อาคารตัวอย่าง

ปริญญา ตรีน้อยใส

นํ้าท่วมปีนี้ ดูจะรุนแรงมาก อาจจะเป็นเพราะปัญหาโลกร้อน อาจจะเป็นเพราะปรากฏการณ์เอลนีโญ และอาจจะเป็นเพราะการทำลายสภาพแวดล้อมธรรมชาติที่ผ่านมา หรืออาจจะเป็นเพราะกระแสโซเชียล ทำให้คนรับรู้ข่าวสารมากขึ้น

ภาพน้ำโคลนท่วมบ้าน ที่ไวรัลอยู่หลายวัน ทำให้นึกถึงอาคารอีกหลังขึ้นมา อาคารหลังนี้อยู่ที่นครราชสีมา เคยพาไปมองเมื่อนานมาแล้ว

สมัยนั้นเป็นอาคารเรียนรวม ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นอาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล อีสาน อาคารหลังไม่ใหญ่ สูงสี่ห้าชั้น เห็นได้ชัดจากถนนสุรนารายณ์

เนื่องจากวิทยาเขตนี้ พื้นที่เดิมเป็นที่ลุ่ม ด้านหลังติดกับลำตะคอง สถาปนิก วทัญญู ณ ถลาง จึงออกแบบปรับแต่งพื้นที่ให้ได้ระดับตอบรับกับทางหลวงที่อยู่ด้านหน้า โดยการขุดดิน นำไปถมถนน สนามหญ้า และปลูกต้นไม้ให้สูงพอพ้นน้ำ

จนเกิดเป็นบึงน้ำสวยงามในหน้าแล้ง เป็นแก้มลิงรองรับน้ำในหน้าฝน

 

รูปแบบอาคารหลังนี้เป็นแบบสมัยใหม่ ตามกระแสนิยมเมื่อสามสิบปีก่อน คืออาคารคอนกรีตฉาบปูนเรียบทาสี ที่เรียบง่าย นอกจากการยื่นกันสาดรอบอาคาร เพื่อช่วยกันแดดกันฝนแล้ว ผังอาคารสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ที่มีลานเปิดโล่งตรงกลางอาคาร

อาคารหลังนี้จึงร่มเย็นเรียนสบาย ไม่มีปัญหาเรื่องแดดส่องฝนสาด ไม่มีปัญหาเรื่องร้อนเพราะมีอากาศถ่ายเทตลอดเวลา

รูปลักษณ์อาคารยังตอบรับกับสภาพพื้นที่ เมื่อสถาปนิกยกตัวอาคารขึ้นสูง หนีน้ำ คล้ายใต้ถุนเรือนไทยริมคลอง ที่ไม่เคยมีปัญหาน้ำท่วม

ยามแล้งนักศึกษาอาศัยพื้นที่ใต้อาคารเป็นที่นั่งพักรอเข้าชั้นเรียน ยามใดที่น้ำในลำตะคองขึ้นสูง นักศึกษาก็แค่ย้ายไปนั่งเล่นที่อื่นสองสามวันรอน้ำลด

 

หลายปีก่อน มหาวิทยาลัยเปลี่ยนการใช้อาคารหลังนี้ เป็นสำนักงานอธิการบดี สถาปนิกเจนใหม่ แค่แต่งผนังทาเสาคานสีแสดตามเทรนด์ แต่ไม่ไร้เดียงสา จึงไม่ได้ต่อเติมใช้พื้นที่ใต้ถุนอาคาร ทำให้ไม่มีใครประสบเคราะห์กรรมเวลาน้ำท่วม

ไม่เหมือนเจ้าของบ้านเก่า ที่ปรับใช้พื้นที่ใต้ถุน ไม่เหมือนสถาปนิกรุ่นใหม่ที่สร้างบ้านติดดิน ไม่ได้ยกใต้ถุนให้สูงหนีน้ำ เลยเจอปัญหาโคลนท่วมบ้านในตอนนี้

เดิมที คนไทยเราใช้ไม้ก่อสร้างบ้าน จึงต้องยกพื้นบ้านสูง เพื่อหนีความชื้น หรือหนีน้ำแล้วแต่ที่ตั้ง

ต่อมาเมื่อเปลี่ยนไปเป็นก่ออิฐถือปูนที่มีน้ำหนักมาก เลยต้องสร้างบนดิน แบบบ้านจีนบ้าง แบบบ้านฝรั่งบ้าง ยิ่งกระแสนิยมตะวันตก คนไทยเลยอยากมีบ้านบนสนามหญ้า ใต้ถุนบ้านเลยหายไป

แม้ต่อมาเปลี่ยนมาใช้โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก สามารถยกพื้นขึ้นสูงได้ แต่ก็ยังอยากมีบ้านกั้นห้องแบบฝรั่ง และลืมเรื่องน้ำท่วมประจำปีไป

เลยเจอปัญหาอย่างที่เป็นข่าว

 

ต้องโทษสถาปนิก ไม่ได้ให้ความสนใจในเรื่องยกระดับบ้านหนีน้ำ เท่ากระจกตัดแสง หรือตัวเลข OTTV

ต้องโทษนักผังเมือง ไม่ได้ให้ความสนใจในเรื่องยกระดับเมืองหนีน้ำ เท่าระบายสีควบคุมการใช้พื้นที่ หรือขนาดตัวเลข FAR

ทั้งๆ ที่มีตัวอย่างบ้านใต้ถุนสูงริมคลอง ชุมชนริมน้ำให้เห็นมากมาย ทั้งที่มีตัวอย่างทางยกระดับ และสกายวอล์ก ให้เห็นว่าดีอย่างไร ในวันที่ฝนตกหนัก น้ำเหนือหลาก และน้ำทะเลหนุน •

 

มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส