ยุทธการ 22 สิงหา : ความจริงวันนี้ ‘แดง’ ทั้งแผ่นดิน พลังมวลชน รุกไล่ โค่น ‘อภิสิทธิ์’

(Photo by NICOLAS ASFOURI / AFP)

หากเดือนมกราคม 2552 เป็นการปักหมุด 1 การยกระดับ “ความจริงวันนี้” ขึ้นเป็นการชุมนุมผ่านคำประกาศ “แดงทั้งแผ่น Red in the Land” 1 รูปธรรมอันตามมานอกจากการระดมคนในระดับ “เรือนหมื่น” แล้ว

นั่นก็คือ ข้อเรียกร้องอันดำรงอยู่อย่างเป็นระบบและมีความต่อเนื่อง

นั่นก็คือ 1 ให้เร่งรัดดำเนินคดีกับแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ยึดถนนราชดำเนิน ยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสถานีโทรทัศน์ NBT ยึดสนามบินดอนเมือง ยึดสนามบินสุวรรณภูมิ

2 ให้ปลด นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ออกจากตำแหน่ง

3 ยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 นำรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 กลับมาบังคับใช้

4 เมื่อประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ประกาศยุบสภาคืนอำนาจประชาชน

ทุกอย่างภายในกำหนด 15 วัน

 

แม้ว่าเป้าหมายการเคลื่อนไหวไม่ว่าจะมองจากด้านของ “แดงทั้งแผ่นดิน” ไม่ว่าจะมองจากด้านของพรรคเพื่อไทยจะอยู่ที่รัฐบาล จะอยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์

ดังเห็นได้จากการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ

ดังเห็นได้จากบทบาทของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ในการรุกเข้าไปกับปมเงินบริจาคจำนวน 258 ล้านบาท เข้าพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงปี 2547-2548 เพื่อเป็นประเด็นหนึ่งในการเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ

กระนั้น กล่าวสำหรับกลไกทางการเมืองอันเคยมีบทบาทเป็นอย่างสูงในห้วงก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 โดยเฉพาะองค์กรอิสระก็ยังทำหน้าที่ต่อไป

นั่นก็คือ มติการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดส่งฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและพวกกระทำผิดต่อตำแหน่งราชการตามประมวลกฎหมายอาญา

กรณีที่ปล่อยให้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) อนุมัติสินเชื่อแก่กลุ่มบริษัทกฤษฎามหานคร ซึ่งมีสถานะอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 3 ราย ประกอบด้วย บริษัท อาร์เค โปรเฟสชั่นนอล จำกัด, บริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเตรียล พาร์จ จำกัด และการอนุมัติขายบุรุมสิทธิแปลงสภาพของบริษัท กฤษฎามหานคร จำกัด (มหาชน) รวมเป็นเงินกว่า 9,000 ล้านบาทโดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์

บุคคลและเอกชนที่ถูกดำเนินคดีมีทั้งสิ้น 31 ราย ประกอบด้วย

1 กลุ่มนักการเมืองกับพวก คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร, นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย, นางกาญจนาภา หงส์เหิน เลขานุการส่วนตัว คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์, นายมานพ ทิวารี บิดา น.ต.ศิธา ทิวารี อดีตรองโฆษกพรรคไทยรักไทย

2 กลุ่มคณะกรรมการบริหารกรุงไทย อาทิ ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ์ อดีตประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย, นายวิโรจน์ นวลแข กรรมการผู้จัดการและกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย

3 กลุ่มคณะกรรมการสินเชื่อแห่งธนาคารกรุงไทย อาทิ นายพงศธร ศิริโยธิน ในฐานะรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส คณะกรรมการสินเชื่อ

นี่ย่อมเป็นการขยายผลต่อรัฐบาลพรรคไทยรักไทยโดยตรง

 

ด้านหนึ่ง มีการรุกไล่ไปยัง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อันเท่ากับเป็นการขยายผลสะเทือนจากรัฐประหารเดือนกันยายน 2549

นี่ย่อมเป็นผลดีต่อรัฐบาล ต่อพรรคประชาธิปัตย์

ขณะเดียวกัน ด้านหนึ่ง ไม่ว่ามองผ่านพรรคเพื่อไทย ไม่ว่ามองผ่านการเคลื่อนไหวของ นปช. ก็มีการประสานและการหนุนช่วยในทางความคิดในทางการเมือง

เห็นได้จากญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เห็นได้จาก “ความจริงวันนี้”

การรุกของพรรคเพื่อไทยผ่านญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในสภาผู้แทนราษฎรดำเนินไปด้วยความคึกคักและเข้มข้น

เห็นได้จากบทบาทของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง

การขยายผลของ นปช.ภายใต้กระบวนการ “ความจริงวันนี้” ภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ในเป้าหมาย “แดงทั้งแผ่นดิน” ก็ตามมา

จากการปักหมุดและกำหนดเส้นตายภายใน 15 วัน

 

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2552 ก็ถึงวาระแห่งการทวงถามข้อเรียกร้องโดยจุดเริ่มต้นคือที่ท้องสนามหลวงตามแนวเดิมของ “ความจริงวันนี้” กระทั่งถึงเวลา 11.00 น.ของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ขบวนก็เคลื่อนออก

จากสนามหลวงไปบนถนนราชดำเนิน เป้าหมายคือ “ทำเนียบรัฐบาล”

ผู้ชุมนุมฝ่าแนวกั้นตำรวจและสิ่งกีดขวางตลอดถนนราชดำเนินเข้าไปบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลและตึกไทยคู่ฟ้า ริมคลองเปรมประชากร จากนั้น กางเต็นท์และสร้างเวทีบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ

กล่าวคำปราศรัยโจมตีรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สลับการร้องเพลง

มองจากบรรยากาศหน้าทำเนียบรัฐบาลไปยังการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรเป็นครั้งแรกที่โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ในวันเดียวกัน ระหว่างการประชุมมีการนำปัญหาการชุมนุมของ “คนเสื้อแดง” จาก CCTV ยิงตรงจากหน้าทำเนียบรัฐบาลให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีดู

วันรุ่งขึ้นที่ 25 กุมภาพันธ์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ออกจากบ้านเดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาลทางประตู 6 ด้านข้าง อาคารสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อเวลา 07.20 น.

โดยไม่ปรากฏกลุ่มผู้ชุมนุมสกัดขัดขวางเนื่องจากไม่ทราบกำหนดการของนายกรัฐมนตรีมาก่อน

ช่วงบ่ายม็อบเคลื่อนไปกดดันที่หน้ากระทรวงการต่างประเทศ

กระทั่งวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ม็อบ “คนเสื้อแดง” ยังปักหลักชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลเป็นวันที่ 3 ในช่วงบ่ายม็อบบางตาเนื่องจากอากาศร้อนมาก ผู้ชุมนุมประมาณ 1,000 คนเดินทางไปหน้าสำนักงาน ป.ป.ช.ฝั่งตรงข้ามทำเนียบรัฐบาลฝั่งถนนพิษณุโลก

ยื่นหนังสือเรียกร้องให้กรรมการ ป.ป.ช.ทั้ง 9 คน ยุติการปฏิบัติหน้าที่

จนเวลา 18.30 น. การประชุมเริ่มคึกคักขึ้นอีกครั้งเพราะมีประชาชนทยอยมาร่วมมากกว่าในช่วงกลางวันที่อากาศร้อนอบอ้าว จนเวลา 20.00 น. แกนนำ นปช.ขึ้นแถลงประกาศจุดยืน

“เสื้อแดง” ยกระดับการชุมนุมเป็นการขับไล่รัฐบาล

จากนั้น จึงสลายการชุมนุมโดยนัดหมายว่าจะมาชุมนุมกันอีกครั้งในวันที่ 27 มีนาคม

 

ไม่ว่าการเคลื่อนไหวในห้วงเดือนมกราคม ไม่ว่าการเคลื่อนไหวในห้วงเดือนกุมภาพันธ์ เห็นอย่างเด่นชัดว่าดำเนินไปในลักษณะยกระดับ

เริ่มจากข้อเรียกร้อง ตามมาด้วยกระบวนท่าของการชุมนุม

จากประเด็นเฉพาะส่วนจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไปยังรัฐมนตรีบางคน ไปยังรัฐธรรมนูญ ไปยังการยุบสภา และที่สุดรวมศูนย์เป็นการขับไล่รัฐบาล

จากการเคลื่อนไหวในที่ตั้ง เป็นการเดินขบวนจากสนามหลวงไปบนถนนราชดำเนินไปปักหลักบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล

จากนัดหมายกันวันต่อวันเป็นการชุมนุมยืดเยื้อ

เป้าหมายอย่างแท้จริงที่แม้จะดำเนินไปอย่างกว้างๆ ในเบื้องต้น ในที่สุดก็เน้นอย่างเป็นการจำเพาะเป็นการขับไล่รัฐบาล

ไม่ว่าจะมองผ่านรูปการณ์เรียกขาน “ความจริงวันนี้” เป็น “แดงทั้งแผ่นดิน”

ไม่ว่าจะมองผ่านการกำหนดในเชิงยุทธศาสตร์ที่เลือกเดือนมีนาคมเป็นจุดแห่งการชี้ขาดการชุมนุม

นั่นก็คืออยู่ในห้วงแห่งการประชุม “สุดยอดอาเซียน”