Sinking and the Paradox of Staying Afloat นิทรรศการศิลปะที่กระตุ้นผู้ชม ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

Sinking and the Paradox of Staying Afloat

นิทรรศการศิลปะที่กระตุ้นผู้ชม

ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม

 

ในยุคสมัยปัจจุบัน ที่โลกประสบกับภาวะวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาดร้ายแรง ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมโลก ที่นับวันยิ่งใกล้ตัวเราขึ้นทุกทีๆ ไม่เพียงแค่คนในแวดวงการเมืองเท่านั้น ที่ต้องตระหนักกับปัญหาเหล่านี้ คนในแวดวงศิลปะเองก็ต้องหันมาสนใจเช่นกัน

อย่างเช่น ประเด็นที่ถูกพูดถึงในนิทรรศการศิลปะที่มีชื่อว่า Sinking and the Paradox of Staying Afloat ที่สำรวจวิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อมผ่านผลงานศิลปะของศิลปินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง อังกฤษ อัจฉริยโสภณ, เจษฎา ตั้งตระกูลวงศ์, คไว สัมนาง (Khvay Samnang), LE Brothers, เพลินจันทร์ พรสุรัตน์ และ ต่อลาภ ลาภเจริญสุข โดยการคัดสรรของภัณฑารักษ์ ลอรีดาน่า พาซซินี่-พาราคเซียนี่ (Loredana Pazzini-Paracciani) ผู้กล่าวถึงนิทรรศการครั้งนี้ว่า

“นิทรรศการครั้งนี้เป็นการนำเสนอจุดยืนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของโลกที่เราอาศัยอยู่ การเกิดขึ้นของนิทรรศการครั้งนี้คือการส่งสัญญาณอย่างเรียบง่ายว่า เราต้องการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสิ่งแวดล้อมเองก็ต้องการเรา ถึงแม้องค์การทางสิ่งแวดล้อมต่างๆ จะมีความพยายามแค่ไหนในการรักษาสิ่งแวดล้อม แต่การทำลายสิ่งแวดล้อมก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น หน้าที่ของเราคือการแสดงจุดยืนและตั้งคำถามว่าเราจะปล่อยให้เกิดสถานการณ์เช่นนี้กับสิ่งแวดล้อมนานต่อไปแค่ไหน เราจะลอยตัวอยู่เหนือปัญหานี้ได้นานเท่าไร”

“แนวคิดของนิทรรศการครั้งนี้นอกจากจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์เกี่ยวกับน้ำ สภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว”

“ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับการสำรวจค่านิยมและแนวทางแบบดั้งเดิมในการรักษาสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ และการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืนกับสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ สัตว์ และสิ่งมีชีวิตที่เป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้”

“เพื่อตอบสนองต่อหัวข้ออันแตกต่างหลากหลายเหล่านี้ ศิลปินที่ร่วมแสดงในนิทรรศการครั้งนี้บางคนทำงานไม่ต่างอะไรกับนักมานุษยวิทยา หรือ Shaman (ผู้ประกอบพิธีกรรมทางจิตวิญญาณในท้องถิ่น) ด้วยการตอบสนองกับสิ่งมีชีวิตในสิ่งแวดล้อม และร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่น ในการเผชิญหน้ากับความรับผิดชอบของตัวเองที่มีต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”

เริ่มต้นด้วย อังกฤษ อัจฉริยโสภณ ศิลปิน ภัณฑารักษ์ และผู้จัดการหอศิลป์ชาวไทย ผลงานของเขาเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างเวลา ความทรงจำ และอัตลักษณ์ของผู้คน และการเชื้อเชิญให้ผู้ชมครุ่นคิดเกี่ยวกับความซับซ้อนของประสบการณ์มนุษย์ ผลงานจิตรกรรมนามธรรมในนิทรรศการครั้งนี้ของเขา หยิบเอาแรงบันดาลใจจากประสบการณ์ส่วนตัวของเขาเกี่ยวกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมผ่านสีสันและร่องรอยที่แสดงถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ

“ภาพวาดชุดนี้ของผมต้องการวาดภาพทิวทัศน์ในยุคสมัยของเรา ภายใต้ชื่อ Black Cloud, Red Ground, Yellow Rain และ Cyan Flame การตั้งชื่องานชุดนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากธาตุทั้งสี่ในธรรมชาติอย่างดิน น้ำ ลม ไฟ เพราะในขณะที่ผมสนใจเรื่องความเปลี่ยนแปลงในตัวเรา เราก็พบว่าทั้งในตัวเราและธรรมชาตินั้นประกอบด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ และในหลายอารยธรรมในโลกทั้งกรีกโบราณ จีน อินเดีย ก็พูดเรื่องเดียวกันนี้มาสองพันกว่าปีแล้ว”

“ผมยังค้นพบว่า คนในยุคสมัยปัจจุบันยังคิดค้นแม่สี CMYK เพื่อใช้ในระบบการพิมพ์ หรือในจอดิจิทัล ระบบเหล่านี้แสดงถึงสิ่งที่เราเห็นและรับรู้เพื่อพยายามทำความเข้าใจธรรมชาติ”

ตามมาด้วย เจษฎา ตั้งตระกูลวงศ์ ศิลปินร่วมสมัยชาวไทย ผู้ทำงานศิลปะจัดวางเฉพาะพื้นที่ ที่มุ่งเน้นในการทำงานกับโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมของพื้นที่แต่ละแห่ง รวมถึงการสำรวจประเด็นเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม และบริบททางการเมือง

ผลงานศิลปะจัดวางของเขาในนิทรรศการครั้งนี้เป็นการทำงานร่วมกับผู้ชมในชุมชน และผู้เชี่ยวชาญต่างสาขา ที่นำเสนอถึงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอย่าง “ฝน” นั่นเอง

“ผมพยายามใช้วัสดุที่หาได้ง่ายและทุกคนสามารถใช้ในการทำงานเท่านั้นเอง ถึงแม้จะเป็นเวลาหลายปีที่ผมพยายามหลีกเลี่ยงการใช้หลอด ใช้ถุงพลาสติก หรือขวดพลาสติก แต่สุดท้ายงานของผมก็ใช้วัสดุพลาสติก ถึงแม้งานในนิทรรศการนี้จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม แต่ผลงานของผมก็ยังใช้วัสดุที่สร้างมลภาวะให้สิ่งแวดล้อมอยู่ดี” (อ่านะ!)

ต่อด้วย คไว สัมนาง ศิลปินร่วมสมัยชาวกัมพูชาผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักที่สุดในปัจจุบัน

ผลงานของเขาในนิทรรศการนี้เป็นการใช้เวลาอันยาวนานในการเข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรงกับชุมชนท้องถิ่นของกัมพูชา ด้วยการสำรวจมุมมองใหม่ๆ ในการตีความประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมดั้งเดิม

สัมนางใช้อารมณ์ขัน และท่วงท่าของร่างกายอันเปี่ยมสัญลักษณ์ เพื่อนำเสนอความหมายทับซ้อนหลายชั้น ผ่านสื่อทางศิลปะอันแตกต่างหลากหลาย ทั้งประติมากรรมจากวัสดุที่ผ่านกระบวนการหัตกรรมท้องถิ่น ศิลปะจัดวาง วิดีโอ และศิลปะแสดงสด ที่แสดงถึงผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน

“งานของผมชุดนี้มีวิดีโอแสดงสดที่ช่างท้องถิ่นทุบทองเหลืองด้วยค้อน ซึ่งได้แรงบันดาลใจจาก ‘ฆ้อง’ เครื่องดนตรีของกัมพูชา เสียงที่เกิดขึ้นจากวิดีโอแสดงสดที่ว่านี้ไม่ต่างอะไรกับเสียงของพิธีกรรมเชื่อมต่อกับจิตวิญญาณ เปรียบเสมือนการปลุกให้จิตวิญญาณของธรรมชาติตื่นขึ้นมา เพื่อสร้างบทสนทนากับผู้คนในเมือง”

“ในผลงานอีกชิ้น ผมยังใช้ล้อรถยนต์เก่ามาหลอมจนละลายเป็นของเหลว เพื่อเทลงไปยังพื้นดินแตกระแหง จนกลายเป็นงานประติมากรรมที่แสดงถึงความร้อนแห้งแล้งของผืนแผ่นดินในปัจจุบันที่เกิดจากสภาวะโลกร้อนอีกด้วย”

ตามมาด้วย LE Brothers ศิลปินคู่หูชาวเวียดนาม ผู้ทำงานศิลปะแสดงสดและงานวิดีโอจัดวาง ที่วิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์ทางการเมืองในช่วงการพัฒนาของเวียดนาม

ด้วยความที่พวกเขาเป็นฝาแฝด พวกเขาใช้คุณลักษณะทางกายภาพในการสะท้อนสภาวะความหวาดหวั่นของคนเวียดนาม ในฐานะประเทศที่ถูกแบ่งแยกและกลับมารวมตัวกันอีกครั้ง ผ่านผลงานวิดีโอแสดงสดที่นำเสนอกิจกรรมธรรมดาสามัญ แต่เป็นรากฐานอันสำคัญของผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง “การทำนา” โดยเป็นการร่วมงานกับศิลปินชาวเกาหลีใต้ เจมิไน คิม (Gemini Kim)

“โครงการนี้ของพวกเรา เป็นการพยายามปลูกข้าวในทุ่งนาในเวลา 90 วัน อย่างที่รู้กันว่าในเวียดนาม ชาวนาใช้สารเคมีจากประเทศจีนในการทำนา ในโครงการนี้ เราจึงพยายามทำความเข้าใจกับชาวนา ให้พวกเขาทำนาโดยไม่ใช้สารเคมีกับข้าวของเรา เพราะข้าวเหล่านี้จะถูกเก็บเกี่ยวมาเป็นอาหารให้เรากิน เราพยายามสื่อสารกับชาวนาว่า ถ้าพวกเขาใช้วิธีการง่ายๆ ในการทำนา ก็ไม่ต่างอะไรกับการฆ่าผืนแผ่นดินของพวกเขาด้วยสารเคมีนั่นเอง”

และ เพลินจันทร์ วิญญรัตน์ ศิลปินสิ่งทอระดับแนวหน้าของไทย ผู้เป็นที่รู้จักจากผลงานศิลปะสิ่งทอที่นำขยะและข้าวของใช้แล้ว (Upcycle) นำกลับมาทำเป็นเส้นใยสิ่งทอ เธอพัฒนาแนวทางการทำงานเฉพาะตัว ที่หลอมรวมความยั่งยืน (Sustainability) เข้ากับการทำงานศิลปะหัตถกรรมและนวัตกรรมทางการออกแบบ จนกลายเป็นผลงานที่ทั้งดึงดูดสายตาและเปี่ยมจิตสำนึกทางสิ่งแวดล้อม ด้วยการเปลี่ยนขยะของเหลือใช้ในชีวิตประจำวันให้กลายเป็นการงานศิลปะอันโดดเด่นสะดุดตา

“ผลงานของฉันที่เห็นในนิทรรศการนี้สร้างมาจากผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2022 สตูดิโอของฉันถูกน้ำท่วมโดยที่ไม่ได้เตรียมตัวรับมือ ผลงานของฉันแช่อยู่ในน้ำทั้งคืน ฉันจึงเปลี่ยนเหตุการณ์ที่ว่านี้ให้กลายเป็นผลงานแต่ละชิ้น ฉันต้องการให้ผลงานชุดนี้เป็นเหมือนชีวิตใหม่ที่รอดชีวิตมาจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนั้น เช่นเดียวกับมนุษย์อย่างเราที่สร้างปัญหาต่างๆ มาสู่ตัวเอง ทั้งโลกร้อน น้ำท่วม เราก็ต้องอยู่กับมันและปรับตัว”

“เมื่อดูผลงานเหล่านี้ ฉันคิดว่าเราจะทำอย่างไรที่จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้บ้าง ตัวฉันเองยังคำนึงถึงความยั่งยืนในการใช้ชีวิต ด้วยการทำงานที่ใช้วัตถุดิบรีไซเคิล อัพไซเคิลในการทำงานมาตั้งแต่ 12 ปีที่แล้ว เราและครอบครัวของเรายังนึกถึงสิ่งเหล่านี้ในชีวิตประจำวัน ด้วยการหยิบเอาขวดน้ำพลาสติกใช้แล้วกลับมาใช้ทำงานศิลปะ”

และท้ายสุดกับ ต่อลาภ ลาภเจริญสุข ศิลปินร่วมสมัยชาวอยุธยาโดยกำเนิด หากอาศัยและทำงานในเชียงใหม่ เขาทำงานในสื่อทางศิลปะอันแตกต่างหลากหลาย และสนใจในการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างงานศิลปะและผู้ชม ด้วยการใช้วัตถุข้าวของสำเร็จรูปที่พบได้ในชีวิตประจำวัน

“ผมอาศัยอยู่ในทั้งสองจังหวัดที่มีปัญหาทางสิ่งแวดล้อม ทั้งอยุธยาที่เจอน้ำท่วมหนักทุกปี หรือเชียงใหม่ที่มีปัญหามลภาวะทางอากาศและน้ำท่วม ในความเป็นมนุษย์ เราพยายามที่จะควบคุมธรรมชาติ แต่ท้ายที่สุดแล้ว ก็กลายเป็นว่าเราไปผิดทางและก่อปัญหาเสียเอง ผมก็เลยสะท้อนปัญหาเหล่านี้ผ่านงานศิลปะของผม ผลงานชุดที่แสดงในนิทรรศการครั้งนี้ ที่มีชื่อว่า Water Line ซึ่งเป็นงานศิลปะที่ทำร่วมกับธรรมชาติ ทั้งฝน และน้ำ”

“โดยในงานจิตรกรรมชิ้นนี้ เราจะเห็นภาพของเส้นทางน้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงในจังหวัดอยุธยา โดยผมจะให้ธรรมชาติเป็นผู้กระทำชิ้นงานศิลปะ เพื่อเป็นการสะท้อนว่า มนุษย์เราใช้วิธีการต่างๆ ควบคุมธรรมชาติ แต่ก็ไม่สามารถควบคุมได้อย่างแท้จริง ด้วยการเอางานชิ้นนี้ทิ้งไว้กลางแจ้ง และปล่อยให้ฝนตกมาขังอยู่ในตัวงานเป็นเวลา 3 เดือน”

“ผมยังสะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมในการบริหารจัดการน้ำของไทย ด้วยการจำลองแผนที่กรุงเทพฯ ให้เป็นพื้นที่ยกสูงและมีขอบกั้นไม่ให้น้ำท่วมขัง ต่างกับจังหวัดอื่นๆ รายรอบที่ถูกน้ำท่วม”

กับคำถามของเราที่ว่า ศิลปะจะช่วยแก้ปัญหาทางสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไรโดยไม่เป็นแค่กิมมิกเก๋ๆ ในแวดวงศิลปะแคบๆ เท่านั้น หนึ่งในศิลปินอย่าง คไว สัมนาง ตอบเราว่า

“สำหรับผม ศิลปะไม่ใช่อะไรที่เอาไว้แขวนบนกำแพง วางบนพื้น หรือฉายบนจอดิจิทัลเท่านั้น สำหรับผม ศิลปะคือการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชีวิตของผม ผมเรียนรู้จากศิลปะมากมาย ไม่เพียงเท่านั้น สำหรับผม ศิลปะคือกลวิธีที่ใช้ในการบอกกล่าวเรื่องราวต่างๆ กับผู้คนได้อย่างทรงประสิทธิภาพและแยบคาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมนั่นเอง”

นิทรรศการ Sinking and the Paradox of Staying Afloat จัดแสดงที่ 333Gallery Bangkok ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม-3 พฤศจิกายน 2567 เปิดให้เข้าชมฟรี ทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 11.00-18.00 น. (หยุดวันจันทร์)

ขอบคุณภาพจาก 333Gallery Bangkok •

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์