ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 - 31 ตุลาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | หลังลับแลมีอรุณรุ่ง |
ผู้เขียน | ธงทอง จันทรางศุ |
เผยแพร่ |
ในขณะที่นั่งเขียนหนังสืออยู่นี้ ความรู้สึกอิ่มเอิบใจที่ได้ไปชมการซ้อมใหญ่ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เพื่อเตรียมการสำหรับวันงานพระราชพิธีจริงในวันที่ 27 ตุลาคม ยังอัดแน่นเหมือนประจุไฟฟ้าอยู่เต็มตัว
อย่างที่ทราบกันอยู่ทั่วไปแล้วว่า ปีนี้เป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบหกรอบหรือ 72 พรรษา นอกจากการพิธีต่างๆ ที่เป็นปกติแล้ว ปีนี้ยังมีขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เพื่อไปถวายผ้าพระกฐินที่วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร ด้วย
ผู้ที่มีบ้านพักหรือที่ทำงานอยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยาคงได้รู้เห็นเป็นพยานแล้วว่า กว่าจะถึงงานจริง ได้มีการฝึกซ้อมผู้เกี่ยวข้องทั้งซ้อมใหญ่ซ้อมย่อยมาแล้วหลายครั้ง
เฉพาะการซ้อมใหญ่ที่ผู้เข้าร่วมปฏิบัติแต่งกายเหมือนพระราชพิธีจริงก็มีถึงสองวัน คือเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม และอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 22 ตุลาคม 2567
เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม หลังจากชมการซ้อมใหญ่อย่างที่ว่าแล้ว ผมไปกินข้าวมื้อเย็นกับผู้ที่อายุน้อยกว่าผมสองสามคน และเป็นสองสามคนที่ไม่ได้ไปดูการซ้อมใหญ่พร้อมกันกับผมเสียด้วย
คำถามหนึ่งหรือความสงสัยที่ปรากฏขึ้นในการสนทนาระหว่างมื้อ คือการฝึกซ้อมทำไมจึงต้องใช้เวลานานหลายเดือนอย่างที่เป็นข่าวสารสาธารณะด้วยเล่า
ฝึกซ้อมกันสักสามเดือนยังไม่เพียงพอหรืออย่างไร
คำถามนี้มีคำตอบครับ
ขึ้นต้นต้องพูดถึงข้อเท็จจริงกันเสียก่อนว่า ถ้าย้อนหลังขึ้นไปจนถึงสมัยอยุธยาหรือต้นกรุงรัตนโกสินทร์ของเรา ประชาชนพลเมืองพายเรือกันเป็นทุกคนหรือแทบทุกคน เพราะถ้าพายเรือไม่เป็นก็ไปไหนไม่รอด เส้นทางคมนาคมที่ใช้สอยกันเป็นปกติในชีวิตประจำวันล้วนแต่เป็นแม่น้ำลำคลองทั้งสิ้น อย่าได้คิดถึงถนนสำหรับรถยนต์วิ่งเป็นอันขาด เพียงแค่ถนนคนเดินเท้าก็หาได้ยากแล้ว
แต่ล่วงมาถึงสมัยนี้ ใครพายเรือเป็นบ้าง ยกมือขึ้นหน่อยสิครับ
ผมเองก็พายเรือไม่เป็น เคยทดลองพายเรืออยู่หนึ่งครั้ง เรือหมุนวนเป็นวงกลมอยู่กลางคลองอย่างนั้น ไม่ไปข้างไหนเลย จนต้องร้องให้คนมาช่วยกู้ภัย ฮา!
เหลียวมาดูกองทัพเรือของเราบ้าง กำลังพลของเราในสมัยก่อนตั้งแต่รัชกาลที่ห้าหรือย้อนหลังขึ้นไป ทุกคนพายเรือเป็นทั้งสิ้น เรือที่เป็นเรือกลไฟซึ่งมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่สี่นี้เอง
แต่พอมาถึงยุคสมัยนี้ ถ้าพูดถึงทหารเกณฑ์ที่เข้าประจำการในแต่ละปีจะมีคนพายเรือเป็นอยู่สักกี่มากน้อยหนอ
ถ้าเป็นทหารประจำการ คือเป็นทหารมืออาชีพก็คงจะมีการฝึกปรือกันมาบ้าง
แต่นั่นแหละครับ ขบวนพยุหยาตราอย่างนี้ใช้กำลังพลฝีพายถึง 2,000 กว่าคน เพื่อบรรจุลงในเรือ 50 กว่าลำ
เห็นตัวเลขแค่นี้แล้ว ท่านคงพอจะนึกออกว่า การฝึกซ้อมอย่างหนักมีความจำเป็นเพียงไร
แถมยังต้องตระหนักถึงความจริงต่อไปด้วยว่า การพายเรือพระราชพิธีอย่างนี้ ไม่ใช่การพายเรือเพื่อให้เดินหน้าไปอย่างเดียว
แต่ยังเรียกร้องต้องการเงื่อนไขอื่นอีกมาก เป็นต้นว่าความพร้อมเพรียงกันของฝีพายทุกคน
ยิ่งถ้าเป็นฝีพายเรือพระที่นั่ง ซึ่งมีกติกาพิเศษว่าใช้พายทองเป็นเครื่องมือ ไม่ใช่พายสีดำธรรมดาอย่างเรือลำอื่นในขบวน ท่าพายเรือของฝีพายประจำเรือพระที่นั่งที่ใช้พายทองก็มีท่าพิเศษ เรียกว่า “ท่านกบิน” คือนอกจากการจ้วงพายลงในน้ำเพื่อให้เรือเดินหน้าแล้ว บางจังหวะยังมีการยกพายขึ้นเฉียงราว 45 องศาไว้เหนือศีรษะ
ผู้ชมที่ยืนอยู่สองฝั่งแม่น้ำก็จะแลเห็นเรือพระที่นั่งคล้ายกับว่ามีปีกสีทองประดุจจะบินไปได้ในนภากาศ เป็นความสวยงามที่หาอีกไม่ได้แล้วในประเทศอื่น
ลองนึกดูต่อไปนะครับว่า เวลาพายท่านกบินดังกล่าว องศาของพายสีทองที่อยู่ในมือของฝีพายห้าสิบกว่าคนซึ่งจะต้องแสงแดดแวววาวงดงาม จำเป็นต้องมีองศาเดียวกัน มีความพร้อมเพรียงกัน ประหนึ่งว่าฝีพายทุกคนมีหัวใจและสมองเป็นหนึ่งเดียว
ภาพที่ปรากฏจึงจะเป็นภาพที่สวยงาม ไม่ใช่นกปีกหักหรือหงส์ปีกหัก ย้วยไปย้วยมา
กว่าจะได้ความพร้อมเพรียงและความงดงามอย่างนี้ จึงต้องเริ่มจากการฝึกพายเรืออยู่บนบก
คือจัดที่นั่งและท่านั่งให้คล้ายกับนั่งอยู่บนเรือ แล้วพายกลางอากาศไปเรื่อยๆ
ข้างฝ่ายครูผู้ฝึกซ้อมก็ปรับท่าพายของพลพายแต่ละคนให้เหมาะสม เปรียบคล้ายกันกับครูละครสอนนักเรียนรำละครเลยทีเดียว
ขั้นต่อไปจึงลงประจำในเรือแล้วพายจริง บางครั้งก็เป็นการพายเรือที่ผูกทุ่นหรือโยงเชือกอยู่กับที่ บางคราวก็ลงไปพายในแม่น้ำซึ่งจะเป็นพื้นที่ปฏิบัติงานจริง
พายเฉพาะเรือของตัวเอง ลำเดียวบ้าง
พายลักษณะที่เป็นรูปกระบวนบ้าง แถมยังต้องมีการฝึกซ้อมที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติจริงในทุกสถานการณ์อีกหลายอย่าง
ไม่ว่าจะเป็นการนำเรือจากท่า นำเรือเข้าเทียบท่า การแก้ปัญหาหรือการรับมือกับกระแสน้ำเชี่ยว ฝนตกหนัก ฝนตกน้อย และอื่นๆ อีกสารพัด
ที่ว่ามาทั้งหมดนี้สามเดือนไม่พอหรอกครับ
ผมทราบมาว่าฝีพายแต่ละคนต้องมีความอดทน และต้องรับมือกับความจำเป็นที่ร่างกายเรียกร้องด้วย
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อลงไปอยู่ในเรือแล้ว การปฏิบัติก็มีความต่อเนื่องกันแบบไม่เว้นวรรค ไม่มีหรอกครับที่จะจอดเรือแวะข้างทางให้ฝีพายเข้าห้องน้ำ
เพราะฉะนั้น เมื่อลงไปอยู่ในเรือแล้วก็ทำใจเสียเถิดว่าต้องอยู่ในนั้นอีกหลายชั่วโมงกว่าจะได้ขึ้นบกอีกครั้งหนึ่ง
ข้าวปลาอาหารน้ำดื่มผมไม่ทราบรายละเอียดว่าจะกินก่อน กินหลัง หรือนำเสบียงติดตัวลงไปไว้ในเรือบ้าง
รู้แต่ว่าทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
แต่ละวันที่ฝึกซ้อม แดดก็มี ฝนก็มา
การฝึกฝนร่างกายให้มีความพร้อมสำหรับการปฏิบัติหน้าที่จึงมีความสำคัญไม่แพ้กัน คนอายุเท่าผมอย่าได้คิดไปพายเรือเข้าขบวนเป็นอันขาด
นอกจากผู้ที่ลงประจำทำหน้าที่เป็นฝีพายในเรือพระที่นั่งและเรือในขบวนพยุหยาตราแล้ว ยังมีผู้ต้องปฏิบัติหน้าที่อื่นอีกมาก
เช่น ในวันที่ผมไปดูซ้อมใหญ่เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ในราวบ่ายโมงเศษผมพบว่ามีเรือที่ใช้เครื่องยนต์จำนวนไม่น้อย ขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้าง ทำหน้าที่ลากจูงเรือพระที่นั่งและเรืออื่นทวนน้ำขึ้นไปจากบริเวณกองทัพเรือหรืออู่เรือในคลองบางกอกน้อย เพื่อขึ้นไปตระเตรียมตั้งขบวนในบริเวณท่าวาสุกรี
รอให้ได้เวลาปฏิบัติจริงแล้วจึงค่อยพายเรือล่องมาตามแม่น้ำจนถึงวัดอรุณราชวรารามฯ
เรือและผู้ทำหน้าที่ลากจูงเรือพระราชพิธีเหล่านี้เป็นความรับผิดชอบของกองทัพเรือ
แต่นอกจากกองทัพเรือแล้ว ยังมีอีกหลายหน่วยที่ร่วมกันปฏิบัติเพื่อให้ภาพที่ปรากฏแก่สายตาของผู้คนทั้งหลายมีความงดงามแบบไม่มีข้อบกพร่อง ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพมหานคร ที่ต้องเก็บขยะและผักตบ รวมถึงกอสวะทั้งหลายให้พ้นไปจากท้องน้ำ
ตำรวจน้ำ กรมเจ้าท่า และคงมีอีกหลายหน่วยที่ผมยังนึกชื่อไม่ออกในเวลานี้ ทุกคนต้องร่วมกันปฏิบัติงานให้ประสานสอดคล้องกันทั้งสิ้น
พูดชื่อมาหลายกรมหลายหน่วยงานแล้ว จะตกสำรวจสำนักพระราชวัง หรือกรมศิลปากรไปได้อย่างไร สองหน่วยนี้ก็เป็นกำลังสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับงานระดับชาติเช่นนี้
ขบวนพยุหยาตราใหญ่อย่างที่ผมได้เห็นเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม และจะได้เห็นการปฏิบัติในวันที่ 27 ตุลาคมที่จะถึงนี้ ถ้ากล่าวตามคำเรียกของผู้ใหญ่แต่โบราณจะเรียกว่าเป็นขบวนแห่สี่สาย
หมายความว่า ถ้าเราทำตัวเป็นนกบินอยู่เหนือท้องฟ้าแล้วมองลงมาที่ท้องน้ำ จะเห็นว่ามีริ้วขบวนอยู่ด้วยกันทั้งสิ้นสี่สาย เป็นเรือเข้าแถวเรียงอยู่ด้านซ้ายสองแถว ด้านขวาสองแถว และไม่นับแถวที่อยู่ตรงกลางขบวนซึ่งเป็นแถวเรือพระที่นั่ง หรือที่โบราณเรียกว่าเป็นสายพระราชยาน
เรือที่อยู่ฝั่งซ้ายและขวาต้องคอยรักษาแนวไม่ให้พายล้ำก้ำเกินกันหรือทิ้งกันจนไม่เห็นฝุ่น
เรียกว่าต้องพายมาเป็นคู่ๆ จึงจะเกิดความสวยงามตระการตา
สมัยโบราณผมไม่ทราบว่าท่านทำอย่างไรกัน ท่านจึงคุมรูปขบวนเรือได้เป็นระเบียบเรียบร้อย
แต่แน่ใจว่าในยุคปัจจุบันเราใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าช่วย โดยมีกองอำนวยการอยู่บนตึกที่เป็นอาคารชุดริมแม่น้ำฝั่งพระนครใกล้กันกับวัดสังเวชวิศยาราม ที่นั่นจะมีผู้ที่คอยสังเกตการณ์ และส่งวิทยุไปแจ้งกับผู้ควบคุมเรือแต่ละลำให้ปฏิบัติอย่างไร
พายเร็วหรือช้า ให้คัดท้ายเรือไปทางซ้ายหรือทางขวา หรือให้ทำอะไรก็แล้วแต่ที่จะเกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงามขึ้น
เพียงเท่าที่ผมเล่ามาโดยสังเขปนี้ คงพอนึกภาพได้แล้วนะครับว่า ความงดงามที่เกิดขึ้นในงานพระราชพิธีแต่ละครั้งที่ถือว่าเป็นศรีสง่าแก่บ้านเมือง และเป็นที่ประทับใจของผู้ได้พบเห็น ไม่ใช่ของที่เกิดขึ้นโดยง่าย
หากแต่ต้องใช้ทั้งสติปัญญา ความพากเพียร ความอดทน ความสามัคคีร่วมใจ และอีกสารพัดปัจจัยที่กล่าวต่อไปได้อีกมาก
โชคดีมากที่เมืองไทยของเรามีสมบัติเก่าที่สั่งสมมายาวนาน และยังไม่ล้าสมัยหรือสิ้นประโยชน์เลย เมื่อนำมาอวดโฉมครั้งใด ก็ทำให้เกิดความฮือฮาขึ้นคราวนั้น
แง่คิดส่วนตัวของผม เมื่อได้เห็นการซ้อมใหญ่ขบวนพยุหยาตราเมื่อวานนี้ และจะได้รอชมการปฏิบัติในวันจริงอีกครั้งหนึ่ง ไม่มีอะไรมากไปกว่าการบอกกับตัวเองว่า ผมเกิดมาถูกประเทศ ถูกที่เสียจริงๆ ในเมื่อปู่ย่าตายายท่านฝากมรดกสำคัญว่าให้ผมรักษา ผมก็ควรจะดูแลมรดกชิ้นนี้ไว้ให้ดีที่สุด ขออย่าให้สูญหายสลายไปในชั่วอายุของผมเลย
ถ้าลูกหลานไทยนึกอย่างนี้ต่อไปทุกชั่วอายุคน ผมก็หมดห่วงครับ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022