ชัวร์หรือมั่ว? ภูมิปัญญาการอยู่ไฟ ดูแลสุขภาพแม่และเด็กไทยหลังคลอด

เมื่อไม่กี่วันมานี้ การอยู่ไฟหลังคลอดกลายเป็นประเด็นถกเถียงทางวิชาการแพทย์ว่า สามารถตอบโจทย์สุขภาพของแม่หลังคลอดได้จริงหรือไม่

โดยทางโรงพยาบาลใหญ่แห่งหนึ่งของกรมการแพทย์ให้ข้อมูลเชิงหักล้างคุณประโยชน์ของการอยู่ไฟ ในขณะที่เพจของโรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลสนับสนุนภูมิปัญญาการอยู่ไฟของการแพทย์แผนไทยอย่างเต็มที่ ท่านผู้ชมจะเชื่อใครระหว่างโรงเรียนแพทย์ชื่อดังกับกระทรวงสาธารณสุข

ในที่นี้ขอแนะนำให้จัดเวทีสัมมนาวิชาการกันเองภายในกระทรวงสาธารณสุข ระหว่างกรมการแพทย์ VS กรมการแพทย์แผนไทยฯ ให้ตกผลึกเสียก่อนจะเผยแพร่ข้อมูลที่ขัดกัน (ฮา) ไม่ใช่แค่เสนอข้อโต้แย้งหลักว่า “ไม่มีงานวิจัยที่แสดงหลักฐานชัดเจนว่า การอยู่ไฟหลังคลอดมีประโยชน์ทางการแพทย์ที่จำเป็น หรือมีผลกระทบต่อสุขภาพของแม่ในระยะยาว”

ซึ่งตรงนี้กรมการแพทย์ควรต้องลงทุนวิจัยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในทางสังคมสุขภาพด้วย ไม่ใช่ตีหัวดิสเครดิตแล้ววิ่งหนีเข้าบ้าน

 

ศ.นพ.ประเวศ วะสี อาจารย์แพทย์ผู้มีชื่อเสียงเคยกล่าวว่า ภูมิปัญญาการแพทย์แผนโบราณแม้จะไม่ได้ผ่านการวิจัยและการทดลองทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพ แต่คนโบราณท่านก็ใช้ชีวิตของท่านเป็นหนูตะเภาทดลองกินสิ่งต่างๆ ที่เป็นพืช สัตว์ แร่ธาตุ ฯลฯ ทั้งที่เป็นอาหารและยาสมุนไพรรักษาโรค

อย่างข้าวเหนียวที่คนไทยบริโภคกันทุกวันนี้ บรรพบุรุษไทยเราก็รู้จักนำมากินกันแล้วตั้งแต่ยังเป็นมนุษย์ถ้ำยุคหินอยู่แถวๆ ถ้ำปุงฮุง อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ราว 3,500 ปีมาแล้ว แถมเมล็ดข้าวยุคหินที่ถ้ำปุงฮุง ยังมีอายุร่วมสมัยกับเมล็ดข้าวสารที่บรรพบุรุษไทยยุคหินนำมาเป็นอาหารแถวๆ เนินอุโลก อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา อีกด้วย โดยไม่ต้องรอให้นักวิจัยด้านโภชนาการยืนยันว่าข้าวมีสารอาหารอะไรบ้าง กินแล้วปลอดภัยหรือไม่

การอยู่ไฟเป็นวิถีสุขภาพของสตรีหลังคลอดที่พบได้ในวัฒนธรรมสุขภาพของทุกภาคในประเทศไทยซึ่งยังไม่มีใครบอกได้ว่ามีมานานแล้วแต่ปางใด แต่อย่างน้อยก็น่าจะสมัยอยุธยาตอนต้นเพราะมีการกล่าวถึงคัมภีร์มหาโชติรัต อันเป็นนรีเวชศาสตร์แผนโบราณและตำรับยาแก้วหาค่ามิได้ แก้โลหิตระดูสตรีมาไม่ปกติ

นี่ไม่นับการแพทย์พื้นบ้านอันเก่าแก่ อย่างเช่น ภาคอีสาน ที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดกับการให้ผู้สาวต้องอยู่ไฟหลังคลอด ถึงกับกล่าวเป็นผญาภาษิตว่า ผู้หญิงหลังคลอด “อยู่ไฟได้นานเท่าไร ก็เป็นสาวได้นานเท่านั้น” ด้วยเหตุผลเพื่อต้องการฟื้นฟูสภาพร่างกายอันทรุดโทรมของหญิงหลังคลอดที่ “เอ็นขาดพอร้อย เอ็นน้อยขาดพอพัน รักษาตัวตนอยู่ไฟให้ได้เด้อนางเอ้ย”

เนื่องจากต้องอุ้มท้องนานถึง 9 เดือน นอกจากทำให้กล้ามเนื้อ เอ็น กระดูก ทั่วร่างปวดร้าว เมื่อยขบแล้ว ยังอาจมีอาการสะท้านหนาว เนื่องจากเสียเลือด จึงจำเป็นต้องอุ่นร่างกายด้วยความร้อนที่เหมาะสม ประกอบกับการใช้สมุนไพรหลายตำรับในกระบวนการ “อยู่ไฟ” ของหมอพื้นบ้านอีสานซึ่งมักเรียกว่า “อยู่กรรม” เหมือนกับการอยู่กรรมของพระสงฆ์ ซึ่งมีแบบแผนการปฏิบัติเป็นขั้นตอนอย่างเคร่งครัด

การประกอบกิจในชีวิตประจำวันของแม่ลูกอ่อนไม่ว่าการกิน การให้นมลูก การนั่ง นอนทั้งวันทั้งคืนต้องอยู่บนกระดานไฟหรือสะแนน ตลอดเวลายกเว้นเวลาอาบน้ำ ขับถ่าย

ปกติช่วงเวลาอยู่ไฟสำหรับหญิงที่ได้ลูกคนแรกต้อง 15 วันขึ้นไปถึงหนึ่งเดือน เรียกว่า “การอยู่เดือน” ถ้าเคยมีลูกคนที่ 2-3 ขึ้นไปก็ลดเวลาอยู่ไฟลงเหลือ 7 วันหรือ 5 วันก็ได้

แต่ก่อนหญิงหลังคลอดจะเข้าเรือนไฟต้องผ่านการตรวจร่างกายว่ามีความพร้อมที่จะอยู่ไฟหรือเปล่า เพราะไม่ใช่คุณแม่ลูกอ่อนทุกคนจะอยู่ไฟได้

เช่น หากเป็นไข้ตัวร้อน หรือร่างกายอ่อนเปลี้ยเพลียแรงมาก ก็ไม่สามารถนอนกระดานไฟได้ ต้องให้ยาแก้ไข้ บำรุงด้วยอาหารอ่อนให้มีเรี่ยวแรงเสียก่อน และต้องดื่มน้ำสมุนไพรรสเย็น เช่น หญ้านางแดง (หรือหญ้านางธรรมดาก็ได้) หรือใบหนาดหลวง เปล้าใหญ่ ก็ได้ เพื่อดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ ก่อนการอยู่ไฟ

 

ตามพระคัมภีร์ปฐมจินดาวัตถุประสงค์สำคัญที่สุดในการอยู่ไฟก็คือ เพื่อให้มดลูกเข้าอู่ ฟื้นสุขภาพแม่ให้แข็งแรง สามารถผลิตน้ำนมบริสุทธิ์ปราศจากโทษแก่ทารก แต่ถ้าแม่อยู่ไฟมิได้ จะทำให้เกิด “น้ำนมโทษ” ซึ่งเห็นได้ง่ายจากน้ำนมแม่ที่มีลักษณะเป็น “น้ำนมจางสีเขียวดังน้ำต้มหอยแมงภู่ประการหนึ่ง น้ำนมจางมีรสอันเปรี้ยวประการหนึ่ง น้ำนมเป็นฟองลอยประการหนึ่ง

น้ำนมทั้ง 3 ประการนี้ ย่อมเบียดเบียนกุมาร กุมารีทั้งหลายซึ่งได้บริโภคนั้น กระทำให้เกิดโทษต่างๆ บางทีกระทำให้ลงท้อง (ท้องเสีย ถ่ายท้องบ่อย) บางทีกระทำให้ท้องขึ้น บางทีกระทำให้ตัวร้อน บางทีกระทำให้ปวดมวน โทษทั้งนี้เป็นมลทินโทษแห่งน้ำนม” เนื่องจากปัจจุบันมีมารดาหลังคลอดจำนวนมากที่อยู่ไฟไม่ได้ และมีน้ำนมดิบที่เป็นโทษ “ถ้าแลให้กุมารกินเข้าไป ดุจหนึ่งให้บริโภคยาพิษ ก็จะบังเกิดโรคาพยาธิต่างๆ” ท่านจึงให้ “แต่งยาแก้ (น้ำนม) เสียก่อน จึงให้กุมารผู้นั้นบริโภคต่อไป จึงจะบำบัดโรคแห่งกุมารนั้น ให้ปลดเปลื้องไป”

ปกติการใช้สมุนไพรบำบัดมารดาหลังคลอดแทนการอยู่ไฟนั้น มีถึง 4 ขั้นตอนคือ

(1) ให้ยาขับโลหิตร้ายเน่าเสียหรือขับน้ำคาวปลา

(2) ให้ยาบำรุงโลหิต

(3) ให้ยาประสะน้ำนม ชำระน้ำนมให้บริสุทธิ์มีคุณค่าทางโภชนาการแก่ทารก

(4) ให้ยาทาหัวนมแม่เร่งน้ำนมออกมาก โดยไม่ต้องใช้วิธีถกหรือดึงหรือปั๊มให้เจ็บหัวนม

ในที่นี้ ขอเสนอยาสมุนไพร 1 ตำรับตามพระคัมภีร์พระปฐมจินดาที่มีสรรพคุณครบฟอร์อินวัน ซึ่งได้ผลรวบยอดแก้น้ำนมโทษและบำรุงน้ำนมให้บริสุทธิ์ดังทิพยโอสถไม่แสลงโรคแก่ทารก คือตำรับยาบำบัดโทษน้ำนมและทานม

 

“ท่านให้เอา เทียนทั้ง 5 เปลือกโลด 1 รวม 6 สิ่งนี้เอาส่วนเท่ากัน ตำเป็นผงบดละลายน้ำผึ้ง กินบ้าง ทานมบ้าง แก้น้ำนมดิบหายดีนัก”

ขอถอดตำรับยาให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้ (1) เทียนทั้ง 5 คือ เทียนดำ (Nigella sativa L.) เทียนขาว (Cuminum cyminum Linn.) เทียนแดง (Lepidium sativum Linn.) เทียนข้าวเปลือก (Foeniculum vulgare Mill.) และเทียนตั๊กแตน (Anethum graveolens L.) สรรพคุณรวมคือ เพิ่มการไหลเวียนโลหิต ดูแลเส้นเลือดให้มีความยืดหยุ่นไม่เปราะแตกง่าย ขับโลหิต บำรุงโลหิต มีผลต่อระบบฮอร์โมนเพศหญิง ทำให้รอบเดือนมาปกติ ช่วยบำรุงระบบประสาทและสมอง แก้ปลายมือปลายเท้าชา คลายความเครียด ลดความวิตกกังวล ทำให้อารมณ์แจ่มใส ช่วยให้นอนหลับง่ายและหลับสนิท ขับลมในลำไส้ แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน เวียนหัว หน้ามืดตาลาย ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ ช่วยย่อย กระตุ้นความอยากอาหาร บำรุงร่างกาย เทียนทั้ง 5 เป็นเครื่องเทศ มีกลิ่นหอม รสชาติเผ็ดร้อนเล็กน้อย เจือขม

(2) โลด (Aporosa villosa (Wall. ex Lindl.) Baill.) เป็นสมุนไพรคนละชนิดกับโลดทะนงแดง เปลือกโลด รสร้อนเล็กน้อย สรรพคุณ ขับโลหิตระดูสตรี ขับลมในลำไส้ แก้แน่น จุกเสียด รสตำรับยานี้ เผ็ดร้อนเล็กน้อย ขม หอม ระบบทางเดินอาหารของมารดาหลังคลอดจึงไม่ได้รับอันตรายระคายเคืองจากรสเผ็ดของยาตำรับนี้ซึ่งเจือด้วยฤทธิ์เย็นของรสขมที่แทรกอยู่

วิธีปรุงยา นำสมุนไพร 6 ชนิด อย่างละเท่าๆ กันโดยน้ำหนัก บดผงละเอียด โดยแยกบดเทียนทั้ง 5 (ซึ่งบดง่ายกว่าใช้อย่างละ 50 กรัม) ได้ผงเทียนทั้ง 5 น้ำหนัก 250 กรัม และผงเปลือกโลด 50 กรัม นำมาผสมกัน วิธิใช้รับประทานผงยาขนาด 1 ช้อนชา (ประมาณ 5 กรัม) ละลายน้ำผึ้ง วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ก่อนอาหาร เดี๋ยวนี้มีโรงพยาบาลแผนปัจจุบันเอกชนหลายแห่ง ให้บริการอยู่ไฟเพื่อฟื้นฟูสุขภาพมารดาหลังคลอด โดยได้รับความนิยมจากแม่มือใหม่อย่างแพร่หลาย กรรมวิธีการอยู่ไฟและสมุนไพรที่ใช้ก็มีความแตกต่างกันบ้าง แต่ที่ผ่านมายังไม่มีเรื่องร้องเรียนด้านความปลอดภัย

เชียร์ให้กระทรวงสาธารณสุข และท่าน รมต.สาธารณสุขผู้นิยมชมชอบสมุนไพร สนับสนุนงานวิจัยย้อนหลัง (Retrospective Research) และวิจัยไปข้างหน้า (Prospective Research) เรื่องกระบวนการอยู่ไฟของมารดาหลังคลอด อันเป็นสุขภาพวิถีไทยในปัจจุบันให้รู้กันไปเลยว่า ชัวร์หรือมั่วกันแน่ •

 

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง

มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org