ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 - 31 ตุลาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | สิ่งแวดล้อม |
ผู้เขียน | ทวีศักดิ์ บุตรตัน |
เผยแพร่ |
นํ้าท่วม อ.แม่สาย จ.เชียงราย ปีนี้รวมแล้ว 9 ครั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อต้นเดือนตุลาคม แต่ครั้งหนักสุดเกิดขึ้นเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา มวลน้ำ ดินโคลน ท่อนซุง และเศษไม้ไหลบ่าทะลักท่วมสร้างความเสียหายให้กับแม่สายซึ่งเป็นเขตค้าชายแดนนับพันล้านบาท
ความเสียหายเช่นนี้จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกถ้ายังไม่มีแนวคิดป้องกันภัยและปรับผังเมืองใหม่ที่ชัดเจน
สาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วม อ.แม่สาย มาจากปริมาณฝนที่ตกมากกว่าปกติตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ทำให้ผืนดินแถบนั้นอุ้มน้ำแทบไม่ไหวแล้วจนกระทั่งซูเปอร์ไต้ฝุ่นยางิพัดผ่านทางเวียดนามและลาว ระหว่างวันที่ 8-10 กันยายน อิทธิพลของพายุ กรมอุตุนิยมวิทยาวัดปริมาณน้ำฝนในพื้นที่อำเภอแม่สายมีมากถึง 235.8 มิลลิเมตรในรอบ 24 ชั่วโมง
ป่าไม้บนเทือกเขาสูงทางฝั่งเมียนมาติดกับอำเภอแม่สายถูกโค่นทำลายกลายเป็นชุมชน แปลงพืชไร่เกษตรและเหมืองแร่ ผืนดินบริเวณซึ่งไร้ต้นไม้ใหญ่เมื่อมีมวลน้ำมหาศาล ผืนดินจึงไม่สามารถอุ้มซับน้ำได้อีกและไหลทะลักสู่เบื้องล่างอย่างเร็วแรงกระชากเอาดินโคลนข้นทะลักลงสู่แม่น้ำสาย-แม่น้ำรวก
ขณะที่ตัวเมืองแม่สายเจริญมากขึ้นมีการสร้างตึกรามบ้านช่อง ถนนทับเส้นทางน้ำ เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุทำให้เมืองแม่สายกลายเป็นจุดวิกฤตน้ำท่วม ดินโคลนถล่ม
พยานซึ่งอยู่ในตลาดสายลมจอย อ.แม่สาย บอกกับสื่อว่า เกิดมาเพิ่งเคยเห็นมวลน้ำที่ไหลแรงเร็วและเอ่อท่วมสูงถึง 1.5 เมตร แม้รู้ล่วงหน้าว่าเกิดน้ำท่วมแน่ๆ และเตรียมป้องกันไว้แล้ว แต่ด้วยปริมาณน้ำที่มากมาเร็ว ไม่สามารถย้ายข้าวของได้ทันท่วงที
เมื่อฝนหยุดตก มวลน้ำไหลผ่านไปแล้ว ชุมชนในตลาดสายลมจอยต้องเผชิญกับดินโคลนอัดอยู่เต็มบ้าน ตึกบางแห่งดินโคลนไหลเข้าไปอัดถึงชั้น 3
ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวเมืองแม่สายต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนกว่าจะฟื้นฟูกลับสู่ภาวะปกติ
ถ้าถามว่า เหตุวิกฤตดินโคลนถล่มเมืองแม่สายมีโอกาสเกิดขึ้นซ้ำอีกหรือไม่
คำตอบ อยู่ที่ปัจจัยแวดล้อม นั่นคือ จะมีปรากฏการณ์ระเบิดฝน หรือ Rain Bomb มากและนานแค่ไหน ประสิทธิภาพในการวางแผนจัดการป้องกันน้ำท่วมเป็นอย่างไร
“ระเบิดฝน” ในที่นี้หมายถึง ฝนที่ตกนานๆ ในพื้นที่เดิมๆ ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะโลกเดือดทำให้สภาพภูมิอากาศแปรปรวนรุนแรง
วิกฤต “แม่สาย” กลายเป็นประเด็นที่รัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร” ต้องนำมาวิเคราะห์ประมวลเพื่อหาแนวป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ
คุณภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม บอกกับสื่อหลังประชุมสภากลาโหมว่า น้ำท่วมที่เกิดขึ้นใน อ.แม่สายเป็นการท่วมแบบพิเศษ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มีภาพถ่ายทางอากาศพบเหมืองแร่ตั้งอยู่ในพื้นที่มีโคลน ต้นไม้ไหลลงมาตามกระแสน้ำเป็นจำนวนมาก ทางน้ำเหลือแค่ 20 เมตรเท่านั้น
“ที่ประชุมพูดถึงการแก้ปัญหาในพื้นที่ อ.แม่สายระยะยาวด้วย อาจจะต้องขุดลอกแม่น้ำสาย”
คุณภูมิธรรมเสนอแนวทางให้กองบัญชาการกองทัพไทย กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ประสานกับรัฐบาลเมียนมาเพื่อหารือ อาจจะต้องผลักดันพื้นที่รุกล้ำออกไปทั้งสองฝ่าย
“แต่หากแก้ปัญหาไม่ได้ อาจถึงขั้นต้องเปลี่ยนแปลงหรือย้ายเมือง เป็นเรื่องที่คิดกันอยู่ว่า หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ทุกปี ในระยะเวลาไม่ถึง 100 ปี บ้านเมืองที่อยู่บริเวณนั้น อาจกลายเป็นเมืองใต้ดินเพราะถูกสิ่งต่างๆ ทับถม”
คำสัมภาษณ์คุณภูมิธรรมบอกให้รู้ว่า ปัญหาน้ำท่วม ดินโคลนถล่มแม่สายไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เกิดแค่ชั่วครั้งชั่วคราว แต่เป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ ทางแก้ต้องให้เพื่อนบ้านชายแดนติดกันมานั่งคุยกัน
สรุปจากคำสัมภาษณ์ของคุณภูมิธรรมได้ว่า สาเหตุการเกิดน้ำท่วมเมืองจึงมีปัจจัยสำคัญอย่างน้อย 3 ปัจจัย ภาวะโลกเดือด การเปลี่ยนแปลงสภาพผืนป่า และการจัดวางผังเมืองที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเส้นทางน้ำไหลหลาก
ปัจจุบันนานาประเทศต่างยอมรับว่า ภาวะโลกเดือดมีผลกระทบโดยตรงต่อชุมชน พื้นที่ตรงไหนไม่เตรียมแผนรับมือเมื่อมีระเบิดฝน พายุกระหน่ำ คลื่นยักษ์กระแทก เกิดน้ำท่วมอย่างฉับพลัน จะสร้างความเสียหายทั้งเศรษฐกิจและชีวิตผู้คน
ความถี่และความรุนแรงจากภาวะโลกเดือดมีมากขึ้น ชุมชนที่มีผู้คนอยู่กันหนาแน่นยิ่งมีความเสียหายหนักมากเป็นทวีคูณ
ภาวะโลกเดือดมีผลโดยตรงต่อพายุทุกลูกที่ก่อตัวในทะเลไม่ว่าจะเป็นพายุไซโคลน ไต้ฝุ่นหรือเฮอร์ริเคน
โลกเดือดรุนแรงมากขึ้น อุณหภูมิผิวน้ำทะเลยิ่งเพิ่มสูงขึ้น การก่อตัวของพายุก็จะเร็วขึ้น รุนแรงมากขึ้น
ไล่เรียงเหตุการณ์พายุ 4 ลูกถล่มนานาประเทศในช่วงเพียง 2 เดือน จะเห็นได้ว่าก่อให้เกิดความเสียหายอย่างหนักหน่วง
ซูเปอร์ไต้ฝุ่น “ยางิ” พัดผ่านหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เฉพาะเวียดนามเสียหายไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1 แสนล้านบาท)
พายุ “บอริส” กระหน่ำยุโรป สร้างความเสียหายราว 3,000 ล้านยูโร (11,000 ล้านบาท)
ส่วนพายุเฮอร์ริเคน “เฮลีน” พัดใส่ 16 รัฐทางฝั่งตะวันออกของสหรัฐ และเฮอร์ริเคน “มิลตัน” ถล่มรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ความเสียหายจากเฮอร์ริเคนรวมกัน 2 ลูกราว 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.3 ล้านล้านบาท)
นานาประเทศต่างรู้ว่าการควบคุมไม่ให้เกิดภาวะโลกเดือดเพื่อลดความสูญเสียทั้งทรัพย์สิน ชีวิตผู้คนนั้นต้องทำอย่างไร เพราะมีข้อสัญญาผูกมัดว่าต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นจำนวน 42 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2573 ควบคุมอุณหภูมิโลกไม่สูงขึ้นเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับอุณหภูมิก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม
นับจากเซ็นข้อตกลงกันที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่ปลายปี 2559 จนถึงขณะนี้ ประเทศยักษ์ใหญ่ ไม่ว่า จีน สหรัฐ อินเดีย หรือสหภาพยุโรป ยังคงปล่อยก๊าซพิษเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
เมื่อประเทศเหล่านี้ไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ ผลที่ตามมาก็คืออุณหภูมิโลกเข้าสู่ภาวะโลกเดือด
ระดับก๊าซพิษ โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลก ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม อยู่ที่ 422.1 ส่วนต่อล้านส่วน หรือ ppm. (parts per million)
ช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลก เฉลี่ยราว 280 ppm.
เมื่อเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เกิดการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ทำให้ผู้คนเกือบทั้งโลกพากันเสพสุข ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ รถไฟ เครื่องบิน เครื่องใช้ไฟฟ้า แอร์คอนดิชั่น ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วต้องใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล น้ำมัน ก๊าซและถ่านหิน ปริมาณก๊าซพิษในชั้นบรรยากาศพุ่งสูงกระฉูดอย่างต่อเนื่อง
ปี 2533 ระดับก๊าซพิษอยู่ที่ 350 ppm. เทียบข้อมูลล่าสุดปีนี้ ชาวโลกปล่อยก๊าซพิษเกินระดับความปลอดภัยมากถึง 72.1 ล้านตัน
ในอนาคตถ้าชาวโลกยังไม่ยั้งมือหยุดการปล่อยก๊าซพิษ ทำนายได้เลยว่า เราๆ ท่านๆ รวมไปถึงลูกหลานทั้งหลาย จะต้องเจออากาศวิกฤตสุดสุด ทั้งพายุอันเกรี้ยวกราด น้ำท่วม แล้งจัด คลื่นความร้อนมากกว่าที่เห็นๆ เป็นหลายสิบเท่า
คราวนี้ เรามาดูกันว่า ในแต่ละประเทศพยายามหาทางป้องกันน้ำท่วมน้ำแล้งอย่างไรบ้าง
เริ่มกันที่ “ออสเตรีย” เป็น 1 ในกลุ่มประเทศยุโรปที่ได้รับผลกระทบจากพายุบอริส เนื่องจากฝนตกติดกัน 5 วัน ทำลายสถิติเดิมๆ เมื่อเทียบกับปริมาณฝนที่ตกในกรุงเวียนนาและเมืองอื่นๆ ตลอดทั้งเดือนกันยายน ปรากฏว่าฝนตกเพียง 5 วันสูงมากกว่าตกทั้งเดือน 2-5 เท่า
ฝนตกกระหน่ำอย่างไม่ลืมหูลืมตาทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำดานูบเพิ่มสูงอย่างรวดเร็ว และจากเคยไหลเอื่อยๆ ก็เปลี่ยนเป็นกระแสน้ำอันเชี่ยวกราก เอ่อล้นตลิ่งท่วมบ้านเรือน ถนนหนทาง
แต่น่าสังเกตว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้คนนั้นกลับมีน้อยมาก มีผู้บาดเจ็บเล็กน้อยเพราะเหตุน้ำท่วมเพียง 10 คน อพยพออกมาจากบ้านจุดเสี่ยงภัยเพียง 15 หลัง
ทั้งหมดทั้งหลายเป็นเพราะทางการกรุงเวียนนาได้วางแผนเตรียมการป้องกันน้ำท่วมล่วงหน้ามานานแล้ว เพราะได้บทเรียนจากเหตุน้ำท่วมใหญ่ 2 ครั้งเมื่อปี 2545 และ 2556
ผู้บริหารกรุงเวียนนาระดมผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งเวียนนาร่วมกันวางยุทธศาสตร์ป้องกันน้ำท่วมอย่างจริงจัง
ระบบป้องกันน้ำท่วมได้รับการออกแบบให้ระบายน้ำออกจากเมืองได้มากถึง 14,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พัฒนาระบบพยากรณ์อากาศให้ทำนายได้แม่นยำ
อีกระบบที่ควบคุมปริมาณน้ำได้ผลดีอย่างมาก นั่นคือ การสร้างเกาะเทียมในแม่น้ำดานูบเพื่อระบายน้ำไปยังแหล่งรับน้ำแห่งใหม่ที่เรียกว่า “นิวดานูบ”
กรุงเวียนนายังมีแอ่งรับน้ำอีกแห่งสามารถระบายน้ำลงแม่น้ำดานูบได้ 11,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
การฝึกความพร้อมเตรียมรับมือภัยพิบัติ เป็นอีกประเด็นสำคัญของการบริหารจัดการน้ำท่วม เพราะช่วยลดความสูญเสีย
ออสเตรียจัดฝึกอบรมในทุกระดับให้กับกองทัพ หน่วยกู้ภัยและหน่วยดับเพลิง
เครื่องมือป้องกันน้ำท่วมอย่างกำแพงป้องกันน้ำเคลื่อนที่ (mobile flood protection wall) สามารถยกไปตั้งขวางทางน้ำไม่ให้เอ่อทะลักในจุดสำคัญๆ
กระบวนการทั้งหมดนี้จะต้องทำให้ทันกับสถานการณ์ ข้อมูลทางน้ำต้องแม่นยำ และเจ้าหน้าที่กู้ภัยต้องฝึกมาอย่างดีสามารถเคลื่อนย้ายอพยพผู้คนออกจากจุดน้ำท่วมไหลเชี่ยวกรากได้อย่างรวดเร็ว
กล่าวได้ว่า การวางแผนป้องกันน้ำท่วมและประสิทธิภาพด้านบริหารจัดการในภาวะวิกฤตภัยในห้วงที่พายุ “บอริส” ถล่ม ออสเตรียทำได้ดีและประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง •
สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022