติ์คือ “ไม่ได้”
หากรัฐบาลเดินหน้ายกเลิก MoU44 และหันไปเจรจากับกัมพูชาเฉพาะเรื่องแบ่งผลประโยชน์โดยไม่เจรจาเรื่องเส้นแบ่งเขตแดนไปพร้อมๆ กัน
“จะเกิดความขัดแย้ง (ในประเทศ) …อาจจะเกิดหายนะได้”
เพราะบันทึกฉบับนี้ระบุไว้ชัดๆ ว่าสองเรื่องนี้มิอาจแยกกันได้ ใช้คำว่า “Indivisible Package”
แต่หากตีความลงรายละเอียดก็จะพบว่าไม่จำเป็นต้อง “เจรจาทุกเส้น”
หากทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันว่าเจรจาเส้นไหนที่สำคัญที่สุด ก็ต่อรองกัน
เจรจาเฉพาะเส้นนั้น ก็จะไม่ถือว่าละเมิด MoU44
ดร.สุรเกียรติ์ที่เคยนั่งเป็นประธานในการเจรจาเรื่องนี้มาแล้วบอกว่ารัฐบาลนี้จึงต้องตัดสินว่าเส้นที่รัฐบาลไทยในอดีตคิดว่าสำคัญที่สุด (เส้นอ้อมเกาะกูด) นั้นยังเป็นเช่นนั้นอยู่ในความเห็นของรัฐบาลนี้หรือไม่
หรือหากคิดว่ามีเส้นอื่นเส้นไหนสำคัญไม่น้อยกว่ากันก็เจรจาในกรอบนั้น
การเจรจาทั้งสองเรื่องคู่ขนานกันได้
“แต่จะตกลงกันไม่ได้จนกว่าเรื่องเส้นแบ่งเขตแดนในทะเลจะสรุปกันได้เสียก่อน” ดร.สุรเกียรติ์ย้ำ
ต้องเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจเรื่อง OCA (Overlapping Claims Area) เป็นประเด็นสำคัญ คือเขตที่ไทยกับกัมพูชาอ้าง “สิทธิ์เรียกร้อง” ทับซ้อนกัน ไม่ใช่ “เขตแดน” ทับซ้อนกัน
ดร.สุรเกียรติ์ยกตัวอย่างระหว่างคุยกับผมว่า
“สมมุติมีไมโครโฟนอยู่หน้าเรา คุณสุทธิชัยบอกว่าเป็นของคุณสุทธิชัย แต่ผมบอกว่าเป็นของผม นั่นแปลว่าสิทธิ์เรียกร้องมันทับซ้อนกัน แต่ไมโครโฟนก็ยังไม่ได้เป็นของคุณสุทธิชัยหรือของผม”
ต่างคนต่างอ้างสิทธิ์ แต่ยังไม่เป็นของใคร
“เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone) มันใหญ่กว่าความกว้างของอ่าวไทย เพราะฉะนั้นว่าตามกฎหมายทะเลปี 1982 ที่เราประกาศก็ไปชนของเขาและที่เขาประกาศก็มาชนของเรา…”
ดังนั้น แปลว่าไม่มีใครยกดินแดนให้ใครทั้งสิ้น
อีกข้อหนึ่ง ที่ต้องทำความเข้าใจคือไม่เคยมีปัญหาเรื่องเกาะกูด เพราะฝรั่งเศสเคยประกาศมานมนานแล้วว่าเกาะกูดเป็นของไทย
จึงไม่มีประเด็นว่าการเจรจาหรือไม่เจรจากับกัมพูชาเรื่องนี้จะทำให้ไทยเสียเกาะกูด
ในแผนผังที่แนบกับ MoU44 ก็แสดงชัดเจนว่าเป็นเช่นนั้น
เป็นเส้นที่อ้อมเกาะกูด ไม่ได้ผ่าเกาะกูดอย่างที่อาจจะมีบางฝ่ายเคยออกข่าวมาก่อนหน้านี้
อาจจะมีช่วงจังหวะหนึ่งในสมัยนายพลลอนนอลของกัมพูชาที่เคยพยายามจะอ้างว่าเกาะกูดเป็นของเขมร แต่ไม่ได้เป็นสาระอะไร
สมัยนั้น กัมพูชาอาจจะมีแนวโน้มจะทำเช่นนั้น แต่พอล้มยุคสมัยลอน นอล ไปก็ไม่มีเรื่องนี้อีก
ดร.สุรเกียรติ์บอกว่า “พูดตรงๆ ตอนผมเคยเจรจาด้วย ท่านฮุน เซน และท่านซ็อก อัน ก็ยอมรับว่าเกาะกูดเป็นของไทย เพียงแต่เคยบอกว่าอย่าเพิ่งพูดไปในที่สาธารณะ เพราะในแผนผังที่เขาลงนามกับเรานั้น เส้นก็ล้อมเกาะกูด ไม่ได้ลากผ่านเกาะกูดแต่อย่างใด”
MoU44 เพียงระบุว่าสองประเทศเห็นต่างกัน จึงตกลงว่าจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเจรจา
บันทึกความเข้าใจนี้ระบุว่าการเจรจาจะดำเนินการไปอย่างไร
หัวใจของเรื่องอยู่ตรงที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่าการเจรจาเรื่องเส้นแบ่งดินแดนและการสำรวจหาทรัพยากรใต้ทะเลนั้นจะต้องทำพร้อมๆ กัน
ย้ำคำว่า Indivisible Package
แปลตรงตัวคือจะต้องเจรจาทั้งสองเรื่องพร้อมกัน จะแยกเจรจากันคนละครั้งคนละเรื่องไม่ได้
นั่นคือการเจรจาเรื่องเส้นเขตแดนและการเจรจาเรื่องแบ่งผลประโยชน์อันหมายรวมถึงน้ำมันและก๊าซธรรมชาตินั้นจะต้องทำไปด้วยกัน
“เพราะเรากลัวว่าเดี๋ยวประเทศใดประเทศหนึ่ง จะเป็นไทยหรือกัมพูชาก็แล้วแต่เห็นประโยชน์เรื่องน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติขึ้นมาก็จึงตกลงไปเลย โดยเส้นเขตแดนทางทะเลที่ต้องกำหนดหรือ delimit ยังไม่ได้คุยเลย…”
แต่ไม่ได้แปลว่าต้องเจรจาเส้นเขตแดนทุกเส้น เพราะหากจะเจรจาเส้นเขตแดนทุกเส้นจะใช้เวลามาก
ตัวอย่างไทยกับมาเลเซีย ตกลงกันมาตั้งแต่ปี 1978 จนทุกวันนี้ เส้นเขตแดนทางทะเลระหว่างไทยกับมาเลเซียก็ยังเจรจากันไม่เสร็จเลย
แต่ด้วยความที่ทั้งสองประเทศสามารถตกลงกันเรื่องผลประโยชน์ทางทะเล และเราบอกกับทางมาเลเซียว่าเราเห็นมีเส้นที่สำคัญเส้นไหน ถ้าตกลงกันได้ในเส้นเขตแดนทางทะเลนั้น เราก็สามารถไปเจรจาเรื่องแบ่งผลประโยชน์ว่าด้วยทรัพยากรธรรมชาติใต้ทะเลได้
ไทยกับกัมพูชาก็ทำนองเดียวกัน…แม้จะไม่ได้เขียนระบุไว้ชัดเจนขนาดนั้น
เป็นที่เข้าใจกันว่าฝ่ายไทยต้องการให้เส้นที่อ้อมเกาะกูดชัดขึ้นก่อนจะเจรจาเรื่องผลประโยชน์ร่วม
“สมมุติว่าเส้นแบ่งชายแดนอยู่ตรงจุดหนึ่งที่ล้อมเกาะกูดในลักษณะนี้ เราอยากให้เส้นเขตแดนนั้นลงมามากๆ หน่อย ให้ห่างเกาะกูดไป
ดร.สุรเกียรติ์บอกว่า “ตอนผมเป็นประธานคณะกรรมเรื่องนี้ ผมเคยบอกเขาว่าทำไมคุณลากเส้นเขตแดนมาแล้วมาล้อมเกาะกูดเป็นรูปตัว U เหมือนขนมครก น่าเกลียดจัง ผมบอกให้เขาปัดลงมามากๆ หน่อย
หากเส้นที่ว่านี้ปัดลงมามากกว่านี้ เขตอ้างสิทธิ์ทับซ้อนก็จะเล็กลง
“เส้นนี้คือเส้นเดียวที่สำคัญที่สุดสำหรับไทยเรา” ดร.สุรเกียรติ์ย้ำ
“เรื่องนี้ไม่ใช่แค่สุรเกียรติ์พูดคนเดียว แต่ทั้งกระทรวงการต่างประเทศและผู้เชี่ยวชาญกรมอุทกศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่ทหารต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันอย่างนี้”
แต่ย้ำว่าจะเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์โดยไม่เจรจาเส้นนี้เลยไม่ได้
“แต่ไม่ได้แปลว่าจะเจรจาเรื่องผลประโยขน์ไม่ได้เลย ต้องเจรจาทุกเส้นให้เสร็จก่อน ก็ไม่ใช่ เพราะอาจจะต้องใช้เวลา 50 ปี เหมือนไทยกับมาเลเซีย ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังเจรจากันทุกปี เจรจากันคืบหน้านิดนึง เราก็ไปฉลองด้วยการเล่นกอล์ฟกัน และแม้จะเจรจาไม่คืบหน้าเลย ก็ยังเล่นกอล์ฟกันอยู่ดี แบบอาเซียน…”
ดร.สุรเกียรติ์บอกว่ารัฐบาลในอดีตยืนยันว่าเส้นอ้อมเกาะกูดนั้นสำคัญ ส่วนรัฐบาลนี้จะพิจารณาว่ามีเส้นไหนอีกที่สำคัญก็เป็นเรื่องต้องพิจารณากัน
“และเมื่อเจรจากันเสร็จแล้วทั้งเรื่องเส้นแบ่งเขตแดนทางทะเลและเรื่องการแบ่งผลประโยชน์ก็ยังต้องเข้ารัฐสภาอยู่ดี…ไม่มีทางจะทำอะไรงุบงิบได้”
แต่แม้จะตกลงกันได้พรุ่งนี้ก็ยังต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีจึงจะนำเอาพลังงานใต้น้ำมาใช้
ในแง่สร้างภาพลักษณ์ไทย ก็อาจ “ขายอนาคต” ได้ในแง่ที่ว่าว่าเรามีความมั่นคงทางพลังงานมากขึ้น
แต่ท้ายที่สุดก็อยู่ที่ความสามารถในการเจรจา
หากเรารู้ว่ากัมพูชาอยากได้น้ำมันและก๊าซมาก เขาก็ต้องยอม “ลากเส้นเขตแดนสวยๆ อย่างที่เราเรียกร้อง”
สำหรับคนไทยทั่วไปแล้ว ความสนิทสนมระดับครอบครัวของสองประเทศต้องไม่ถูกมองว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน
แต่ต้องพิสูจน์ด้วยการกระทำที่ชัดเจนโปร่งใสว่าจะต้องนำมาซึ่งผลประโยชน์ของประเทศ
จึงจะถือว่า “ทำงานเพื่อชาติ”!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022