ส่อง 25 ปี…ปฏิรูปศึกษาไทย ในวังวน ‘วิกฤต-ดิ่งเหว-ล้มละลาย’

ระบบ “การศึกษาไทย” ถูกตั้งคำถามเรื่อง “คุณภาพ” มาอย่างยาวนาน จากเดิมที่การศึกษาของไทยเคยอยู่เบอร์ต้นๆ ของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ขณะนี้เพื่อนบ้านหลายๆ ประเทศที่เคยตามหลังไทย แซงหน้าเราไปเรียบร้อยแล้ว โดยไทยตกมาอยู่อันดับท้ายๆ

เพราะคุณภาพการศึกษาไทยในปัจจุบัน ไม่เพียงแต่ย่ำอยู่กับที่ กลับถอยหลังเข้าคลองไปเรื่อยๆ ถึงขั้นที่นักวิชาการหลายๆ คน พร้อมใจกันฟันธงว่า ไม่ใช่แค่คุณภาพตกต่ำเท่านั้น แต่เข้าขั้น “วิกฤต” ถึงขั้น “ดิ่งเหว” และ “ล้มละลาย” ทางความน่าเชื่อถือ

หากรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ยังคงนิ่งเฉย มองไม่เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้วิกฤตด้านการศึกษาของประเทศ ต่อให้ “ปฏิวัติ” การศึกษาไทย ก็เชื่อว่าระบบการศึกษาของไทยอาจจะถึงขั้นกู่ไม่กลับ

 

ทั้งนี้ หากมองย้อนกลับไปในช่วงที่ประเทศไทยเดินหน้า “ปฏิรูปการศึกษา” ครั้งใหญ่เมื่อปี 2542 ในสมัยรัฐบาล นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเกิดปัญหามากมายที่ส่งผลให้การศึกษาไทยไปไม่ถึงไหน ทั้งความยากจนของพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่ทำให้ไม่สามารถส่งลูกหลานให้เรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี บวกกับการจัดการเรียนการสอนในอดีต ที่ครูยังสอนโดยยึดติดตำรับตำราเป็นหลัก ไม่ได้ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ทำให้ภาพรวมผลการเรียนของเด็กไทยอยู่ในระดับต่ำ และไม่สามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้

เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหา และอุปสรรคใหญ่ ที่ฉุดรั้งระบบการศึกษาไทยให้ไปไม่ถึงไหน

รัฐบาลนายชวนจึงได้ทำคลอด “พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542” ซึ่งถือเป็นกฎหมายด้านการศึกษาที่เป็นทางการ และเป็นจุด “เริ่มต้น” ของการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ของประเทศไทย

โดยกฎหมายดังกล่าวเน้นที่ตัว “ผู้เรียน” เป็นสำคัญ ให้ผู้เรียนเป็น “ศูนย์กลางการเรียนรู้” เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตลอดชีวิต นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

เพื่อให้เกิดการจัดการศึกษาที่หลากหลาย และตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียนที่มีความหลากหลาย

 

หากนับจากปี 2542 ผ่านมา 25 ปี จากรัฐบาล นายชวน หลีกภัย ส่งไม้ต่อให้รัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร รัฐบาล 2 สมัย ตามมาด้วยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ รัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช รัฐบาล นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน มาจนถึงรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ

แต่ดูเหมือนการศึกษาไทยยังไปไม่ถึงดวงดาว หรือถ้าเป็นดาว ก็น่าจะเป็น “ดาวตก” เสียมากกว่า

โดยในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลส่งต่อรัฐบาล มาสู่รัฐบาลปัจจุบัน ผ่านมาถึง 10 รัฐบาล ระหว่างทางได้เกิด “คณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา” ขึ้นหลายชุด โดยแต่ละครั้งจะดึง “หัวกะทิ” ด้านการศึกษาของประเทศ มานั่งเป็นประธาน และกรรมการปฏิรูปการศึกษา โดยตั้งเป้ายกระดับการศึกษาไทยให้พัฒนาเทียบเท่าสากล

จนถึงขณะนี้ การปฏิรูปการศึกษาไทยก็ยังไปไม่ถึงไหน การยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…. ฉบับใหม่ ที่ไม่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในยุคของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ถึงปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ก็ยังถูกทิ้งไว้

ขณะที่รัฐบาลนายกฯ อิ๊งค์ ยังไม่มีนโยบาย หรือมีทีท่าจะสนใจผลักดันเรื่องการปฏิรูปการศึกษา และกฎหมายปฏิรูปการศึกษาฉบับใหม่

เพื่อที่จะพัฒนา และยกระดับการศึกษาของประเทศให้แข่งขันในเวทีโลก

 

รศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครราชสีมา วิเคราะห์ว่า เกินเวลาที่จะต้องปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอนของไทยแล้ว เนื่องจากไทยมีแผนที่จะปรับหลักสูตรฐานสรรถนะ (Competency-based Curriculum) มาหลายปีแล้ว แต่ถูกต่อต้านจากครู หรืออาจารย์ผู้สอน ที่ไม่นิยมความเปลี่ยนแปลง ทำให้การปฏิรูปหลักสูตรไม่ประสบความสำเร็จ

จึงเรียกร้องให้ปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอนของไทยโดยเร็วที่สุด เพราะโลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก และเปลี่ยนแปลงสิ้นเชิง โดยต้อง “ปรับ” มายด์เซ็ต ทั้งครู อาจารย์ และผู้ปกครอง ที่ต่อต้าน ว่าไม่ควรให้เด็กเรียนมากเกินความจำเป็น แต่ควรเรียนเฉพาะทักษะที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ

นอกจากนี้ จะต้อง “กระจายอำนาจ” โดยตั้งคณะกรรมการการศึกษาระดับจังหวัด และ “ทบทวน” โครงสร้างการจัดการเรียนการสอนใหม่ที่จะลงสู่โรงเรียนขนาดต่างๆ

รศ.ดร.อดิศรฝากถึงรัฐบาล ว่าอย่าอ้างแต่ผลคะแนนสอบโครงการประเมินผลนักเรียนระหว่างประเทศ หรือ PISA เพราะขณะนี้ให้เด็กไทยไปสอบ PISA อย่างไรก็ตก เพราะ PISA ไม่ใช่การสอบวัดสมรรถนะ หรือคุณภาพตามวิชาที่เด็กเรียนมา แต่เป็นการสอบวัดกำลังพลว่า เยาวชนไทยมีคุณภาพในการคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหาแบบบูรณาการ เข้าสู่ภาคธุรกิจ หรือภาคอุตสาหกรรมได้หรือไม่ เพราะองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD นำการวัดผล PISA ไปประเมินว่าเหมาะสมที่จะมาลงทุนในประเทศไทยหรือไม่

“แต่หลักสูตรการศึกษาไทย นิยมแบบท่องจำ และนำไปตอบคำถามตามที่ได้เรียนมา ถึงแม้ว่าจะมีวิเคราะห์บ้าง แต่ก็วิเคราะห์แบบผิวเผินเท่านั้น รวมทั้ง การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ก็ต้องปรับด้วยเช่นกัน” นายอดิศรกล่าว

ด้านนายยศวีร์ สายฟ้า คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาต้องมองภาพใหญ่ของประเทศ การศึกษาแต่ละระดับต้องเชื่อมโยงกัน ให้เด็กนำความรู้ไปต่อยอดได้ การปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมา ยังปฏิรูปในส่วนของของผู้ดูแลการจัดการศึกษา ไม่ได้เชื่อมโยงนโยบาย การปฏิบัติ รวมถึงกระบวนการวัดประเมินผล

แม้ ศธ.ในขณะนี้มีทิศทาง และสิ่งที่ต้องการจะสอนผู้เรียนชัดเจน เพียงแต่หลักสูตรที่เป็นมาตรฐานสากล เช่น เรื่องของสมรรถนะ หรือทักษะชีวิต กลับไม่ถูกนำมาใช้ เพราะไปมุ่งเน้นในการสอนเพื่อไปสอบ

“หาก ศธ.ต้องการจะปฏิรูป ไม่ต้องทำอะไรขึ้นมาใหม่ แต่ให้ปฏิรูปจากสิ่งที่มีอยู่ตั้งต้น จากตัวหลักสูตรให้สัมพันธ์กัน ทั้งในเรื่องของการสอน และการประเมินผล หลักสูตรขณะนี้ถือว่าทันสมัย แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของการสอนที่เน้นวัดผลทางวิชาการ พอเด็กโตขึ้นสู่วัยทำงาน กลับไม่ได้นำความรู้มาใช้ เพราะนายจ้างไม่ได้ต้องการคนที่มีทักษะวิชาการ แต่ต้องการคนเก่งในสิ่งที่ทำ มีทักษะ ฉะนั้น อยากให้ ศธ.เพิ่มความสนใจ และกำหนดให้ครูสอนในเรื่องนี้ให้มากขึ้น”

นายยศวีร์กล่าว

 

ขณะที่ “บิ๊กอุ้ม” พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ยืนยัน นั่งยัน ว่าตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้เดินหน้า “ปฏิวัติ” การศึกษามาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นโครงการ “เรียนดีมีความสุข” หรือนโยบาย “เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา” หรือ Anywhere Anytime ที่นำเทคโนโลยีมาพัฒนาการศึกษา รวมถึงนโยบายอื่นๆ อีกมากมาย

ส่วนร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…. ฉบับใหม่ อยู่ระหว่างผู้เกี่ยวข้องดำเนินการยกร่าง…

ต้องจับตาว่า ทั้ง “บิ๊กรัฐบาล” จะขยับเขยื้อนแก้ปัญหา “คุณภาพ” การศึกษาไทย ที่เกิด “วิกฤตซ้อนวิกฤต” หลังประเทศไทยผ่านการปฏิรูปการศึกษามายาวนานถึง 25 ปี หรือไม่!! •

 

| การศึกษา