จริยธรรมทางการเมือง : 1) ข้อปัญหาและแนวคิด

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

จริยธรรมทางการเมือง

: 1) ข้อปัญหาและแนวคิด

 

ข้อปัญหา

การหยิบยกเรื่อง “จริยธรรมทางการเมือง” (political ethics) มาชวนขบคิดพูดคุยในสังคมการเมืองไทยปัจจุบันมีข้อยุ่งยาก 2 ด้านด้วยกัน กล่าวคือ :

1) มันอาจชวนให้ไขว้เขวหลงคิดไปได้ว่าเรากำลังคุยเรื่อง “การเมืองแบบคนดี” ซึ่งขึ้นมาเป็นกระแสหลักของวาทกรรมต่อต้านประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งในการเมืองไทยราวสองทศวรรษที่ผ่านมา นับแต่ช่วงระบอบทักษิณกับ ความขัดแย้งระหว่างเสื้อสี

ดังที่ผมได้ร้องทักไว้เมื่อ 11 ปีก่อนในปาฐกถาเรื่อง “โจทย์การเมืองที่เปลี่ยนไปในสองทศวรรษจากพฤษภา 2535 ถึงปัจจุบัน” ในหัวข้อปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับศีลธรรม ดู วารสารสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร, 10 : 1 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2556), https://so05.tci-thaijo.org/index.php/gvc-tu/article/view/31010/26748)

และมาระเบิดเถิดเทิงในการเคลื่อนไหวปิดกรุงเพื่อ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ของขบวนการนกหวีด กปปส. ดังที่ได้ถูกค้นคว้าวิจัยไว้อย่างลึกซึ้งพิสดารโดยอาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ ในหนังสือ ให้คนดีปกครองบ้านเมือง : การเมืองวัฒนธรรมของขวาไทย, 2565 (ดูคำอภิปรายของผมในงานเสวนาเปิดตัวหนังสือเล่มนี้ได้ที่ (https://www.youtube.com/watch?v=lhtrLlkEAyQ)

อันเป็นแนวโน้มของการปลุกเสกการเมืองให้กลายเป็นเรื่องศีลธรรม (moralization of politics) ดี/ชั่ว-ผิด/ถูกอย่างเด็ดขาดคับแคบเชิงเดี่ยว ซึ่งอาจคลี่คลายขยายตัวไปเป็นลัทธิฟาสซิสต์เชิงศีลธรรม (Moral Fascism) ได้

Max Weber & ปกหนังสือ ‘วิชาชีพกับภารกิจของการเมือง’, 1919

ก็แล Moral Fascism นั้นในทางการเมืองหมายถึงมิติเชิงศีลธรรมของอุดมการณ์ฟาสซิสต์ โดยแก่นแท้มันคือการบังคับใช้วิสัยทัศน์เชิงศีลธรรมเฉพาะเจาะจงหนึ่งแบบอำนาจนิยม ด้วยการสละทิ้งเสรีภาพของบุคคลเพื่อเห็นแก่ประโยชน์อันใหญ่กว่าของประเทศชาติ มักรวมถึงการส่งเสริมคุณค่าดั้งเดิมตามประเพณี การกดขี่ชนกลุ่มน้อยต่างๆ และใช้โฆษณาชวนเชื่อเพื่อธำรงการควบคุมเอาไว้ด้วย (จาก Microsoft Copilot, “What is moral fascism?,” October 11, 2024, Microsoft Edge)

ซึ่งอาจแปลเป็นพากย์ไทยได้ว่า “เผด็จการโดยธรรม” ตามที่พจนานุกรมศัพท์การเมืองไทยร่วมสมัยนิยามไว้อย่างน่าฟังดังนี้ :

“รูปแบบการปกครองที่อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศอยู่ที่บุคคลเพียงคนเดียว ซึ่งเป็นคนดี มีความรู้ คุณธรรมและจริยธรรมสูง ส่งผลให้การตัดสินใจดำเนินนโยบายหรือกิจการใดๆ เป็นไปโดยรวดเร็ว เฉียบขาด และบังเกิดผลในทางที่ดี แม้ประชาชนจะถูกบังคับก็เป็นเพียงการบังคับไปในแนวทางที่ผู้ปกครองคิดว่าดีแล้ว แนวคิดนี้มีที่มาจากพระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ)” (https://thsipolitictionary.wordpress.com/2011/10/28/เผด็จการโดยธรรม/)

พอจะสรุปรวบยอดความคิดได้ว่า [เผด็จการโดยธรรม = บังคับให้คนไทยทำดี] อย่างที่จอมเผด็จการเข้าใจนั่นเอง เช่น ค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ ตามนโยบาย คสช. เป็นต้น

จนผมอดใจไม่ไหวและแต่งกลอนประกอบอย่างซาบซึ้งไว้ว่า :

เผด็จการโดยธรรม (Moral Fascism)

อันคนดีทำอะไรย่อมไม่ผิด เพราะความดีมีฤทธิ์มหาศาล

ฟอกดำเป็นขาวปลั่งอลังการ ฟอกต่ำช้าสาธารณ์เป็นเลิศเลอ

เสกอำนาจผงาดง้ำขึ้นค้ำฟ้า สมบูรณาญาสิทธิ์เสมอ

ใครทัดทานขวางหน้าอย่าให้เจอ ฟาดหัวโครมเบ้อเร่อด้วยศีลธรรม

 

2) ทว่า ในทางกลับกัน หากเราไม่นึกนิยมชมชอบ “การเมืองแบบคนดี” ก็มิได้หมายความว่าเราจำต้องตกร่องปล่องชิ้นสมาทานแนวทางการเมืองแบบมาคีอาเวลลี (Niccol? Machiavelli, 1469-1527) นักปรัชญาการเมืองแห่งนครรัฐฟลอเรนซ์ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาในอิตาลีไปเสีย

มันเป็นตรรกะการเมืองเชิงเครื่องมือ (instrumental reason) ที่มาคีอาเวลลีชี้แนะไว้ในหนังสือเรื่อง เจ้าผู้ปกครอง (The Prince, ต้นฉบับเผยแพร่ปี 1513) ของเขา ซึ่งมุ่งปลดปล่อยการเมืองให้เป็นอิสระจากกรุงเยรูซาเลม (หลักธรรมแห่งคริสต์ศาสนา) และกรุงเอเธนส์ (หลักปรัชญาคลาสสิคของกรีก) โดยเสนอว่า :

ผู้นำทางการเมืองต้องให้ความสำคัญอันดับแรกกับเสถียรภาพและอำนาจแห่งรัฐของตนเหนือข้อคำนึงทางจริยธรรมใดๆ ต้องมองการเมืองอย่างสอดคล้องกับโลกจริง ไม่ใช่แบบโลกสวย มุ่งผลสัมฤทธิ์เชิงปฏิบัติในการธำรงรักษาอำนาจโดยไม่เลือกวิธีการ พึงเข้าใจว่าเนื้อในการเมืองนั้นปลอดศีลธรรม ไม่มีดี/ชั่ว หรือถูก/ผิด หากกระทำการใดเพื่อรับใช้ผลประโยชน์ของรัฐแล้วก็พึงทำได้แม้จะขัดจริยธรรมในบริบทอื่นก็ตาม

นั่นแปลว่าสำหรับผู้นำทางการเมืองแล้ว เป้าหมายย่อมให้ความถูกต้องชอบธรรมแก่วิธีการ (The ends justify the means.) ผู้นำควรใช้วิธีการใดก็ได้ไม่เลือกเพื่อบรรลุเป้าหมายการเมืองเรื่องอำนาจของตน ผู้นำควรใช้เป็นทั้งไม้อ่อนไม้แข็ง คือเจ้าเล่ห์เพทุบายรู้เท่าทันเหมือนหมาจิ้งจอก แต่ก็แข็งแกร่งดุดันเหมือนสิงโต (จาก Microsoft Copilot, “What is Machiavellian politics?,” October 11, 2024, Microsoft Edge)

อ่านข้างต้นจบแล้วก็ให้นึกถึงผู้นำการเมืองไทยระยะใกล้ทั้งที่มาจากม็อบเป่านกหวีด, รัฐประหาร และการเลือกตั้ง+ซูเปอร์ดีล (https://www.matichon.co.th/clips/news_4102761) อย่างไรไม่ทราบครับ แหะๆ

 

ในบรรดานักคิดการเมืองสมัยใหม่ ผู้เสนอหลักจริยธรรมทางการเมือง (political ethics) แผกต่างนอกเหนือจาก “การเมืองแบบคนดี” & “แนวทางการเมืองแบบมาคีอาเวลลี” ข้างต้นได้แก่ แมกซ์ เวเบอร์ บิดาแห่งวิชาสังคมวิทยาชาวเยอรมัน (1864-1920)

ในปาฐกถาขึ้นชื่อลือเลื่องบั้นปลายชีวิตเรื่อง ‘Politik als Beruf’ (โพลิติก แอส เบรูฟ) ซึ่งเขาแสดงบรรยายให้กลุ่มนักศึกษาในเมืองมิวนิกหนึ่งปีหลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และหนึ่งปีก่อนเขาถึงแก่กรรม อันได้รับการกล่าวขวัญถึงจากบางแหล่งว่าเป็นคำบรรยายสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของความคิดการเมืองสมัยใหม่ทีเดียว (David Runciman, Confronting Leviathan : A History of Ideas, p. 138; อนึ่ง ฉบับพากย์ไทยที่มีอยู่ได้แก่ การยึดมั่นในอาชีพการเมือง แปลโดย กมลรัตน์ ศีลประเสริฐ สำนักพิมพ์สมมติ ปี 2560)

ชื่อเรื่องคำบรรยายของเขาในภาษาเยอรมันว่า ‘Politik als Beruf’ ไม่ง่ายแก่การแปลข้ามภาษา เนื่องจากศัพท์คำว่า Beruf มีนัยทับซ้อนยอกย้อนอยู่มากกว่าคำคำเดียว

Beruf หมายถึงได้ทั้งอาชีพหรือวิชาชีพ (profession) นั่นคือสิ่งที่เราทำมาหาเงินเพื่อเลี้ยงชีพ

และมันก็ยังแปลได้ว่าเสียงเพรียกหรือภารกิจที่เรียกร้อง (calling) ให้เราไปทำเพราะมันให้เป้าหมาย/ความหมาย/คุณค่าแก่ชีวิตของเราด้วย

Beruf จึงเป็นทั้งอาชีพที่ทำรายได้และภารกิจที่ให้ความหมายแก่ชีวิตของผู้ทำมันควบคู่กันไป

สำหรับเวเบอร์แล้วการเมืองในรัฐสมัยใหม่เป็นทั้งสองอย่าง คือเป็นได้ทั้งต้นตอของการงานอาชีพกับบ่อเกิดของความหมายแห่งชีวิต จนน่าจะแปลชื่อเรื่องคำบรรยาย ‘Politik als Beruf’ นี้ของเขาตามความหมายทับซ้อนโดยนัยได้ว่า “วิชาชีพกับภารกิจของการเมือง”

 

ทวิลักษณ์ (doubleness) ที่ว่านี้ทำให้การเมืองสมัยใหม่มีลักษณะโดดเด่นเป็นเอกเทศแตกต่างจากการเมืองยุคโบราณหรือก่อนสมัยใหม่ ขณะเดียวกันคำบรรยายดังกล่าวก็มีนัยของการอบรมบ่มสอนต่อผู้ประกอบวิชาชีพเป็นนักการเมืองให้ตระหนักถึงภารกิจและข้อเรียกร้องทางจริยธรรมต่อความเป็นนักการเมืองของตน และรู้จักมองเข้าไปข้างในตัวเอง รู้เท่าทันตัวเองว่าถูกเพรียกร้องให้ทำสิ่งใดบ้าง เพื่อเป้าหมายอะไร

ในบางแง่ปาฐกถา “วิชาชีพกับภารกิจของการเมือง” ของแมกซ์ เวเบอร์ จึงเป็นคำเทศนาทางโลกวิสัยว่าด้วยจริยธรรมทางการเมืองอันยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ทีเดียว