หงส์เหินลม (2)

ญาดา อารัมภีร

พาหนะพระพรหม คือ ‘หงส์ทอง’

บทละครในเรื่อง “รามเกียรติ์” พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 1 เล่าถึงสหบดีพรหมเสด็จจากวิมานชั้นฟ้าลงมาสร้างเมืองใหม่แทนเมืองเก่าที่ร้างไปเนื่องจากสหมลิวันผู้ครองเมืองหนีพระนารายณ์ไปอยู่บาดาล เพื่อให้เป็นเมืองของพระพรหมและวงศ์วานว่านเครือสืบไป

“มาจะกล่าวบทไป ถึงสหบดีพรหมเรืองศรี

อยู่ในวิมานรัตนมณี มีความผาสุกทุกเวลา

คิดถึงสหมลิวัน อันเป็นสุริยวงศ์พงศา

ซึ่งให้ไปอยู่เกาะรังกา หนีพระจักราไปบาดาล

ฝ่ายพิภพรังกาทวีปนี้ ไม่มีใครรักษาราชฐาน

เงียบเย็นเว้นว่างมาช้านาน เสียดายวงศ์พรหมานจะสูญไป

จำกูจะสร้างพระนคร ให้ถาวรคงคืนขึ้นไปได้

จะเชิญองค์ธาดาฤทธิไกร ลงไปเป็นหลักธานี” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

เมื่อพร้อมเดินทางแล้ว กวีบรรยายถึงสหบดีพรหมว่า

“งามทรงดั่งองค์เวสสุวรรณ จับพระแสงขรรค์คมกล้า

พระหัตถ์จับตรีศูลศักดา เสด็จไปทรงพระยาหงส์ทอง”

พระยาหงส์ทอง พาหนะทรงของสหบดีพรหมมีรูปลักษณ์และลีลาสง่างาม ประกายแสงขนวาววับยามต้องแสงอาทิตย์ บนหลังหงส์ทองมีพระแท่นที่ประทับ แวดล้อมด้วยเครื่องประดับพระเกียรติยศและพรหมบริวารทั้งหลาย

“เหมเอยเหมราช ผกผาดกระหยับผันผยอง (เหมราช = พระยาหงส์ทอง)

ตั้งอกยกหางเป็นทำนอง สองปีกกระพือบินบน

ปากงอนหงอนสบัดชดช้อย รจนาด้วยสร้อยสลับขน

งามระยับจับแสงสุริยน ดั่งสีขนวิมลชัชวาลย์

บัลลังก์ตั้งเหนือปฤษฎางค์ กระจ่างกระจังรายฉายฉาน

เสวตรฉัตรพัชนีโอฬาร พร้อมหมู่พรหมานดาษดา

ลอยเลื่อนไปในอากาศ โอภาสพ่างพื้นพระเวหา

รีบเร่งเหมราชร่อนมา หมายทวีปรังกามิทันนาน”

(อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

 

‘หงส์’ มิได้มีแต่ ‘หงส์ทอง’ พาหนะของพระพรหมเท่านั้น ยังมีหงส์หลากสีหลายชนิด ดังที่ “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” ฉบับที่ 2 พระยาธรรมปรีชา (แก้ว) บรรยายว่า

“ประเทศป่าพระหิมพานต์นั้น ประกอบด้วยหมู่หงส์ทั้งหลายมีพรรณ ๕ ประการ คือ ติณหํสา คือหงส์เขียวเหมือนสีหญ้าคาจำพวก ๑ ปณฺฑุหํสา คือหงส์เหลืองเหมือนสีใบไม้เหลืองจำพวก ๑ มโนสิลาหํสา คือหงส์แดงเหมือนมโนศิลาอันแดงจำพวก ๑ เสตหํสา คือหงส์ขาวจำพวก ๑ ปากหํสา คือหงส์ทองจำพวก ๑ เป็น ๕ จำพวกฉะนี้…ฯลฯ…หงส์ทองนั้น มักพอใจอาศัยสำนักอยู่ในภูเขาจิตตกูฏ อันแล้วไปด้วยแก้ว” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

น่าสังเกตว่าบางทีสีขนหงส์ก็เปลี่ยนแปลงได้ เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นหงส์ทอง มีผู้นำปีกและหางทองคำไปหลอมเป็นทองรูปพรรณ หรือทองคำที่ทำสำเร็จเป็นเครื่องประดับและของใช้ต่างๆ ขายเลี้ยงชีวิต

ดังที่ “คัมภีร์เอกนิบาต ชาตกฏฐกถา” เล่าว่า ก่อนถือกำเนิดเป็นหงส์ทอง พระพุทธองค์เคยเสวยพระชาติเป็นพราหมณ์เมืองพาราณสี มีเมียและลูกสาว 3 คน หลังจากลูกๆ ต่างมีครอบครัวแล้ว

“พระบรมโพธิสัตว์ก็กระทำกาลกิริยาได้ไปบังเกิดในกำเนิดหงส์ทอง มีรูปทรงอันงาม มีขนปีกขนหางเป็นทองคำ”

หงส์ทองระลึกชาติได้ว่าเคยเกิดเป็นพราหมณ์ ลูกเมียในชาตินั้นมีชีวิตลำเค็ญในชาตินี้ ต้องรับจ้างหาเลี้ยงชีพอย่างยากลำบาก น่าสงสารยิ่งนัก จึงตัดสินใจว่า

“ควรอาตมาจะไปสงเคราะห์ให้ขนปีกขนหาง แต่ทีละขนๆ ก็พอจะแก้จนแห่งภริยาแลธิดาทั้งหลายนั้นได้ หงส์ทองกำหนดในใจฉะนี้แล้ว ก็บินมาลงจับในที่สุดแห่งพรึง (= ไม้กระดานหน้าใหญ่ตั้งอยู่บนหัวรอดรัดรอบเสาทั้ง 4 ด้าน) สำแดงกายแก่ภริยาแลธิดาทั้ง 3 บอกความแต่หนหลังให้ประจักษ์แจ้ง แล้วก็สลัดขนให้แต่ทีละขนๆ สุดแท้แต่มาแล้วก็ให้ขนไว้ ขนหนึ่งๆ ทุกครั้งทุกที จนนางพราหมณีแลธิดาทั้งสามนั้นมีอันจะกินขึ้น ได้เลี้ยงชีวิตเป็นสุขแล้ว”

เมื่อความอยากได้อยากมีบดบังความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ทั้งๆ ที่นางพราหมณีและลูกสาวรู้ว่าหงส์ทองคือใคร เกี่ยวพันกับพวกตนอย่างไร ในที่สุดก็เกิดเหตุจนได้

“นางพราหมณีนั้น ลุอำนาจแก่โลภเจตนา จับหงส์นั้นไว้ให้มั่น แล้วก็ถอนขนหงส์นั้นจนสิ้นทั้งกรชกาย หมายจะเอาทองไว้ให้นักหนา ผลที่ลุอำนาจแก่โลภเจตนาหากตัญญูบ่มิได้นั้น ก็ให้โทษเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ขนที่เป็นทองคำก็กลับขาวเหมือนปีกนกยาง บ่มิอาจเอาเป็นประโชน์สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ นางผู้เป็นธิดาจึงเลี้ยงรักษาหงส์ทองผู้เป็นบิดานั้นไว้ ขนแห่งหงส์ที่ขึ้นมาใหม่ๆ ก็มีพรรณอันขาว บ่มิได้เป็นทองเหมือนอย่างแต่ก่อน หงส์นั้นครั้นขนงอกบริบูรณ์แล้ว ก็ไปสู่ป่าพระหิมพานต์ ไปทีเดียว ไม่มาเลยเป็นอันขาด”

 

นอกจากเป็นนกตระกูลสูง ขนหลากสี เสียงร้องของหงส์ยังไพเราะเสนาะหู ดังที่บทละครครั้งกรุงเก่าเรื่อง “นางมโนห์รา” เล่าถึงตอนพระมารดาห้ามนางกินรี ‘มโนห์รา’ มิให้ไปเล่นน้ำในสระ เนื่องจาก

“โหรว่าพระเคราะห์ของเจ้าไร้ เจ้างดให้ได้สักเจ็ดวัน

ฟังคำแม่ว่าเถิดเจ้าหน้ามน แม่จะเข้ามณฑลสักเจ็ดชั้น

แม่จะเอาเพดานมากางกั้น มิให้นวลนางเจ้าไปไหน”

ไม่ว่านางมโนห์ราจะอ้อนวอนร้องขออย่างไร พระมารดาก็ไม่ยินยอม พยายามห้ามปรามทุกวิถีทาง ตอนหนึ่งกล่าวถึงหงส์ว่า

“จะคิดอย่างกระไรสุดใจแม่ จะทิ้งเสียแต่เรือนไปนอนดง

ลูกเอยเคยฟังแต่เสียงหงส์ หงส์เอยมันร้องถวายเสียง”

เสียงร้องของหงส์เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าไพเราะ ยามเมื่อหงส์ทั้งหลายประสานเสียงอย่างพร้อมเพรียงยิ่งจับใจผู้ได้ฟัง ดังที่ “กาพย์พระไชยสุริยา” พรรณนาว่า

“เขาสูงฝูงหงส์ลงเรียง เริงร้องซ้องเสียง สำเนียงน่าฟังวังเวง”

(บางฉบับ ‘เริงร้องก้องเสียง’)

นอกจากนี้ ในบทเห่เรื่อง “พระอภัยมณี” ขณะนางละเวงวัณฬาควบม้าหนีพระอภัยมณีไปในป่า นางได้เห็นฝูงเหมหงส์ (หงส์ทอง) พากันบินร่อนและส่งเสียงประสานกันไพเราะเพราะพริ้ง

“ที่เงื้อมเงาเขาสูง แต่ล้วนฝูงเหมหงส์

ปีกเจ้าอ่อนร่อนลง ประสานส่งสำเนียง”

หงส์ไม่เพียงเป็นนกตระกูลสูง รูปงาม เสียงไพเราะ ยังขึ้นชื่อเรื่องรักความสะอาด เป็นสัตว์อนามัยเสียด้วย

ฉบับหน้าอย่าพลาด •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร