ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 - 31 ตุลาคม 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | สุภา ปัทมานันท์ |
เผยแพร่ |
ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับปัญหาประชากรผู้สูงอายุ (高齢者) เพิ่มขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันปี 2024 ญี่ปุ่นมีประชากรราว 124.8 ล้านคน ซึ่งลดลงจากปีที่แล้ว ราว 6 แสนคน แต่ประชากรผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป มีจำนวนถึง 36.25 ล้านคน คิดเป็น 29.3% ของประชากรทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ราว 2 หมื่นคน นับเป็นจำนวนสูงสุดเท่าที่เคยทำสถิติมา
จำนวน 36.25 ล้านคนไม่ใช่ผู้สูงอายุเกิน 65 ปีเท่านั้น ในจำนวนนี้มีผู้สูงอายุเกิน 100 ปีถึง 95,119 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี ตั้งแต่ปี 1970 ไม่เคยลดลงเลย
คาดว่าในอีกประมาณ 40 ปีข้างหน้า คือปี 2065 ประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 38.4%
กล่าวได้ว่าประชากรทั้งประเทศเกือบ 40% เป็นผู้สูงอายุเกิน 65 ปี ไปจนถึงเกิน 100 ปี สวนทางกับจำนวนเด็กเกิดใหม่ที่ลดลงต่ำกว่าปีละ 8 แสนคนทุกปี
เมื่อถึงวันนั้น ผู้สูงอายุหนึ่งคนจะตกเป็นภาระหนักให้คนวัยทำงาน 1.3 คน หรือเกือบจะเป็นอัตรา 1:1 ทีเดียว
ประชากรผู้สูงอายุกระจายอยู่ทั่วประเทศ ในชนบทห่างไกลบางแห่งเต็มไปด้วยผู้เฒ่า ผู้แก่ ส่วนลูกหลาน คนหนุ่มสาว พากันไปทำงานในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะหลังจบช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้คนที่เคยย้ายออกห่างจากเมืองใหญ่กลับบ้านเกิดในชนบท ก็หวนกลับไปหาแสงสีและโอกาสในเมืองใหญ่อีกครั้ง
มาดูข้อเท็จจริงที่น่าสนใจเกี่ยวกับผู้สูงอายุในเมืองใหญ่อย่างโตเกียว
ข้อมูล ณ เดือนกันยายน ปี 2024 เฉพาะในเมืองโตเกียว มีประชากรสูงอายุ 22.1% เมื่อเปรียบเทียบกับเมืองใหญ่อื่นๆ เช่น โซล 19.2% สิงคโปร์ 18% ปักกิ่ง 15.8% (ปี 2023) ลอนดอน 12.1% (ปี 2022)
องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้อัตราส่วนของประชากรอายุเกิน 65 ปี เป็นเกณฑ์บอกสังคมผู้สูงอายุ กล่าวคือ หากมีจำนวนเกิน 14% ของประชากรทั้งหมด เป็น สังคมผู้สูงอายุ (高齢社会) (Aging Society) เกิน 21% เป็น สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (超高齢社会) (Super Aging Society)
โตเกียวจึงเป็นเมืองที่ล่วงหน้าเข้า “สู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์” ไปแล้ว
ผู้สูงอายุในโตเกียวอาศัยอยู่อย่างไร?
กระทรวงกิจการภายใน (総務省) มีการสำรวจสภาพที่อยู่อาศัย ปี 2023 ครอบครัวผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไปอาศัยอยู่ในบ้านของตัวเองมากที่สุด คือ 35% อยู่อพาร์ตเมนต์ของตัวเอง 33% และเช่าห้องพัก 31%
สรุปว่าส่วนใหญ่อยู่อพาร์ตเมนต์มากกว่าอยู่บ้านเดี่ยวในเมืองใหญ่อย่างโตเกียว
ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่เพียงลำพังคนเดียวทั่วประเทศญี่ปุ่นมี 19% แต่ในโตเกียวมีถึง 28% จำนวนผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวมีเพิ่มขึ้นทุกปีจากรายงานการสำรวจ “การใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ” ของที่ทำการกรุงโตเกียว แต่ผู้สูงอายุเหล่านี้ก็ไม่เหงาเสียทีเดียว มี 19% ตอบว่าโทรศัพท์พูดคุยกับลูกๆ หลานๆ ทุกวัน แต่อีก 42% ตอบว่าพูดคุยมากกว่าเดือนละครั้ง
อยู่โตเกียวค่าใช้จ่ายย่อมสูงเป็นธรรมดา การสำรวจในปี 2019 ผู้สูงอายุเกิน 80 ปี ที่อยู่เพียงลำพังต้องใช้จ่ายเฉลี่ยราวเดือนละ 1.8 แสนเยน (41,000 บาท) ในจำนวนนี้ เป็นค่าอาหาร 57,000 เยน (13,100 บาท) ค่าเช่าห้อง 35,000 เยน (8,100 บาท)
นอกจากนี้ ยังมีค่าสาธารณูปโภค ค่าจ้างผู้ดูแล เป็นต้น ซึ่งโดยรวมแล้วแพงกว่าจังหวัดอื่นๆ
คู่สามีภรรยาที่มีอายุเกิน 65 ปี อาศัยอยู่เพียงลำพังในโตเกียว มีเงินออมครอบครัวละเท่าไร?
ผลการสำรวจของที่ทำการโตเกียวพบว่า 1 ใน 3 ของครัวเรือนเช่นนี้ หรือ 32% มีเงินออม (เงินฝาก หุ้น หุ้นกู้ พันธบัตร ประกันภัย เป็นต้น) มากกว่า 20 ล้านเยน (4.6 ล้านบาท) ราว 50% มีเงินออม 10 ล้านเยน ส่วนอีก 7% “ไม่มีเงินออมเลย” เห็นช่องว่างระหว่างผู้เคยมีรายได้ มีงานประจำทำและวางแผนล่วงหน้าก่อนเกษียณ
ข้อมูลของกระทรวงกิจการภายใน เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานการประกอบอาชีพ ผู้สูงอายุชาวโตเกียว อายุ 65 ปีขึ้นไป 29% และอายุ 75 ปีขึ้นไป 17% ยังทำงานอยู่ แต่หากดูอัตราส่วนทั่วประเทศมีเพียง 14% ในวัยเดียวกันนี้ที่ยังทำงานอยู่ เห็นได้ว่าโตเกียวยังเป็นที่ที่มีโอกาสให้คนหลังเกษียณได้มีงานทำมากกว่าในชนบท
ปี 2022 การจ้างงานผู้สูงอายุเกิน 65 ปี ในโตเกียว มีสูงถึง 4.53 แสนคน มากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้ ราว 2.54 แสนคน เป็นการจ้างแบบชั่วคราว ระดับผู้บริหารที่ไม่ได้ทำงานประจำราว 1.29 แสนคน ส่วนผู้ที่ยังทำงานเป็นพนักงานประจำของบริษัทมีเพียง 71,000 คน
ไม่ใช่ผู้สูงอายุทุกคนยังทำงาน เมื่อแก่ตัวลงก็มีไม่น้อยที่สุขภาพถดถอยลงด้วย หรือเจ็บป่วยมีโรคภัย ต้องอยู่บ้าน ถึงเวลาต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจรับการรักษา ไปเองไม่ได้ ใครจะเป็นผู้ทำหน้าที่นี้?
กว่า 40% ตอบว่า ลูก เป็นกรณีที่มีลูกมีหลาน ไม่ว่าจะอยู่ด้วยหรือไม่ก็ตาม 27% เป็นหน้าที่ของพนักงานผู้ดูแลที่จ้างมา และ 20% สามีหรือภรรยาของตัวเองพาไป
สังเกตว่าคนวัยนี้เป็นรุ่นเบบี้บูมที่แต่งงานและมีลูกหลายคน เหนื่อยยากเลี้ยงลูกมา จึงยังพอมีลูกมาดูแลยามแก่เฒ่าบ้าง
ผู้สูงอายุที่เจ็บป่วย มีปัญหาสุขภาพ จนอยู่ในสภาพที่ไม่อาจช่วยเหลือตัวเองในการดำเนินชีวิตประจำวันได้ เช่น การกินอาหาร การดูแลเสื้อผ้า การขับถ่าย เป็นต้น ครอบครัวไม่อาจดูแลได้ ต้องการยื่นคำขอเพื่อเข้าพักในบ้านพักคนชราแบบพิเศษของรัฐ ไม่ใช่ว่าจะเข้าอยู่ได้ง่ายๆ ข้อมูล ปี 2022 จำเป็นต้องรอต่อคิวนานถึง 21,000 คนทีเดียว หากพอมีคู่ชีวิตหรือลูกก็อาจผลัดกันดูแลได้บ้าง ไม่งั้นก็อาจเสียชีวิตไปก่อนจะได้คิว
ในจำนวนนี้มีกว่า 3,000 คน ที่ไร้ญาติขาดมิตร จะอยู่ได้อย่างไร
ข้างต้นนี้ คือข้อเท็จจริงบางส่วนของญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ภาครัฐมีการเตรียมการรองรับปัญหาประชากรผู้สูงวัยมาอย่างต่อเนื่อง
อีกทั้งชาวญี่ปุ่นเองก็ได้ตระหนักถึงปัญหานี้ ใช้จ่ายอย่างมีสติและชาญฉลาด ต้องอยู่ให้รอดจากภาวะค่าครองชีพสูงขึ้น
ไม่เพียงเท่านี้ ยังตั้งเป้าเก็บออมเงิน และวางแผนการใช้ชีวิตในวัยชราของตนเอง
แต่กระนั้นก็ตาม ความกังวลเกี่ยวกับบั้นปลายชีวิตของตนเองก็ไม่หมดไปง่ายๆ มากบ้างน้อยบ้าง…
รู้เรื่องชาวโตเกียวแล้ว อดไม่ได้…ต้องคิดถึงชาวกรุงเทพฯ…
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022